ข่าวประจำวันที่ 17 ก.ย. 2563

ข่าวในประเทศ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

1. สมอ.ล้อมคอก เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง ต้องเป็นสินค้าควบคุม (ที่มา: hooninside.com , ประจำวันที่ 17 กันยายน 2563)

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้กำชับให้ สมอ. เร่งดำเนินการประกาศให้ “เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง” ต้องเป็นสินค้าควบคุม หลังจากมีผู้ใช้สินค้าดังกล่าวถูกไฟดูดถึงแก่ความตายเมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2563 ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้า โดยใช้มาตรฐานเป็นเครื่องมือในการปกป้องคุ้มครองผู้บริโภคภายในประเทศ จึงสั่งให้ สมอ. กำหนดเป็นสินค้าควบคุม ซึ่งจะเป็นผลให้ผู้ทำ และผู้นำเข้าสินค้าดังกล่าว จะต้องขออนุญาตจาก สมอ. เพื่อดำเนินการตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าก่อน หากไม่เป็นไปตามมาตรฐานจะไม่สามารถนำมาจำหน่ายในท้องตลาดได้ ทั้งนี้ นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า “เดิม สมอ. มีมาตรฐานเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงอยู่แล้ว ซึ่งได้ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2552 แต่เป็นมาตรฐานภาคสมัครใจ   ไม่ได้มีการควบคุมการนำเข้าสินค้าดังกล่าวแต่อย่างใด แต่มาระยะหลังมีผู้ใช้สินค้าถูกไฟดูดถึงแก่ความตาย สมอ. จึงได้ทบทวนมาตรฐานให้มีความทันสมัย ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีการผลิตในปัจจุบัน และเร่งผลักดันให้สินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าควบคุม โดยบอร์ด สมอ. ได้เห็นชอบร่างมาตรฐานเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในสิ้นปีนี้”

อย่างไรก็ตาม มาตรฐานเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง หรือ เครื่องทำความสะอาดใช้ความดันสูง มอก. 60335 เล่ม 2 (79) -2563 เป็นมาตรฐานที่จัดทำขึ้นโดยอ้างอิงมาตรฐานระหว่างประเทศ หรือมาตรฐาน IEC ซึ่งเป็นมาตรฐานที่สากลยอมรับ ครอบคลุมถึงเครื่องฉีดน้ำที่มีแรงดันน้ำระหว่าง 25-350 บาร์ และเครื่องทำความสะอาดใช้ไอน้ำที่มีความจุน้ำไม่เกิน 100 ลิตร และมีแรงดันน้ำไม่เกิน 25 บาร์ โดยเครื่องทำความสะอาดทั้ง 2 ชนิด จะมีการควบคุมด้านความปลอดภัยในการใช้งานในด้านต่างๆ อาทิ การป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่ว การเดินสายไฟภายใน ความต้านทานต่อความชื้น การเข้าถึงส่วนมีไฟฟ้า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกระแสไฟฟ้ารั่วขณะใช้งาน ความทนทาน ความต้านทานต่อความร้อนและไฟไหม้ และความต้านทานต่อการเป็นสนิม เป็นต้น “ในระหว่างที่กฎหมายยังไม่มีผลบังคับใช้ ขอฝากเตือนไปยังประชาชนให้เลือกใช้สินค้าด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะสินค้าเกรดต่ำจากประเทศเพื่อนบ้าน หากเป็นสินค้าไม่ได้มาตรฐานอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตดังเช่นที่เป็นข่าวได้” เลขาธิการ สมอ. กล่าวทิ้งท้าย
 

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

2. ส.อ.ท.เผยดัชนีอุตสาหกรรม สิงหาคม ขยับขึ้นต่อเนื่อง (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์ , ประจำวันที่ 17 กันยายน 2563)

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม 63 อยู่ที่ระดับ 84.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 82.5 ในเดือนกรกฎาคม 63 โดยดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนได้ร่วมมือกัน ทำให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-1 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศสามารถดำเนินการตามปกติ ขณะที่ภาคการผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าตามความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้น สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลต่อดีต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกล อาหาร และสินค้าวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น

อย่างไรก็ดี แม้ว่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 เนื่องจากผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการใช้จ่าย และมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง ขณะที่ผู้ประกอบการ SMEs ประสบปัญหาสภาพคล่องและการเข้าถึงสินเชื่อ รวมทั้งบางส่วนได้รับสินเชื่อไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้หมุนเวียนในกิจการ สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 94.5 โดยเพิ่มขึ้นจาก 93.0 ในเดือนกรกฎาคม 63 ทั้งนี้ ผู้ประกอบการคาดว่าภาคการผลิตจะมีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าค่าดัชนีฯ จะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในภาวะความกังวลต่อการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 2 ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ดังนั้น มาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ รวมทั้งการเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการจึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ทั้งนี้ ประธาน ส.อ.ท. ยังมีข้อเสนอแนะถึงภาครัฐ ดังนี้ 1.ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม รวมทั้งการเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ 2.ขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะ SMEs เช่น ยืดเวลาการชำระเงินกู้ไปอีก 2 ปี (2564-2565) 3.ขอให้ผู้ประกอบการสามารถหักค่าใช้จ่ายภาษีนิติบุคคลได้ 2 เท่า สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการอบรม หรือกิจกรรม Outing ของบริษัท เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ

 

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์
รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

3. ยอดส่งออกรถยนต์ สิงหาคม ลดลงจากช่วงเดียวปีก่อน (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์ , ประจำวันที่ 17 กันยายน 2563)

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือนสิงหาคม 63 อยู่ที่ 57,402 คัน ลดลง 29.61% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่งออกลดลงทุกตลาด เนื่องจากยอดขายรถยนต์ในประเทศคู่ค้าลดลงจากการระบาดของโควิด-19 และยังฟื้นตัวได้ไม่ดีนัก โดยมีมูลค่าการส่งออก 34,628.99 ล้านบาท ลดลง 24.22 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

อย่างไรก็ตาม การส่งออกรถยนต์ในเดือน สิงหาคม 63 เพิ่มขึ้น 15.81% จากเดือน กรกฎาคม 63 และอัตราการลดลงของเดือน สิงหาคม 63 น้อยกว่าเดือน กรกฎาคม 63 ตามการค่อยๆ ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ ทั้งนี้ ยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในช่วง 8 เดือนปีนี้ (มกราคม-สิงหาคม) อยู่ที่ 457,516 คัน ลดลง 36.77% และ มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 251,457.02 ล้านบาท ลดลง 32.26% จากช่วงเดียวกันปีก่อน สำหรับจำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนสิงหาคม 63 มีทั้งสิ้น 117,253 คัน ลดลง 29.52% จากสิงหาคม 62 เป็นอีกครั้งที่การผลิตรถยนต์กลับมาผลิตเกิน 1 แสนคัน โดยการผลิตเพื่อส่งออกลดลง 38.28% และการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลดลง 20.73% แต่เพิ่มขึ้น 31.25% จากกรกฎาคม 63 เนื่องจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ส่วนใหญ่เริ่มกลับสู่ภาวะปกติ สำหรับจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนมกราคม-สิงหาคม มีจำนวนทั้งสิ้น 812,721 คัน ลดลง 42.08% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศเดือน สิงหาคม 63 มีจำนวนทั้งสิ้น 68,883 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.1% แต่เพิ่มขึ้น 16.09% จากกรกฎาคม 63 เพราะรัฐบาลผ่อนคลายล็อกดาวน์เพิ่มขึ้น การให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ของรัฐบาล และงาน Bangkok International Motor Show ในเดือนกรกฎาคม และงาน BIG Motor Sale ในเดือนสิงหาคม รวมทั้งการออกรถยนต์รุ่นใหม่ด้วย ทำให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศช่วง 8 เดือน อยู่ที่ 448,006 คัน ลดลง 32.9% จากระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน

 

ข่าวต่างประเทศ

4. สภาญี่ปุ่นเลือก โยชิฮิเดะ ซึกะ เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ (ที่มา: เดลินิวส์ , ประจำวันที่ 17 กันยายน 2563)

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 16 กันยายน ว่าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรของญี่ปุ่นมีมติเสียงในการประชุมเมื่อวันพุธ ด้วยเสียงข้างมาก 314 เสียง จากทั้งหมด 462 เสียง เลือกนายโยชิฮิเดะ ซึกะ หัวหน้าพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ต่อจากนายชินโซ อาเบะ ซึ่งลาออกก่อนครบวาระด้วยเหตุผลเกี่ยวกับสุขภาพ ทั้งนี้ ซึกะ วัย 71 ปี ถือเป็นนายกรัฐมนตรี "คนใหม่" ในรอบ 8 ปีของญี่ปุ่น และยังถือเป็นผู้นำรัฐบาล "คนแรกอย่างเป็นทางการ" ในรัชศกเรวะด้วย

อย่างไรก็ตาม การขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดทางการเมืองของซึกะเกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤติรอบด้านทั้งภายในและต่างประเทศ โดยเฉพาะวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นตกต่ำหนักที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง และความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับต่างประเทศ โดยเฉพาะกับจีน เกาหลีใต้ และสหรัฐ ซึ่งจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 3 พฤษจิกายนนี้ แม้ซึกะยังไม่ได้เผยรายชื่อคณะรัฐมนตรีของตัวเองอย่างเป็นทางการ แต่สื่อท้องถิ่นรายงานว่า "ส่วนใหญ่" จะยังคงเป็น "บุคคลหน้าเดิม" ด้วยเหตุผลเพื่อความต่อเนื่องและราบรื่นของการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งหากเป็นไปตามนี้จริงหมายความว่า นายทาโร อาโสะ จะยังคงอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายทาโร โคโนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายโทชิมิตสึ โมเตงิ ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตลอดจนนายชินจิโร โคอิซุมิ นักการเมืองไฟแรงวัย 39 ปี ในตำแหน่งรมว.สิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ดี อายุเฉลี่ยของสมาชิกในคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นชุดปัจจุบันอยู่ที่ 60 ปี

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)