ข่าวประจำวันที่ 18 ก.ย. 2563

ข่าวในประเทศ

นายวิชัย โภชนกิจ
อธิบดีกรมการค้าภายใน

1. กรมการค้าภายในย้ำดูแลสินค้าสุกรทั้งระบบ (ที่มา: mcot.net , ประจำวันที่ 18 กันยายน 2563)

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า จากที่มีการขอให้รัฐปลดล็อกราคาสุกรหน้าฟาร์มให้เป็นไปตามกลไกตลาด เพื่อลดความเดือดร้อนของผู้เลี้ยงสุกร กรมการค้าภายในขอชี้แจงว่าจากที่ราคาสุกรมีชีวิตในประเทศปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายน 2563 จากกิโลกรัมละ  67 – 68 บาท เป็นกิโลกรัมละ 81 – 82 บาท ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2563  ซึ่งส่งผลให้ราคาขายปลีกเนื้อสุกรปรับสูงขึ้นสูงกว่ากิโลกรัมละ 170 บาท  กระทบต่อประชาชนผู้บริโภคที่ยังอยู่ในช่วงเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของผู้บริโภค กรมการค้าภายในได้เชิญทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมสุกร คือ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ผู้ประกอบการโรงเชือดชำแหละ สมาคมตลาดสดไทย และห้างค้าส่งค้าปลีกรายใหญ่ประชุมหลายครั้ง เพื่อหารือแนวทางบริหารจัดการอุปทานและราคาสุกรที่เหมาะสมเป็นธรรมต่อทุกภาคส่วน รวมทั้งไม่สร้างผลกระทบต่อโอกาสของสินค้าสุกรไทยที่จะสามารถส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศได้  ซึ่งทุกภาคส่วนเห็นพ้องร่วมกันในการกำหนดมาตรการสำหรับสินค้าสุกร โดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรในทุกภูมิภาค ช่วยดูแลด้านปริมาณและราคาสุกร มีชีวิตหน้าฟาร์ม ไม่ให้กระทบผู้บริโภคในประเทศ โดยตรึงราคาขายสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มที่จำหน่ายในประเทศไม่เกินกิโลกรัมละ 80 บาท ซึ่งเป็นระดับราคาที่สูงกว่าต้นทุนการผลิตกิโลกรัมละ 71.55 บาท เพื่อให้ราคาขายปลีกเนื้อสุกรอยู่ที่ไม่เกินกิโลกรัมละ 160 บาท ซึ่งเป็นระดับราคาที่เกษตรกรอยู่ได้ และไม่กระทบต่อผู้บริโภคมาก ด้านโรงเชือดชำแหละช่วยตรึงราคาขายส่งไว้เช่นกัน เพื่อให้ผู้ค้าปลายทางในตลาดสด และห้างสามารถขายปลีกเนื้อสุกร (สะโพกและไหล่) ที่กิโลกรัมละ 150 บาท และสันนอก กิโลกรัมละ 160 บาท

อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์ โดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สมาคมตลาดสดไทย ห้างค้าปลีกรายใหญ่ ได้จัดให้มีการขายเนื้อสุกรคุณภาพดี ราคาไม่เกินกิโลกรัมละ 130 บาท เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของผู้มีรายได้น้อย “ขอยืนยันว่าข้อตกลงที่กรมการค้าภายในดำเนินการร่วมกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติมีเจตนาที่จะดูแลทั้งผู้เลี้ยงสุกรและประชาชน  ซึ่งขณะนี้สถานการณ์ปรับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว เกิดประโยชน์ทั้งต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรและประชาชนผู้บริโภค” อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าว
 

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.)
กระทรวงพลังงาน

2. พลังงาน ดัน 4 แผนชง ครม. ลุยซื้อไฟพลังงานทดแทน (ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ , ประจำวันที่ 18 กันยายน 2563)

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยในการสัมมนาวิชาการประจำปี Energy Symposium 2020 Special!(Webinar) เรื่อง “อุตสาหกรรมไทยกับการปรับตัวรับ New Normal ด้านพลังงาน” จากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ที่ได้ปรับพยากรณ์ GDP ระยะยาว 20 ปี ลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ 2.8% ต่อปี จากเดิม 4% จะนำไปสู่การจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ(PDP) ฉบับใหม่ ของกระทรวงพลังงาน เพื่อจัดเตรียมกำลังผลิตไฟฟ้าให้สอดรับกับดีมานด์ไฟฟ้าในอนาคตที่เปลี่ยนแปลงไปจากผลกระทบโควิด-19 ขณะที่ ทิศทางพลังงานของประเทศไทย ปัจจุบันยังดำเนินการตามแผน PDP 2018 เนื่องจากทั้ง 4 ร่างแผนพลังงาน คือ ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2018 Rev.1) ร่างแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2018) ร่างแผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP 2018) และร่างแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan 2018) ยังไม่ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) แต่ล่าสุดกระทรวงพลังงาน ได้ส่งทั้ง 4 ร่างแผนฯ ไปยังครม.อีกครั้ง ซึ่งหากผ่านการอนุมัติทั้ง 4 แผนแล้ว ก็เชื่อมั่นว่า โครงการลงทุนต่างๆจะเดินหน้าตามแผนที่วางไว้ โดยส่วนใหญ่เป็นของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เช่น ก่อสร้างโรงไฟฟ้า กำลังผลิตรวม 5,901 เมกะวัตต์ ในปี 2580 และระบบส่งประมาณ 30 โครงการในปี 2570 รวมถึงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน(ใหม่) 2,973 เมกะวัตต์ ทั้ง โรงไฟฟ้าชุมชน,ขยะชุมชน,ชีวมวลประชารัฐ พลังงานลม และโซลาร์ภาคประชาชน ก็จะเกิดการลงทุนขึ้น

อย่างไรก็ตาม นายศิริเมธ ลี้ภาภร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กรและบริหารบริษัทในเครือ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี จำกัด(มหาชน) หรือ GPSC ระบุว่า ธุรกิจไฟฟ้าไม่ได้กังวลเรื่องของดีมานด์และซัพพลายไฟฟ้าหลังโควิดมากนัก แต่มีความเป็นห่วงเสถียรภาพของไฟฟ้า เนื่องจากทิศทางของโลกกำลังมุ่งไปสู่การลงทุนพลังงานสะอาด โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียน จะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและมีสัดส่วนถึง 50% ของการใช้พลังงานของโลก ในปี 2578 จากปีนี้ อยู่ที่ 27% โดยขณะนี้ บริษัท อยู่ระหว่างศึกษาร่วมกับ ปตท.ถึงความเป็นไปได้ในการขอรับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ(LNG Shipper) แต่ก็ต้องประเมินทิศทางราคาก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)ด้วย ทั้งนี้ นางปรียนาถ สุนทรวาะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM กล่าวว่า บริษัท คาดหวังที่จะนำเข้า LNG หลังจากได้รับใบอนุญาต Shipper แล้ว ซึ่งจากข้อมูลพบว่า แม้ว่าราคา LNG ก่อนหน้านี้ จะอยู่ที่ 2-3 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู และปัจจุบันเริ่มเข้าฤดูหนาว ทำให้ราคาเพิ่มเป็น 4 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ซึ่งยังไม่รวมกับต้นทุนบริหารจัดการ เช่น ค่าขนส่ง ค่าผ่านท่อฯ โดยจากที่เคยหารือกับบริษัท PTTLNG คาดว่า ค่าบริการขนส่งทางท่อฯ จะอยู่ที่ประมาณ 1 ดอลลาร์ฯ ซึ่งก็ยังคุ้มค่าที่จะดำเนินการ

 

นายธนวรรธน์ พลวิชัย
อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

3. จับตามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 5 หมื่นล้าน หอการค้าลุ้นดัน GDP ปลายปีฟื้น (ที่มา: เว็บไซต์ข่าวสด , ประจำวันที่ 18 กันยายน 2563)

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงประมาณการตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ไทยทั้งปีนี้ว่าอยู่ที่ -7.5% ถึง -8.5% โดยไตรมาส 3 จะอยู่ที่ -8% ถึง -10% และไตรมาส 4 อยู่ที่ -6% ถึง -8% โดยมองว่ามาตรการรักษาระดับการบริโภคในประเทศ วงเงิน 51,000 ล้านบาท ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ศบศ.) เห็นชอบล่าสุด เช่น โครงการคนละครึ่ง 30,000 ล้านบาท และมาตรการเพิ่มค่าครองชีพในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ วงเงิน 21,000 ล้านบาท จะทำให้เกิด เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบราว 150,000-200,000 ล้านบาท ช่วยให้ GDPเฉพาะไตรมาส 4/63 ติดลบลดลง 2-3% ทั้งนี้ต้องติดตามว่า จะมีการใช้เม็ดเงินได้ครบทั้งหมดหรือไม่ และมองว่ารัฐบาลควร นำมาตรการชิม ช้อป ใช้ กลับมาใช้ เพราะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของคนรายได้ปานกลาง ทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนไตรมาส 4 เพิ่มขึ้น 30,000-50,000 ล้านบาท และต้องเร่งพิจารณามาตรการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีรายได้สูง เพราะเศรษฐกิจไทยถูกออกแบบโครงสร้างประเทศให้ขยายตัวได้ด้วยการท่องเที่ยว ซึ่งหากทำได้ก็จะส่งผลดี ต่อเศรษฐกิจในไตรมาส 4 และยังเป็นการทดสอบระบบป้องกันและมาตรการที่จะใช้กำกับดูแลของรัฐบาลด้วย

อย่างไรก็ตาม นายธนวรรธน์กล่าวต่อว่า การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งผลดีทำให้ไทยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำ หรือ 0.50% ต่ออีกอย่างน้อย 1 ปี ส่งผลดีต่อสภาพคล่องและการชำระหนี้ของภาคธุรกิจ แต่จะทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่า ในกรอบ 31.00-31.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือนสิงหาคม 2563 ปรับตัวดีขึ้น เล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 32.6 จุด เพิ่มขึ้นจากระดับ 31.8 จุดในเดือนกรกฎาคม โดยมีปัจจัยบวก คือ คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. คงอัตรา ดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี และราคาน้ำมันดีเซลขายปลีก ปรับตัวลดลง ขณะที่ปัจจัยลบ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2 ที่เปิดเผยโดยสภาพัฒน์ ติดลบ 12.2%, ความกังวลสถานการณ์ทางการเมือง, การนำเข้าและส่งออกสินค้ายังลดลง, ค่า SET Index เดือนสิงหาคม ปรับลดลง 17.87 จุดจากเดือนกรกฎาคม ที่ค่าเงินบาทยังแข็งค่า

 

ข่าวต่างประเทศ

4. ทรัมป์ ค้านให้ ไบต์แดนซ์ ถือหุ้นใหญ่ ติ๊กต๊อก (ที่มา: เดลินิวส์ , ประจำวันที่ 18 กันยายน 2563)

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 17 กันยายน โดยอ้างข้อมูลจากแหล่งข่าวในทำเนียบขาว ว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยังคงพิจารณาข้อเสนอของบริษัทไบต์แดนซ์จากจีน ในการให้บริษัทออราเคิล หนึ่งในผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีรายใหญ่ของสหรัฐ มีสถานะเป็น "พันธมิตรทางเทคโนโลยี" ของไบต์แดนซ์ เพื่อร่วมบริหารจัดการกิจการของติ๊กต๊อกในอเมริกา ให้ทันก่อนที่รัฐบาลวอชิงตันอาจแบนติ๊กต๊อกอย่างเป็นทางการภายในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ ผู้นำสหรัฐไม่เห็นด้วยในประเด็นที่ไบต์แดนซ์จะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นเสียงข้างมากในติ๊กต๊อก เนื่องจากเท่ากับว่าข้อมูลของผู้ใช้งานติ๊กต๊อกในประเทศยังคงเผชิญกับความเสี่ยง ด้านเอ็นบีซีรายงานเพิ่มเติมว่า มีการดึงบริษัทวอลมาร์ตเข้ามามีส่วนร่วมกับการเจรจา ซึ่งหากตกลงกันได้วอลมาร์ตจะเป็นผู้ถือหุ้นเสียงข้างน้อยคือ 20% เท่ากับออราเคิล ซึ่งจะทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยให้กับข้อมูลของผู้ใช้งานติ๊กต๊อกในสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ไบต์แดนซ์ยังเสนอให้รัฐบาลวอชิงตันเป็นผู้แต่งตั้งบอร์ดบริหารให้กับติ๊กต๊อก ที่จะเปลี่ยนชื่อเป็น "ติ๊กต๊อก โกลบอล" โดยผู้บริหารทั้งหมดจะเป็นชาวอเมริกัน หนึ่งในนั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางดิจทัล และเป็นคนเดียวซึ่งจะมีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลระดับสูงสุด อนึ่ง หนึ่งในที่นั่งของบอร์ตบริหารต้องเป็นของนายดักลาส แมคมิลเลียน ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของวอลมาร์ต นอกจากนี้ ไบต์แดนซ์ยังให้คำมั่นสร้างงานใหม่อีก 25,000 อัตราในสหรัฐ หากติ๊กต๊อกยังดำเนินกิจการต่อในประเทศได้ และเสนอแผนระดมทุนไอพีโอภายในระยะเวลา 12 เดือน  อย่างไรก็ตาม หากออราเคิลสามารถเข้าถึงโครงสร้างอัลกอริธึมของติ๊กต๊อกจริง มีความเป็นไปได้สูงมากที่จีนจะไม่อนุมัติข้อตกลงนี้

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)