ข่าวประจำวันที่ 14 ม.ค. 2564

ข่าวในประเทศ

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

1. กระทรวงอุตสาหกรรม รับสมัครรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี 2564 (ที่มา: เว็บไซต์กระทรวงอุตสาหกรรม , ประจำวันที่ 14 มกราคม 2564)

นายกอบชัย  สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดงานมอบรางวัลอุตสาหกรรมเป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 เป็นต้นมา โดยมีนายกรัฐมนตรีให้เกียรติเป็นประธานในการมอบรางวัล เพื่อประกาศเกียรติคุณผู้ประกอบการที่มีความวิริยะอุตสาหะในการสร้างสรรค์งานที่มีคุณภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นแบบอย่างที่ดีแก่กิจการอุตสาหกรรมอื่นๆ ตลอดจนเป็นขวัญและกำลังใจให้ผู้ประกอบการในการสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ โดยมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนามาตรฐาน และการประกอบการในด้านต่างๆ อย่างมีศักยภาพ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการผลิตของภาคอุตสาหกรรม และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการค้า ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการเจริญเติบโตของประเทศโดยรวม

อย่างไรก็ดี นายวันชัย  พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในปีนี้ สมอ. ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักในการจัดงานรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ. 2564 ซึ่งมีรางวัลอุตสาหกรรม รวมทั้งสิ้น 15 ประเภทรางวัล ดังนี้ 1.) รางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม จำนวน 1 รางวัล 2.) รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น จำนวน 9 ประเภทรางวัล ได้แก่ 2.1 ประเภทการเพิ่มผลผลิต 2.2 ประเภทการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม 2.3 ประเภทการบริหารความปลอดภัย 2.4 ประเภทการบริหารงานคุณภาพ 2.5 ประเภทการจัดการพลังงาน 2.6 ประเภทการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน 2.7 ประเภทอุตสาหกรรมศักยภาพ 2.8 ประเภทความรับผิดชอบต่อสังคม 2.9 ประเภทเศรษฐกิจหมุนเวียน 3.) รางวัลอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมดีเด่น จำนวน 5 ประเภทรางวัล ได้แก่ 3.1 ประเภทการบริหารจัดการ 3.2 ประเภทการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ 3.3 ประเภทการจัดการเทคโนโลยีเชิงนวัตกรรม 3.4 ประเภทบริหารธุรกิจสู่สากล 3.5 ประเภทการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ทั้งนี้ เกณฑ์การพิจารณาจะเข้มข้นกว่าทุกปีที่ผ่านมา โดยจะมอบรางวัลให้กับผู้ประกอบการที่มีคะแนนสูงสุดเป็น 3 อันดับแรกของแต่ละประเภทรางวัลเท่านั้น สมอ. จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการสมัครเข้ารับการคัดเลือกรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ. 2564 ได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 โดยส่งใบสมัครได้ที่ กองส่งเสริมและพัฒนาด้านการมาตรฐาน สมอ. โทร. 0 2202 3517-8 หรือสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ หรือฝ่ายเลขานุการคณะทำงานทุกคณะ และสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.industry.go.th/industry_award/  เลขาธิการ สมอ. กล่าว

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล
รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

2. ส.อ.ท. หวั่นคู่ค้าบีบตรวจโควิด 100% (ที่มา: เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ , ประจำวันที่ 14 มกราคม 2564)

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้ประชุมหารือกับทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อประเมินสถานการณ์หลังจากที่มีการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่สีแดง (เรดโซน) และจังหวัดอื่น ๆ รวม 28 จังหวัด ที่ประชุมรายงานว่าขณะนี้โรงงานทุกแห่งได้ทำความสะอาดทุกพื้นที่ โดยเฉพาะโรงงานที่มีคนติดเชื้อโควิด-19 โดยโรงงานส่วนใหญ่ยังเดินเครื่องผลิตไม่หยุด เนื่องจากรัฐบาลไม่ประกาศล็อกดาวน์ และทางโรงงานประเมินแล้วว่ายังสามารถควบคุมพื้นที่เสี่ยง โดยการปิดพื้นที่บางโซนเพื่อทำความสะอาด และคัดกรองพนักงาน ลูกจ้าง แรงงาน ตามมาตรการที่รัฐกำหนดอย่างเคร่งครัด

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าโรงงานส่วนใหญ่ก็ได้รับผลกระทบ เพราะการปิดบางโซนผลิตนั้นส่งผลกระทบต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่สปีดการผลิตลดลง ความเต็มที่ในการผลิตก็ลดลง แต่ยังไม่หยุดยังมีการผลิตปกติ ขณะที่แรงงานต่างด้าวมาตรการเชิงรุกเอกชนได้เริ่มการตรวจเชื้อโควิดให้กับพนักงาน ลูกจ้าง แรงงานแล้ว โดยเป็นการใช้งบฯบริษัทเองจึงมีการหยุดใช้เวลา 1-2 วัน ส่งผลการผลิตได้ไม่เต็ม 100% จึงเป็นการลดประสิทธิภาพลง ในส่วนของการใช้งบฯ เพื่อตรวจนั้น รายใหญ่ที่มีกำลังส่วนใหญ่ที่ผลิตสินค้าส่งออก ไม่ติดปัญหาอะไร แต่กับรายเล็ก โดยเฉพาะ SMEs มีปัญหาที่ต้องเตรียมต้นทุนในการตรวจ นอกจากเป็นภาระแล้วปัญหาใหญ่คือลูกค้าที่เป็นคู่ค้ามีการบีบให้บริษัทรายเล็ก ๆ เหล่านี้ ต้องตรวจเชื้อโควิด-19 กับพนักงานทุกคน เพื่อสร้างความมั่นใจกับสินค้าที่จะถูกผลิตออกไป หากรายใดไม่สามารถทำได้ มีความเป็นไปได้ว่าจะถูกยกเลิกคำสั่งซื้อ ซึ่งเป็นความกังวลที่ SMEs กำลังกังวลอย่างมาก ส่วนมาตรการช่วยเหลือสมาชิกอื่นๆ ที่ทาง ส.อ.ท. กำลังช่วยอยู่ขณะนี้คือ ล่าสุดคณะกรรมการบริหารนัดพิเศษ ได้อนุมัติช่วยเหลือสมาชิกในจังหวัดเรดโซน และพื้นที่ที่มีโรงงานต่างด้าวจำนวนมาก โดยอนุมัติเงินสมทบทุนเบื้องต้น 2 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงพยาบาลสนาม จำนวน 1,000 เตียง ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ซึ่งขณะนี้มีผู้ร่วมบริจาคและมอบพื้นที่ให้แล้ว 50 ไร่ ติดริมแม่น้ำท่าจีน และติดถนน ถือว่าเป็นพื้นที่สะดวกในการเข้าถึงเพื่อใช้เป็นพื้นที่กักตัว รักษาแรงงานและผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร จนกว่าภารกิจและการแพร่เชื้อจะเสร็จสิ้น ซึ่งคาดว่าการสร้าง รพ.สนามส่วนนี้จะใช้เวลาเร็วที่สุด หรือประมาณ 1 เดือน พื้นที่ดังกล่าวจะใช้เป็นต้นแบบนำร่อง ซึ่งขณะนี้ทางสมาชิกรายใหญ่อย่าง SCG จะช่วยเป็นผู้ออกแบบ ส่วนรายละเอียดฟังก์ชั่นอื่น ๆ ที่ต้องมีประกอบ อย่างเตียง เครื่องมือแพทย์ จะได้รับการสนับสนุนจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมการแพทย์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงสาธารณสุขจังหวัด สภาอุตสาหกรรมแต่ละจังหวัด ถึงความต้องการที่จำเป็น

 

นายธนวรรธน์ พลวิชัย
อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

3. ไตรมาสแรก 2564 การจับจ่ายปรับตัวลดลงจากผลกระทบโควิด-19 (ที่มา: กรมประชาสัมพันธ์ , ประจำวันที่ 14 มกราคม 2564)

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก จากมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ว่า จากสำรวจตัวเลขการใช้จ่ายของประชาชนตั้งแต่ปลายปี 2563 ก่อนเข้าสู่เทศกาลปีใหม่ ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มมีการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่จังหวัดสมุทรสาคร แล้วคนไทยจึงมีความระมัดระวังสูงและทำให้บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยในช่วงปีใหม่ปรับตัวลดลง คาดการณ์ว่ามีวงเงินใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 80,000 - 90,000 ล้านบาท ลดลงต่ำกว่าปีที่แล้วร้อยละ 30 – 40 และสำหรับการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจระดับหนึ่ง เพราะมีการติดเชื้อแพร่กระจายหลายพื้นที่ ประกอบกับประชาชนชะลอการเดินทาง ดังนั้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประเภทจึงชะลอตัวลง จึงประเมินว่าในแต่ละเดือนจะมีเงินหายจากระบบเศรษฐกิจประมาณ 100,000 ล้านบาทต่อเดือน หรือเฉลี่ยวันละ 3,300 ล้านบาท โดยจะมีผลกระทบอย่างมากใน 5 จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวดรวมถึงจังหวัดที่มีภาคอุตสาหกรรมและภาคการท่องเที่ยวสูง

อย่างไรก็ตาม มีการปรับประมาณการณ์ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากเดิมร้อยละ 2.8 เหลือร้อยละ 2.2 แต่คาดว่าเมื่อรัฐบาลออกมาตรการเยียวยาต่างๆ จะเป็นการช่วยเหลือภาคเอกชนและประชาชนในเบื้องต้นให้สามารถพยุงตัวได้ในไตรมาสนี้ อีกทั้งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไปได้และหากภาครัฐกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วต่อเนื่องในไตรมาส 2 – 4 ประกอบกับมีวัคซีนโควิด-19 ก็เชื่อว่าตัวเลขเศรษฐกิจจะฟื้นตัวดีขึ้นอย่างแน่นอน

ข่าวต่างประเทศ

4. 'อาลีบาบา เทนเซ็นต์ ไป่ตู้' รอดแบล็คลิสต์ สหรัฐ ห้ามซื้อขายหุ้น (ที่มา: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ , ประจำวันที่ 14 มกราคม 2564)

สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่ง ซึ่งรวมถึงวอลล์สตรีทเจอร์นัลรายงานอ้างแหล่งข่าวว่า กระทรวงการคลังสหรัฐ ได้ตัดสินใจไม่รวมบริษัทอาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิ้ง, บริษัทเทนเซ็นต์ โฮลดิ้งส์ และบริษัทไป่ตู้ อิงค์ของจีน ในรายชื่อบริษัทจีนที่ถูกขึ้นบัญชีดำ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ กระทรวงกลาโหมสหรัฐได้พยายามแบนบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนเหล่านี้ โดยรายงานข่าวดังกล่าวทำให้หุ้นของอาลีบาบาในตลาดสหรัฐพุ่งขึ้นถึง 4.3% ขณะที่หุ้น ADR ของเทนเซ็นต์ ปรับตัวขึ้น 2.9% หากสหรัฐตัดสินใจแบนอาลีบาบาและเทนเซ็นต์ ก็น่าจะนับเป็นการยกระดับความขัดแย้งครั้งใหญ่ที่สุดภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพราะบริษัททั้งสองแห่งนี้มีมูลค่าสูงและทรงอิทธิพลมาก ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้น หลังจากเมื่อสัปดาห์แล้ว คณะบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้พิจารณาที่จะรวมบริษัทอาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิ้ง และบริษัทเทนเซ็นต์ โฮลดิ้งส์ของจีนในรายชื่อบริษัทจีนที่ถูกขึ้นบัญชีดำในข้อหาที่เป็นบริษัทที่ถูกครอบครองและควบคุมโดยกองทัพจีน ซึ่งจะส่งผลให้หลักทรัพย์ของบริษัทจีนเหล่านี้ไม่สามารถทำการซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐได้

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนนั้นย่ำแย่ลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบหลายสิบปี หลังจากทั้งสองประเทศมีปัญหาขัดแย้งกันหลายด้านนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19, การใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในฮ่องกง, ด้านการค้า และการจารกรรมข้อมูล

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)