ข่าวประจำวันที่ 15 ม.ค. 2564

ข่าวในประเทศ

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์
รองนายกรัฐมนตรี
และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

1. รัฐเปิดยื่นของบกองทุนอนุรักษ์ฯ 2,400 ล้าน ฟื้นเศรษฐกิจฐานรากทั่วประเทศ (ที่มา: เว็บไซต์สยามรัฐ , ประจำวันที่ 15 มกราคม 2564)

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยชี้แจงนโยบายกับผู้ว่า ราชการจังหวัดทั่วประเทศ ผ่านระบบวิดีทัศน์ทางไกล(Video Conference) เกี่ยวกับแนวทางการขอรับการสนับสนุนงบประมาณกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปี 2564 ที่จะจัดสรรเงินให้ 2,400 ล้านบาทเพื่อดำเนินโครงการภายใต้กลุ่มงานส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเศรษฐกิจฐานรากที่มุ่งส่งเสริมให้ชุมชนทั่วประเทศนำเทคโนโลยีพลังงานไปใช้ในการสร้างงาน สร้างรายได้ โดยคาดว่าจะเปิดรับข้อเสนอโครงการเข้าระบบภายใน 31 มีนาคม 2564 โดยกองทุนฯ จะประกาศเกณฑ์รายละเอียดต่อไป

อย่างไรก็ตาม สำหรับกรอบวงเงิน 2,400 ล้านบาทจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกให้แก่จังหวัดๆละ 25 ล้านบาท รวม 76 จังหวัด รวม 1,900 ล้านบาท ส่วนกรอบวงเงินที่เหลือ 500 ล้านบาท จะใช้เป็นงบกลางสำหรับรองรับโครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร (บ่อบาดาล) ที่เกินกรอบวงเงินของจังหวัด ทั้งนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ส่วนราชการภูมิภาค และส่วนราชการส่วนกลางที่มีที่ตั้งในจังหวัด สามารถยื่นขอรับการสนับสนุนกับทางจังหวัดได้ โดยจะมีคณะกรรมการบริหารจังหวัด แบบบูรณาการ (กบจ.) เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบกลั่นกรองเรียงลำดับความสำคัญก่อนที่จะให้ อปท. ส่วนราชการภูมิภาค หรือส่วนราชการส่วนกลางที่มีที่ตั้งในจังหวัดยื่นข้อเสนอเข้าระบบให้กับกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ทั้งนี้ จะได้มีการกำชับให้หน่วยงานจัดทำระบบตรวจสอบ ติดตาม ประเมินผลโครงการ โดยเฉพาะการให้ความสำคัญเรื่องความพร้อมในการบำรุงรักษา ประชาชนจะต้องใช้งานได้จริง ทั้งนี้ นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กองทุนอนุรักษ์ฯได้วางกรอบวงเงินงบประมาณปี 2564 6,500 ล้านบาท แบ่งเงินสนับสนุนแบ่งเป็น 7 กลุ่มงานย่อยได้แก่ กลุ่มงานตามกฎหมาย 200 ล้านบาท,กลุ่มงานสนับสนุนนโยบายอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน 500 ล้านบาท,กลุ่มงานศึกษา ค้นคว้าวิจัย นวัตกรรม และสาธิตต้นแบบ วงเงินสนับสนุน 355 ล้านบาท,กลุ่มงานสื่อสาร และข้อมูล ข่าวสาร วงเงินสนับสนุน 200 ล้านบาท,กลุ่มงานพัฒนาบุคลากร 450 ล้านบาท,กลุ่มงานส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม อาคาร บ้านอยู่อาศัย ภาคขนส่ง ธุรกิจฟาร์มเกษตรสมัยใหม่ และพื้นที่พิเศษ 2,200 ล้านบาท และกลุ่มงานส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเศรษฐกิจฐานราก 2,400 ล้านบาท ส่วนแผนบริหารจัดการโดยสำนักงานกองทุนฯ อยู่ที่ 195 ล้านบาท

 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

2. อุตสาหกรรม สั่งตรวจสอบ บังคับใช้กฎหมายในโรงงาน ควบคุมฝุ่นพิษ (ที่มา: ศูนย์ข่าวแปซิฟิค , ประจำวันที่ 15 มกราคม 2564)

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ปัญหาค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ไว้ทั้ง 3 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ และภาคเกษตรอุตสาหกรรม ทั้งมาตรการเร่งด่วนและมาตรการระยะยาว

อย่างไรก็ตาม สำหรับมาตรการเร่งด่วนในภาคอุตสาหกรรม ให้ตรวจสอบ เฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายกับโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด มาตรการในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ได้จัดทำมาตรการจูงใจเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าผ่านมาตรฐานที่เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า และมาตรการในภาคเกษตรอุตสาหกรรม กำหนดนโยบายลดปริมาณอ้อยไฟไหม้:อ้อยสด เป็นร้อยละ 20:80 ในฤดูการผลิตปี 2563/64 โดยมีมาตรการกำหนดราคาอ้อยสดกับราคาอ้อยไฟไหม้ที่แตกต่างกัน เพื่อให้ชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยไฟไหม้หันกลับมาตัดอ้อยสด ส่วนสภาพอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังอ่อนลง ทำให้คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังปานกลางส่วนช่วงวันที่ 17 - 20 มกราคม 64 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงระลอกใหม่จากประเทศจีน จะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง อุณหภูมิจะลดลง 4-6 องศาเซลเซียส สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังแรง โดยอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 2-3 เมตร

 

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์
รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

3. กระทรวงเกษตรฯ บูรณาการทุกภาคส่วนมุ่งสร้างความมั่นคงยั่งยืนให้เกษตรกร (ที่มา: thaigov.go.th , ประจำวันที่ 15 มกราคม 2564) 

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะทำงานจัดทำแนวทางสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนให้แก่เกษตรกรด้วยโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยมีนายชนินทร์ รุ่งแสง คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายพลเชษฐ์ ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในฐานะรองประธานคณะทำงานเข้าร่วมการประชุม เพื่อสร้างโอกาสในการเพิ่มรายได้และเป็นทางเลือกใหม่ในการปลูกพืชของเกษตรกร ตามนโยบายสำคัญของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้หลักตลาดนำการผลิต

อย่างไรก็ตาม นายระพีภัทร์ กล่าวว่า การขับเคลื่อนเพื่อสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนให้แก่เกษตรกรด้วยโรงไฟฟ้าชีวมวล เป็นการขับเคลื่อนอย่างบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคการศึกษา อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ธ.ก.ส. สภาเกษตรกรแห่งชาติ สภาอุตสาหกรรมฯ และสภาหอการค้าฯ มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาการปลูกพืชที่ไม่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ส่งผลให้ได้รับผลตอบแทนต่ำ ไปสู่พืชทางเลือกใหม่ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และมีตลาดรองรับที่แน่นอน เช่น โรงไฟฟ้าชีวมวลของชุมชน ซึ่งในหลายพื้นที่ของประเทศไทยมีพื้นที่ที่มีศักยภาพในการปลูกไม้เศรษฐกิจโตเร็ว สามารถใช้เป็นวัตถุดิบป้อนเข้าสู่โรงไฟฟ้าชีวมวลตามนโยบายของกระทรวงพลังงานได้ ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาสั่งการให้ดำเนินการจัดทำแนวทางส่งเสริมการปลูกพืชพลังงานชีวมวลในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกพืชเป้าหมาย พร้อมทั้งพิจารณากรอบแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสม โดยมีเป้าหมายที่สำคัญเพื่อ "มุ่งสร้างความมั่นคงและยั่งยืนทางรายได้ของเกษตรกรไทย" ภายใต้หลักการตลาดนำการผลิตของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ข่าวต่างประเทศ

4. สหรัฐนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น ขณะส่งออกลดลงสัปดาห์ที่แล้ว (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์ , ประจำวันที่ 15 มกราคม 2564)

สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า ยอดนำเข้าน้ำมันดิบของสหรัฐเพิ่มขึ้น ขณะที่ยอดส่งออกลดลงในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 8 มกราคม โดย EIA เปิดเผยรายงาน "Weekly Petroleum Status Report" ระบุว่า ยอดนำเข้าน้ำมันดิบโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 6.2 ล้านบาร์เรลต่อวันในสัปดาห์ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 870,000 ล้านบาร์เรลต่อวันจากสัปดาห์ก่อนหน้า ขณะที่ยอดส่งออกน้ำมันดิบโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงราว  621,000 บาร์เรลต่อวันจากสัปดาห์ก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา การนำเข้าน้ำมันดิบโดยเฉลี่ยของสหรัฐอยู่ที่ราว 5.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงประมาณ 986,000 บาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่การส่งออกน้ำมันดิบโดยเฉลี่ยอยู่ที่ราว 3.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงประมาณ  259,000 บาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบเป็นรายปี ทั้งนี้ สหรัฐเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยได้แรงหนุนจากการผลิตน้ำมันจากหินดินดาน (shale oil) ที่ขยายตัวขึ้น ขณะที่จีนยังคงเป็นหนึ่งในผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนเปิดเผยว่า ยอดนำเข้าน้ำมันดิบของจีนในเดือนพ.ย. 2563 ลดลง 0.8% เมื่อเทียบรายปี แตะที่ 45.36 ล้านตัน

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)