ข่าวประจำวันที่ 25 ต.ค. 2564

ข่าวในประเทศ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

 

1. คุมเข้มกำกับดูแลลงทุน “คลัง-ก.ล.ต.-ธปท.” ลุยสินทรัพย์ดิจิทัล (ที่มา: ไทยรัฐ , ประจำวันที่ 25 ตุลาคม 2564)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายให้นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับการกำกับสินทรัพย์ดิจิทัลคริปโตเคอร์เรนซี เงินสกุลดิจิทัล ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ถึงแม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายกำกับดูแลแล้ว แต่ยังมีหลายฝ่ายตั้งประเด็นสงสัยเกี่ยวกับบทบาทการกำกับดูแล ดังนั้น จึงต้องการให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในอนาคต นอกจากนี้ จะต้องเร่งให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชน ผู้ลงทุนเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล เงินสกุลดิจิทัลด้วย เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องจำเป็น เพราะทั่วโลกกำลังก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล การใช้เงินสกุลดิจิทัล ขณะเดียวกันการลงทุนเงินดิจิทัลก็มีข้อควรระวัง เรื่องการหลอกลวง เพราะเงินสกุลดิจิทัลจะเห็นเพียงตัวเลขแต่ไม่เห็นเงินจริง ดังนั้นต้องระมัดระวังและเตือนนักลงทุนเพื่อมิให้ถูกหลอกในการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งนี้ นายอาคมกล่าวต่อว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการหลายรายมาขอใบอนุญาตทำธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล กับ ก.ล.ต. แล้วหลายราย ซึ่งการลงทุนคริปโตเคอร์เรนซีนั้นเป็นไปตามเศรษฐกิจโลก สำหรับประเทศไทย จะเติบโตแค่ไหนอย่างไร ก็ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศด้วย ซึ่งไทยไม่ได้ปิดกั้นการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องระมัดระวังในการลงทุน

อย่างไรก็ตาม นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นห่วงนักลงทุน ที่ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน คนรุ่นใหม่วัยทำงาน ที่เข้ามาลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซีมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ด้วยเหตุเพราะเข้าถึงได้ง่าย ใช้ระยะเวลาสั้นแต่ได้รับผลตอบแทนที่รวดเร็ว อีกทั้ง นายกฯ ฝากเตือนให้นักลงทุนพิจารณาถึงความเสี่ยงจากการลงทุนประเภทนี้ให้มาก เนื่องจากคริปโตเคอร์เรนซีไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ เป็นการเก็งกำไรและมีความผันผวนสูง ส่วนผู้ปกครองที่เปิดบัญชีให้เยาวชน ต้องมีความระมัดระวังในการลงทุนและดูแลอย่างใกล้ชิด จึงขอให้ผู้สนใจที่จะลงทุนทำความเข้าใจในลักษณะความเสี่ยง ต้องแน่ใจว่าสามารถยอมรับการสูญเสียเกือบทั้งจำนวนได้ หาข้อมูลและพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจ และที่สำคัญ อย่าหลงเชื่อคำโฆษณา ต้องเลือกผู้ให้บริการที่ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

นายวีริศ อัมระปาล
ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

 

2. กนอ. ผุดนิคมฯ "ฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้" กว่า 1 พันไร่ ลงทุน 4.9 พันล้านบาท (ที่มา: อินโฟเควสท์ , ประจำวันที่ 25 ตุลาคม 2564)

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ.ได้ลงนามในสัญญาร่วมดำเนินงานกับ บริษัท ดับเบิ้ลพี แลนด์ จำกัด จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลเขาดิน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา เม็ดเงินพัฒนาโครงการ 4,856 ล้านบาท เพื่อเป็นการส่งเสริมและเตรียมพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมรองรับการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อรองรับการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมสมัยใหม่ S-Curve และ New S-Curve ตามนโยบายรัฐบาล สำหรับนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ เป็นการดำเนินงานในรูปแบบนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานที่เอกชนเป็นผู้ลงทุนพัฒนา และให้บริการระบบสาธารณูปโภค จัดเป็นนิคมอุตสาหกรรมลำดับที่ 67 โดยใช้ระยะเวลาพัฒนาโครงการประมาณ 2 ปี และจะเปิดขายพื้นที่/ให้เช่าพื้นที่ทั้งหมดได้ภายใน 4 ปี โดยเน้นกลุ่มนักลงทุนเป้าหมายที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงในกระบวนการผลิตเป็นหลัก อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอุปกรณ์กักเก็บพลังงานไฟฟ้าประจุสูง กิจการอื่นที่เกี่ยวข้อง และกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมตามโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยโครงการฯ ได้รับความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA : Environmental Impact Assessment) จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แล้ว

อย่างไรก็ดี นิคมอุตสาหกรรมนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ มีพื้นที่ประมาณ 1,181.87 ไร่ ประกอบด้วย พื้นที่ก่อให้เกิดรายได้ประมาณ 831 ไร่ หรือคิดเป็น 70.32% พื้นที่ระบบสาธารณูปโภคประมาณ 204.16 ไร่ คิดเป็น 17.31% และพื้นที่สีเขียวและแนวกันชนประมาณ 146.42 ไร่ คิดเป็น 12.13% ของพื้นที่ทั้งหมด หากมีการลงทุนเต็มพื้นที่แล้วจะก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนในนิคมฯ ประมาณ 33,200 ล้านบาท เกิดการจ้างงานประมาณ 8,300 คน อีกทั้ง นายวีริศ กล่าวว่า แนวโน้มการลงทุนในขณะนี้มีสัญญาณบวกชัดเจนขึ้น โดยหลายอุตสาหกรรมขยายตัวได้ดี ประกอบกับมีความสนใจการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI) เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะมองว่าประเทศไทยมีปัจจัยพื้นฐานที่ดี และเหมาะกับการตั้งฐานธุรกิจในระยะยาว โดยมีการย้ายฐานการผลิตที่เป็นผลจากสงครามการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ (จีน-สหรัฐฯ) เข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการจากจีนและไต้หวัน ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาย้ายฐานเข้ามาแล้ว 250 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 126,000 ล้านบาท                  

 

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์
รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

3. ส.อ.ท. ชี้คลายล็อกดาวน์ หนุนส่งออกรถยนต์ฟื้น (ที่มา: ข่าวหุ้น , ประจำวันที่ 25 ตุลาคม 2564)

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า เดือนกันยายน 2564 ผลิตรถยนต์ส่งออกได้ 73,831 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2563 ที่ 15.47% ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 44,777.90 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2563 ที่ 21.80% และเพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2564 ที่ 23.94% เพราะได้รับชิปและชิ้นส่วนรถยนต์จากประเทศคู่ค้าที่คลายการล็อกดาวน์ จึงผลิตเพื่อส่งออกได้ถึง 58.04% ของยอดผลิตทั้งหมดเพื่อส่งออกชดเชยเดือนสิงหาคมที่ส่งออกต่ำสุดในรอบ 4 เดือน ทำให้ส่งออกได้เพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาดยกเว้นตลาดเอเชียและตลาดอเมริกาเหนือที่ลดลง ยังคงต้องติดตามดูเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่หลายประเทศมียอดขายในประเทศเขาชะลอลง เช่น จีนมีปัญหาการขาดแคลนชิปและชิ้นส่วน ยอดขายรถยนต์ลดลงหลายเดือนติดต่อกัน ญี่ปุ่น เวียดนาม ยุโรป 4 ประเทศใหญ่ สหราชอาณาจักร ตุรกี เม็กซิโก สหรัฐอเมริกา บราซิล แต่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ยอดขายรถยนต์ในประเทศยังคงเพิ่มขึ้น คาดว่า ถ้าโรงงานผลิตรถยนต์ได้ชิปและชิ้นส่วนเพิ่มขึ้นอีก จะทำให้ส่งออกรถยนต์ได้เกินเป้าที่ตั้งไว้สูงสุดที่ 850,000 คัน ทั้งนี้ จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนกันยายน 2564 มีทั้งสิ้น 140,038 ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว 6.43% แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคมปีนี้ 34.47% เพราะได้รับชิปและชิ้นส่วนรถยนต์จากประเทศคู่ค้าที่ผ่อนคลายการล็อกดาวน์และเริ่มส่งออกได้เพิ่มขึ้น โรงงานผลิตรถยนต์จึงผลิตเพื่อส่งออกและผลิตขายในประเทศเพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคมปีนี้ 28.56% และ 40.16% ตามลำดับ จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนมกราคม - กันยายน 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,211,946 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม - กันยายน 2563 ที่ 25.93%

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ผลิตเพื่อส่งออกเดือนกันยายน 2564 ผลิตได้ 81,282 คัน เท่ากับ 58.04% ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2563 ที่ 19.80% ส่วนเดือนมกราคม - กันยายน 2564 ผลิตเพื่อส่งออกได้ 699,682 คัน เท่ากับ 57.73% ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ระยะเวลาเดียวกัน 37.38% ส่วนผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเดือนกันยายน 2564 ผลิตได้ 58,756 คัน เท่ากับ 41.96% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนกันยายน 2563 ที่ 28.19% และเดือนมกราคม - กันยายน 2563 ผลิตได้ 512,264 คัน เท่ากับ 42.27% ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม - กันยายน 2563 ที่ 13.06%

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. จีนให้คำมั่นสร้างความมั่นคงด้านอาหาร-พลังงานในระหว่างควบคุมการปล่อยมลพิษ (ที่มา: อินโฟเควสท์ , ประจำวันที่ 25 ตุลาคม 2564)

คณะรัฐมนตรีจีนได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ (CO2) ในปริมาณสูงสุดก่อนถึงปี 2573 และบรรลุเป้าหมายในการสร้างสมดุลคาร์บอน (carbon neutrality) โดยจะลดการปล่อย CO2 ลงเป็นศูนย์ให้ได้ก่อนปี 2603 ตามเจตนารณ์ที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกาศไว้ในการประชุมครบรอบ 75 ปีแห่งการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ (UN)

อย่างไรก็ดี คณะรัฐมนตรีจีนให้คำมั่นว่า การใช้มาตรการเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวนั้น รัฐบาลจะพิจารณาถึงความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานควบคู่กันไปด้วย โดยแถลงการณ์ดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่จีนเผชิญภาวะขาดแคลนพลังงานอย่างรุนแรง ซึ่งบดบังความพยายามของจีนในการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศที่กำลังเตรียมเข้าร่วมเจรจาในการประชุมสุดยอดด้านสภาพอากาศ COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ ในวันที่ 31 ตุลาคมนี้

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)