ข่าวประจำวันที่ 26 ต.ค. 2564

ข่าวในประเทศ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. บอร์ด สมอ. เคาะแผนทำมาตรฐานปี 65 พร้อมเห็นชอบมาตรฐานระบบเตือนภัย (ที่มา: สยามรัฐ , ประจำวันที่ 26 ตุลาคม 2564)

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพของภาคอุตสาหกรรม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น โดยมีแผนแม่บทการกำหนดมาตรฐานระยะ 5 ปี (พ.ศ.2565-2569) เป็นกลไกสำคัญเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งตนได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จัดทำมาตรฐานให้สอดคล้องกับความต้องการและความคาดหวังของทุกภาคส่วน ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ และประชาชน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาล เพื่อให้สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรม และคุ้มครองผู้บริโภคให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้า

อย่างไรก็ดี นายจุลพงษ์ ทวีศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ด สมอ. เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564  ที่ผ่านมาว่า บอร์ดได้มีมติเห็นชอบรายชื่อเพื่อจัดทำมาตรฐานในปีงบประมาณ 2565 จำนวน 596 เรื่อง โดยมีแผนตามที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจำนวน 240 เรื่อง ครอบคลุมมาตรฐานกลุ่มเอสเคิร์ฟ  นิวเอสเคิร์ฟ กลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆมาตรฐานตามนโยบาย และมาตรฐานเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการ นอกจากนี้ยังเห็นชอบมาตรฐานระบบเตือนภัย และมาตรฐานสินค้าอื่น ๆ รวม 58 มาตรฐาน รวมทั้ง   ให้ สมอ. ควบคุมคาร์บอนไดร์ออกไซด์ทางการแพทย์ เป็นสินค้าควบคุมอีกด้วย อีกทั้ง นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า มาตรฐานระบบเตือนภัยตรวจจับการบุกรุกและการโจรกรรม เป็นมาตรฐานที่ สมอ. ได้ประกาศใช้ครั้งแรกเมื่อปี 2541 ซึ่งปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง สถิติการโจรกรรมและอาชญากรรมเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนหันมานิยมติดตั้งอุปกรณ์ระบบเตือนภัยในที่พักอาศัยและอาคารสถานที่ต่าง ๆ กันมากขึ้น สมอ. จึงได้นำมาทบทวนเพื่อแก้ไขปรับปรุงให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับเทคโนโลยีการผลิตในปัจจุบัน โดยคาดว่าจะประกาศใช้มาตรฐานดังกล่าวภายในต้นปี 2565

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์
เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)

 

2. BOI หนุนผู้ประกอบการร่วมมาตรการเศรษฐกิจฐานรากช่วยองค์กรท้องถิ่นกู้วิกฤตน้ำท่วม (ที่มา: สำนักข่าวไทย , ประจำวันที่ 26 ตุลาคม 2564)

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ส่งผลให้กิจการขององค์กรท้องถิ่น ทั้งวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้รับผลกระทบจำนวนมาก BOI เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงเชิญชวนผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเข้าร่วมช่วยเหลือองค์กรท้องถิ่นผ่านมาตรการส่งเสริมการลงทุนเศรษฐกิจฐานราก ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบองค์รวม เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมรวมถึงสถานการณ์ภัยแล้ง นอกเหนือจากนี้ เพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กับกิจการขององค์กรท้องถิ่น โดยการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการผลิตและการบริการขององค์กรท้องถิ่นในกิจการด้านการเกษตรและเกษตรแปรรูป กิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมเบา และกิจการท่องเที่ยวชุมชน

อย่างไรก็ดี มาตรการดังกล่าวเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการขอรับสิทธิและประโยชน์ โดยสามารถนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการสนับสนุนองค์กรท้องถิ่นมายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 3 ปี สัดส่วนไม่เกินร้อยละ 120 ของเงินสนับสนุน หรือเพิ่มวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นร้อยละ 120 ของเงินสนับสนุน แล้วแต่กรณี โดยโครงการที่สามารถขอรับการส่งเสริมตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเศรษฐกิจฐานราก แบ่งได้เป็น 2 กรณี คือ กรณีที่ 1 โครงการที่ดำเนินการอยู่แล้วไม่ว่าจะได้รับการส่งเสริมการลงทุนหรือไม่ก็ตาม จะต้องอยู่ในประเภทกิจการที่ BOI ประกาศให้การส่งเสริมอยู่ในปัจจุบัน หรือโครงการที่ได้รับการส่งเสริมอยู่เดิมสิทธิและประโยชน์ยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสิ้นสุดลงแล้ว หรือเป็นโครงการที่ไม่ได้รับสิทธิและประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ส่วนกรณีที่ 2 โครงการที่ได้รับการส่งเสริมอยู่เดิม โดยสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลยังไม่สิ้นสุดลง หรือเป็นโครงการลงทุนใหม่ที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล                  

 

นายวันชัย พนมชัย
อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)

 

3. เปิดประเทศดึงลงทุน กรอ. ตั้งธงเงินสะพัด 2.76 แสนล้าน (ที่มา: แนวหน้า , ประจำวันที่ 26 ตุลาคม 2564)

นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า กรอ. ตั้งเป้ามูลค่าการลงทุนในปีงบประมาณ 2565 กว่า 276,000 ล้านบาท และมีเป้าการประกอบกิจการโรงงานเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 2,800 ราย เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2564 เพราะมั่นใจว่าจะได้รับอานิสงส์จากนโยบายการเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยในการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 และการกระจายวัคซีนได้ครอบคลุมมากขึ้น การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะอยู่ร่วมกับโควิด-19 ที่จะขับเคลื่อนให้ทุกภาคส่วนกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากขึ้นทั้งการบริโภค การลงทุน การส่งออก การใช้จ่ายภาครัฐบาลส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมผลิตได้เพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดในประเทศ ซึ่งคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ปี 2565 จะขยายตัว 3-5% และ GDP โลกจะขยายตัว 4.5% รวมทั้งยังมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น ระบบการขนส่ง (สนามบินอู่ตะเภา รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือมาบตาพุด) การพัฒนาสมาร์ทซิตี้ที่บ้านฉาง ที่มีการลงทุน 5G การสร้างซิลิคอนเทคปาร์ค การมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่จะดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า ระบบอัตโนมัติ/หุ่นยนต์ อาหารแห่งอนาคต พลังงานทางเลือกเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) รวมถึงการจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มเติม 6 แห่งในพื้นที่ EEC ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศของการลงทุนที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตและจะกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศให้ขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

อย่างไรก็ดี นายวันชัย กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมให้โรงงานทั่วประเทศได้มีการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด (บับเบิลแอนด์ซีล) ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างต่อเนื่องแม้ในสถานการณ์โควิด-19 ในส่วนของเงินลงทุนภาคอุตสาหกรรมประจำปีงบประมาณ 2564 (ตุลาคม 2563-กันยายน 2564) ทั้งการตั้งโรงงานใหม่และการขยายกิจการ มีมูลค่าการลงทุนรวม 350,064.72 ล้านบาท เทียบจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ลดลง 13.51% การประกอบกิจการโรงงานใหม่ มีจำนวนทั้งสิ้น 2,666 โรงงาน ปรับตัวลดลงเล็กน้อย 0.78% มูลค่าเงินลงทุน มีการขยายตัวสูงขึ้นจำนวน 263,416.39 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 36,000 ล้านบาท คิดเป็น 15.88% และมีโรงงานที่ได้รับอนุญาตขยายกิจการ 258 โรง ลดลง 66.31% มูลค่าเงินลงทุน 86,648.32 ล้านบาท และมีจำนวนโรงงานที่เลิกประกอบกิจการ 720 โรงงาน ลดลง 3.23% มูลค่าการลงทุนของโรงงานที่เลิกกิจการ 39,488.29 ล้านบาท ลดลง 19.15% เทียบกับปีที่ผ่านมา

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. จีนต้องการถ่านหินรับมือวิกฤตพลังงาน แต่ยังเมินเลิกคำสั่งแบนถ่านหินออสซี่ (ที่มา: อินโฟเควสท์ , ประจำวันที่ 26 ตุลาคม 2564)

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีเปิดเผยข้อมูลจากนักวิเคราะห์ ซึ่งระบุว่า ปัจจุบันจีนเผชิญกับวิกฤตพลังงานครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปี เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนถ่านหิน แต่ถึงแม้ออสเตรเลียจะมีถ่านหินเพียงพอกับที่จีนต้องการ แต่มีแนวโน้มว่าจีนจะไม่ยอมยกเลิกคำสั่งห้ามการนำเข้าถ่านหินจากออสเตรเลียได้ง่าย ๆ ท่ามกลางความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ของทั้ง 2 ประเทศ ก่อนหน้านี้ สื่อรายงานว่า จีนได้อนุญาตให้ปล่อยถ่านหินของออสเตรเลียจำนวนหนึ่งซึ่งติดค้างอยู่ที่ท่าเรือนำเข้าของจีนมานานหลายเดือนเนื่องจากคำสั่งแบนดังกล่าว โดยส่งผลให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า นี่อาจเป็นการส่งสัญญาณผ่อนคลายข้อจำกัดของจีน

อย่างไรก็ดี นายวิเวก ดาร์ นักวิเคราะห์สินค้าโภคภัณฑ์ถ่านหินและพลังงานแห่ง Commonwealth Bank of Australia ระบุว่า "ผมไม่คิดว่ารัฐบาลจีนจะผ่อนคลายคำสั่งแบนที่มีต่อออสเตรเลียในช่วงฤดูหนาวนี้" นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังคาดการณ์ว่า จีนจะเพิ่มระดับการผลิตถ่านหินในประเทศ โดยพึ่งพาซัพพลายเออร์จากประเทศอื่น ๆ และผลักดันให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ ของจีนควบคุมการผลิตและลดการปล่อยมลพิษ อนึ่ง เมื่อปีที่ผ่านมา จีนได้ยกเลิกการสั่งซื้อถ่านหินจากออสเตรเลีย ท่ามกลางความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่าง 2 ประเทศ เนื่องจากออสเตรเลียได้เรียกร้องให้มีการสืบสวนวิธีการที่จีนรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งก่อนหน้านี้ ออสเตรเลียถือเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ของจีน โดยถ่านหินกว่า 38% ในจีนล้วนนำเข้าจากออสเตรเลียในปี 2562

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)