ข่าวประจำวันที่ 25 พ.ค. 2565

ข่าวในประเทศ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

1. 'ดีพร้อม' ปลุก ศก. ภูมิภาคผลักดันอุตสาหกรรมไมซ์สร้างรายได้ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 25 พฤษภาคม 2565)

 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนไปจนถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ ทำให้เศรษฐกิจเกิดการชะลอตัว แต่ ด้วยนโยบายทางด้านสาธารณสุขของรัฐบาล โดยการนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มีมาตรการป้องกันและลดการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวอย่างเข้มข้น ส่งผลให้สถานการณ์การแพร่ระบาดลดลงต่อเนื่อง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถกลับมาดำเนินการได้ปกติและเกิดการฟื้นตัวด้านเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงในระดับภูมิภาคที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจในเดือนเมษายน 2565 อยู่ที่ระดับ 63.6 สอดคล้องกับการคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ระบุว่าเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคเหนือ ในไตรมาส 2 มีแนวโน้มเติบโตขึ้น ส่วนหนึ่งอันเนื่องมาจากการท่องเที่ยวของชาวต่างประเทศที่ทยอยเดินทางมาอย่างต่อเนื่องและความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการท่องเที่ยวและบริการที่เริ่มขยายธุรกิจ รองรับแนวโน้มการเติบโตในอนาคต เช่นเดียวกับการเติบโตของเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดลำปางที่มีการขยายตัวของอุตสาหกรรมในพื้นที่สอดคล้องกับการบริโภคเพิ่มขึ้นของประชาชนที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้เล็งเห็นโอกาสสำคัญที่จะฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งเชิงพื้นที่และภูมิภาคให้คึกคักขึ้นกว่าเดิมได้สั่งการให้ ดีพร้อม (DIPROM) หรือกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เร่งเดินหน้าผลักดันศูนย์กลางอุตสาหกรรมไมซ์ เพื่อตอกย้ำศักยภาพของภูมิภาคและยกระดับความก้าวหน้าของภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) กล่าวว่า ดีพร้อมขานรับนโยบายการขับเคลื่อนและส่งเสริมเศรษฐกิจในภูมิภาคด้วยการพัฒนาศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าอุตสาหกรรมภาคเหนือของดีพร้อม ที่เรียกว่า DIPROM Meeting Industrial Conference and Exhibition Center หรือ ดีพร้อมไมซ์เซ็นเตอร์ (DIPROM MICE CENTER) ณ จังหวัดลำปาง เพื่อรองรับการจัดประชุมนิทรรศการ หรือ อุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) ให้เป็นพื้นที่จัดงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าชุมชน และสินค้าของเอสเอ็มอี รวมถึงเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจสำหรับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องทั่วประเทศไทย อาทิ ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจบริการต่างๆ ให้มียอดการเข้าพักและใช้บริการเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยยกระดับการเติบโตของอุตสาหกรรมทั้งในพื้นที่จังหวัดลำปาง กลุ่มจังหวัดภาคเหนือ และในระดับประเทศ

 

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

 

2. ขุนคลังร่วมคณะบิ๊กตู่ลุยญี่ปุ่น (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 25พฤษภาคม 2565)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงการเดินทางร่วมคณะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไปเยือนประเทศญี่ปุ่น วันที่ 26-27 พฤษภาคม 2565 นี้ ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะร่วมกล่าวแสดงวิสัยทัศน์ในงาน นิกเคอิ ฟอรั่ม เพื่อความร่วมมือในการรับมือ และก้าวข้ามผ่านความท้าทายเศรษฐกิจร่วมกัน ซึ่งในส่วนของกระทรวงการคลัง จะช่วยสนับสนุนข้อมูลให้กับนายกรัฐมนตรี ในการอธิบายถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ทั้งแนวทางการต่อสู้โควิด-19 และนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยในอนาคต โดยเฉพาะสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจบีซีจี ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ ขณะนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยขณะที่ทั่วโลกเผชิญภาวะเงินเฟ้อที่สูง แต่รายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เมื่อเดือนเมษายน 2565 ยังระบุว่า ไทยไม่ได้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีเงินเฟ้อสูงสุด แต่อยู่ในกลุ่มต่ำสุดไม่ถึง 5% ซึ่งการประคองภาวะเงินเฟ้อของไทยยังจำเป็น โดยในระยะสั้น ต้องช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรง และระยะยาวจะมุ่งสู่การพัฒนาพลังงานทดแทน นอกจากนี้ จะมีการนำเศรษฐกิจดิจิทัลมาใช้ ซึ่งภาครัฐนำเทคโนโลยีมาใช้กับภาคธุรกิจ เช่น การยื่นแบบภาษีประจำปีของกรมสรรพากร

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในวันที่ 26-27 พฤษภาคม 2565 นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. และคณะ พร้อมเดินทางเข้าร่วมงาน นิกเคอิ ฟอรั่ม ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยนายกฯ จะใช้โอกาสนี้แสดงวิสัยทัศน์ไทย รับมือความท้าทาย และความชะงักงันภูมิภาคเอเชีย การก้าวข้ามความท้าทาย โดยทุกฝ่ายต้องทำงานร่วมกันเพื่อภูมิภาคเอเชียให้เข้มแข็งต่อไป

 

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

 

3. 'อนุทิน' ปลื้ม มาเลเซียสนใจนโยบายกัญชา-กัญชง ยกไทยเป็นต้นแบบ เตรียมมาดูงาน (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 25 พฤษภาคม 2565)

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ตามเวลาท้องถิ่น นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงผลการหารือกับนาย Khairy Jamaluddin ABU BAKAR รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมาเลเซีย ในช่วงการเข้าร่วมการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 75 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ว่าเป็นที่น่ายินดีที่มาเลเซียให้ความสนใจต่อนโยบายสนับสนุนการใช้ประโยชน์กัญชา กัญชง ทางการแพทย์และเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ทั้งนี้ รมว.สาธารณสุข ของมาเลเซียระบุระหว่างการหารือว่า มาเลเซียยกให้ไทยเป็นต้นแบบในการผลักดันเชิงนโยบายได้สำเร็จเพื่อใช้ประโยชน์จากทั้งกัญชา กัญชง และพืชกระท่อม โดยเฉพาะในส่วนของพืชกระท่อมนั้นมีการใช้มากในมาเลเซีย ยังถือเป็นยาเสพติดและผิดกฎหมาย ทั้งนี้ ในการหารือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมาเลเซียเห็นพ้องกับประเทศไทยว่ากัญชา กัญชง และพืชกระท่อม เป็นพืชที่ให้ประโยชน์มากกว่าโทษหากกำหนดแนวทางการใช้อย่างรัดกุมและเหมาะสม ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีของไทยได้ย้ำว่ารัฐบาลไทยได้กำหนดแผนงานตามแนวโยบาย กฎหมาย และแนวทางอย่างชัดเจน เพื่อดูแลไม่ให้เกิดการใช้ผิดวัตถุประสงค์

อย่างไรก็ตาม นายอนุทินได้ให้ข้อมูลแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมาเลเซียถึงความคืบหน้าในการดำเนินการด้านต่างๆ ในไทย ทั้งในส่วนของกฎหมายนั้น การให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในมิติต่างๆ ทั้งกฎหมาย การเพาะปลูกและโอกาสทางธุรกิจ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมาเลเซียแสดงความประสงค์ที่จะนำคณะเดินทางมาศึกษาดูงานเกี่ยวกับการผลักดันเชิงนโยบายในประเทศไทย ซึ่งนายอนุทินก็ได้ตอบรับว่าประเทศไทยจะแบ่งปันประสบการณ์การดำเนินทางนโยบายและทางปฏิบัติแก่มาเลเซียด้วยความยินดี

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. มาเลเซียจ่อระงับส่งออกเนื้อไก่ เพื่อลดค่าครองชีพภายในท้องถิ่น (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 25 พฤษภาคม 2565)

นายกรัฐมนตรีอิสมาอิล ซาบรี ยาค็อบ เปิดเผยว่า ได้มีการประกาศการระงับส่งออกเนื้อไก่ของมาเลเซีย ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่เดือนละ 3.6 ล้านตัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 นี้ จนกว่าสถานการณ์การผลิตและราคาค้าปลีกภายในประเทศจะทรงตัว โดยอยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนมากจนเกินไป ซึ่งในปัจจุบัน รัฐบาลมาเลเซียตรึงราคาขายปลีกเนื้อไก่สด ห้ามเกินกิโลกรัมละ 8.90 ริงกิต (ราว 69.22 บาท) และประกันราคาไก่ในราคา 60 เซนต่อกิโลกรัม (ราว 4.67 บาท) ระหว่างวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565 จนถึง 4 มิถุนายน 2565 นี้ โดยจนถึงตอนนี้ รัฐบาลจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่เกษตรกรไปเพียง 50 ล้านริงกิตเท่านั้น (ราว 388.85 ล้านบาท) ทั้งนี้ ข้อมูลของกระทรวงเกษตรมาเลเซียระบุว่า สถิติการส่งออกเนื้อไก่และเนื้อเป็ดของประเทศ มีปริมาณรวมกัน 42.3 ล้านตัน และการส่งออกไก่เป็นมากกว่า 49 ล้านตัว เมื่อปี 2563 โดยมีสิงคโปร์เป็นหนึ่งในลูกค้ารายใหญ่

          อย่างไรก็ตาม สำหรับความเคลื่อนไหวดังกล่าวของมาเลเซีย เกิดขึ้นหลังอินโดนีเซียกลับมาส่งออกน้ำมันปาล์มทุกประเภทอีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2565 หลังบังคับใช้มาตรการดังกล่าวนานประมาณ 3 สัปดาห์ หรือตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา เพื่อรักษาเสถียรภาพของห่วงโซอุปทานภายในประเทศ ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อที่เกี่ยวเนื่องกับสงครามในยูเครน แม้ราคาน้ำมันปาล์มในอินโดนีเซียยังลดลงไม่ถึงเป้าหมาย แต่รัฐบาลยืนยันว่า สามารถสำรองน้ำมันปาล์มได้มากขึ้นแล้ว

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)