ข่าวประจำวันที่ 26 พ.ค. 2565

ข่าวในประเทศ

นางวรวรรณ ชิตอรุณ

รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

1. อุตฯ จับมือดีแทคลงพื้นที่จ. สุโขทัยติวเข้มคนชุมชนขายของออนไลน์ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 26 พฤษภาคม 2565)

 

นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มีการนำคณะลงพื้นที่ขับเคลื่อนยกระดับขีดความสามารถหมู่บ้านอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์บ้านนาต้นจั่น จังหวัดสุโขทัย (Creative Industry Village : CIV) ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้เข้าไปยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ การตลาด สร้างแบรนด์ของชุมชน รวมทั้งเชื่อมโยงการท่องเที่ยว มีผู้ประกอบการชุมชนได้รับใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ประเภทผ้าทอและกระเป๋าผ้า อาทิ ผ้าหมักโคลน ตุ๊กตาบาร์โหน ข้าวเปิ๊บ โฮมสเตย์ เป็นต้น โดยจุดเยี่ยมชมจุดแรก คือ การทำตะเกียบไม้ไผ่ ชุมชนบ้านนาต้นจั่นมีไม้ไผ่จำนวนมาก จึงนำวัตถุดิบในท้องถิ่น คือไม้ไผ่ที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป มาแปรรูปเป็นตะเกียบเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยใช้เครื่องมือเครื่องจักรมาช่วยในการผลิต ผลิตส่งโรงงานเพื่อให้โรงงานนำไปอบต่อจุดที่ 2 ชมการทอผ้าใต้ถุนบ้าน เป็นวิถีชีวิตที่มีการทอผ้าใต้ถุนบ้านตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน โดยทอจากผ้าฝ้ายและนำมาหมักโคลน เพื่อให้มีความนุ่มประกอบกับลวดลายการทอยกดอก ของผ้าซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะและมีการใช้สีจากธรรมชาติมาใช้ย้อมผ้า เช่น แก่นขนุน เปลือกมังคุด ลูกมะเกลือ ฯลฯ และจุดที่ 3 ชมการทำตุ๊กตาบาร์โหนบ้านตาวงศ์ ตาวงศ์เป็นผู้ริเริ่มทำตุ๊กตาบาร์โหนจากไม้ ซึ่งสามารถนำมาบริหารนิ้วมือหรือนวดเพื่อสุขภาพที่ดี เป็นการนำเศษไม้ที่มีในท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม สำหรับการลงพื้นที่บ้านนาต้นจั่น กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ร่วมกับ "ดีแทค เน็ตทำกิน" ไปพัฒนาทักษะทางดิจิทัลให้ชุมชน เพื่อเพิ่มศักยภาพการทำการตลาดออนไลน์ การทำคอนเทนต์เพื่อเล่าเรื่องของชุมชน ซึ่งนอกจากจะเป็นส่งเสริมการท่องเที่ยว ในชุมชนให้เกิดขึ้นแล้ว ยังจะเป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่าย เพิ่มรายได้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันคาดว่าการนำระบบดิจิทัลมาผสานกับวิถีชีวิตดั้งเดิมจะช่วยดึงจุดเด่นของชุมชนออกมาและเป็นจุดขาย อีกทั้งทำให้คนรุ่นใหม่มีความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น และเห็นคุณค่าสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในชุมชน สร้างอาชีพและรายได้ให้เพิ่มขึ้น

 

นายดนุชา พิชยนันท์

เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

 

2. ดัน 16 จังหวัดพื้นที่ศก.ใหม่ (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 26 พฤษภาคม 2565)

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สศช. ได้จัดทำแผนแม่บทและขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ ทั้งระยะเร่งด่วน ระยะแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 และช่วงปี 2565 – 2575 โดยกำหนดพื้นที่ไว้ 4 ภาค 16 จังหวัด คาดว่าจะเกิดการลงทุนในพื้นที่รวมประมาณ 3 แสนล้านบาท หากดำเนินการได้สำเร็จจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพี เพิ่มขึ้นกว่า 5.8% ถือเป็นการตอบสนองนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ มุ่งสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้กับผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ และกระจายความเจริญสู่พื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ และเป็นการเตรียมพร้อมการฟื้นตัวหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดีขึ้น โดยที่ผ่านมา สศช. ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และบริษัท อินฟินิตี้ แพลน เมเนจเม้นท์ จำกัด ศึกษาแนวทางการพัฒนาเชิงพื้นที่ภายใต้โครงการศึกษาจัดทำแผนแม่บทและขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ เพื่อเป็นกรอบการพัฒนาที่ช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจพิเศษให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งที่ประชุม กพศ.ล่าสุด ได้มีมติสำคัญในการกำหนดขอบเขตพื้นที่ของระเบียงเศรษฐกิจฯ ใน 4 ภาค รวม 16 จังหวัด

อย่างไรก็ตาม สำหรับพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ ประกอบด้วย ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ มี จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง และลำพูน เน้นพัฒนาเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์หลักอย่างยั่งยืน โดยพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมและบริการดั้งเดิมที่มีศักยภาพ การสร้างฐานอุตสาหกรรมและบริการใหม่ และการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ล้านนา ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มี จังหวัดหนองคาย อุดรธานี ขอนแก่น และนครราชสีมา ทั้ง 4 จังหวัด ที่มีศักยภาพด้านการเกษตร เป็นแหล่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพ สามารถพัฒนาเป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพแห่งใหม่ ขณะที่ภาคกลาง-ตะวันตก มี จังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม และพระนครศรีอยุธยา เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงพื้นที่จึงมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม งานวิจัยเข้ามาเพิ่มขีดความสามารถและพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคต ส่วนภาคใต้ มีจังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เป็นจุดศูนย์กลางของภาคใต้ในการเชื่อมโยงการค้าและระบบโลจิสติกส์กับพื้นที่เศรษฐกิจอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศในฝั่งอันดามัน

 

นายคณิศ แสงสุพรรณ

เลขาธิการสำนักงานนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.หรือ อีอีซี)

 

3. มุ่งสู่ฐานอุตสาหกรรมใหม่ วางเป้า 5 ปี “อีอีซี” ดึงลงทุน 2.2 ล้านล้าน (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 26 พฤษภาคม 2565)

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.หรือ อีอีซี) เปิดเผยในงานสัมมนา "4 ปี อีอีซี ภารกิจขับเคลื่อนไทย เชื่อมทุกมิติ อย่างยั่งยืน" ว่า การดำเนินงานของอีอีซีภายใต้ พ.ร.บ.อีอีซี ครบ 4 ปี ในเดือนพฤษภาคม 2565 นี้ ถือว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง เพราะได้เข้าไปอยู่บนโรดแม็ปของนักลงทุนทั่วโลก จากที่ตั้งเป้าการลงทุน 1.7 ล้านล้านบาท ใน 5 ปี แต่ทำได้ 1.9 ล้านล้านบาท ภายใน 4 ปี ทำให้ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายเดินต่อไปได้ ทั้งนี้ พอขึ้นปีที่ 5 เข้าสู่ระยะที่ 2 ตั้งใจให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ 2.2 ล้านล้านบาท มองว่าจะเดินหน้าไปได้ดีและไม่ค่อยยากเหมือนการทำงานในระยะแรก เพราะได้เตรียมโครงสร้างพื้นฐานไหลายๆ อย่าง มีเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ทำให้มีจุดสนใจสำหรับการเข้ามาลงทุนด้านเทคโนโลยี ขณะที่มีศูนย์จีโนมิกซ์ เกิดขึ้นแล้ว เพื่อรองรับการลงทุนด้านรักษาพยาบาลและยา รวมทั้งมีการวางโครงข่ายเทคโนโลยี 5G เข้ามาแล้ว 100% โดยมุ่งเน้นการลงทุนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบออโตเมชัน สุขภาพการแพทย์ การบิน โลจิสติกส์ 5G เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (บีซีจี)

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายโชคชัย ปัญญายงค์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สกพอ. กล่าวว่า อีอีซี ได้ผลักดันโครงการร่วมทุนรัฐ-เอกชน (PPP) จนสำเร็จครบ 4 โครงการหลัก เกิดการลงทุนรวมทั้งภาครัฐและเอกชนสูงถึง 655,821 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนที่ภาครัฐลงทุนเพียง 36% แต่รัฐจะได้รับผลตอบแทนคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันกว่า 440,193 ล้านบาท โดยรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เปิดให้บริการได้ในปี 2569 สนามบินอู่ตะเภา ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2568 โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด และโครงการท่าเรือแหลมฉบังจะเปิดให้บริการในปี 2569 ระยะเวลาสอดรับกับท่าเรือเดิมที่เต็มศักยภาพ ซึ่งหากไม่มีท่าเรือใหม่จะมีปัญหาการส่งออกสินค้าทันที

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. 'จีดีพี' ไตรมาส 1 สิงคโปร์โต 3.7% (ที่มา: ข่าวหุ้น, ประจำวันที่ 26 พฤษภาคม 2565)

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของสิงคโปร์ (MTI) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจสิงคโปร์ขยายตัวประมาณ 3.7% ในช่วงไตรมาสหนึ่งของปีนี้ โดยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในภาคการผลิต การเงินและประกัน และบริการตามสาขาอาชีพ ทั้งนี้อุปสงค์จากภายนอกได้ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงสามเดือนก่อนหน้า แต่ถึงกระนั้นก็ตาม กระทรวง MTI ยังคงคาดการณ์ว่าการเติบโตในปีนี้ทั้งปีจะอยู่ระหว่าง 3-5% โดยคาดว่าน่าจะโตในช่วงประมาณการต่ำ เนื่องจากมีความเสี่ยงด้านลบมาก การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ล่าสุดนี้ สูงกว่าประมาณการในก่อนหน้านี้ ซึ่งอยู่ที่ 3.4% แต่โตลดลงจาก 6.1% ในช่วงสามเดือนสุดท้ายของปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม สำหรับภาคการผลิตโตประมาณ 7.1% เทียบกับที่โต 15.5% ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการขยายตัวของอิเล็กทรอนิกส์ วิศวกรรมการขนส่ง การผลิตโดยทั่วไป และวิศวกรรมในการวัดความแม่นยำช่วยชดเชยกับการโตลดลงในภาคเคมีและการแพทย์ชีวภาพ ในขณะเดียวกันการส่งออกที่ไม่ใช่น้ำมันขยายตัวประมาณ 11.4% ในช่วงไตรมาสหนึ่ง จาก 20.1% ในช่วงสามเดือนก่อนหน้า และยังคาดว่าการส่งออกที่ไม่ใช่น้ำมันทั้งปีจะโตระหว่าง 3-5%         

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)