ข่าวประจำวันที่ 26 ก.ย. 2565

ข่าวในประเทศ

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

1. บอร์ด EV เร่งวางโครงสร้างพื้นฐานหนุนอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่ (ที่มา: ข่าวหุ้น, ประจำวันที่ 26 กันยายน 2565)

 

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV)  เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด EV ครั้งที่ 3/2565 ได้ติดตามความคืบหน้ามาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ปัจจุบันมียอดจองรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ขอรับสิทธิตามมาตรการฯ รวมทั้งสิ้น 17,068 คัน รวมถึงรับทราบแนวทางการสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย 30@30 ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทาง ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะจำนวนทั้งสิ้น 2,572 หัวจ่าย จาก 869 สถานี และจะเร่งผลักดันเพิ่มจำนวนสถานีกระจายไปยังทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ขณะเดียวกัน ยังเตรียมส่งเสริมให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในระบบขนส่งสาธารณะ โดยเริ่มนำร่องจากรถตุ๊กตุ๊ก EV ซึ่งมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอแนวทางการสนับสนุน และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งประชาสัมพันธ์การติดตั้งสถานีชาร์จ EV ในคอนโดมิเนียมหรือที่พักอาศัยให้ประชาชนได้รับทราบ

อย่างไรก็ตาม สำหรับการประชุมบอร์ด EV ในครั้งนี้ ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้ 1. การจัดทำแพลตฟอร์มกลางสำหรับอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า 2. การกำหนดแนวทางการขอมิเตอร์ตัวที่สองสำหรับบ้านที่อยู่อาศัย เพื่อส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าด้วยอัตราค่าไฟฟ้าแบบ TOU 3. การกำหนดอัตราค่าพลังงานไฟฟ้าสำหรับผู้ประกอบการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าแบบ Low Priority 4. การขออนุญาตประกอบกิจการพลังงานให้กับผู้ประกอบการสถานีอัดประจุไฟฟ้า 5. การจัดทำมาตรฐานชิ้นส่วนของยานยนต์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนที่จำเป็นต่อการดัดแปลงยานยนต์ไฟฟ้า และ 6. แนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ นอกจากนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในมาตรการต่างๆ เร่งกระตุ้นและประชาสัมพันธ์ในรายละเอียดการสนับสนุนมาตรการแก่ประชาชนภายในเดือน ตุลาคมนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของประชาชนในอนาคต

 

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม

อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

2. 'สินิตย์' เยือนสิงคโปร์ หาช่องดันส่งออกสินค้าเกษตรไทย (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 26 กันยายน 2565)

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการการะทรวงพาณิชย์จะนำคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพาณิชย์ เดินทางไปเยือนประเทศสิงคโปร์ในระหว่างวันที่ 26-28 กันยายน 2565 นี้ เพื่อหารือความร่วมมือส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า ผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปยังตลาดสิงคโปร์ และการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) สู่การค้ายุคใหม่ โดยในการเยือนประเทศสิงคโปร์ครั้งนี้ นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการการะทรวงพาณิชย์ จะพบกับผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของประเทศสิงคโปร์ เพื่อหารือความร่วมมือที่จะช่วยสนับสนุนภารกิจของกระทรวงพาณิชย์ คือ การผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปยังตลาดสิงคโปร์ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพของไทย ที่มีการส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ต่างๆ ในตลาดสิงคโปร์ อาทิ ผลิตภัณฑ์นม ข้าว และผลไม้ ทั้งนี้ จะได้พบปะเพื่อหารือกับผู้บริหารของ "แฟร์ไพรซ์" โดยถือเป็นเครือซูเปอร์มาร์เก็ตที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 1 ของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีการนำเข้าสินค้าไทยมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งติดตามสถานการณ์การขนส่งสินค้าเกษตรจากไทยผ่านชายแดนประเทศมาเลเซียมายังประเทศสิงคโปร์ ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ตลาดค้าส่ง "ปาเซอร์ ปันจัง" อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้จะได้หารือแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานบ่มเพาะสตาร์ทอัพของประเทศสิงคโปร์ด้วย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความก้าวหน้าในการพัฒนาระบบนิเวศที่สนับสนุนการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพ รวมทั้งจะหารือต่อยอดความร่วมมือด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทยในการขยายโอกาสทางธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์ร่วมกับ "ช้อปปี้" (Shopee) แพลตฟอร์มธุรกิจอี-คอมเมิร์ซชั้นนำของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญ คือ การพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs ให้สามารถส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศได้

 

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์

เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

 

3. 'บีโอไอ' บูมลงทุนธุรกิจ 'ชีวภาพ' ดันไทยฐานผลิต 'ไบโอพลาสติก' (ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, ประจำวันที่ 26 กันยายน 2565)

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีแนวโน้มการลงทุนในกลุ่มธุรกิจไบโอเบสและเคมีชีวภาพเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามเทรนด์โลกและไทยถือเป็นประเทศที่น่าสนใจในการลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าว ก่อนหน้านี้มีบริษัทต่างชาติที่ยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนกับบีโอไอเพื่อใช้ไทยเป็นฐานการผลิตไบโอพลาสติกที่สำคัญของภูมิภาค รวมทั้งการลงทุนของบริษัทต่างชาติสะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจบีซีจีในไทยเป็นธุรกิจที่มีอนาคต ทั้งยังเป็นโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ สอดคล้องกับการขับเคลื่อนโมเดลบีซีจี ยกระดับเศรษฐกิจไทย ให้เติบโตแบบก้าวกระโดดบนรากฐานการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สำหรับภาพรวมสถิติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนกิจการกลุ่มบีซีจี นับจากปี 2558 - มิถุนายน 2565 จำนวน 3,320 โครงการคิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 752,691 ล้านบาท ส่วนช่วงหกเดือนแรกปี 2565 (มกราคม - มิถุนายน) มีโครงการยื่นขอ 348 โครงการ คิดเป็น มูลค่าลงทุน 79,869 ล้านบาท โดยคาดว่าตลอดทั้งปี 2565 จะมีมูลค่าลงทุนกลุ่มกิจการบีซีจี ราว 1.5-1.6 แสนล้านบาท ทั้งนี้ บีโอไอให้การสนับสนุนในด้านเงินลงทุนแก่สตาร์ทอัพ ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 และ พ.ร.บ. การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ. 2560  สำหรับบริษัทฟรุตต้า ไบโอเมด จำกัด สตาร์ทอัพไบโอเทคไทย หนึ่งในบริษัทที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในกลุ่มธุรกิจบีซีจี เมื่อไตรมาสที่ 1 ปี 2564 ล่าสุดเพิ่มเงินลงทุนอีก 600 ล้านบาท ปักธงขยายโรงงานพื้นที่ 75 ไร่ เพิ่มกำลังผลิตไบโอโพลิเมอร์เป็น 6,000 ตัน พร้อมบุกตลาดไบโอพลาสติกในไทยสิ้นปีนี้

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการแข่งขันในอุตสาหกรรมไบโอเบส (Bio-based) ด้วยปัจจัยหลายด้าน ทั้งความหลากหลายทางชีวภาพ และการเป็นประเทศเกษตรกรรมทำให้ไทยมีแหล่งวัตถุดิบทางการเกษตรที่มีคุณภาพ เข้าถึงได้ง่ายและมีปริมาณมาก ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญสำหรับการประกอบอุตสาหกรรมไบโอเบสต้นน้ำ นอกจากนั้นไทยยังมีความพร้อมในด้านความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานครบวงจร ตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำที่เป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องรวมทั้งมีตลาด ผู้ใช้หลักในประเทศ เช่น อุตสาหกรรมแปรรูป ยานยนต์ บรรจุภัณฑ์ ก่อสร้าง ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. ฟิลิปปินส์ระงับเทรดตลาดหุ้น-ตลาดบอนด์วันนี้ กังวลผลกระทบพายุไต้ฝุ่นโนรู (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 26 กันยายน 2565)

ทางการฟิลิปปินส์ เปิดเผยว่า ได้มีการประกาศระงับการซื้อขายในตลาดหุ้น ตลาดปริวรรตเงินตรา และตลาดพันธบัตรในวันนี้ (26 กันยายน 2565) เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่น "โนรู (Noru)" นอกจากนี้ ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ยังสั่งระงับการทำงานของหน่วยงานราชการ และสั่งให้โรงเรียนต่างๆ ระงับการเรียนการสอนเป็นการชั่วคราว โดยคำสั่งดังกล่าวของปธน.มาร์กอสมีขึ้นหลังจากสำนักงานจัดการภัยพิบัติฟิลิปปินส์ ได้แนะนำให้รัฐบาลระงับการทำงานของหน่วยงานราชการและปิดการเรียนการสอนในโรงเรียนในกรุงมะนิลาและเมืองอื่นๆ ของฟิลิปปินส์ในวันนี้ ซึ่งพายุไต้ฝุ่นโนรูได้พัดเข้าชายฝั่งจังหวัดเกซอนของฟิลิปปินส์เมื่อเวลา 05.30 น.ตามเวลาท้องถิ่นของวันอาทิตย์ (25 กันยายน 2565) และกำลังเคลื่อนตัวเข้าใกล้ชายฝั่งเกาะลูซอน ซึ่งเป็นที่ตั้งของกรุงมะนิลา เมืองหลวงของประเทศ

อย่างไรก็ตาม ทางด้านสำนักงานอุตุนิยมวิทยาของฟิลิปปินส์คาดการณ์ว่า อิทธิพลของพายุไต้ฝุ่นโนรูจะทำให้เกิดฝนตกหนักในกรุงมะนิลาและจังหวัดอื่นๆ ที่เป็นพื้นที่เกษตรในเกาะลูซอนจนถึงช่วงเช้าของวันนี้ โดยขณะนี้พายุดังกล่าวเคลื่อนตัวด้วยความเร็วลมสูงสุดที่ 195 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทางด้านกระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์ระบุว่า อิทธิพลของพายุโนรูอาจสร้างความเสียหายต่อพื้นที่เพาะปลูกเป็นวงกว้างถึง 1.47 ล้านเฮกตาร์ซึ่งรวมถึงพื้นที่เพาะปลูกข้าว

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)