ข่าวประจำวันที่ 27 ก.ย. 2565

ข่าวในประเทศ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

1. สศอ. ดันแผนพัฒนาอุตสาหกรรมปรับโครงสร้างผลิตสู่ ศก.ฐานนวัตกรรม (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 27 กันยายน 2565)

 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในรอบปีงบประมาณ 2565 ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเด็นที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งแผนและนโยบายการพัฒนาระดับประเทศ ระดับอุตสาหกรรมศักยภาพ และอุตสาหกรรมอนาคต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรายสาขาที่สำคัญที่จะก่อให้เกิดการยกระดับขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับประชาชน โดยที่ผ่านมา สศอ. ได้มีการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ การขับเคลื่อนมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี 2561-2570 ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง การขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนผ่านกลไกคณะกรรมการ BCG ระดับประเทศ การขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และการดำเนินการยกระดับสินค้าเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรม ทั้งนี้ล่าสุด สศอ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ ได้เสนอประเด็นสำคัญเชิงนโยบายต่อที่ประชุม คณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) ครั้งที่ 1/2565 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ 4 เรื่อง ได้แก่ 1. (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics) ระยะที่ 1 (พ.ศ.2565-2570) 2. (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงสู่เชิงพาณิชย์ (พ.ศ.2566-2570) 3. การส่งเสริมและแก้ไขปัญหาอุปสรรคเพื่อพัฒนาภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน และ 4. กลไกขับเคลื่อนการดำเนินงานของคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ 3 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการด้านความสามารถในการแข่งขัน ภาคอุตสาหกรรม คณะอนุกรรมการด้านอุตสาหกรรมยั่งยืน คณะอนุกรรมการด้านสิทธิประโยชน์และ การอำนวยความสะดวกภาคอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนางศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า สศอ. ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพและอุตสาหกรรมอนาคต เช่น การขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ผ่านคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ โดยผลักดันนโยบายทั้งด้านการส่งเสริมอุปสงค์-อุปทานและปัจจัยแวดล้อม (Eco system) สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ได้จัดทำร่างแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronic) ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2565-2570) และเตรียมเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในปี 2565 เพื่อผลักดันสู่การปฏิบัติ

 

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

 

2. ส่งออกขยายตัว 11% ทำเงินเข้าประเทศ 6.63 ล้านล้าน (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 27 กันยายน 2565)

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนสิงหาคม 2565 ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง มีมูลค่า 23,632.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น7.5% เป็นการขยายตัวเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 18 คิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 861,169 ล้านบาท รวม 8 เดือนของปี 2565 (มกราคม-สิงหาคม) มีมูลค่า 196,446.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 11% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 6,635,446 ล้านบาท การนำเข้าเดือนสิงหาคม 2565 มีมูลค่า 27,848.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 21.3% ขาดดุลการค้า 4,215.4 ล้านเหรียญสหรัฐ รวม 8 เดือน นำเข้ามูลค่า 210,578.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขาดดุลการค้า 14,131.7 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนการส่งออกมาจากเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญฟื้นตัวจากโควิด-19 กิจกรรมการเดินทางท่องเที่ยวฟื้นตัว ทำให้สินค้าที่เกี่ยวข้องการท่องเที่ยวขายดีขึ้น ทั้งนี้ การส่งออกในเดือนสิงหาคม 2565 สินค้าเกษตร ลดลง 10.3% แต่มีหลายสินค้าที่ขยายตัวได้ดีขึ้น เช่น ไก่สด แช่เย็น แช่แข็งและไก่แปรรูป เพิ่ม 125.4% ข้าว เพิ่ม 15.3%สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 27.6% เช่นน้ำตาลทราย เพิ่ม 173.5% ไอศกรีม เพิ่ม 71.2%อาหารสัตว์เลี้ยง ที่เป็นดาวรุ่ง เพิ่ม 25.5% อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เพิ่ม 18.5% ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เพิ่ม 14.3% และสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 9.2% เช่น เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เพิ่ม 61.1% หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เพิ่ม 53.6%เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่ม 32.8% แผงวงจรไฟฟ้า เพิ่ม 25.1% รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่ม 22.5% โดยตลาดที่ขยายตัวได้ดี 10 อันดับแรก ประกอบด้วย 1. CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) เพิ่ม 41.1% 2. แคนาดา เพิ่ม 39.3% 3. ตะวันออกกลาง เพิ่ม 38.4% 4. สหราชอาณาจักร เพิ่ม 32.2% 5. ลาตินอเมริกา เพิ่ม 27.4% 6. ทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 19.0% 7. สหภาพยุโรป เพิ่ม 19.0% 8. สหรัฐฯ เพิ่ม 16.3% 9. ญี่ปุ่น เพิ่ม 6.6% และ 10. อาเซียน (5 ประเทศ) เพิ่ม 5.8%

อย่างไรก็ตาม สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังคงเป็นเรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังยืดเยื้อ ส่งผลราคาก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นสูงถึง 168.7% และไทยต้องนำเข้า แล้วก๊าซธรรมชาติ ยังเอาไปทำปุ๋ย ทำให้ราคาปุ๋ยยังคงสูงอยู่ แต่กระทรวงพาณิชย์จะยังเดินหน้าผลักดันการส่งออกต่อไป และด้วยศักยภาพของทีมเซลล์แมนประเทศที่เร่งหาตลาดใหม่ๆ รองรับ ทำให้การส่งออกยังดีอยู่ และช่วงที่เหลือก็จะยังดี โดยตัวเลข 8 เดือนบวกแล้ว 11% เกินกว่าเป้าที่ตั้งไว้ที่ 4% ช่วงปลายปี ก็คิดว่าตัวเลขจะยังดีอยู่และจะเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

 

นางสาวกษิติธร ภูภราดัย

รองผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มงานยุทธศาสตร์และความมั่นคง ดีป้า

 

3. อุตฯ ดิจิทัลบูม บริการมาแรง แซงฮาร์ดแวร์ (ที่มา: ไทยโพสต์, ประจำวันที่ 27 กันยายน 2565)

นางสาวกษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มงานยุทธศาสตร์และความมั่นคง ดีป้า เปิดเผยว่า อุตสาห กรรมบริการด้านดิจิทัลมีอัตราการเติบโตกว่า 37% คิดเป็นอัตราเติ โตสูงสุดด้วยมูลค่า 3.46 แสนล้านบาท ขณะที่อุตสาหกรรมสื่อออนไลน์ ซึ่งรวมทั้งยูทูบและเฟซบุ๊กพบว่ามีการขยายตัว โดยเฉพาะในส่วนของรายได้จากการโฆษณา สำหรับสังคมไทยกำลังเข้าสู่บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ผู้คนใช้งานแพลตฟอร์มค้าปลีกออนไลน์ รับชมสื่อออนไลน์และใช้บริการขนส่งมากขึ้น ซึ่งตลาดที่เติบโตชัดเจนคือขนส่ง เช่น บริการสั่งอาหาร ถือเป็นตลาดที่มีการขยายตัวมากกว่า 57% เช่นเดียวกับค้าปลีกออนไลน์ที่เติบโต 44% โดยมูลค่าบริการดิจิทัลเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกับจำนวนบุคลากร ซึ่งไม่ใช่เพียงคนไอที แต่เกิดการจ้างงานที่ทำให้ผู้คนเข้ามาในอุตสาหกรรมดิจิทัลมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ การสำรวจและประเมินสถานภาพอุตสาหกรรมดิจิทัลประจำปี 2564 ยังพบว่ามูลค่าอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะเติบโตขึ้น 20% คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 3.86 แสนล้านบาท เนื่องจากมีการนำเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์มาจำหน่ายในประเทศไทยมากขึ้นกว่า 53% มีจำนวนเครื่องเพิ่มขึ้นเป็น 5.8 ล้านเครื่อง โดยมูลค่าการซื้อขายเครื่องสูงส่งผลให้ตลาดคอมพิวเตอร์เติบโตเกินระดับ 1 แสนล้านบาท สถิตินี้ทำให้เห็นการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเข้าสู่สังคมดิจิทัลของประเทศไทย รวมถึงการล็อกดาวน์ และการทำงานจากระยะไกล    ที่มีผลให้ตัวเลขรายได้ของบริษัทในอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะเติบโตขึ้นรวม 12%

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. อินเดียอาจขึ้นเป็นผู้ผลิตชิปชั้นนำของโลก เงินอุดหนุน และการดึงต่างชาติเข้าลงทุนเป็นกุญแจสำคัญ (ที่มา: ข่าวหุ้น, ประจำวันที่ 27 กันยายน 2565)

ผู้เชี่ยวชาญภูมิศาสตร์การเมืองเทคโนโลยีขั้นสูงจากสถาบันตักศิลา เปิดเผยว่า อินเดียจะมีบทบาทที่ใหญ่มากในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ หลังจากที่อินเดียซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกเป็นอันดับห้ากำลังมองหาช่องทางในการหนุนกลุ่มเซมิคอนดัก ซึ่งปัญหาสำหรับหลายๆ ประเทศที่กำลังพยายามเพิ่มความสามารถด้านการผลิตชิปก็คือ บริษัทชั้นนำ และผู้ผลิตในอุตสาหกรรมค่อนข้างที่จะน้อยมาก ยกตัวอย่างเช่น การผลิตชิปจากไต้หวัน และเกาหลีใต้ คิดเป็นสัดส่วน 80% ของตลาดโลกที่เป็นการรับจ้างผลิต โดยอินเดียยังไม่ได้ขึ้นมาอยู่ในกลุ่มประเทศผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำของโลก ดังนั้นจึงยังไม่มีบริษัทผลิตชิปขนาดใหญ่ และยังไม่มีบริษัทชั้นนำในประเทศถึงแม้ว่าอินเดียจะไม่มีผู้ผลิตในประเทศที่แข็งแกร่ง แต่นายกรัฐมนตรี นเรนทระ โมที วางแผนที่จะดึงดูดผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์จากต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศ โดยในเดือนธันวาคม ปี 2564 รัฐบาลอินเดียได้อนุมัติแผนเงินอุดหนุนจำนวน 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ดังนั้น แผนการของอินเดียจึงแบ่งออกเป็นสองทอด คือ การดึงดูดบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุน และต่อยอดในธุรกิจที่อินเดียมีข้อได้เปรียบ

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์จากบริษัทที่ปรึกษาเทคโนโลยี เคาน์เตอร์พอยท์ รีเสิร์ช กล่าวว่า ถึงแม้ประวัติการทำธุรกิจในอินเดียจะไม่ค่อยดีก็ตาม แต่รัฐบาลกำลังมุ่งหน้าไปในทิศทางที่ถูกต้องด้วยนโยบายผลักดัน และดึงดูดบริษัทชั้นนำเข้ามาลงทุน ที่สำคัญอินเดียยังมีจุดแข็งอีกหลายอย่างที่จะช่วยหนุนการขึ้นมาเป็นผู้ผลิตชั้นนำของโลก โดยเฉพาะการที่ประเทศมีการบริโภคภายในประเทศที่สูงในตลาดเซมิคอนดักเตอร์ และยังเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับสองในโลก ซึ่งนอกเหนือจากนโยบายเงินอุดหนุนของรัฐบาลที่จะช่วยสนับสนุนแผนยุทธศาสตร์แล้ว การที่อินเดียมีวิศวกรที่มีพรสวรรค์ และสามารถพูดภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว รวมถึงค่าแรงที่ถูกจะยิ่งช่วยลดต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในด้านห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ หรือการออกแบบชิป ซึ่งเป็นส่วนที่ต้องใช้พนักงานที่มีทักษะสูง

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)