ข่าวประจำวันที่ 30 ก.ย. 2565

ข่าวในประเทศ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

1. อุตฯ ปั้นอาชีพดีพร้อมเพิ่มมูลค่าทาง ศก. กว่าหมื่นล้าน (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 30 กันยายน 2565)

 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการ แก้ปัญหาเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเสริมสร้างรากฐานความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากผ่านการดำเนินโครงการพัฒนาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้ชุมชนดีพร้อม หรืออาชีพดีพร้อม ซึ่งที่ผ่านมาได้สั่งการให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม เดินหน้าขับเคลื่อนไปยังประชาชนทั่วประเทศ เพื่อเร่งเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ผ่านการพัฒนาอาชีพเสริมเพื่อช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่คนในชุมชนและประชาชนที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว ปัจจุบันกิจกรรมดังกล่าวได้เสร็จสิ้นการดำเนินงานช่วงเฟสแรก ระหว่างเดือนสิงหาคม- กันยายน 2565 เป็นที่เรียบร้อย โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินกิจกรรมผ่านหลักสูตรที่ 1 คือ กิจกรรมพัฒนาทักษะอาชีพพื้นฐานด้านการผลิต พบผลลัพธ์สำเร็จเป็นที่น่าพึงพอใจ ภาพรวมดำเนินการคิดเป็น 50% ในพื้นที่ทั่วประเทศกว่า 1,750 แห่ง มีผู้เข้าร่วมอบรมกว่า 350,000 คน แบ่งเป็นภาคเหนือกว่า 1 แสนกว่าคน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือกว่า 8.5 หมื่นกว่าคน ภาคกลางกว่า 9.8 หมื่นกว่าคน ภาคตะวันออกกว่า 2.2 หมื่นกว่าคน และภาคใต้กว่า 4.5 หมื่นกว่าคน ทั้งนี้ จากผลการประเมินผู้เข้าร่วมอบรมกว่า 346,800 คน หรือคิดเป็น 99.10% ของผู้เข้าอบรม ทั้งหมด พบว่า ผลลัพธ์ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีความ พึงพอใจ คิดเป็น 92.18% นำไปใช้ในการประกอบอาชีพหรือใช้ในชีวิตประจำวันได้ คิดเป็น 99.42% ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถนำความรู้ไปสร้างอาชีพ หรือต่อยอดในการประกอบธุรกิจได้ คิดเป็น 98.41% และผู้เข้าร่วมอบรมมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 54.55%

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) กล่าวว่า จากความสำเร็จที่ดีพร้อม ได้ดำเนินงานโครงการอาชีพดีพร้อมไปในเฟสแรกนั้น ทำให้ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2565 (ตุลาคม-ธันวาคม) ดีพร้อมเตรียมเดินหน้าพัฒนาทักษะอาชีพให้แก่ชุมชนในรูปแบบการอบรมฝึกอาชีพระยะสั้นเฟสสองอีกจำนวน 3 หลักสูตร ได้แก่ กิจกรรมพัฒนาทักษะอาชีพพื้นฐานด้านการบริการ กิจกรรมพัฒนาด้านผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ กิจกรรมพัฒนาต่อยอดทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการบริหารจัดการเงิน และการประกอบธุรกิจ สำหรับผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ มั่นใจว่าผลการดำเนินกิจกรรมจะประสบความสำเร็จเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ผู้เข้าร่วมตลอดทั้งโครงการ 700,000 คน พร้อมคาดการณ์ว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมากกว่า 10,000 ล้านบาท

 

นายดนุชา พิชยนันท์

เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

2. เลขาฯสภาพัฒน์ ห่วงศก.โลกในปีหน้า แต่ยังยืนกรานเศรษฐกิจไทยไม่อ่อนแอ (ที่มา: บางกอกทูเดย์, ประจำวันที่ 30 กันยายน 2565)

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ห่วงเศรษฐกิจคือในเรื่องของเศรษฐกิจโลกในปี 2566 ที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย (Global Recession) ซึ่งไทยจะได้รับผลกระทบและยังจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นซึ่งก็ต้องจับตาว่านโยบายต่างๆ จะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ เนื่องจากขณะนี้นโยบายทางด้านเศรษฐกิจที่มีการเดินหน้าไปในหลายเรื่อง ได้แก่ นโยบาย EV นโยบาย LTR ที่เป็นนโยบายที่ช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ในระยะยาวหากการเมืองเปลี่ยนแปลงก็ต้องติดตามดูว่านโยบายต่างๆ เหล่านี้จะเดินหน้าต่อไปหรือไม่ ส่วนกรณีที่ ธนาคาร เจพี มอร์แกน อินเวสต์เมนท์ แบงก์ ในประเทศสิงคโปร์ ได้เสนองานวิจัยว่าประเทศไทยและญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจอ่อนมากที่สุดสองชาติในเอเชีย ในกรณีดังกล่าวยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้อ่อนแอ แต่มุมมองที่มองเช่นนั้นอาจเป็นเพราะช่วงที่ผ่านมาในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โครงสร้างเศรษฐกิจของไทยพึ่งพาภาคท่องเที่ยว และมีข้อจำกัดของตลาดที่ยังแคบอยู่ เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงแล้วเศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวขึ้น นอกจากนั้นยังมีแนวโน้มที่ดีของการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ที่เข้ามาในประเทศเห็นได้จากการเข้ามาลงทุนของ BYD ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) รายใหญ่จากประเทศจีนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยซึ่งถือว่าเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ที่ถือว่าเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก ขณะที่เร็วๆ นี้ จะมีการเข้ามาลงทุนขนาดใหญ่ของบริษัทดิจิทัลระดับโลก ซึ่งแนวโน้มการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยในลักษณะนี้จะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปอีก 2-3 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม จากนโยบายที่รัฐบาลไทยได้มีการเตรียมพร้อมไว้หลายเรื่องเพื่อรองรับการลงทุนรวมถึงนโยบายการสนับสนุนให้คนต่างชาติที่มีความสามารถและรายได้สูงเข้ามาอยู่ในประเทศไทย หรือมาตรการ "LTR" ซึ่งทำให้มีรายได้ส่วนนี้จากต่างชาติเข้ามาเพิ่มเติม และเป็นรายได้ที่แน่นอนมากกว่ารายได้จากการท่องเที่ยวในระยะยาว

 

นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล

ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)

 

3. 'คลัง' ฟุ้งเศรษฐกิจส.ค. 65 ยังแจ่ม (ที่มา: ไทยโพสต์, ประจำวันที่ 30 กันยายน 2565)

นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนสิงหาคม 2565 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน ภาคการท่องเที่ยว และภาคการส่งออกที่ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 43.7 จากระดับ 42.4 ในเดือนก่อน เป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่ก็ยังมีความกังวลในเรื่องการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ที่ทำให้ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้นจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้ายังขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยมูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐอยู่ที่ 23,632.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันที่ 7.5% ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 ส่วนภาคการท่องเที่ยว พบว่า เดือนสิงหาคม 2565 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยรวม 1.17 ล้านคน ขยายตัว 7,677.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย อินเดีย เวียดนาม ลาว และเกาหลีใต้

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน 14.5% สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นที่ระดับ 90.5 จาก 89.0 ในเดือนก่อน เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 จากความต้องการสินค้าโดยเฉพาะตลาดในประเทศ แต่ยังมีความกังวลจากต้นทุนการผลิตที่สูงจากราคาวัตถุดิบและพลังงาน รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลต่อการผลิตและส่งออก

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. สหรัฐเผยจีดีพี -0.6% ใน Q2 หลัง -1.6% ใน Q1 บ่งชี้เศรษฐกิจถดถอย (ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, ประจำวันที่ 30 กันยายน 2565)

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 1.6% ในไตรมาส 1 ซึ่งการที่เศรษฐกิจหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน ทำให้สหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค ทั้งนี้ ทางด้านนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวก่อนหน้านี้ว่า การบรรลุภารกิจในการควบคุมเงินเฟ้อของเฟด อาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ และเขาจะยังไม่พิจารณาเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะมั่นใจว่าตัวเลขเงินเฟ้อปรับตัวลงสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2%

อย่างไรก็ตาม ทางด้านสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐ (NBER) เป็นหน่วยงานในการตัดสินเกี่ยวกับการขยายตัวหรือการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐ โดยจะมีการพิจารณาจากหลายปัจจัย ได้แก่ การจ้างงาน การบริโภค การผลิตในภาคอุตสาหกรรม และรายได้ส่วนบุคคล ก่อนที่จะทำการประกาศอย่างเป็นทางการ

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)