ข่าวประจำวันที่ 3 ต.ค. 2565

ข่าวในประเทศ

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม

อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์

1. พาณิชย์ดัน 'อมก๋อย โมเดล' ผนึกพันธมิตรช่วยสับปะรดเชียงราย (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 3 ตุลาคม 2565)

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ด้สั่งการให้กรมฯ เข้าไปดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกร ภายใต้มาตรการบริหารจัดการผลไม้เชิงรุก ปี 2565 โดยตลอดปีการผลิต 2565 ได้เชื่อมโยงกับผู้ประกอบการเข้าไปรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรตั้งแต่ต้นฤดูกาลผลิต รวม 487,000 ตัน ประกอบด้วย การรับซื้อภายใต้มาตรการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2565 ปริมาณ 234,000 ตัน เช่น "อมก๋อย โมเดล" การกระจายออกนอกแหล่งผลิต 3 บาท/กก. นอกจากนี้ยังผลักดันการส่งออกรถเร่ผลไม้ จัดพื้นที่ขาย ณ ห้างท้องถิ่น ปั๊มน้ำมัน ห้างค้าส่ง-ค้าปลีก กิจกรรมพาณิชย์ "Fruit festival 2022" และการรับซื้อภายใต้มาตรการเสริม ปริมาณ 253,000 ตัน เช่น เปิดจุดจำหน่ายผลไม้เพิ่มเติม การส่งเสริมการแปรรูปทุเรียนสดเป็นทุเรียนแช่เยือกแข็ง และลำไย แปรรูป ส่งออกไปยังต่างประเทศ ผลจากการดำเนินงานตลอดปี 2565 ส่งผลให้ราคาผลไม้ ในภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก โดยเฉพาะสินค้า ผลไม้เศรษฐกิจสำคัญของประเทศ ได้แก่ สับปะรด โดยราคาสับปะรดภูแล ปี 2565 นี้อยู่ที่ 4.5 บาท/กก. สูงกว่าปี 2564 ที่ราคา 3.75 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 20% สับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย ราคา 5.70 บาท/กก. สูงกว่าปี 2564 ที่ราคา 5.49 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 4%

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565 กรมฯ ได้ลงพื้นที่ จังหวัดเชียงราย เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับซื้อผลผลิตสับปะรดจากเกษตรกรเป็นการล่วงหน้า ภายใต้มาตรการ "อมก๋อย โมเดล" โดยผนึกกำลังภาคีเครือข่ายภาคเอกชน 10 ราย โดยการรับซื้อผลผลิตดังกล่าว เพื่อกระจายผลผลิตออกสู่ช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแปรรูปเป็นน้ำสับปะรด โดยความร่วมมือระหว่าง อิชิตัน และปั๊มพีที ภายใต้แบรนด์ "หลวงพ่อพบโชค" การแปรรูปสับปะรดเป็นผลิตภัณฑ์อบแห้งส่งออกต่างประเทศ และการกระจายผลผลิตในประเทศผ่านห้างค้าส่ง-ค้าปลีก และผู้ประกอบการ ซึ่งการรับซื้อสินค้าสับปะรดเป็นการล่วงหน้านี้ จะเป็นหลักประกันให้กับเกษตรกรได้ว่าจะสามารถขายได้ในราคาที่ทำการซื้อขายอย่างแน่นอน ซึ่งภายใต้กิจกรรม "อมก๋อยโมเดล ช่วยสับปะรด เชียงราย" ในครั้งนี้ จะส่งผลให้ราคา                   ซื้อขายปัจจุบันอยุ่ในเกณฑ์ดีกว่าปี 2564 เป็นอย่างมาก

 

นายวชิระ กอแก้ว

รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

 

2. สสว.ทุ่มงบกว่า400ล้านพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 3 ตุลาคม 2565)

นายวชิระ กอแก้ว รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ต้องเจอกับปัจจัยเสี่ยงจำนวนมาก โดยเฉพาะสงครามรัสเซีย-ยูเครน การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้น เอสเอ็มอีต้องมีการเพิ่มศักยภาพตัวเองเพื่อปรับตัวให้เข้าสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่ง สสว.ได้มีการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีผ่านโครงการต่างๆ ที่มีกรอบความช่วยเหลือตามเป้าหมายของแต่ละโครงการ โดยในปี 2566 สสว.เตรียมงบประมาณกว่า 400 ล้านบาท พัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) โดยตั้งเป้าหมาย 6,000 ราย ผ่านมาตรการ "SME ปัง ตังได้คืน" ภายใต้โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการ (BDS) ซึ่ง สสว.สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการพัฒนาผู้ประกอบการแบบร่วมจ่ายในสัดส่วน 50-80% ตามขนาดของธุรกิจของผู้ประกอบการที่ต้องการรับความช่วยเหลือสูงสุด รายละไม่เกิน 200,000 บาท รวมทั้งเข้าถึงบริการผู้ให้บริการทางธุรกิจที่ขึ้นทะเบียนในระบบกว่า 90 หน่วย เช่น สถาบันอุตสาหกรรม สิ่งทอ สถาบันอาหาร สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่หลากหลายมากกว่า 120 บริการ ทั้งนี้ สสว.คาดว่าจะมีผู้ประกอบการ 4 กลุ่มสนใจเข้ารับการพัฒนา ได้แก่ 1. กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร บริการเพื่อสุขภาพ นำเที่ยวหรือจำหน่ายของที่ระลึก รองรับนโยบายการเปิดประเทศ 2. กลุ่มผลิตอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงการผลิตยาและสมุนไพร 3. กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ในอุตสาหกรรมการบิน อากาศยานและเครื่องมือแพทย์ และกลุ่ม BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว) ในภาคการผลิต การเกษตรแปรรูป การค้าและบริการ อื่นๆ โดย สสว.จะขยายเวลาโครงการไปจนถึงเดือนกันยายน 2566 เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเลือกใช้บริการได้ถึงเดือนสิงหาคม 2566

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา 6 เดือน มาตรการ SME ปัง ตังได้คืน มีผู้ประกอบการสมัครใช้งานในระบบแล้วกว่า 2,000 ราย และยังมีสมัครเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับอนุมัติข้อเสนอการพัฒนาไปแล้วกว่า 300 ราย โดยเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้ความสนใจพัฒนาด้านคุณภาพ และมาตรฐานสินค้าและบริการ อยู่ที่ 87% และสนใจพัฒนาด้านช่องทางการจำหน่าย และการตลาด และพัฒนาด้านการตลาดต่างประเทศ 13%

 

นายธีรนัย โสตถิปิณฑะ

กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือ

แห่งประเทศไทย

 

3. จ๊าก! หนังสือจ่อขึ้นราคา 15% (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 3 ตุลาคม 2565)

นายธีรนัย โสตถิปิณฑะ กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมหนังสือในประเทศไทยจากนี้ไปจะเริ่มเจอศึกหนักมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงปลายปี 2565 ที่คาดว่าบรรดาร้านหนังสือต้องปรับขึ้นราคาอีก 15% หลังจากช่วงที่ผ่านมา ราคาค่ากระดาษซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าแทบ 100% จากยุโรปปรับเพิ่มขึ้น 30% จากปัญหาค่าเงิน จึงคาดว่ายิ่งทำให้ผู้บริโภคซื้อหนังสือน้อยลงไปอีก ทำให้สมาคมฯ เตรียมเรียกประชุมสมาชิกเพื่อร่วมกันหาทางออก และมีแผนเข้าหารือกับภาครัฐในปลายปีนี้หรือต้นปี 2566 เพื่อขอความร่วมมือกำหนดกลไกราคาหนังสือ จากปัจจุบันหนังสือยังไม่จัดให้อยู่ในหมวดสินค้าควบคุมจึงทำให้ผู้ประกอบการปรับขึ้นราคาได้ง่าย ทั้งนี้ ปัจจุบันอุตสาหกรรมหนังสือมีมูลค่า 15,000 ล้านบาท เติบโตขึ้น 2% หากเทียบกับปี 2563 ในช่วงที่เกิดวิกฤติโควิด มูลค่าลดลงเหลือ 12,000 ล้านบาท โดยปัจจัยที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะการล็อกดาวน์ที่ทำให้ผู้บริโภคต้องใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านและหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านในช่วงที่ว่าง เพื่อความผ่อนคลาย นอกเหนือจากการใช้เวลาบนหน้าจอ และปีนี้แม้สถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย แต่ผู้บริโภคยังคงมีพฤติกรรมการอ่านหนังสือเช่นเดิม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เนื่องจากข้อมูลและเนื้อหาในหนังสือมีมากกว่าและละเอียดกว่าการค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตอีกทั้งยังพบว่าในช่วงเวลาดังกล่าวผลักดันให้ตลาดอีบุ๊กเติบโตจนมีมูลค่าที่ประมาณ 1,000 ล้านบาทแล้ว สำหรับหนังสือที่ยังได้รับความนิยม 5 อันดับแรก ได้แก่ ประเภทการ์ตูนได้รับความนิยมในกลุ่มวัยรุ่น ตามด้วยประเภทนิยายแปลในภาษาต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มสายวายซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจนกลายเป็นกระแสแล้วนำไปทำเป็นซีรีส์, ประเภทเด็กและเยาวชน, ประเภทพัฒนาตนเอง และประเภทการเมืองที่เด็กรุ่นใหม่ให้ความสนใจเข้าไปอ่านค้นคว้า ส่วนหนังสือที่เริ่มหายไปจากตลาด คือ ประเภทอาหาร เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคหันไปศึกษาจากคลิปในยูทูบ ติ๊กต็อกมากกว่า

อย่างไรก็ตาม เพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมหนังสือเติบโตได้ต่อเนื่อง ล่าสุดสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ได้จัดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 27 ขึ้น ตั้งแต่วันที่ 12-23 ตุลาคม 2565 นี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีสำนักพิมพ์เข้าร่วม 306 ราย 788 บูธ ภายในงานมีกิจกรรมและอบรมสัมมนากว่า 100 รายการ คาดว่า มีผู้เข้าร่วมงาน 1.5 ล้านคน และสร้างรายได้ภายในงาน 300 ล้านบาท

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. ความเชื่อมั่นผู้ผลิตญี่ปุ่นลดลง 3 ไตรมาสติดกัน เหตุต้นทุนสูงกระทบภาคธุรกิจ (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 3 ตุลาคม 2565)

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ของญี่ปุ่นในไตรมาส 3/2565 ปรับตัวลงติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 3 เนื่องจากผลกระทบของต้นทุนการวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ของญี่ปุ่น (ทังกัน) ประจำไตรมาส 3 ซึ่งรวมถึงผู้ผลิตรถยนต์และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์นั้น ลดลงสู่ระดับ 8 จากระดับ 9 ในไตรมาส 2 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 11 ทั้งนี้ การปรับตัวขึ้นของราคาพลังงานและต้นทุนวัตถุดิบได้ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่น และทำให้บริษัทต่างๆ ต้องปรับขึ้นราคาสินค้าเพื่อปกป้องผลกำไรของบริษัท

อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มบริษัทนอกภาคการผลิตซึ่งรวมถึงภาคบริการนั้น เพิ่มขึ้นแตะระดับ 14 ในไตรมาส 3 จากระดับ 13 ในไตรมาส 2 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 3 ไตรมาส โดยได้แรงหนุน จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวหลังจากรัฐบาลยกเลิกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งนี้ ผลสำรวจของ BOJ ระบุว่า ดัชนีทังกันภาคการผลิตในไตรมาส 4 มีแนวโน้มขยับขึ้นแตะระดับ 9 แต่คาดว่าดัชนี ทังกันนอกภาคการผลิตอาจจะปรับตัวลงแตะระดับ 11 เนื่องจากต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้น

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)