ข่าวประจำวันที่ 28 พฤศจิกายน 2565

1. อาเซียนแข่งเดือดดึง “เอฟดีไอ”ไทยเร่งหนุนตั้ง “เฮดควอเตอร์”

(ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ, วันที่ 28 พฤศจิกายน 2565)

ไทยเร่งเครื่องดึงเอฟดีไอ “บีโอไอ” หนุนต่างชาติตั้งเฮดควอเตอร์ หวังไทยเป็นศูนย์ธุรกิจ-ศูนย์การเงิน หลายชาติในอาเซียนใช้นโยบายวีซ่าดึงลงทุน “หอการค้า” แนะรัฐเร่งพีอาร์เชิงรุก เพิ่มภาพลักษณ์ประเทศน่าลงทุน ขณะที่ประเทศในอาเซียน อย่าง “อินโดนีเซีย” เร่งสร้างซัพพลายเชน “อีวี” ดึงลงทุนโรงงานแบต โรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า “เวียดนาม” คลอดกฎหมายใหม่หนุนตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ

การแข่งขันเพื่อดึงเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) มีความเข้มข้นมาขึ้น โดยเฉพาะภายหลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย โดยในอาเซียนมีหลายประเทศเร่งออกมาตรการดึงการลงทุน รวมถึงการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการลงทุน ความเคลื่อนไหวที่สำคัญเห็นได้จากอินโดนีเซียที่มีการดึงการลงทุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงเข้าประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะซัพพลายเชนของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อต่อยอดอุตสาสหกรรมยานยนต์ของอินโดนีเซีย ทำให้อินโดนีเซียโดดเด่นในการดึงการลงทุนซัพพลายเชน EV

โดยปี 2562-2566 มีการลงทุนแบตเตอรีสำหรับ EV ที่สำคัญถึง 24,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งโครงการที่มีมูลค่าการลงทุนสูงที่สุด คือ LG Energy Solution จากเกาหลีใต้ 9,800 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งอินโดนีเซียดึงผู้ผลิตรถยนต์ให้เข้ามาลงทุนโรงงาน EV, PHEV, HEV หรือ BEV โดยโตโยต้าเข้ามาลงทุน 2,000 ล้านดอลลาร์ ก่อสร้างโรงงานปี 2565 และฮุนได เข้ามาลงทุน 1,500 ล้านดอลลาร์ ตั้งโรงงานไปเมื่อปี 2564 และยังมีผู้เข้ามาลงทุนสถานีชาร์จ เช่น ABB, Bosch, Grab

“ขณะที่เวียดนามได้ปรับปรุงกฎหมายรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณนครโฮจิมินห์ กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่ารัฐบาลเวียดนามได้ออกกฎหมาย Decree 35/2022 เกี่ยวกับการบริหารจัดการเขตอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจ ซึ่งช่วยเกี่ยวกับขั้นตอนและต้นทุนสำหรับผู้มาลงทุนจัดตั้งเขตเศรษฐกิจในเวียดนาม ปัจจุบันเวียดนามกำหนดพื้นที่เขตอุตสาหกรรม (Industrial Zones หรือ IZs) และเขตเศรษฐกิจ (Economic Zones หรือEZs) ในพื้นที่ 61 จังหวัดจาก 63 จังหวัดของเวียดนาม โดยปัจจุบันมีเขตอุตสาหกรรม 400 แห่ง มีเขตเศรษฐกิจชายแดน 26 แห่ง และเขตเศรษฐกิจชายฝั่ง 18 แห่ง ล่าสุดนครโฮจิมินห์กําลังวางแผนตั้งเขตเศรษฐกิจ 26,000 เฮกตาร์ ทางตอนใต้เป็นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรม เขตเมืองและบริการที่เกี่ยวข้อง โดยบรรจุในร่างโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและเขตนิคมอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกในช่วงปี2568-2573”

ไทยเร่งเครื่องดึง“เอฟดีไอ

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ระบุในรายงานภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 3 ปี 2565 และแนวโน้มปี2566 เกี่ยวกับ FDI ในอาเซียนว่า การลงทุนระหว่างประเทศจะเป็นตัวขับเคลื่อนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดยเฉพาะการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ซึ่งนำไปสู่การย้ายหรือขยายฐานการผลิตและการลงทุนมาในอาเซียน รวมทั้งการที่ประเทศไทยกำหนดนโยบาย 30@30 ที่มุ่งเน้นผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิต EV และชิ้นส่วนของภูมิภาคด้วยการตั้งเป้าผลิตรถที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดภายในปี 2573 ทำให้ไทยต้องเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะการเร่งดึง FDI ผ่านการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกและการอำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดนักลงทุน ควบคู่การขับเคลื่อนการลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน

ในขณะที่ผ่านมาไทยได้โปรโมทเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมทั้งล่าสุดได้ออกมาตรการวีซ่าระยะยาว (Long-Term Resident Visa : LTR Visa) เพื่อจูงใจกลุ่มที่มีศักยภาพเข้ามาลงทุนในไทย เช่น กลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูง (Wealthy Global Citizens)

หลายชาติแห่ใช้นโยบายวีซ่า

หลายประเทศใช้นโยบายคล้ายไทยเพื่อดึงผู้มีศักยภาพเข้ามาทำงานและพำนักระยะยาว แต่ไม่น่ากังวลเพราทุกประเทศต้องแข่งขันดึงผู้มีศักยภาพและกำลังซื้อเข้าประเทศอยู่แล้ว แต่ไทยมีข้อได้เปรียบหลายข้อ เช่น ค่าครองชีพและค่าเช่าพื้นที่สำนักงานถูกกว่า รวมถึงมีโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ

สำหรับข้อได้เปรียบนี้ทำให้ในการตัดสินใจย้ายฐานการผลิตจากประเทศอื่น เพื่อมาลงทุนในไทยในรูปแบบการตั้งสำนักงานใหญ่ในภูมิภาค (Head Quarter) ซึ่งจะมีพนักงานบริษัทเข้ามาทำงานในไทยด้วยจำนวนมาก และทำให้จูงใจผู้มีความรู้ความสามารถและทักษะสูงตรงความต้องการอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย

“บีโอไอ” ดึงเฮดควอเตอร์

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ยุทธศาสตร์การลงทุนใหม่จะส่งเสริมให้ไทยเป็น “ศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ” และ “ประตูการค้าการลงทุนของภูมิภาค” โดยต้องการให้ตั้งInternational Headquarters ในไทยเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและการทำงานในองค์กรระหว่างประเทศในไทย โดยนอกจากมาตรการทางภาษียังปรับปรุงมาตรการอำนวยความสะดวกด้านอื่น เพื่อลดอุปสรรคการเข้ามาตั้งสำนักงานและเข้ามาทำงานในไทย

.....................................................

 

2. “พาณิชย์” เผย ส่งออก ต.ค. ติดลบ 4.4% เริ่มสัญญาณ ศก. โลกชะลอตัว

(ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ, วันที่ 28 พฤศจิกายน 2565)

““พาณิชย์” เผย ส่งออกเดือนต.ค. ติดลบ 4.4% ขณะที่ภาพรวม 10 เดือน มีมูลค่า 8 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 9.1% ปัจจัย ราคาน้ำมันพุ่ง

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนต.ค.2565 ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง มีมูลค่า 21,772 ดอลลาร์ ลดลง 4.4% ขณะที่ภาพรวม 10 เดือนของปี 2565 (ม.ค.- ต.ค.) ส่งออกมีมูลค่า 234,138 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 9.1%

“สำหรับปัจจัยบวกที่หนุนการส่งออกคือ คือค่าเงินบาทที่ยังอ่อนตัวอยู่มีส่วนช่วยหนุนการส่งออก เศรษฐกิจคู่ค้าบางประเทศ ประเทศไทยมีตลาดใหม่ๆ ที่ยังขยายตัวได้ดีอยู่หลายตลาด เช่น ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่สามารถทำตัวเลขได้ดีอยู่ในปัจจุบัน และรวมไปถึงตลาดตะวันออกกลาง ตลาดออสเตรเลีย และตลาดสหราชอาณาจักร เป็นต้น

““ส่วนปัจจัยลบที่มีส่วนสำคัญกับตัวเลขส่งออกถัดจากนี้ไปบางช่วงเวลา เช่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง โดยกระทรวงพาณิชย์ และเอกชนประเมินเห็นตรงกันว่าถัดจากนี้ไปเราต้องฟันฝ่าเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวตั้งแต่ปีนี้ จนถึงปีหน้า

..................................................

 

3. บีโอไอ-ส.อ.ท.ยกระดับอุตสาหกรรมไทย สร้างเศรษฐกิจใหม่ มุ่งเป้า 5 สาขา ได้แก่ BCG อีวี สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

(ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ, วันที่ 28 พฤศจิกายน 2565)

‘บีโอไอ-ส.อ.ท. เตรียมตั้งคณะทำงานร่วมผลักดัน SMEs เข้าถึงมาตรการ และสิทธิประโยชน์จากบีโอไอ ส.อ.ท. ชูแนวคิด One FTI เร่งขับเคลื่อน 1 จังหวัด 1 อุตสาหกรรม มุ่งสร้างอุตสาหกรรมยุคใหม่

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ว่า บีโอไอจะร่วมกับภาคเอกชนในการร่วมขับเคลื่อนการลงทุน เพื่อมุ่งสร้างเศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศไทย ตามยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) และมาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่ ที่จะเริ่มใช้ในวันที่ 3 มกราคม 2566 เป็นต้นไป

“โดยมุ่งผลักดันให้เกิดการยกระดับภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนที่จะนำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะการส่งเสริมอุตสาหกรรมมุ่งเป้าทั้ง 5 สาขา ได้แก่ BCG อีวี สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์”

นอกจากนี้ บีโอไอยังได้เชิญชวนให้สมาชิก ส.อ.ท. เข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยพัฒนา 3 ด้านให้มากขึ้น คือ พัฒนาคนพัฒนา SMEs และพัฒนาชุมชน ซึ่งบีโอไอมีมาตรการให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมแก่บริษัทเอกชนที่ทำกิจกรรมในเรื่องเหล่านี้ด้วย

ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญในการหารือร่วมกับ ส.อ.ท. คือ การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ใหม่ของบีโอไอ ร่วมกับการสนับสนุนนโยบาย One FTI ของ ส.อ.ท. เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเป็นที่พลิกโฉมประเทศไทยสู่เศรษฐกิจใหม่ การจัดตั้งทีมทำงานร่วมกันเพื่อให้สมาชิก ส.อ.ท. ทั่วประเทศ โดยเฉพาะ SMEs เข้าถึงมาตรการและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของบีโอไอ รวมถึงการร่วมกันปลดล็อกอุปสรรคและอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์โลกปัจจุบันมีปัจจัยท้าทายหลายด้านที่ทำให้ภาคอุตสาหกรรมต้องเร่งปรับตัว โดยนโยบาย ONE FTI ซึ่งประกอบด้วย One Vision, One Team, One Goal จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมไทย เพื่อประเทศไทยที่แข็งแกร่งกว่าเดิม เร่งขับเคลื่อน 1 จังหวัด 1 อุตสาหกรรม มุ่งสร้างอุตสาหกรรมยุคใหม่ โดยมุ่งเน้นการขับเคลื่อนทั้งอุตสาหกรรมเดิม (First Industries) ไปพร้อมกับอุตสาหกรรมใหม่หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Next - GEN Industries)

ประกอบด้วย 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S - Curves) อุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยแนวคิด BCG และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ในภาคอุตสาหกรรม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ เชื่อว่าความร่วมมือและการสนับสนุนให้สมาชิกเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของบีโอไอ จะสร้างแต้มต่อให้กับผู้ประกอบการในการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะสร้างความได้เปรียบ และสามารถแข่งขันได้ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมกลุ่ม BCG ที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมไทยในอนาคต

“ส.อ.ท. พร้อมสนับสนุนเพื่อให้ผู้ประกอบการยังคงยืนหยัด ต่อสู้ และต่อลมหายใจให้สามารถก้าวข้ามผ่านการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายไปได้ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

........................................

 

4. ฟ็อกซ์คอนน์เสนอโบนัส 1,800 ดอลลาร์ให้พนักงาน หวังเร่งผลิตไอโฟน

(ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ, วันที่ 28 พฤศจิกายน 2565)

ฟ็อกซ์คอนน์ เสนอเงินโบนัสสูงสุด 1,800 ดอลลาร์ให้กับพนักงานที่ยอมทำงานที่โรงงานในเมืองเจิ้งโจวต่อไป ภายใต้แผนรักษาจำนวนพนักงานที่มีความจำเป็นต่อการดำเนินงาน โดยโรงงานแห่งนี้เป็นแหล่งผลิตไอโฟนรายใหญ่ที่สุดในโลก

ฟ็อกซ์คอนน์ หรือหงไห่ พรีซิชั่น อินดัสทรีย์ โดยระบุในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาด้วยว่า บริษัทจะเพิ่มค่าจ้างสูงสุด 13,000 หยวนต่อเดือนในเดือน ธ.ค.และ ม.ค. สำหรับพนักงานประจำที่เริ่มต้นทำงานในเดือน พ.ย.หรือก่อนหน้านั้น

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ฟ็อกซ์คอนน์เสนอจ่ายเงินโบนัสให้กับพนักงานที่เลือกลาออกจากโรงงานในเมืองเจิ้งโจว โดยหลัก ๆ แล้วเป็นไปเพื่อเลิกจ้างพนักงานใหม่ที่เข้าร่วมก่อหวอดประท้วงต่อต้านมาตรการล็อกดาวน์โควิด-19

“สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การจ่ายเงินโบนัสก้อนโตอย่างที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนักแบบนี้ สะท้อนให้เห็นว่าฟ็อกซ์คอนน์มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องกลับมาเดินสายการผลิตที่ความเร็วสูงสุด หลังเผชิญการควบคุมโควิด-19 และภาวะติดขัดเป็นเวลานับเดือนจนนำไปสู่เหตุประท้วงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

โรงงานฟ็อกซ์คอนน์ที่เมืองเจิ้งโจวเป็นแหล่งประกอบไอโฟน โปรส่วนใหญ่ให้แอปเปิ้ล โดยปกติมีพนักงานประมาณ 200,000 ราย แต่พนักงานใหม่เพิ่งลาออกไป 20,000 ราย หลังเกิดการประท้วง

นักวิเคราะห์ของมอร์แกน สแตนลีย์ปรับลดคาดการณ์ผลผลิตไอโฟน โปร สำหรับไตรมาสปัจจุบันลง 6 ล้านเครื่องเมื่อต้นเดือนนี้ โดยภายใต้สมมุติฐานที่แย่ที่สุดที่การบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์จะมีต่อการประกอบไอโฟนที่โรงงานเมืองเจิ้งโจวคือ ฟ็อกซ์คอนน์เสี่ยงสูญเสียรายได้จากการผลิตไอโฟนมากถึง 36% หรือคิดเป็นสัดส่วน 20% ของยอดขายโดยรวมในไตรมาสนี้

............................................