ข่าวประจำวันที่ 26 มกราคม 2566

ข่าวในประเทศ

นายใบน้อย สุวรรณชาตรี

อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

1. 'ดีพร้อม' กางแผนปีกระต่ายเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการ 2.86 หมื่นราย (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 26 มกราคม 2566)

 

นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม เปิดเผยว่า ในปี 2565 ดีพร้อม ได้ดำเนินงานตามนโยบายของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมให้มีศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน ภายใต้ นโยบายดีพร้อมแคร์ (DIPROM CARE) ผ่านกลไก โครงการ/กิจกรรมต่างๆ สามารถพัฒนาผู้ประกอบการมากกว่า 14,000 ราย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมกว่า 7,000 ล้านบาท โดยเฉพาะโครงการอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ ให้ชุมชน ดีพร้อม หรือ อาชีพดีพร้อม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการที่เป็นเรือธงในการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ อีกทั้งยังได้ขยายการให้บริการประชาชนที่เข้าร่วมโครงการกับดีพร้อมจากเดิมเฉลี่ยปีละ 10,000 ราย ไปสู่ 700,000 ราย ส่งผลให้ประชาชนมีศักยภาพทางด้านวิชาชีพเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังสามารถนำความรู้ ไปประกอบอาชีพต่อยอดธุรกิจ มีรายได้เพิ่มขึ้น สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยบวกจากการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัว อันจะส่งผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่ยังคงมีความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังจากความผันผวนของสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจทำให้เกิดการชะงักงันหรือสะดุดของห่วงโซ่ อุปทาน ตลอดจนวิกฤตพลังงานที่ราคายังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับภาวะเงินเฟ้อที่ยังคงกดดัน การบริโภคของภาคครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง และอาจลุกลามซ้ำเติมความเปราะบางทางการเงินให้กับประชาชนบางกลุ่ม อาทิ กลุ่มวิสาหกิจขนาดย่อมและผู้มีรายได้น้อย ดังนั้น จึงต้องเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการให้เข้มแข็งในทุกๆ มิติ ซึ่งจะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 นี้ได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชนมากกว่า 13,000 ราย คาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมไม่น้อยกว่า 7,000 ล้านบาท และดำเนินกิจกรรมพิเศษ เพื่อยกระดับประชาชนให้สามารถก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการในอนาคต โดยมีเป้าหมายไม่น้อยกว่า 15,600 ราย และคาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท รวมทั้ง 2 โครงการกว่า 28,600 ราย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ กว่า 7,500 ล้านบาท

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

2. เอกชนรุมสับค่าไฟแพง (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 26 มกราคม 2566)

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยในงานสัมมนาไทยแลนด์ นิว เอพพิโซด บทใหม่ประเทศ ไทย 2023 เรื่องนิว เอพพิโซด เศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย ว่า ไทยสูญเสียขีดความสามารถทางการแข่งขันจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น ล่าสุดค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือเอฟที ที่ปรับขึ้นต่อเนื่อง ปรับมาอยู่ที่เฉลี่ย 5.33 บาทต่อหน่วย ทำให้ต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมสูงขึ้น และเป็นอุปสรรคต่อการดึงการลงทุนจากต่างประเทศหรือเอฟดีไอ ส่งผลให้เวียดนามยิ่งมีแต้มต่อมากขึ้นไปอีก ล่าสุดได้ลดเหลือ 2.50 บาทต่อหน่วย สวนทางกับไทย หากไทยยังมีค่าไฟที่แพง การลงทุนต่างประเทศที่ไหนจะมาไทย หากไม่เร่งแก้ไขอาจจะทำให้ไทยเสียขีดความสามารถทางการแข่งขันแบบถาวร

 

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ หรืออีเอ กล่าวว่า การพัฒนาแหล่งก๊าซในประเทศบวกกับการเปลี่ยนผ่านแหล่งก๊าซอ่าวไทยต้องใช้เวลา ดังนั้นค่าไฟจะไม่ลดลงง่ายๆ หากไม่นำพลังงานในประเทศมาพัฒนาควบคู่ไปพร้อมกับวางแผนนโยบายพลังงานให้ชัดเจน ซึ่งราคาพลังงานในประเทศปัจจุบัน ยังไม่สะท้อนความเป็นจริง เพราะโครงสร้างการใช้ไฟฟ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงมานาน ทั้งที่ผ่านมา กว่า 20 ปี รวมถึงโครงสร้างสายส่งของไทย ถือเป็นอุปสรรคต่อระบบอุตสาหกรรม ทำให้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศเพียงไม่กี่ประเทศทั่วโลก ที่อุตสาหกรรมการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าแบ่งออกมาเป็น 3 การไฟฟ้า ทำให้ขาดการบูรณาการไม่สามารถร่วมกันบริหารและผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น จากนี้จึงขอให้หน่วยงานประเมินภาพใหม่ เพื่อมองหาการปรับนโยบาย เพื่อให้ได้โอกาสเหล่านี้กลับมา รัฐต้องปรับวิธีคิดในการบริหารให้มองในภาพใหญ่

 

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร

เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)

 

3. สินค้าเกษตรไทย 11 เดือน ปี 65 โกยรายได้ทะลุ 1.5 ล้านล้านบาท (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 26 มกราคม 2566)

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงสถิติภาพรวมการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปยังประเทศต่างๆ ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2565 มีมูลค่า 1,553,822 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ที่มีมูลค่า 1,273,761 ล้านบาท หากพิจารณาเฉพาะการค้าระหว่างไทยกับประเทศที่ไทยทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไม่นับรวมประชาคมอาเซียน ประกอบด้วย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู ชิลี อินเดีย ฮ่องกง เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา มูลค่าการค้าอยู่ที่ 901,284 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.52% สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย มีมูลค่ากว่า 698,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.82% นำเข้า 202,784 ล้านบาท ทำให้ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าคิดเป็นมูลค่า 495,716 ล้านบาท โดยตลาดส่งออกที่มีมูลค่ามากที่สุด ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย สาธารณรัฐเกาหลี และออสเตรเลีย ในส่วนของสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด ได้แก่ ผลไม้ มูลค่า 164,793 ล้านบาท ของปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ ปลา หรือสัตว์น้ำ 97,145 ล้านบาท ยางพารา 83,919 ล้านบาท พืชผัก เพื่อบริโภค มูลค่า 49,052 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์แป้งธัญพืช 41,451 ล้านบาท ไขมันและน้ำมันที่ได้จากสัตว์หรือพืช มูลค่า 40,521 ล้านบาท และน้ำตาลและผลิตภัณฑ์จากน้ำตาล มูลค่า 33,638 ล้านบาท

 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการค้าสินค้าเกษตรของไทยกับอาเซียน 9 ประเทศ ระหว่างเดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2565 เปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 พบว่า ภาพรวมการค้ามูลค่าการค้ารวม 502,353 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.56% การส่งออกสินค้าเกษตรไทย มีมูลค่า 351,631 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.55% มีการนำเข้า 150,722 ล้านบาท ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 200,909 ล้านบาท โดยไทยส่งออกไปยัง มาเลเซีย เป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วย อินโดนีเซีย กัมพูชา ส่วนสินค้าเกษตรที่มีการส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก น้ำตาลและผลิตภัณฑ์จากน้ำตาล 74,985 ล้านบาท เครื่องดื่ม น้ำแร่ น้ำอัดลม นมยูเอชที นมถั่วเหลือง 50,914 ล้านบาท ของปรุงแต่งเบ็ดเตล็ดที่บริโภคได้ เต้าหู้ ครีมเทียม ซอสพริก น้ำปลา น้ำมันหอย 30,671 ล้านบาท ของปรุงแต่งจากธัญพืช แป้ง และนม อาทิ อาหารทางการแพทย์สำหรับเด็กเล็ก เส้นหมี่ วุ้นเส้น นู้ดเดิลพร้อมปรุง 26,080 ล้านบาท และเศษเหลือจากอุตสาหกรรมอาหารเพื่อเป็นอาหารสัตว์ 24,040 ล้านบาท

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. ญี่ปุ่นหั่นเป้าจีดีพีปีนี้เหลือ 1.9% (ที่มา: ข่าวหุ้น, ประจำวันที่ 26 มกราคม 2566)

ธนาคารกลางญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ได้มีการปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2565/2566 ลงเหลือ 1.9% เทียบกับ 2% ที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ พร้อมทั้งลดการคาดการณ์สำหรับปี 2566/2567 ลงเหลือ 1.7% จาก 1.9% และสำหรับปี 2567/2568 จากขยายตัว 1.5% มาอยู่ที่1.1% ทั้งนี้ รัฐบาลคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่น ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่สามของทั่วโลก จะดีขึ้นในอนาคต แต่ญี่ปุ่นจำเป็นต้องระมัดระวังผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศจีน หลังจากจีนผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดแล้ว โดยตัวแทนคณะรัฐมนตรี กล่าวในแถลงการณ์ล่าสุดว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ก็เริ่มเห็นความอ่อนแอปรากฏขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลญี่ปุ่นยังได้ลดคาดการณ์การส่งออกเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 2554 รวมถึงลดคาดการณ์การนำเข้าเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน โดยในแถลงการณ์เศรษฐกิจเดือนมกราคม ระบุว่า ภาคการส่งออกและการนำเข้าส่งสัญญาณอ่อนตัวลงในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งแตกต่างจากคาดการณ์เมื่อเดือนก่อนหน้าที่มองว่าการส่งออกและการนำเข้าอยู่ในภาวะค่อนข้างทรงตัว ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโรคโควิดครั้งใหม่ ในจีนอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกและการผลิตของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งผลกระทบจะเห็นความชัดเจนขึ้นในเดือนมกราคมนี้เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้านอกจากนี้ รัฐบาลยังคงระมัดระวังเกี่ยวกับความเสี่ยงขาลงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ท่ามกลางภาวะการเงินตึงตัว อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง และความผันผวนของตลาดการเงิน

   

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)