ข่าวประจำวันที่ 27 มกราคม 2566

ข่าวในประเทศ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

1. "จุรินทร์" ชง ครม.ไฟเขียว FTA ไทย-อียู (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 27 มกราคม 2566)

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือกับนายวัลดิส โดมโบรฟสกิส รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านเศรษฐกิจและกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า หรือรองนายก รัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของสหภาพยุโรป (อียู) ระหว่างการเดินทางเยือนบรัสเซลส์ เบลเยียม เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 ว่า ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ของไทยกับอียูที่ได้เจรจาทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างกัน โดยฝ่ายการเมืองของทั้ง 2 ฝ่าย ได้ร่วมกันแสดงเจตจำนงเริ่มต้นเจรจาเอฟทีเอ โดยที่แต่ละฝ่ายจะดำเนินกระบวนการภายใน เพื่อนำไปสู่การจัดทำเอฟทีเอต่อไปโดยเร็ว ทั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่ฝ่ายการเมืองทั้ง 2 ฝ่าย ประชุมและแสดงเจตจำนงร่วมกันที่จะเริ่มต้นเจรจาเอฟทีเอ โดยในส่วนของไทย จะนำเข้าหารือคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู คาดจะนำเข้า ครม.ภายใน 2 สัปดาห์นี้ ส่วนรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีการค้าของอียู จะนำผลการหารือไปดำเนินการขอคำรับรองจากสมาชิก 27 ประเทศ ตั้งเป้าจะดำเนินการตามกระบวนการภายในให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด เพื่อประกาศนับหนึ่งการเริ่มต้นเจรจาอย่างเป็นทางการต่อไป โดยทั้ง 2 ฝ่ายตั้งเป้าว่าจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในไตรมาสแรกของปีนี้

อย่างไรก็ตาม ไทยได้ใช้ความพยายามในการเจรจาทำเอฟทีเอ กับอียูมาเกือบ 10 ปีแล้ว แต่ยังไม่สามารถนับหนึ่งได้อย่างเป็นรูปธรรม จนมาประสบความสำเร็จในครั้งนี้ และหากทำสำเร็จไทยจะเป็นประเทศที่ 3 ในอาเซียนที่มีเอฟทีเอกับอียูต่อจากสิงคโปร์ เวียดนาม ทำให้ไทยจะมีตลาดการค้าที่ได้เปรียบคู่แข่งขันอื่นเพิ่มขึ้นอีก 27 ประเทศ เป็นแต้มต่อสำหรับไทย ทั้งในเรื่องการค้า การค้าบริการ การลงทุน และอื่นๆ ในอนาคต เป็นการสร้างเงิน สร้างอนาคตให้กับประเทศต่อไป สำหรับอียูนับเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของไทยรองจากจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น การค้าระหว่างไทยกับอียู ปี 2565 มีมูลค่า 41,038 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 2.87% สัดส่วนการค้าที่ไทยค้ากับอียู ประมาณ 7% ของการค้ากับโลก ถือว่าเป็นคู่ค้าที่มีความสำคัญ และไทยส่งออกไปอียูปี 2565 มูลค่า 22,794 ล้านเหรียญฯ (843,378 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 5.17%

 

A person with a microphone

Description automatically generated with low confidence

น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 

2. 'มนัญญา' ดันสหกรณ์จังหวัด เพิ่มขีดความสามารถส่งออกผลผลิต (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 27 มกราคม 2566)

น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเปิดโครงการฝึกอบรมหลักสูตร "การพัฒนาศักยภาพผู้บริหารเพื่อการบริหารงานสำนักงานสหกรณ์จังหวัด" รวมถึงมอบนโยบายด้านการเกษตรของกระทรวงเกษตรฯ ให้สหกรณ์จังหวัด และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยมีนายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรม ได้พัฒนาองค์ความรู้ ทัศนคติ และเกิดความพร้อมสำหรับการบริหารงานส่งเสริมสหกรณ์ให้ประสบผลสัมฤทธิ์ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นสหกรณ์จาก 29 จังหวัด ว่าสหกรณ์จังหวัด มีบทบาทสำคัญในการแนะนำ ส่งเสริม และพัฒนาสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรโดยตรงในพื้นที่ เป็นผู้นำนโยบายจากกระทรวงเกษตรฯ สู่การปฏิบัติเพื่อยกระดับสหกรณ์ให้มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพจึงได้ฝากเน้นย้ำให้สหกรณ์จังหวัดดูว่าจังหวัดของตนนั้นมีปริมาณผลผลิตแต่ละชนิดเท่าไร รวมถึงปริมาณการส่งออกไปต่างประเทศว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไรบ้าง เพื่อแก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาด อีกทั้งได้เน้นย้ำในการป้องกันการสวมสิทธิ์ผลไม้ เพราะผลไม้ไทยได้ยอมรับจากทั่วโลก   ในเรื่องของคุณภาพ ทั้งนี้ สหกรณ์เป็นหัวใจสำคัญ เพราะสมาชิกคือเกษตรกรของประเทศไทย ดังนั้นสหกรณ์จังหวัดต้องมีความรู้ แนะนำเกษตรกรได้ว่าควรปลูกอะไร และเกษตรกรเองต้องรักษาสิทธิ์ของตัวเองในการตรวจสอบสหกรณ์ สามารถสอบถามสถานการณ์การผลิตและการตลาดเพื่อให้เกษตรกรได้ประโยชน์สูงสุด

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับนโยบายสำคัญที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ดำเนินการขับเคลื่อนโดยใช้กลไกสหกรณ์เข้ามาช่วยดูแลความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพให้แก่เกษตรกร ซึ่งสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรถือเป็นองค์กรหลักของภาคการเกษตรในระดับพื้นที่ และเป็นฐานสำคัญของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้ให้ความสำคัญต่อการนำระบบสหกรณ์เป็นกลไกในการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในทุกพื้นที่ โดยคาดหวังว่าสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรจะเป็นองค์กรที่ช่วยส่งเสริมให้สมาชิกมีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

A person standing at a podium

Description automatically generated with medium confidence

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

 

3. ยอดพุ่ง!!! นายกฯ พอใจสัญญาณลงทุนสดใส-ธุรกิจตั้งใหม่เพียบ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 27 มกราคม 2566)

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับทราบข้อมูลด้านการลงทุนที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยยอดธุรกิจตั้งใหม่ จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุน การออกบัตรส่งเสริมที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ออกให้แก่นักลงทุนไทยและต่างชาติตลอดปี 2565 ที่เพิ่มขึ้นมากเป็นสัญญาณชี้การลงทุนใหม่ในระยะต่อไป ที่จะนำไปสู่การจ้างงานและการมีงานทำของประชาชนในระยะยาว โดยนายกรัฐมนตรีพอใจกับยอดธุรกิจตั้งใหม่และการขอรับส่งเสริมการลงทุนที่เพิ่มขึ้น สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งการลงทุนใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นจะนำไปสู่การจ้างงาน การมีรายได้และกำลังการใช้จ่ายของประชาชนในระยะยาว ซึ่งเป็นเป้าหมายที่นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลให้ความสำคัญ ทั้งนี้ ทางด้านกรมพัฒนาธุรกิจการค้า รายงานการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในปี 2565 ทั้งสิ้น 76,488 ราย เพิ่มขึ้น 3,530 ราย หรือร้อยละ 5 มูลค่าทุนธุรกิจจัดตั้งใหม่ 429,828.81 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 200,020.30 ล้านบาท หรือร้อยละ 87.04 เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยในจำนวนนี้เป็นการลงทุนภายใต้กฎหมายการประกอบธุรกิจต่างด้าว ของคนต่างชาติที่ได้รับอนุญาต 583 ราย เงินลงทุน 128,774 ล้านบาท และธุรกิจตั้งใหม่ในภาพรวมยังสูงกว่าธุรกิจที่เลิกกิจการหลายเท่า ซึ่งปี 2565 พบว่ามีการเลิกกิจการ 21,880 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 127,048.39 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม สำหรับปี 2566 กรมพัฒนาธุรกิจการค้าคาดว่ายอดการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่จะอยู่ที่ 72,000 - 77,000 รายใกล้เคียงกับปี 2565 ตามการเติบโตของเศรษฐกิจที่คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3 - 4 การเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยว การลงทุนทั้งภาคเอกซนและภาครัฐ การขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศ ทั้งนี้ ทางด้านโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากทั้งบริษัทสัญชาติไทยและต่างชาติที่เข้ามายังสำนักงานบีโอไอตลอดปี 2565 มีทั้งสิ้น 2,119 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละร้อยละ 41 เงินลงทุน 664,630 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 39 เทียบกับปี 2564 ซึ่งโครงการที่ยื่นขอเข้ามานี้สำนักงานบีโอไอจะทยอยพิจารณาและออกบัตรส่งเสริมและลงทุนตามลำดับต่อไป แต่กลุ่มที่จะมีการลงทุนในระยะเวลาอันใกล้นี้คือกิจการที่บีโอไอได้ออกบัตรส่งเสริมแล้ว ซึ่งในปี 2565 มีทั้งสิ้น 1,490 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 มูลค่าเงินลงทุน 489,090 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับปี 2564

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. ญี่ปุ่นอาจปรับนโยบายการเงินเม.ย.นี้ (ที่มา: ข่าวหุ้น, ประจำวันที่ 27 มกราคม 2566)

สำนักข่าวซีเอ็นบีซี เปิดเผยรายงานสรุปความเห็นในการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่นที่ผ่านมา เปิดเผยว่า ธนาคารกลางเน้นย้ำในความต้องการที่จะรักษาระดับนโยบายทางการเงินในตอนนี้ไว้ ซึ่งจะรวมถึงการควบคุมอัตราดอกเบี้ยระยาวที่จะคงไว้ตามเดิม ซึ่งการควบคุมอัตราดอกเบี้ยระยะยาวนั้นเป็นนโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่นที่ทำขึ้นเพื่อคงระดับผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ให้อยู่ในช่วงไม่เกิน +0.5% และ -0.5% ในขณะนี้อัตรากู้ยืมระยะสั้นของญี่ปุ่นยังอยู่ในแดนลบ ทั้งนี้ รายงานผลการประชุมระบุว่าธนาคารกลางต้องการคงมาตรการควบคุมอัตราดอกเบี้ยระยาวที่มีอยู่ โดยพิจารณาจากแนวโน้มที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่สมดุลที่ 2% ตามเป้าหมายได้ด้วยวิธีการที่มีความยั่งยืน และมั่นคง โดยยังเน้นย้ำถึงจุดยืนของธนาคารกลางที่จะไปให้ถึงเป้าหมาย สำหรับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปีปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา โดยอยู่ในช่วง 0.464% ซึ่งยังต่ำกว่าระดับเพดานที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นวางไว้

อย่างไรก็ตาม ทางด้าน Jeff Ng นักวิเคราะห์อาวุโสด้านเงินตราจากธนาคารมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ กล่าวกับซีเอ็นบีซี โดยระบุว่า เขาไม่คิดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงของจุดยืนจากธนาคารกลางญี่ปุ่นไปจนถึงเดือนเมษายน 2566 ที่คาดว่าจะได้เห็นการแต่งตั้งผู้ว่าการธนาคารกลางคนใหม่ และปัจจัยหลายๆ อย่างจะขึ้นอยู่กับอัตราเงินเฟ้อในช่วงเดือนข้างหน้านี้ ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในญี่ปุ่นที่ไม่รวมราคาพลังงาน และอาหาร ปรับตัวสูงขึ้นแตะ 4% ในเดือนธันวาคม 2565 ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดตั้งแต่ปี 2524 โดยเพิ่มขึ้นจาก 3.7% ในเดือนพฤศจิกายน 2565

   

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)