ข่าวประจำวันที่ 30 มกราคม 2566

ข่าวในประเทศ

นายวีริศ อัมระปาล

ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

1. กนอ.มอบธงขาวดาวเขียว-ทอง โรงงานผ่านธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม(ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 30 มกราคม 2566)

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า โครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม หรือ "ธงขาวดาวเขียว" (Green Star Award) ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมให้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมยึดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม อันเป็นกลไกในการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างภาคประชาชน และผู้ประกอบการ ทั้งนี้ เพื่อให้มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน โดยมอบธงที่มีสัญลักษณ์ดาวสีเขียว ให้แก่โรงงานที่มีผลการประเมินการดำเนินงานใน 5 มิติ ประกอบด้วย 1. มิติกายภาพ 2. มิติเศรษฐกิจ 3. มิติสิ่งแวดล้อม 4. มิติด้านสังคม และ 5. มิติการบริหารจัดการได้ตามมาตรฐาน ซึ่งต้องอยู่ในเกณฑ์ดี-ดีเยี่ยม ขณะที่การมอบธงสัญลักษณ์ดาวสีทองนั้น จะให้โรงงานที่มีผลการประเมินได้ตามมาตรฐานอยู่ในเกณฑ์ดี-ดีเยี่ยม ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 6 ปี เพื่อเชิดชูเกียรติให้กับโรงงานที่รักษาระดับการบริหารจัดการที่ดีได้อย่างต่อเนื่อง สำหรับโครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม หรือธงขาวดาวเขียว ได้เริ่มมีการดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2550 ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และได้มีการขยายการดำเนินโครงการดังกล่าวไปยังนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ ทั่วประเทศ โดยตั้งแต่ปี 2550-2565 มีโรงงานที่เข้าร่วมการตรวจประเมินในโครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสิ้น 2,710 โรงงาน ซึ่งในปี 2565 ที่ผ่านมา มีโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมที่มีผลการประเมินการบริหารจัดการและการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมอยู่ในเกณฑ์ดี-ดีเยี่ยม (ธงขาวดาวเขียว) มีจำนวนทั้งสิ้น 127 โรงงาน ใน 32 นิคมอุตสาหกรรม ในขณะที่โรงงานที่ผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในเกณฑ์ดี-ดีเยี่ยม 6 ปีต่อเนื่อง (เกณฑ์มาตรฐานธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยยอดเยี่ยมต่อเนื่อง หรือ ธงขาวดาวทอง) มีจำนวนทั้งสิ้น 29 โรงงาน ใน 8 นิคมอุตสาหกรรม

 

อย่างไรก็ตาม เพื่อส่งเสริมให้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรม มุ่งมั่นในการยึดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมด้วยมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนวิสัยทัศน์ "นำนิคมอุตสาหกรรมสู่มาตรฐานสากล ด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืน"ดังนั้น กนอ.จึงมอบสิทธิประโยชน์ให้แก่โรงงานที่ดำเนินการตามเกณฑ์มาตรฐานธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยยอดเยี่ยมต่อเนื่อง (ธงขาวดาวทอง) โดยได้รับการลดหย่อนค่าบริการอนุญาตด้านการใช้ที่ดินและประกอบกิจการ และด้านสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษี ร้อยละ 50 ต่อ 1 คำขอ สำหรับใบประกาศเกียรติคุณโรงงานธงขาวดาวทองที่ได้รับนั้น ต้องมีอายุไม่เกิน 3 ปี นับจากวันประกาศ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2567

 

Description: C:\Users\Sony\Desktop\2.jpg

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์

เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ

 

 

2. “บีโอไอ” ย้ำไทยมีศักยภาพ “ฐานลงทุนต่างชาติ”  ไม่แพ้เวียดนาม (ที่มา: เว็บไซต์ข่าวหุ้น, ประจำวันที่ 30 มกราคม 2566)

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผยว่า จากกรณีตัวเลขการลงทุนตรงจากต่างประเทศ หรือ เอฟดีไอ  ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เวียดนามมากกว่าไทย 3 เท่าตัว โดยในเรื่องนี้ถ้ามองมาที่ภูมิภาคอาเซียน ประเทศที่มีขีดความสามารถในการดึงดูดการลงทุน จะมีอยู่ 5 ประเทศหลัก  คือ ไทย สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย แต่ละประเทศจะมีจุดแข็ง จุดอ่อนแตกต่างกันไป และอาจเหมาะกับประเภทธุรกิจที่ต่างกัน ทั้งนี้ ลักษณะการพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนามหรืออินโดนีเซีย อยู่ในช่วงกำลังขยายตัวเหมือนไทยในอดีต อีกทั้งเวียดนามยังมีแรงงานจำนวนมากและค่าแรงต่ำ ค่าที่ดินถูกกว่า เห็นได้จากกลุ่มที่มีการลงทุนสูงในเวียดนาม อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้นและแข่งขันกันที่ต้นทุนเป็นหลัก ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีก ค้าส่ง ซ่อมจักรยานยนต์ โรงไฟฟ้า โดยเวียดนามยังใช้ถ่านหินกว่า 30% อย่างไรก็ดี อีกส่วนหนึ่งที่ขยายตัวก็เป็นการไปลงทุนของบริษัทไทย เป็นกลไกปกติของการพัฒนาเศรษฐกิจ เมื่อธุรกิจในประเทศโตและแข็งแรงถึงจุดหนึ่ง ก็จะต้องไปขยายการลงทุนในต่างประเทศ ขณะที่กลุ่มธุรกิจเหล่านี้ ในไทยโตมาระดับหนึ่งแล้ว และไทยกำลังต้องการยกระดับห่วงโซ่มูลค่าและคุณภาพของการลงทุนให้สูงขึ้น ทว่าในปัจจุบันประเทศไทยมีความโดดเด่นในสายตานักลงทุนหลายด้าน ทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ ฐานซัพพลายเชนที่ดีที่สุดในภูมิภาค โดยเฉพาะผู้ผลิตวัตถุดิบและชิ้นส่วนรองรับอุตสาหกรรมต่างๆ บุคลากรมีขีดความสามารถ สิทธิประโยชน์ที่แข่งขันได้ นอกจากนี้ ยังมีจุดแข็งใหม่ที่จะมีความสำคัญต่อการดึงการลงทุนในอนาคต อาทิ ความสามารถในการจัดหาพลังานสะอาดให้กับภาคอุตสาหกรรม การเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ มีความมั่นคงปลอดภัยสูง มีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศต่างๆ การบริหารจัดการวิกฤตโควิดที่มีประสิทธิภาพและไม่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ  

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดบีโอไอได้มาตรการใหม่ๆ ที่จะเพิ่มแรงดึงดูดการลงทุนไทยยิ่งชงขึ้น อาทิ มาตรการรักษาและขยายฐานการผลิตเดิม (Retention and Expansion Program) มาตรการส่งเสริมการย้ายฐานธุรกิจ (Relocation Program) และมาตรการ LTR เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงให้เข้ามาช่วยเราพัฒนาประเทศ สำหรับที่ผ่านมามีหลายสาขาที่ประเทศไทยมีความโดดเด่นในการดึงดูดการลงทุน และเป็นผู้นำระดับภูมิภาค อาทิ อุตสาหกรรมรถยนต์ โดยเฉพาะความก้าวหน้าในการดึงการลงทุนด้านอีวีที่กำลังไปได้ดี หรืออุตสาหกรรมดิจิทัล ที่บริษัทชั้นนำใช้ไทยเป็นฐานหลักในภูมิภาค อาทิ หัวเว่ย , อะโกด้า และล่าสุด แอมะซอน เว็ป เซอร์วิส ประกาศลงทุนกิจการ ดาต้า เซ็นเตอร์ และ คลาวด์ เซอร์วิส ในไทย มูลค่าสูงถึง 1.9 แสนล้านบาท ในระยะ 15 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ มีหลายปัจจัยที่ไทยต้องพัฒนาให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากร เพื่อรองรับอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ในอนาคต อาทิ บุคลากรด้านระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ บุคลากรด้านดิจิทัล นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเอฟทีเอ ที่กระทรวงพาณิชย์กำลังเร่งกระบวนการเจรจากับสหภาพยุโรปด้วย

 

 

3. รัฐบาลลุยรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินภายในปี 72 (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 30 มกราคม 2566)

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เร่งขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขจัดอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ ทำให้ประชาชนเห็นถึงโครงการก่อสร้างระบบคมนาคมมีการพัฒนาไปแบบก้าวกระโดด มีการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าหลายสายในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ยกระดับการเดินทางทั้งถนน ราง เรือและอากาศ ทั้งนี้ ในฐานะที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ได้เร่งผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน คือ สนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา เพื่อยกระดับการเดินทางให้ทันสมัย สะดวก รวดเร็ว ไร้รอยต่อ สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ช่วงดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กิโลเมตร วงเงิน 224,544 ล้านบาท มีการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการ ร่วมลงทุนกับภาคเอกชน เมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน 50 ปี ทรัพย์สินทั้งหมดมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท จะตกเป็นของรัฐ ใช้โครงสร้างและแนวเส้นทางการเดินรถเดิมของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแอร์พอร์ตลิงก์ (Airport Rail Link) ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน โดยจะก่อสร้างทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร (Standard Gauge) ส่วนต่อขยาย  2 ช่วงจากสถานีพญาไท ไปยังสนามบินดอนเมือง และจากสถานีลาดกระบังไปยังสนามบินอู่ตะเภา พร้อมเชื่อมเข้าออกสนามบิน โดยใช้เขตทางเดิมของการรถไฟฯ เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งรถไฟความเร็วสูงมีความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง เชื่อมกรุงเทพฯ กับในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ภายในระยะเวลาไม่เกิน 60 นาที แนวเส้นทางโครงการผ่านพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ประกอบด้วย 9 สถานี ได้แก่ สถานีดอนเมือง สถานีบางซื่อ สถานีมักกะสัน สถานีสุวรรณภูมิ สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และสถานีอู่ตะเภา

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับความคืบหน้าล่าสุด งานส่งมอบพื้นที่ช่วงนอกเมือง สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ให้เอกชน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 พร้อมเดินหน้าก่อสร้างแล้ว ส่วนงานส่งมอบพื้นที่ในเมือง ช่วงดอนเมือง-พญาไท มีความคืบหน้าแล้ว 73.75% เตรียมส่งมอบให้เอกชนภายในเดือนตุลาคม 2566 คาดว่า จะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2572 ซึ่งนายกฯ ผลักดันโครงการนี้ เนื่องจากเล็งเห็นประโยชน์ที่จะตามมา เช่น การเดินทางที่สะดวกทันสมัยจะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น การจ้างงานในอุตสาหกรรมต่อเนื่องกว่า 1 แสนตำแหน่ง เกิดเมืองใหม่ที่เป็นเมืองอัจฉริยะ หรือ smart city ตามสองข้างทางที่รถไฟความเร็วสูงวิ่งผ่าน สามารถเชื่อมต่อภูมิภาคอาเซียนได้ พาประเทศพัฒนาเศรษฐกิจให้แข็งแกร่งและยั่งยืน

 

ข่าวต่างประเทศ

A picture containing background pattern

Description automatically generated

 

4. จีนกลับมาออกวีซ่าให้ชาวญี่ปุ่นอีกครั้ง (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 30 มกราคม 2566)  

สถานทูตจีนประจำประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ได้มีการกลับมาออกวีซ่าให้กับชาวญี่ปุ่นอีกครั้ง โดยเริ่มมีผลวันที่ 29 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา หลังทางการจีนเคยประกาศงดการออกวีซ่าให้ชาวญี่ปุ่นเมื่อช่วงต้นเดือนมกราคม ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวน่าจะช่วยลดความตึงเครียดทางการทูตระหว่างทั้งสองประเทศลง และคลายความกังวลของบริษัทญี่ปุ่นที่ดำเนินธุรกิจในจีน โดยความเคลื่อนไหวครั้งนี้มีขึ้นในขณะที่รัฐบาลจีนมุ่งเน้นไปที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ย่ำแย่จากมาตรการป้องกันไวรัสที่เข้มงวด ซึ่งเกี่ยวข้องกับการล็อกดาวน์และการแพร่ระบาดที่รุนแรงในช่วงปลายปี 2565 จีนได้ระงับการออกวีซ่าแก่พลเมืองเกาหลีใต้ในลักษณะเดียวกัน แต่ยังไม่ได้ประกาศให้เริ่มกระบวนการใหม่ จีนได้อนุมัติการออกวีซ่าบางประเภทให้กับชาวญี่ปุ่นและชาวเกาหลีใต้ โดยเป็นข้อยกเว้นสำหรับนักการทูต เจ้าหน้าที่รัฐบาล และนักธุรกิจที่มีความจำเป็นเร่งด่วน

อย่างไรก็ตาม ทางด้านเจ้าหน้าที่อาวุโสของบริษัทญี่ปุ่นที่ตั้งอยู่ในจีน แสดงความหวังว่าจีนจะนำนโยบายการเข้าประเทศโดยไม่ใช้วีซ่า 15 วันสำหรับชาวญี่ปุ่นอีกครั้งในเร็ววันนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถเดินทางไปยังจีนได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัจจุบันญี่ปุ่นกำหนดให้นักเดินทางจากจีนแผ่นดินใหญ่ต้องแสดงหลักฐานการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่เป็นลบภายใน 72 ชั่วโมงก่อนออกเดินทาง นอกจากนี้ ผู้เดินทางจากจีนแผ่นดินใหญ่และผู้ที่เดินทางมาเยือนญี่ปุ่นภายใน 7 วันจะต้องทำการตรวจพีซีอาร์เมื่อเดินทางมาถึงญี่ปุ่น ผู้ที่มีผลตรวจเป็นบวกต้องกักตัวในสถานที่ที่กำหนดเป็นเวลา 7 วัน

   

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)