ข่าวประจำวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566

ข่าวในประเทศ

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์

รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

1. จับตาบอร์ดอีวีจัดงบหนุนผู้ผลิตแบตเตอรี่ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566)

 

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จะมีการประชุมเคาะมาตรการส่งเสริมแบตเตอรี่อีวีเพื่อให้เกิดการลงทุนในไทยครบวงจร สอดรับกับนโยบายสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ของไทยสู่เป้าหมายฐานการผลิตของภูมิภาค เบื้องต้น มีความชัดเจนแล้วว่ามาตรการส่งเสริมการลงทุนแบตเตอรี่ของไทย มีการจัดสรรวงเงินอุดหนุนผู้ผลิตเพื่อให้ราคาลดลงส่งต่อถึงผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ส่วนรายละเอียดจะมีการพิจารณาในที่ประชุมอีกครั้ง ทั้งนี้ ต้องตาม  การพิจารณาร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในช่วงที่ผ่านมาที่มีการเลื่อนการประชุมถึง 2 ครั้งจนถูกมองว่ามีบางกระทรวงคัดค้าน ดึงการพิจารณา จนอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน และแผนการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะจากการหารือกับทุกหน่วยงานพบว่า การพิจารณาเรื่องนี้ต้องรอบคอบและระมัดระวังโดยเฉพาะประเด็นการให้เงินสนับสนุนเอกชน เนื่องจากเป็นเรื่องที่ภาครัฐไม่เคยทำมาก่อน ต่างกับการให้เงินช่วยเหลือประชาชนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ และหากดำเนินการไม่รอบคอบอาจถูกโจมตีในทางที่เสียหายได้ นอกจากนี้แหล่งเงินที่นำมาช่วยเหลือต้องชัดเจน ไม่กระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ

อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมการผลิตแบตเตอรี่ในประเทศ ยังมีประเด็นของการบริหารจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้ว หรือการนำสินแร่ในแบตเตอรี่กลับมาใช้ประโยชน์อีกด้วย จึงต้องใช้เวลาในหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เพื่อให้มาตรการส่งเสริมการผลิตแบตเตอรี่ที่กำลังพิจารณา มีการใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า และช่วยให้เกิดฐานการผลิตรถไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญในประเทศไทยตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่ตั้งไว้

 

A picture containing person, indoor

Description automatically generated

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์

อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา

 

2. ดันแหล่งผลิตสินค้าจีไอ ใส่แผนท่องเที่ยว 365 วัน (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566)

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา ร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) จัดทำแผนผลักดันแหล่งผลิตสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือจีไอ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางท่องเที่ยวไทย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าจีไอไทยต่อยอดแหล่งผลิตให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแห่งใหม่ สร้างโอกาสและสร้างรายได้ให้ผู้คนในชุมชน พร้อมสนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้เติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย ให้เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ นำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของไทยให้เข้มแข็ง โดยสินค้าจีไอไทยประเภทต่างๆ ทั้งในกลุ่มสินค้าประเภทอาหาร ผลผลิตทางการเกษตร และสิ่งของเครื่องใช้ รวม 177 รายการ ล้วนเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชุมชนในแต่ละท้องถิ่น และถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้มากกว่า 48,000 ล้านบาท

 

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายท่องเที่ยวแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 ที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบตามแนวทางที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาเสนอ ทั้งการนำแหล่งผลิตสินค้าจีไอ บรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์และโครงการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนของ อพท. และการส่งเสริมแหล่งผลิตสินค้าจีไอ ให้เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการท่องเที่ยวในแคมเปญ 365 วัน มหัศจรรย์เมืองไทย...เที่ยวได้ทุกวัน ในปี 2566 ของ ททท. โดยชูความแตกต่างอย่างมีเอกลักษณ์ของแต่ละภาค เพื่อให้สอดรับกับสภาพแวดล้อมด้านการแข่งขันและความท้าทายด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เพิ่มขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่

 

A person sitting at a desk

Description automatically generated with low confidence

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

 

3. ครม.ไฟเขียว 4 คลัสเตอร์ อุตฯเป้าหมายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566)

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลัง   การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566 ว่า ครม.เห็นชอบกำหนด คลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมายในระยะแรกสำหรับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2565แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ 1. ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (NEC) ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง เน้นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) และอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร 2. ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NeEC) ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย เน้นอุตสาหกรรมชีวภาพ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร 3. ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง-ตะวันตก (CWEC) ประกอบด้วย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรีและกาญจนบุรี เน้นอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 4. ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ประกอบด้วย จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เน้นอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมชีวภาพ และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism)

 

อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ ครม.ยังมีมติเห็นชอบการขยายกิจการเป้าหมายและสิทธิประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน จากเดิม 72 ประเภทกิจการ ขยายเป็น 89 ประเภทกิจการ โดยมี 17 ประเภทกิจการที่เสนอเพิ่มเติม ดังนี้ 1. กิจการปรับปรุงพันธุ์พืชหรือสัตว์ (ที่ไม่เข้าข่ายกิจการเทคโนโลยีชีวภาพ) 2. กิจการประมงน้ำลึก 3. กิจการผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ 4. กิจการผลิตเชื้อเพลิงหรือแอลกอฮอล์ทางการแพทย์ (Pharmaceutical Grade) จากผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งเชื้อเพลิงจากเศษวัสดุหรือขยะหรือของเสียที่ได้จากผลผลิตทางการเกษตร 5. กิจการผลิตวัสดุทนไฟหรือฉนวนกันความร้อน (ยกเว้นอิฐมวลเบา อิฐน้ำหนักเบา) 6. กิจการผลิตยางล้อสำหรับยานพาหนะ 7. กิจการผลิตเยื่อกระดาษหรือกระดาษ รวมถึงผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องในโครงการเดียวกัน 8. กิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากเยื่อกระดาษหรือกระดาษ 9. กิจการผลิตอาหารทางการแพทย์ หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 10. กิจการบริการสาธารณสุขด้านแพทย์แผนไทย 11. กิจการศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง 12. กิจการบริการขนส่งผู้ป่วย แพทย์ หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ (ทางอากาศ ทางบก หรือทางเรือ) 13. กิจการหอประชุมชนาดใหญ่ 14. กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าหรือ พลังงานไฟฟ้าและไอน้ำจากขยะ หรือเชื้อเพลิงจากขยะ 15. กิจการผลิตพลังานไฟฟ้า หรือ พลังงานไฟฟ้าและไอน้ำจากพลังงานหมุนเวียน เช่น แสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ เป็นต้น ยกเว้นขยะหรือเชื้อพลิงจากขยะ 16. กิจการบริการแก่ธุรกิจสร้างภาพยนตร์ และ 17. กิจการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยรอบ 8 อีก 0.25% ชี้เงินเฟ้อลด หุ้นพุ่งรับสัญญาณบวก (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566)

นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยว่า ได้มีการประกาศปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 8 ที่ 0.25% และแม้จะมีการยอมรับว่าอัตราเงินเฟ้อได้ผ่อนคลายลงแล้ว แต่ยังอยู่ในระดับที่สูงจนจะต้องมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีก กระนั้นก็ยังถือเป็นการส่งสัญญาณบวกจนทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นรับข่าวดังกล่าวทันที ทั้งนี้ เฟดตระหนักดีว่าอัตราเงินเฟ้อได้ผ่อนคลายลงแล้ว ซึ่งเป็นสัญญาณว่าอาจใกล้ถึงจุดสิ้นสุดของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว แม้เขาได้ย้ำว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องอย่างเหมาะสม แต่มันถูกตีความอย่างกว้างขวางว่าหมายความว่าเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานอีกครั้งเมื่อมีการหารือครั้งต่อไปในราวเดือนมีนาคม แต่น่าจะเป็นการปรับขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น อีกเหตุผลที่ทำให้ตลาดเชื่อว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกไม่มากในอนาคต เนื่องจากก่อนหน้านี้เพียงหนึ่งวันรัฐบาลกลางสหรัฐเพิ่งจะประกาศว่า ค่าจ้างสำหรับแรงงานในสหรัฐเติบโตช้าลงในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการชะลอตัวลงครั้งที่ 3 ติดต่อกัน ซึ่งช่วยสร้างความมั่นใจให้เฟดว่าประเด็นการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างจะไม่เร่งให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ท่าทีดังกล่าวของเฟดรวมถึงข้อมูลอื่นๆ ทำให้นักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐรวมถึงนักเศรษฐศาสตร์หลายคนเชื่อว่า เมื่ออัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ในระยะต่อไปเฟดอาจตัดสินใจยุติการใช้นโยบายคุมเข้มทางด้านการเงิน และคาดหวังว่าเฟดจะกลับมาลดอัตราดอกเบี้ยภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งช่วยผลักดันให้ราคาหุ้นพุ่งสูงขึ้นและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรลดลง

   

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)