ข่าวประจำวันที่ 1 มิถุนายน 2566

ข่าวในประเทศ

A person in a pink dress

Description automatically generated with low confidence

นางวรวรรณ ชิตอรุณ

ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)

 

1. หั่นเอ็มพีไอโตสุดได้แค่ 1% (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 1 มิถุนายน 2566)

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หรือเอ็มพีไอ เดือนเมษายน 2566 อยู่ที่ระดับ 83.51 ติดลบ 8.14% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 และต่ำสุดในรอบ 34 เดือน นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนเมษายน 2566 อยู่ที่ 53.82% ส่งผลให้เอ็มพีไอ 4 เดือน (มกราคม - เมษายน 2566) อยู่ที่ระดับ 96.87 ติดลบ 4.7% โดยสศอ.จึงปรับประมาณการตัวเลขเอ็มพีไอ และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี ภาคอุตสาหกรรมปี 2566 จากเดิมอยู่ในกรอบโต 1.5-2.5 % เหลือขยายตัวเพียง 0.0-1% จากปีก่อน ทั้งนี้ สำหรับปัจจัยหลักที่ทำให้ค่าเอ็มพีไอเดือนเมษายน 2566 ลดลง เนื่องจากเป็นช่วงที่มีวันหยุดยาว เป็นปกติที่ค่าดัชนีฯ จะลดลงรวมถึงอัตรากำลังการผลิต แต่สัญญาณรุนแรงมากขึ้นมาจากภาวการณ์ส่งออกของไทยที่ชะลอตัวลงตามทิศทางเศรษฐกิจโลกต่อเนื่อง ทำให้ 4 เดือนของปีนี้ เอ็มพีไอยังคงลดลงสอดรับกับทิศทางการส่งออกที่ประเทศคู่ค้าชะลอคำสั่งซื้อในหลายอุตสาหกรรม และต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ยังส่งผลกระทบการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไทยลดลง ซึ่งภาวะเศรษฐกิจโลกที่หดตัวและปัญหาภาคการเงินของสหรัฐ ทำให้ประเทศคู่ค้าชะลอคำสั่งซื้อสินค้าในหลายอุตสาหกรรม รวมถึงต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากค่าไฟฟ้าและต้นทุนทางการเงินจากการขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงขึ้น เริ่มกระทบต่อการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยให้ปรับลดลง และมีผลต่อการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมได้น้อยลง โดยในเดือนพฤษภาคม 2566 คาดการว่า เอ็มพีไอน่าจะขยับขึ้นเล็กน้อย

อย่างไรก็ตาม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคม ปี 2566 ยังคงส่งสัญญาณเฝ้าระวัง โดยมีปัจจัยบวกจากการบริโภคและการท่องเที่ยว อีกทั้งการลงทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ต้องจับตาดูการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ปัญหาภาคการเงินของสหรัฐ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อผลผลิตการเกษตร อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ภาระหนี้สินครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น

 

A person in a suit with his arms crossed

Description automatically generated with medium confidence

นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์

ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

 

2. อกชนแนะรัฐปรับแผน ส่งเสริมอุตฯ ดิจิทัลไทย (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 1 มิถุนายน 2566)

นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital Industry Sentiment Index) ไตรมาส 1 ประจำปี 2566 ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมย่อย ประกอบด้วยกลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ (Hardware and Smart Device) กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (Software) กลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล (Digital Service) กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content) และกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (Telecommunication) โดยดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ระดับ 54.0 ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 49.0 ของ ไตรมาส 4 ปี 2565 ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นฯ ไตรมาส 1/2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในรอบ 3 ปี และอยู่ในระดับเชื่อมั่นเป็นครั้งแรกในรอบ 12 เดือน อีกทั้งเพิ่มขึ้นในเกือบทุกด้าน ทั้งผลประกอบการ ปริมาณการผลิตฯ การจ้างงาน การลงทุนเพื่อประกอบการ และต้นทุนประกอบการ มีเพียงดัชนีความเชื่อมั่นฯ ด้านคำสั่งซื้อฯที่ปรับตัวลงเล็กน้อยจากไตรมาสที่ผ่านมา ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจของประเทศโดยภาพรวมปรับตัวดีขึ้นจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการลงทุนจากต่างประเทศ ส่งผลให้กำลังซื้อภาคเอกชนปรับตัวสูงขึ้นตาม พร้อมกันนี้ความต้องการทำ Digital Transformation ในหลายอุตสาหกรรมส่งผลดีต่อดัชนีในภาพรวม นอกจากนี้ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลจากต่างประเทศและการขยายฐานการผลิตของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกในประเทศไทยยังส่งผลดีต่อผู้ประกอบการที่คาดหวังจะลดต้นทุนการผลิตและขยายกิจการเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต อีกทั้งเปิดโอกาสในการทำกำไรได้มากขึ้นซึ่งทั้งหมดจะทำให้อุตสาหกรรมดิจิทัลไทยมีแนวโน้มเติบโต แต่ในทางกลับกันความต้องการบุคลากรที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลจะสูงขึ้นตามการ Transform และการขยายกำลังการผลิตในหลากหลายกิจการ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนบุคลากร รวมถึงการเพิ่มขึ้นของต้นทุนด้านบุคลากร อีกทั้งมีความกังวลว่า ความสามารถในการผลิตบุคลากรที่มีทักษะดิจิทัลของไทยยังไม่รองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของภาคอุตสาหกรรมได้

อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยคาดหวังให้ภาครัฐปรับแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมให้ตรงจุดช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐ อีกประเด็นสำคัญ คือ การดึงดูดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลจากต่างประเทศเข้ามาเติมเต็มความต้องการกำลังคนดิจิทัลที่สูงขึ้น รวมถึงส่งเสริมการค้าเชิงรุกในตลาดต่างประเทศ

 

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์

รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

3. ส.อ.ท.โพลหวังรัฐบาลใหม่ เร่งงานตาม MOU เพื่อขับเคลื่อนศก. (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 1 มิถุนายน 2566)

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 29 ในเดือนพฤษภาคม 2566 ภายใต้หัวข้อ "ภาคอุตสาหกรรมคิดอย่างไรต่อ MOU พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล" ว่า ถือเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในทางการเมืองของไทยมาก่อน ข้อตกลงร่วมทั้ง 23 ข้อ ภายใต้ MOU นั้น หลายเรื่องมีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย ทั้งนี้ จากผลสำรวจฯ ผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 252 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด คาดหวังให้รัฐบาลใหม่เร่งดำเนินการในเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างการผลิตไฟฟ้า การคำนวณราคา และกำลังการผลิตที่เหมาะสม เพื่อลดค่าครองชีพประชาชนและสร้างความมั่นคงทางพลังงาน 75.8% ตามที่ระบุใน MOU โดยเร็ว นอกจากนี้ ยังต้องการให้แก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นโดยการสร้างระบบและวัฒนธรรมรัฐโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลรัฐในทุกหน่วยงาน 71.4% ร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยยึดหลักเพิ่มรายได้ประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างระบบเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างเป็นธรรม 65.9% ยกเครื่องกฎหมายเกี่ยวกับการทำมาหากิน และการดำรงชีวิตของประชาชน เช่น ตัด ลด หรือพักใช้ชั่วคราว ซึ่งใบอนุมัติอนุญาตที่ไม่จำเป็นและเป็นอุปสรรคเพื่อปรับปรุงใหม่ ให้ความช่วยเหลือสภาพคล่องทางด้านการเงินและสร้างแต้มต่อให้กับ SME 57.5% ปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต 54.% ตามลำดับ ทั้งนี้ นอกจากข้อตกลงร่วมทั้ง 23 ข้อ ภายใต้ MOU ที่ได้ลงนามไปแล้วนั้น ยังมีเรื่องสำคัญที่รัฐบาลใหม่ควรให้ความสำคัญและดำเนินการเพิ่มเติม เช่น การส่งเสริมและพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างโอกาสใหม่แก่ประเทศ 67.9%, การยกระดับให้ผลิตภาพแรงงานเป็นวาระแห่งชาติ 58.7%, การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 58.7% การพัฒนาและยกระดับระบบโครงข่ายคมนาคมขนส่ง และโลจิสติกส์ของประเทศ รวมถึงสร้างระบบ Multimodal Transport รวมทั้งมีการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน 56.7%

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจพบว่า ต้องการให้มีการกำหนดให้การปฏิรูปกฎหมาย กฎระเบียบ และการขออนุญาตภาครัฐ ให้มีความสะดวก โปร่งใส เทียบเคียงกับประเทศที่พัฒนาแล้ว 72.6% เป็นเป้าหมายลำดับแรกๆ ในการดำเนินงานของรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่จะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในทุกมิติ ลำดับถัดไปต้องการให้ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และลดระดับหนี้ครัวเรือนให้ลดลงไปอยู่ในระดับ ที่ยั่งยืน (ต่ำกว่า 80% ของ GDP) 52.4% เร่งแก้ไขปัญหาแรงงาน และเร่งเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) 47.6%

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. ดัชนี PMI ภาคการผลิตเกาหลีใต้เดือนพ.ค.หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 11 (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 1 มิถุนายน 2566)

เอสแอนด์พี โกลบอล เปิดเผยรายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของเกาหลีใต้ประจำเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ปรับค่าตามฤดูกาลแล้ว อยู่ที่ระดับ 48.4 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 48.1 ของเดือนเมษายน เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวไปลดการผลิตและคำสั่งซื้อ สร้างแรงกดดันต่อผู้ผลิตในเกาหลีใต้ ทั้งนี้ ดัชนีที่อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตของเกาหลีใต้กำลังหดตัว และขณะนี้ก็หดตัวเป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกันนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 ถือเป็นสถิติภาวะตกต่ำยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2552 โดยผลสำรวจบ่งชี้ว่า ผลผลิตหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 13 และคำสั่งซื้อใหม่ก็ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 11 ส่วนคำสั่งซื้อส่งออกใหม่ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 15 แต่ลดลงในอัตราที่ชะลอตัวลง

อย่างไรก็ตาม ในด้านบวก เกาหลีใต้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นมากที่สุดตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 ขณะที่ราคาวัตถุดิบเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตัวที่สุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 ส่วนราคาผลผลิตก็ลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่นั้นมา โดยบริษัทผู้ผลิตแห่งต่างๆ ให้เหตุผลว่า ความพยายามที่จะกระตุ้นยอดขายและราคาวัตถุดิบที่ลดลงได้ส่งผลให้ราคาขายลดลงนอกจากนี้ ระยะเวลาในการส่งมอบของซัพพลายเออร์เร็วขึ้นกว่าครั้งไหนๆ นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2559 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสัญญาณเชิงบวกในด้านห่วงโซ่อุปทาน ทั้งนี้ ผู้ผลิตมีมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับผลผลิตในอนาคตเพิ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2566 หลังจากที่ลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือนเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)