ข่าวในประเทศ
นายพิชัย นริพทะพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
1. พาณิชย์ ปักธง EFTA เจาะโซนยุโรป หวังดันยอดส่งออกครึ่งหลัง (ที่มา: มิติหุ้น, ประจำวันที่ 1 กรกฎาคม 2568)
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในปัจจุบันความตกลงการค้าเสรี (FTA) ของไทยมีผลบังคับใช้แล้ว 14 ฉบับ ครอบคลุม 18 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งได้เจรจาเสร็จสิ้นอีก 3 ฉบับกับ ศรีลังกา, ภูฏาน และ ยุโรป (EFTA) ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการให้สัตยาบัน โดยเฉพาะ EFTA ซึ่งถือเป็นความตกลงฉบับแรกกับประเทศในยุโรป นับเป็นก้าวสำคัญในการขยายความร่วมมือทางการค้า ทั้งนี้ สำหรับการเจรจา FTA ระหว่าง ไทย–สหภาพยุโรป (EU) ถือว่าเป็นหนึ่งในลำดับความสำคัญสูงสุดของรัฐบาลไทย และได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน ซึ่งความตกลง FTA ฉบับนี้จะเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับยุโรป ในการขยายการค้า และการลงทุน
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนมกรามคม – พฤษภาคม 2568 ฝั่ง EU เป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทย รองจาก จีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น โดยมีมูลค่าการค้ารวม 18,092.23 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.57% โดยประเทศไทยส่งออกไปยัง EU มูลค่า 10,696.81 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 8.86% และนำเข้าจาก EU มูลค่า 7,395.41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 9.40% ส่งผลให้ไทยได้เปรียบดุลการค้ากับ EU มูลค่า 3,301.40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นายภาสกร ชัยรัตน์
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)
2. ปลื้ม 3 อุตฯ โตพรวด พ.ค.68 ดันอัตรากำลังการผลิตพุ่ง 61% (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 1 กรกฎาคม 2568)
นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) เดือนพฤษภาคม 2568 อยู่ที่ระดับ 100.79 ขยายตัวร้อยละ 1.88 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 61.14% สะท้อนให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมกลับมาผลิตเพิ่มขึ้น จากปัจจัยสนับสนุนหลักของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตเดือนพฤษภาคม 2568 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.86% จากรถยนต์นั่งไฮบริดขนาดมากกว่า 1,800 ซีซี รถบรรทุกปิกอัพ รถยนต์นั่งไฟฟ้าแบตเตอรี่ และรถยนต์นั่งปลั๊กอินไฮบริดเป็นหลัก ตามกระแสความนิยมและความต้องการของตลาด สำหรับรถบรรทุกปิกอัพขยายตัวจากตลาดส่งออกเป็นหลัก รวมทั้งน้ำมันปาล์ม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 25.14% จากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ เป็นหลัก ตามปริมาณผลปาล์มออกสู่ตลาดมากขึ้นและมีคำสั่งซื้อจากอินเดีย จีน และเมียนมาเพิ่มขึ้น และน้ำตาล ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 21.43% จากผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายขาวเป็นหลัก ตามปริมาณอ้อยเข้าหีบมากกว่าปีก่อน เนื่องจากมีปริมาณฝนในพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นและราคาอ้อยในฤดูการผลิต 2566/67 มีราคาสูง จูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก
อย่างไรก็ตาม สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิตเดือนพฤษภาคม 2568 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10.64% ตามการหดตัวของตลาดในประเทศ จากสภาพอากาศแปรปรวนเข้าสู่ฤดูฝนเร็วกว่าปีก่อน และมีการแข่งขันด้านราคาสูงโดยเฉพาะสินค้าต่างประเทศซึ่งมีราคาถูกกว่า รวมทั้งเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 13.56% จากผลิตภัณฑ์น้ำอัดลม เครื่องดื่มกาแฟสำเร็จรูป และน้ำดื่มบริสุทธิ์เป็นหลัก เนื่องจากผู้ผลิตรายสำคัญหยุดผลิต และกาแฟ ชา และน้ำสมุนไพร หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 80.83% จากผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปเป็นหลัก เนื่องจากการหยุดผลิตชั่วคราว เป็นเดือนที่ 5 ของผู้ผลิตรายสำคัญ
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) และโฆษกกระทรวงพาณิชย์ (สศอ.)
3. สนค.แนะไทยเร่งหาตลาดใหม่ หลังจีนยกเลิกแบนอาหารทะเลญี่ปุ่น (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 1 กรกฎาคม 2568)
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) และโฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค.ได้ติดตามสถานการณ์การค้าสินค้าประมง (พิกัดศุลกากร 03) พบว่า เมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2568 ญี่ปุ่นได้บรรลุข้อตกลงกับจีน โดยคาดว่าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นจะสามารถส่งออกไปตลาดจีนได้อีกครั้ง หลังจากจีนห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นเป็นเวลาเกือบ 2 ปี นับตั้งแต่ปี 2565 ซึ่งญี่ปุ่นต้องขึ้นทะเบียนโรงงานแปรรูปอาหารทะเลกับทางการจีน และสินค้าที่ส่งออกต้องมีใบรับรองเพื่อยืนยันว่าไม่มีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี โดยในปี 2565 จีนเคยนำเข้าสินค้าประมงจากญี่ปุ่นเป็นอันดับที่ 10 มูลค่า 506.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน 2.7% ของมูลค่าการนำเข้าของจีน และสินค้าประมงที่จีนนำเข้าจากญี่ปุ่นมาก เช่น หอยสแกลลอป และปลา เป็นต้น สำหรับการค้าสินค้าประมงของไทยในปี 2567 ไทยส่งออกเป็นมูลค่า 1,544.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 54,171.21 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.29% เมื่อเทียบกับปี 2566 ตลาดส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. จีน สัดส่วน 23.5% ของมูลค่าการส่งออกของไทย 2. ญี่ปุ่น 18.9% 3. สหรัฐฯ 14.2% 4. เกาหลีใต้ 5.6% และ 5. อิตาลี 5.5% โดยการส่งออกสินค้าประมงจากไทยไปจีน มีมูลค่า 363.49 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 12,717.60 ล้านบาท ลดลง 2.1% เมื่อเทียบกับปี 2566 สินค้าสำคัญที่ส่งออกไปจีน 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. กุ้ง สัดส่วน 68.9% ของมูลค่าการส่งออกไปจีน 2. สัตว์น้ำเปลือกแข็ง และโมลลุสก์อื่นๆ 14.3% 3. ปลา 10.7% 4. หมึก 4.2% และ 5. แมงกะพรุน 1.5% ทั้งนี้ ในช่วง 4 เดือนแรกปี 2568 (มกราคม-เมษายน 2568) การส่งออกสินค้าประมงของไทย มีมูลค่า 464.06 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 15,654.61 ล้านบาท ลดลง 10.55% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2567 ตลาดส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. จีน สัดส่วน 22.67% ของมูลค่าการส่งออกของไทย 2. ญี่ปุ่น 19.52% 3. สหรัฐฯ 12.90% 4. อิตาลี 7.44% และ 5. เกาหลีใต้ 5.87% โดยการส่งออกสินค้าประมงจากไทยไปจีนมีมูลค่า 105.23 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 3,549.13 ล้านบาท ลดลง 20.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2567
อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าประมงสร้างรายได้ให้ประเทศมาอย่างต่อเนื่อง แต่การที่ญี่ปุ่นกลับมาส่งออกสินค้าประมงไปยังจีนได้อีกครั้ง อาจจะส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดสินค้าประมงของไทยในจีนลดลง ดังนั้นผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับตัว และพัฒนากลยุทธ์ทางการค้า เพื่อรักษาตลาดเดิมไว้ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้มากขึ้น โดยการควบคุมคุณภาพมาตรฐานสินค้าประมง และเร่งขยายตลาดไปยังตลาดอื่นๆ ที่มีศักยภาพ เช่น สหรัฐฯ แคนาดา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กัมพูชา และฟิลิปปินส์ รวมทั้งให้ความสำคัญในการแก้ไขประเด็นการทำประมงที่ผิดกฎหมาย การขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ส่งเสริมการทำประมงที่ยั่งยืน (Sustainable Fishing) อันจะเป็นการยกระดับมาตรฐานการค้าและอุตสาหกรรมประมงของไท
ข่าวต่างประเทศ
4. ความเชื่อมั่นผู้ผลิตรายใหญ่ญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นใน Q2/68 รับอุตสาหกรรมเหล็กฟื้นตัว (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 1 กรกฎาคม 2568)
ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ (ทังกัน) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 13 ในไตรมาส 2/2568 จากระดับ 12 ในไตรมาสแรก โดยได้แรงหนุนจากอุตสาหกรรมเหล็กที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยดัชนีทังกันซึ่งเป็นมาตรวัดความเชื่อมั่นของบริษัทต่างๆ ในภาคการผลิต เช่น บริษัทในอุตสาหกรรมรถยนต์และบริษัทเทคโนโลยี ปรับตัวขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบสองไตรมาส และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวเกียวโดคาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ระดับ 10 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มบริษัทนอกภาคการผลิตซึ่งรวมถึงภาคบริการนั้น ลดลงสู่ระดับ 34 ในไตรมาสที่สอง จากระดับ 35 ในไตรมาสแรก ซึ่งเป็นการปรับตัวลงครั้งแรกในรอบสองไตรมาส
อย่างไรก็ตาม BOK ยังระบุด้วยว่า บริษัทญี่ปุ่นคาดการณ์ว่าสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐจะเคลื่อนไหวที่ระดับ 145.72 เยนต่อดอลลาร์ในปีงบการเงิน 2568 ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน เทียบกับระดับ 147.06 เยนต่อดอลลาร์ในการสำรวจครั้งก่อนเมื่อเดือนมีนาคม ทั้งนี้ ข้อมูลทังกันที่มีการเปิดเผยล่าสุดนี้เป็นหนึ่งในข้อมูลที่ BOJ จะใช้ประกอบการพิจารณาในการประชุมนโยบายการเงินครั้งต่อไปในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2568
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)