ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน มิถุนายน 2565

ข่าวในประเทศ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. ส่งออกอาหารพุ่ง ส่อแตะ 1.3 ล้านล้าน / ศึก “ยูเครน” ดัน (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 20 มิถุนายน 2565)

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติรับทราบความคืบหน้าและแนวทางการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562-2570) ที่กระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะหน่วยงานหลักได้รับมอบหมายให้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าการส่งออกอาหารแปรรูปของไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2565จะมีมูลค่าประมาณ 600,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น18.4% ส่วนภาพรวมปี 2565 คาดจะถึงจุดสูงสุดเดิมและมีมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อเป็นการพลิกวิกฤตเป็นโอกาสในการรับมือกับสถานการณ์ความมั่นคงด้านอาหารโลก และก้าวสู่ 1 ใน 10 ประเทศผู้ส่งออก ผ่านการขับเคลื่อน4 มาตรการหลักตามแผนปฏิบัติการ เพื่อเร่งสร้างโอกาสสู่การขยายตัวของอุตสาหกรรมในอนาคต โดยมีความคืบหน้า ดังนี้ อาทิ มาตรการการสร้างนักรบอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่ (Food Warriors)ผ่าน 4 หน่วยงานของกระทรวงอุตสาหกรรม (สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด และสถาบันอาหาร) ในการพัฒนายกระดับผู้ประกอบการสถานประกอบการและวิสาหกิจชุมชน ผ่านการอบรมและให้คำปรึกษาด้านการเพิ่มผลิตภาพ พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานสากลและมาตรฐานฮาลาล (HALAL) ถ่ายทอดความรู้เชิงธุรกิจและการนำนวัตกรรมมาใช้ในการผลิต มาตรการการสร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต มีการเชื่อมโยงกลไกและให้บริการด้านการวิจัยและพัฒนาผ่านเครือข่ายเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย มาตรการที่ 4 สร้างปัจจัยพื้นฐานเพื่อเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้จัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอาหาร

อย่างไรก็ตาม ด้านนายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า จากสถานการณ์วิกฤตอาหารโลก ปี 2565ที่ผลผลิตลดลงและราคาปรับตัวสูงขึ้นสร้างความกังวลถึงผลกระทบต่อความมั่นคงอาหารในหลายมิติ ทั้งทางด้านความเพียงพอการเข้าถึงอาหาร โภชนาการ รวมถึงความปลอดภัยนั้น ประเทศไทยเป็นทั้งประเทศที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารที่สำคัญของโลก โดยมีสินค้าหลักที่ส่งออก ได้แก่ ข้าว (ผลิต 22 ล้านตัน บริโภค 10 ล้านตัน)แป้งมันสำปะหลัง (ผลิต 7 ล้านตัน บริโภค 2 ล้านตัน) โปรตีนจากไก่ และสุกร ขณะเดียวกันยังเป็นประเทศที่พึ่งพิงการนำเข้าอาหาร เช่น ปลาทะเลแช่แข็ง ข้าวสาลี และข้าวโพด ซึ่งในส่วนของสินค้าที่ต้องนำเข้านั้นทางภาครัฐจะมีกลไกในการควบคุม ดูแลไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน และเมื่อพิจารณาในภาพรวมด้านอุปทาน (supply) อาหารของไทยแล้ว คาดว่าประเทศไทยจะไม่ประสบปัญหาวิกฤตความมั่นคงด้านอาหาร

 

ดร.ณัฐพล รังสิตพล

อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

 

2. ดีพร้อม ผลักดันงานวิจัยไทยเข้าตาบริษัทระดับโลก เชื่อมั่นระบบโลจิสติกส์อัจฉริยะ ASRS ของคนไทย (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 23 มิถุนายน 2565)

ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่ได้รับแต่งตั้งจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เป็นประธาน Spearhead ด้านเศรษฐกิจ ในประเด็นแผนงานวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และแผนงานระบบโลจิสติกส์อัจฉริยะ โดยเน้นดำเนินการปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ตลอดจนผลักดัน ให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในมิติต่างๆ รวมถึงนโยบายของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) เร่งขับเคลื่อนและผลักดันอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) รวมถึงแก้ปัญหาด้านต้นทุนด้านโลจิสติกส์ที่ส่งผลแก่ผู้ประกอบการ ทั้งนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) จึงได้นำนโยบาย DIPROM CARE เข้ามาช่วยดำเนินการ โดยการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของคนไทยมาปรับใช้กับโลจิสติกส์อุตสาหกรรม สามารถลดข้อผิดพลาดและลดพื้นที่ในการจัดเก็บ เพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการคลังสินค้าและวัตถุดิบ ด้วยการบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ภายใต้การนำของ Spearhead ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนางานวิจัย "ระบบอาคารคลังสินค้าอัจฉริยะและระบบ อัตโนมัติ Auto Storage and Retrieval System : ASRS" เพื่อสร้างโอกาสสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้สามารถนำระบบ ASRS มาใช้ งานได้ภายใต้งบประมาณและสถานที่ ที่จำกัด ซึ่งระบบ ASRS เป็นการนำวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาประยุกต์ใช้กับระบบอาคารคลังสินค้าอย่างครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบอุปกรณ์และเครื่องจักรสำหรับระบบอัตโนมัติ ได้แก่ เครนยกสินค้าในแนวสูง ชั้นวางสินค้า (Stacker Crane) ชั้นวางสินค้า (Storage Rack) และโปรแกรมบริหารงานคลังสินค้า (Warehouse Management System) ที่คนไทยพัฒนาขึ้นเองภายในประเทศ ช่วยยกระดับระบบโลจิสติกส์ในประเทศไทย อีกทั้งเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และ มีต้นทุนต่ำ สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ทางคณะวิจัยและ บริษัท แม่น้ำเมคคานิกา จำกัด ได้นำผลงานจากโครงการฯ ไปขยายผลทางธุรกิจกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายแล้ว อย่างน้อย 3 ราย และหนึ่งในนั้นคือ บริษัท ดีเอสวี โซลูชั่นส์ จำกัด และยังคงมุ่งมั่นที่จะต่อยอดปรับปรุง ระบบจากเทคโนโลยีที่ได้พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมที่จะขยายผลเปิดให้บริการต่อภาคอุตสาหกรรมไทยที่กำลังเผชิญกับความท้าทายรอบด้านในการลดต้นทุน เพิ่มผลิตภาพในส่วนของห่วงโซ่อุปทานในสถานประกอบการ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้ บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด มีความไว้วางใจและความเชื่อมั่นในการใช้ระบบ ASRS จากฝีมือคนไทย

 

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์

รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

3. ส่งออกรถวูบ ส.อ.ท. ชี้ปัญหา 'ชิพ' ขาดแคลนฉุด (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 24 มิถุนายน 2565)

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิพ) และชิ้นส่วนรถยนต์ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อยอดการผลิต และการส่งออกรถยนต์ในเดือนพฤษภาคม 2565 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ลดลง 7.8% และ 3.2% ตามลำดับ ทำให้กลุ่มฯจำเป็นต้องติดตามปัญหาดังกล่าวใกล้ชิดเนื่องจากยอมรับว่าหากสถานการณ์รุนแรงขึ้นอาจจะกระทบเป้าหมายการผลิตปี 2565 ที่วางไว้ 1,800,000 คัน แบ่งเป็นผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 800,000 คัน และส่งออก 1,000,000 คันได้ ทั้งนี้ แม้ว่าการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศเดือนพฤษภาคม 2565 มีทั้งสิ้น 64,735 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 15.71% และรวม 5 เดือนแรกปีนี้ (มกราคม – พฤษภาคม 2565) อยู่ที่ 359,351 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 16.59% จากกิจกรรมต่างๆ ที่ฟื้นตัวทั้งคลายล็อกดาวน์ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐที่มีต่อเนื่องและการเปิดประเทศที่ท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวมากขึ้น ในขณะนี้ที่เรามองว่าการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศจะได้เกินเป้าหมายด้วยซ้ำ แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากแรงซื้อประชาชนที่ลดลงจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นทั้งน้ำมัน และราคาสินค้า รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ค่ายรถมีการปรับขึ้นราคารถยนต์บางรุ่นจากต้นทุนที่เพิ่มรวมถึงราคาชิพและชิ้นส่วน และการส่งรถที่ล่าช้าจากปัญหาการขาดชิพเหล่านี้ยังคงต้องติดตามใกล้ชิดอีกระยะหนึ่งก่อนจึงจะทบทวนเป้าหมาย

อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้จากนโยบายรัฐบาลที่เดินหน้าส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่ชัดเจน ประกอบกับราคาน้ำมันที่แพงทำให้ยอดการจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้ายังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยพบว่า เดือนพฤษภาคม 2565 มียานยนต์ไฟฟ้าประเภทแบตเตอรี่ (BEV) จดทะเบียนใหม่ (ป้ายแดง) จำนวน 1,567 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 189.65% ยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภทรถยนต์ไฮบริด (HEV) มีทั้งสิ้น 5,362 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 67.77% และยานยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอิน (PHEV) จดทะเบียนใหม่มีจำนวน 1,056 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 50%

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. อ่วมถ้วนหน้า! UK เจอวิฤตค่าครองชีพ เงินเฟ้อทุบสถิตสูงสุดรอบ 40 ปีอีกครั้ง (ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, ประจำวันที่ 23 มิถุนายน 2565)

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (ONS) ของสหราชอาณาจักร เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อของประเทศประจำเดือนพฤษภาคม 2565 เพิ่มขึ้นแตะระดับ 9.1% หากคิดเป็นรายปี สูงขึ้นจากเดือนเมษายน ซึ่งเงินเฟ้ออยู่ที่ 9.0% ถือเป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1982 โดยธนาคารกลางอังกฤษประมาณการว่าเงินเฟ้อของสหราชอาณาจักรน่าจะแตะระดับ 11% ก่อนสิ้นปี อันมีต้นตอจากราคาพลังงานที่พุ่งสูง ซึ่งเพิ่มแนวโน้มความเป็นไปได้ของภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ทั้งนี้ เงินเฟ้อสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ กำลังก่อวิกฤตค่าครองชีพในสหราชอาณาจักรและที่อื่นๆ ทั้งนี้ ทางด้านเดวิด บาเรียร์ หัวหน้านักวิจัยจากหอการค้าสหราชอาณาจักรให้ความเห็นว่า ดัชนีเงินเฟ้อราคาผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 9.0% ตอกย้ำว่าภาคธุรกิจและครัวเรือนตกอยู่ภายใต้แรงกดดันหนักหน่วงแค่ไหน โดยเงินเฟ้อที่ดีดตัวสูงขึ้นนี้มาพร้อมกับแนวโน้มทางเศรษฐกิจอันเลวร้าย และจนกว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างเร่งด่วนกระตุ้นการลงทุนของภาคธุรกิจ โอกาสที่จะดิ่งเข้าสู่ภาวะถดถอยก็รังแต่จะเริ่มขึ้น ทั้งนี้

อย่างไรก็ตาม ประเทศต่างๆ ทั่วโลกกำลังได้รับผลกระทบกับภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูง ท่ามกลางสงครามยูเครนและการผ่อนปรนข้อจำกัดสกัดโควิด-19 ที่ผลักให้ราคาพลังงานและราคาสินค้าดีดตัวสูงขึ้น ซึ่งภาวะดังกล่าวกระตุ้นให้ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่มันก็เสี่ยงฉุดเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นก็อาจส่งผลกระทบเจ็บปวดแก่ภาคธุรกิจและผู้บริโภคตามมาเช่นกันที่ผ่านมา ธนาคารกลางอังกฤษปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาแล้ว 5 ครั้ง นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)