ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนกันยายน 2565

ข่าวในประเทศ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. 'สุริยะ' หนุนอุตฯ อ้อยน้ำตาลดึงเทคโนโลยีเพิ่มศักยภาพการผลิต (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 16 กันยายน 2565)

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายให้มีความเสถียรภาพ แม้ในช่วงเวลาที่ผ่านมาต้องเผชิญกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งเงื่อนไขทางการค้าระหว่างประเทศและปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจที่เพิ่มขึ้นและรองรับกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากการ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยและลดต้นทุนการผลิตในไร่อ้อยของเกษตรกรแล้ว การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ตามนโยบายการส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน ซึ่งอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปสู่การขับเคลื่อนระบบด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยนำอ้อยไปสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม และสร้างเสถียรภาพของราคาอ้อยให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้อย่างยั่งยืน พร้อมทั้งปรับโครงสร้างการผลิตโดยการส่งเสริมให้มีการลงทุนด้านอุตสาหกรรมชีวภาพอย่างจริงจัง และการส่งเสริมให้นำน้ำตาลไปสร้างมูลค่าเพิ่มโดยผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะลดการพึ่งพาการส่งออกน้ำตาลทรายอีกทางหนึ่ง รัฐบาลพร้อมที่จะสนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมยกระดับเป็นเกษตรปลอดการเผา

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปี 2565 ถือเป็นปีแห่งความท้าทายในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาลทราย อุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวมไปถึงอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ให้มีเสถียรภาพสร้างความเป็นธรรม รักษาผลประโยชน์ในระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายมุ่งไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น และยังคงมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งในฤดูการผลิตปี 2565/2566 จะหาแนวทางเพื่อกำหนดมาตรการจูงใจที่คุ้มค่าเพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด โดยการแก้ไขฝุ่นละออง PM2.5 ที่ผ่านมาเกษตรกรชาวไร่อ้อยถือเป็นกลุ่ม เกษตรกรกลุ่มแรกที่ได้ให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหารวมถึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมกันรณรงค์แก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้อย่างจริงจังมาโดยตลอด

 

นายจุลพงษ์ ทวีศรี

รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

 

2. รัฐ-เอกชนหนุน 'อีโคซิสเต็ม' (ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, ประจำวันที่ 15 กันยายน 2565)

นายจุลพงษ์ ทวีศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงผลการขับเคลื่อนสตาร์ทอัพไทยตามนโยบายของรัฐบาลว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม ดำเนินงาน 2 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนสำหรับ ผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ โดยร่วมมือบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) สนับสนุนเงินทุนแบบ ให้เปล่ากับสตาร์ทอัพระยะเริ่มต้น และ 2. โครงการเชื่อมโยงตลาดวิสาหกิจเริ่มต้น มุ่งพัฒนาทักษะการดำเนินธุรกิจ เชื่อมเครือข่ายอุตสาหกรรมทุกกลุ่มเพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการตลาด สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงานของ 2 โครงการ ในปี 2565 เกี่ยวข้องกับ "เทคโนโลยีเชิงลึก" (Deep Technology) ทั้ง 12 ด้าน อาทิ การแพทย์ครบวงจร การเกษตร อาหารและเทคโนโลยีชีวภาพ แพลตฟอร์มดิจิทัล เทคโนโลยีการเงิน และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะหุ่นยนต์ สร้างมูลค่าเศรษฐกิจ 420 ล้านบาท โดยมี 6 ธุรกิจที่ได้เงินทุนสนับสนุนตั้งบริษัทรวม 4 ล้านบาท ได้แก่ RENEWSI เทคโนโลยีรีไซเคิลซิลิกอน จากขยะโซลาเซลล์ เพื่อเป็นวัตถุดิบที่ต้นทุนถูกลงและประสิทธิภาพสูงขึ้นสำหรับ ผู้ผลิตเซลล์แบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า, EMMA เครื่องตรวจคลื่นหัวใจ 12 ลีดอัจฉริยะที่อัดแน่นด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง, UPCYDE leather แปลงขยะจากอุตสาหกรรมเกษตรเป็นหนังเทียม, Planet C แพลตฟอร์มช่วยบริหารจัดการการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์, MUU ผลิตนมวัวโดยไม่ใช้วัว เทคโนโลยีอาหารแห่งอนาคต และ iRon-X ชุดฝึกแขนกลหุ่นยนต์เพื่อการศึกษา

อย่างไรก็ตาม ทางด้านณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) กล่าวว่า ในปี 2566 จะร่วมมือกับภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน โดยเน้นพัฒนาเครือข่ายตลาดภาครัฐควบคู่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม เพื่อเป็นแต้มต่อให้สตาร์ทอัพ รวมทั้งจะสนับสนุนเทคโนโลยีการแก้ปัญหาสำหรับหน่วยงานราชการ (Gov Tech) ช่วยให้ภาครัฐทำงานมีประสิทธิภาพ รวมถึงเทคโนโลยีและโซลูชันเพื่ออุตสาหกรรมและเป็นวิศวกรรมขั้นสูงที่แก้ปัญหาตรงจุด (Industry Tech) เพื่อสร้างระบบนิเวศของสตาร์ทอัพให้แข็งแกร่ง ทั้งนี้ ทางด้าน นายจาง ช่าย ซิง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทยังคงทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อสร้างอีโคซิสเต็มให้สตาร์ทอัพดีพเทค ในไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน ด้วยการสนับสนุนด้านเงินทุนและความรู้เทคโนโลยีรวมถึงข้อมูลธุรกิจให้กับสตาร์ทอัพ เพื่อต่อยอดการคิดค้นนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีแก้ไขปัญหาของโลกในด้านต่างๆ

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

3. ส.อ.ท. นำเอกชน 130 ราย เยือนซาอุฯ คาดขายสินค้ากว่าหมื่นล้าน-โอกาสลงทุนเพียบ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 14 กันยายน 2565)

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วย คณะ ส.อ.ท.และภาคเอกชนกว่า 130 ราย ร่วมหารือกับผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของซาอุดีอาระเบีย อาทิ กระทรวงพาณิชย์ซาอุดีอาระเบีย องค์การอาหารและยาซาอุดีอาระเบีย (SFDA) สภาหอการค้าซาอุดีอาระเบีย และบริษัท Saudi Basic Industries Corporation (SABIC) เพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกัน และเจรจาหาลู่ทางขยายการนำเข้าสินค้าไทยให้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งลดปัญหาและอุปสรรคระหว่างกันอีกด้วย ทั้งนี้ ได้มีการร่วมลงนามความร่วมมือ (MOU) การจัดตั้ง Joint Business Council (JBC) ร่วมกันระหว่างคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร. หรือ JSCCIB) The Federation of Saudi Chambers of Commerce (FSCC) ซึ่งการร่วมลงนามความร่วมมือ MOU ระหว่างสภาเอกชนของประเทศไทยกับสภาเอกชนของซาอุดีอาระเบีย ในครั้งนี้ เป็นการผลักดันและส่งเสริมขยายตลาดส่งออกสินค้าเกษตร อาหาร อุตสาหกรรม รวมถึงธุรกิจบริการต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ในตลาดซาอุดีอาระเบีย และเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-ซาอุดีอาระเบีย เพื่อขับเคลื่อนการเจรจาทางการค้าคาดการณ์ว่าสามารถทำการค้าร่วมกัน ซื้อขายสินค้าระหว่างกันได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ภายในหนึ่งปี นับตั้งแต่วันที่มีการลงนามจัดตั้งสภาธุรกิจไทยซาอุดีอาระเบียขึ้น

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ประเทศซาอุดีอาระเบียต้องการดึงนักลงทุนจากทั่วโลกและนักลงทุนจากไทย เพื่อไปร่วมโครงการ Saudi Vision 2030 ที่ตั้งเป้าหมายจะนำพาซาอุดีอาระเบียไปสู่อนาคตใหม่ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม กับนโยบายในการสร้างเมืองใหม่ที่มีชื่อว่า นีอุม NEOM (Saudi Arabia Smart City) เมืองไฮเทคแห่งอนาคต ลดการพึ่งพาน้ำมันและเพิ่มความหลากหลายทางเศรษฐกิจ ซึ่งไทยสามารถสร้างโอกาสโดยการส่งออกสินค้าที่ช่วยหนุนในนโยบายนี้ได้ นอกจากนี้ ไทยก็มีความสนใจดึงนักลงทุนจากซาอุดีอาระเบีย มาลงทุนที่ประเทศไทย ทั้งการค้า การลงทุน                          การท่องเที่ยว รวมทั้งภาคการผลิตอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ทังนี้ ในอนาคต FTA ไทย-กลุ่ม GCC (Gulf Cooperation Council; กลุ่มประเทศคณะมนตรีความร่วมมือแห่งอ่าวอาหรับ) ก็น่าจะเป็นโอกาสทองของไทย ในการขยายการค้ากับกลุ่มอ่าวอาหรับ 6 ประเทศ ดังนั้น ไทยควรเร่งทำ FTA เพื่อขยายการค้า การลงทุน เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้าจากจีน เกาหลีใต้ ที่กำลังเร่งขยายตลาดการค้าใน GCC

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. จีนเผยยอดค้าปลีก-การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวดีกว่าคาดในเดือนส.ค. (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 16 กันยายน 2565)

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เปิดเผยรายงานว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นมาตรวัดภาวะเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน ปรับตัวขึ้น 4.2% ในเดือนสิงหาคม เมื่อเทียบรายปี ซึ่งแข็งแกร่งกว่าในเดือนกรกฎาคมที่เพิ่มขึ้น 3.8% และดีกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของรอยเตอร์คาดไว้ว่าอาจจะเพิ่มขึ้น 3.8% ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ปรับตัวขึ้น 3.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี ทั้งนี้ รายงานของ NBS ยังระบุด้วยว่า ยอดค้าปลีกเดือนสิงหาคมพุ่งขึ้น 5.4% แข็งแกร่งกว่าในเดือนกรกฎาคมที่ปรับตัวขึ้น 2.4% และดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.5% ขณะที่การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ขยายตัว 5.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 5.5% และแข็งแกร่งกว่าในช่วง 7 เดือนแรกที่ปรับตัวขึ้น 5.7%

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นตัว หลังจากได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการทรุดตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์, การใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมโรคโควิด-19 รวมทั้งอุปสงค์ที่อ่อนแอลงทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ ในภาพรวมนั้น เศรษฐกิจจีนสามารถต้านทานปัจจัยลบต่างๆ ที่เหนือความคาดหมาย และยังคงอยู่ในทิศทางการฟื้นตัวที่ยั่งยืน โดยดัชนีชี้วัดที่สำคัญแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดี

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)