ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 1 ของเดือนพฤษภาคม 2566

ข่าวในประเทศ

A person standing at a podium with a microphone

Description automatically generated with medium confidence

นายจุลพงษ์ ทวีศรี

อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม

 

1. Q1 ตั้งรง.ใหม่พันแห่ง ยอดลงทุน 8.9 หมื่นล้านบาท (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 3 พฤษภาคม 2566)

นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า 2 ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม 2565 – มีนาคม 2566) มีการตั้งโรงงานใหม่ จำนวน 1,016 โรงงาน ยอดการลงทุน 89,427.27 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 29,000 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนใหม่สูงสุด คือ กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี มูลค่าการลงทุน 22,635.75 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการลงทุน 25.31% รองลงมา ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก มูลค่าการลงทุน 9,259.12 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการลงทุน 10.35% สำหรับการขยายกิจการโรงงานมีจำนวน 195 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 23,231.33 ล้านบาท กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนขยายกิจการสูงสุด คือ กลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ มีมูลค่าการลงทุน 10,192.68 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการลงทุน 43.87% รองลงมา คือ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร มีมูลค่าการลงทุน 1,930.56 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการลงทุน 8.31% ทั้งนี้ ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) การตั้งโรงงานใหม่และการขยายกิจการโรงงาน มีมูลค่าการลงทุนรวม 29,760.21 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการลงทุน 26.42% ของมูลค่าการลงทุนรวมทั่วประเทศ โดยกลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ มีมูลค่าการลงทุนสูงสุด 10,403.39 ล้านบาท และ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) การตั้งโรงงานใหม่และการขยายกิจการโรงงาน มีมูลค่าการลงทุน 37,621.13 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการลงทุน 33.39% ของมูลค่าการลงทุนรวมทั่วประเทศ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร มีมูลค่าการลงทุนสูงสุด 14,363.55 ล้านบาท

 

อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสที่ 3 และ 4 คาดว่าการลงทุนจะไม่ต่ำกว่า 1.8 แสนล้านบาท จากผลของนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าดัชนีสถานการณ์การผลิตไทย (Thailand Manufacturing PMI) จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น รวมถึงการเร่งรัดการลงทุนของผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2563-2565 ที่ผ่านมา

 

A person in a suit and tie

Description automatically generated with medium confidence

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์

เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

 

2. บีโอไอขับเคลื่อนการลงทุนภาคเหนือ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 2 พฤษภาคม 2566)

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 บีโอไอร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ภาคเหนือ จัดงาน "NEW Economy, NEW Opportunities" เป็นการจัดงานต่อเนื่องจากภาคตะวันออกเพื่อประชาสัมพันธ์ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) และมาตรการส่งเสริมการลงทุนชุดใหม่ เนื่องจากภาคเหนือเป็นพื้นที่สำคัญที่มีศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายหลายสาขา มีผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 250 คน พร้อมทั้งได้จัดการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการลงทุน เช่น สภาอุตสาหกรรมจังหวัด หอการค้าจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรม สถาบันการศึกษา สถาบันการเงิน นิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น พร้อมกันนี้ บีโอไอได้หารือกับหน่วยงานพันธมิตรในการขับเคลื่อนนโยบาย "ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ หรือ Northern Economic Corridor : NEC" ซึ่งประกอบด้วย 4 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และลำปาง โดยพื้นที่ NEC เป็นหนึ่งในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 แห่ง ใน 4 ภาคที่กำหนดโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ขณะนี้บีโอไอได้ออกมาตรการด้านสิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 4 แห่ง เรียบร้อยแล้ว

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับยอดการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ภาคเหนือ ช่วงไตรมาสแรกปี 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 20 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 8,116 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ เกษตรและแปรรูปอาหาร ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และดิจิทัล ทั้งนี้ บีโอไอมีแผนจัดกิจกรรมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่ไปยังทุกภูมิภาค เพื่อสร้างการรับรู้แก่นักลงทุนทั่วประเทศโดยครั้งต่อไป จะมีการจัดงานสัมมนาใหญ่สำหรับนักลงทุนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ จังหวัดนครราชสีมา ในเดือนมิถุนายนนี้

 

A person in a suit

Description automatically generated with low confidence

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย

ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณี และเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที

 

3. ดันผลิตอัญมณีไทยรับเทรนด์โลก (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 1 พฤษภาคม 2566)

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณี และเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที เปิดเผยถึงแผนการทำงานครึ่งปีหลัง 2566 ว่าจีไอทีมีแผนผลักดันบีซีจี โมเดล ในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับโดยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการผลิตเครื่องประดับที่เป็นเทรนด์ของโลกหากทำได้ก็จะช่วยให้สินค้าเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมาจีไอทีได้เริ่มกับการประกวดออกแบบเครื่องประดับในหัวข้อ ทรู เนเจอร์ ที่กระตุ้นให้นักออกแบบเห็นถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและเลือกวัสดุทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และในปีนี้จะเน้นความเป็นสีทองและพลอยเนื้ออ่อน แต่ยังคงให้ความสำคัญกับความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันจะช่วยพัฒนาผู้ประกอบการท้องถิ่นที่ปีนี้ได้ทำโครงการพัฒนาต่อยอดอัตลักษณ์เครื่องประดับภาคใต้เพื่อการท่องเที่ยว (เสน่ห์ใต้) ที่ได้เน้นการนำวัสดุพื้นถิ่น หรือการนำวัสดุที่เหลือใช้มาหมุนเวียน ผลิตเครื่องประดับที่ทันสมัย ตอบโจทย์ความต้องการของโลก นอกจากนี้จะผลักดันให้ผู้ประกอบการมีธรรมาภิบาลในการทำธุรกิจ ทั้งนี้ จีไอที จะเดินหน้าจัดทำมาตรฐานห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณี เครื่องประดับและโลหะมีค่า หรือจีไอที สแตน ดาร์ด ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย และยกระดับห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับในประเทศให้มีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันได้มีการจัดทำมาตรฐานแล้ว 22 ขอบข่าย เช่น มาตรฐานห้องปฏิบัติการ มาตรฐานการตรวจสอบอัญมณี เพชร หยก และจะเพิ่มมาตรฐานใหม่อีก 3 ขอบข่าย คือ มาตรฐานวิธีวิเคราะห์และทดสอบมรกตและมุก, การวิเคราะห์หาปริมาณเงินในตัวอย่างโลหะมีค่าโดยใช้เทคนิคเอกซเรย์ฟลูออเรสเซนซ์ และมาตรฐานใหม่ ด้านการดำเนินธุรกิจมีธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. เกาหลีใต้ส่งออกร่วง 7 เดือนติดในเดือนเม.ย. เหตุดีมานด์ชิปลดลง (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 1 พฤษภาคม 2566)

กระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงานของเกาหลีใต้ (MOTIE) เปิดเผยว่า ยอดส่งออกเดือนเมษายน 2566 ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 เนื่องจากความต้องการเซมิคอนดักเตอร์ลดลงทั่วโลกท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทั้งนี้ ยอดส่งออกเดือนเมษายนของเกาหลีใต้ลดลง 14.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งย่ำแย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 13.5% หลังจากที่ปรับตัวลดลง 13.6% ในเดือนมีนาคม โดยมีสาเหตุหลักคือการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของประเทศ ร่วงลง 41% เนื่องจากความต้องการน้อยลงและราคาชิปลดลง ส่วนยอดนำเข้าเดือนเมษายนลดลง 13.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งลดมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลง 10.6% หลังจากที่ปรับตัวลดลง 6.4% ในเดือนมีนาคม เนื่องจากเกาหลีใต้นำเข้าพลังงานลดลง 25.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี ส่งผลให้เกาหลีใต้มียอดขาดดุลการค้าเดือนเมษายนอยู่ที่ 2.6 พันล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม ทางด้านสำนักข่าวยอนฮัปรายงานว่า เกาหลีใต้ขาดดุลการค้ามาตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2565 เนื่องจากราคาพลังงานสูง และถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2540 ที่เกาหลีใต้ขาดดุลการค้าติดต่อกัน 14 เดือน

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)