ข่าวในประเทศ
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)
1. เงินเฟ้อ มี.ค. ติดลบ 0.54% (ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ , ประจำวันที่ 8 เมษายน 2563)
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ หรือเงินเฟ้อ ประจำเดือน มี.ค. 2563 ลดลง 0.54% หรือติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 33 เดือน และเป็นอัตราต่ำสุดในรอบ 51 เดือน ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ย 3 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-มี.ค.) เพิ่มขึ้น 0.41% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดไวรัส โควิด-19 และราคาน้ำมันขายปลีกปรับลดราคาต่อเนื่อง ดังนั้นในปี 2563 สนค. ได้ปรับประมาณการเงินเฟ้อปี 2563 ใหม่จากเดิมขยายตัว 0.8% เป็นติดลบ 0.6% ทั้งนี้แม้ว่าเงินเฟ้อของไทยจะติดลบแต่เชื่อว่าสถานการณ์ดังกล่าวประเทศไทยยังไม่สู่ภาวะเงินฝืด เนื่องจากปัจจัยหลักที่ทำให้เงินเฟ้อติดลบมาจากราคาน้ำมันขายปลีกที่ลดลงต่อเนื่องโดยเฉพาะเดือน มี.ค. ลดลง 11 ครั้ง ส่วนกำลังซื้อแม้ว่าจะชะลอตัวบ้างในช่วงโควิด-19 แต่ยังไม่ได้หดตัวมาก
อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์ มีนโยบายที่จะดูแลปริมาณสินค้าให้เพียงพอ ราคาสินค้ามีความเหมาะสมและประชาชนสามารถเข้าถึงสินค้าทุกพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ประชาชนไม่จำเป็นต้องซื้อสินค้ากักตุน อย่างไรก็ตามจากราคาน้ำมันลดลงในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมามองว่าภาคผู้ผลิตสินค้าอุปโภคและบริโภคควรหันไปพิจารณาว่าจะปรับลดสินค้าลงตามราคาน้ำมันได้หรือไม่ หรือจะใช้วิธีจัดโปรโมชั่นควบคู่กับสินค้าก็ได้ ซึ่งอยากให้ผู้ประกอบการ ต่าง ๆ ช่วยพิจารณาลดค่าครองชีพให้กับประชาชนในช่วงโควิด-19 อย่างไรก็ตามในส่วนของรัฐบาลได้มีมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยา กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสออกมาเป็นระยะ ๆ น่าจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ได้รับผลกระทบในบางส่วนได้ ในส่วนของราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นต้นทุนในการผลิตสินค้าและค่าขนส่ง สนค.เห็นว่า ขณะนี้ราคาน้ำมันได้ปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่องและน่าจะเป็นเหตุผลให้ผู้ผลิต หรือผู้ให้บริการด้านการขนส่ง ปรับลดราคาสินค้าและค่าขนส่งลงมา เพื่อดูแลผู้บริโภคและช่วยเหลือประชาชน
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.)
2. กกร. นัดประเมินภาพรวมเศรษฐกิจ หลัง ครม. อัด 1.9 ล้านล้านบาท กู้วิกฤติ (ที่มา:เว็บไซต์แนวหน้า , ประจำวันที่ 8 เมษายน 2563)
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สอท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย ในวันที่ 8 เมษายน 2563 นี้ กกร.จะร่วมกันพิจารณา มาตรการแก้ไขปัญหา และบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ชุดที่ 3 วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท ตามที่ ครม.เห็นชอบ ว่า จะเป็นอย่างไร จะช่วยประคองภาพรวมเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน จะช่วยเยียวยาผู้ประกอบการ รวมถึงประชาชนที่รับผลกระทบเพียงพอหรือไม่ รวมถึงจะหารือภาพรวมเศรษฐกิจร่วมกัน และอาจเสนอมาตรการเพิ่มเติมกับภาครัฐ นอกจากนี้ จะพิจารณาปรับตัวเลขการประเมินการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศไทย (GDP) และการส่งออกปี 2563 จะลดลงเท่าไร จากการประชุมเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้ลดเป้าหมายจีดีพี เหลือ 1.5-2% และคงตัวเลขการส่งออกที่ติดลบ 2 ถึง 0% ซึ่งการปรับตัวเลขครั้งนี้ ถือเป็นเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันตั้งแต่เดือนมกราคม ที่ผ่านมา จากปกติจะพิจารณาตัวเลขเศรษฐกิจทุก 3 เดือน เนื่องจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ทั่วโลก ยังมีผู้ติดเชื้อโดยรวม ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก รวมถึงไทยด้วย
อย่างไรก็ตาม นายสงกรานต์ อิสสระ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ. ชาญอิสสระ ดีเวล็อปเมนท์ หรือ CI เปิดเผยถึงสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดว่า ส่งผลต่อภาคธุรกิจต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยว-โรงแรมที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจนโรงแรมหลายแห่งได้ประกาศหยุดดำเนินการไปบ้างแล้ว ส่วนโรงแรมในเครือของบริษัท ทั้งโรงแรมศรีพันวา ภูเก็ต โรงแรม บาบาบีช คลับภูเก็ต และโรงแรมบาบาบีช คลับ หัวหิน ต่างได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวเช่นกัน ช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทุกธุรกิจต้องปรับแผนการดำเนินการให้รับมือ สำหรับโรงแรมในกลุ่มได้เจรจาตกลงกับลูกค้าโรงแรมที่ได้จ่ายค่าที่พักล่วงหน้ามาแล้วให้เลื่อนเวลาเข้าพักจนกว่าสถานการณ์จะอำนวย และได้ใช้ช่วงระยะเวลานี้ ติดต่อรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าและตัวแทนขาย ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ภาครัฐและภาคเอกชน จะต้องปรับมาตรการต่างๆ เพื่อเร่งฟื้นฟูการท่องเที่ยว ในระยะแรกจะมุ่งเน้นที่ลูกค้าชาวไทยแบบไทยเที่ยวไทยก่อนการกลับมาของลูกค้าต่างชาติ
น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒพงศ์
ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)
3. ส่งออกปีนี้ ติดลบ 8% (ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ , ประจำวันที่ 8 เมษายน 2563)
น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท.คงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2563 หดตัวไม่ต่ำกว่า -8% และมีโอกาสหดตัวถึงตัวเลขสองหลัก บนสมมติฐานค่าเงิน 30.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ (ณ วันที่ 6 เม.ย.63 เท่ากับ 32.895 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยอัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.36-32.97 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ สรท. เห็นด้วยกับที่ กนง. คาดการณ์ว่าการส่งออกในปีนี้จะหดตัวติดลบ 8% และต้องรอดูสถานการณ์อีกสักระยะ โดยการส่งออกมีปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญได้แก่ 1.ผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 หลายประเทศเริ่มมาตรการ lockdown และควบคุมการเดินทาง กระทบต่อภาคการผลิตในประเทศรายได้ของประชาชนที่ลดลง ลดการจ้างงานปิดกิจการชั่วคราวและถาวร ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายประเทศ รวมถึงไทย 2.ผลกระทบภัยแล้งที่มีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องและเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรและผู้ประกอบการอีกรอบ
อย่างไรก็ดี สรท. มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ได้แก่1.สรท.ได้จัดทำข้อเสนอแนะรองรับผลกระทบจากโควิด-19 ต่อภาคการส่งออกไทย เพื่อเสนอต่อหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยข้อเสนอแนะที่จัดทำขึ้นได้พิจารณาทั้งในส่วนของระดับความสำคัญ (สูง/กลาง/ต่ำ) ระยะเวลาการใช้มาตรการที่รองรับทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ครอบคลุมด้านการเงิน ด้านแรงงาน ด้านการนำเข้าวัตถุดิบและการส่งออกสินค้า ด้านโลจิสติกส์และการขนส่ง ด้านการตลาด เป็นต้น อีกทั้งสรท.ได้ทำการเปรียบเทียบมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในประเทศที่รัฐบาลได้ประกาศออกมาก่อนหน้านี้อย่างต่อเนื่อง 2.ขอให้ภาครัฐมีความชัดเจนในเรื่องของวิธีการดำเนินงานของภาคการส่งออก นำเข้า โรงงานการผลิตและระบบโลจิสติกส์ หากจำเป็นมีการประกาศเคอร์ฟิวยกระดับเป็น 24 ชั่วโมงทั่วประเทศ 3.เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ที่สำคัญของประเทศ ทั้งทางบก ทางรางทางเรือ และทางอากาศ ให้แล้วเสร็จโดยเร็วทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุน ภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย และช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจในประเทศสู่ภาวะปกติได้เร็วขึ้น
ข่าวต่างประเทศ
4. น้ำมัน WTI ปิดร่วง $2.45 หลัง EIA หั่นคาดการณ์ราคาน้ำมันปี 2563 (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์ , ประจำวันที่ 8 เมษายน 2563)
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 9% เมื่อคืนนี้ หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) ปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ WTI และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ในปี 2563 ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) และประเทศพันธมิตรซึ่งนำโดยรัสเซีย ในวันพฤหัสบดีนี้ และรอดูรายงานสต็อกน้ำมันดิบประจำสัปดาห์ของสหรัฐซึ่ง EIA มีกำหนดเปิดเผยในวันนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน พ.ค. ร่วงลง 2.45 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 9.4% ปิดที่ 23.63 ดอลลาร์สหรัฐฯ /บาร์เรล สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ ส่งมอบเดือน มิ.ย. ลดลง 1.18 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 3.6% ปิดที่ 31.87 ดอลลาร์สหรัฐฯ /บาร์เรล สัญญาน้ำมันดิบ WTI ปิดร่วงลงหลังจาก EIA ได้ปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ WTI และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ในปี 2563 โดยคาดว่า ราคาน้ำมันดิบ WTI จะอยู่ที่ระดับ 29.34 ดอลลาร์สหรัฐฯ /บาร์เรล ซึ่งลดลง 23% จากตัวเลขคาดการณ์ในเดือน มี.ค. และคาดว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะอยู่ที่ 33.04 ดอลาร์สหรัฐฯ /บาร์เรล ซึ่งลดลงเกือบ 24% จากตัวเลขคาดการณ์ในเดือน มี.ค. ทั้งนี้ EIA ได้เปิดเผยตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวในรายงานแนวโน้มพลังงานระยะสั้น (Short-Term Energy Outlook) ซึ่งมีการเผยแพร่เมื่อวานนี้
อย่างไรก็ดี EIA คาดการณ์ว่า การผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ จะอยู่ที่ 11.76 ล้านบาร์เรล/วัน ในปี 2563 ซึ่งลดลง 9.5% จากตัวเลขคาดการณ์ในเดือน มี.ค. ขณะเดียวกันคาดว่า การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในปี 2564 จะอยู่ที่ 11.03 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งลดลงเกือบ 13% จากตัวเลขคาดการณ์ในเดือน มี.ค. นักวิเคราะห์จากบริษัทโอแอนดา กล่าวว่า การที่ EIA คาดการณ์ว่าการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปีนี้จะลดลงเพียง 9.5% นั้น ถือว่าน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และเป็นอีกปัจจัยที่สร้างแรงกดดันต่อภาวะการซื้อขายเมื่อคืนนี้ โดยตลาดคาดการณ์ว่า การผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ น่าจะลดลงราว 20% ในระยะสั้น
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)