ข่าวประจำวันที่ 5 พ.ค. 2563

ข่าวในประเทศ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

1. พัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร ตั้งธง สร้างรายได้ 4.5 ล้านล้านบาท (ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า , ประจำวันที่ 5 พฤษภาคม 2563)

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ระยะที่ 1 (พ.ศ.2562-2570) ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอจากแผนคาดการณ์ว่าจะเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมอุตสาหกรรมอาหารของไทยเป็น 1.42 ล้านล้านบาท ก่อให้เกิดรายได้ ในธุรกิจเกี่ยวเนื่องเพิ่มขึ้น 4.5 ล้านล้านบาท ครอบคลุมผู้ประกอบการในธุรกิจเกี่ยวเนื่องกว่า 7.6 ล้านราย ก่อให้เกิดการลงทุนใหม่ ในอุตสาหกรรมอาหารภายในประเทศกว่า 0.48 ล้านล้านบาท ทำให้ไทยก้าวสู่การเป็น ศูนย์กลางการผลิตอาหารอนาคตของอาเซียน และเป็น 1 ใน 10 ของประเทศผู้ส่งออกอาหารของโลกภายในปี 2570 สาระสำคัญแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ประกอบด้วย 4 มาตรการดังนี้ 1.มาตรการสร้างนักรบอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่ (Food Warriors) สร้างผู้ประกอบการอาหารรุ่นใหม่ตลอดห่วงโซ่อุปทาน 2.มาตรการสร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต (Future Food Innovation) ยกระดับนวัตกรรมอาหารอนาคตสู่การผลิตเชิงพาณิชย์โดยสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทย 3.มาตรการสร้างโอกาสทางธุรกิจ (New MarketingPlatform) เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศผ่าแพลตฟอร์ม(Platform) ที่เหมาะสมกับผู้ผลิตทุกระดับให้อุตสาหกรรมอาหารไทย 4.มาตรการสร้างปัจจัยพื้นฐานเพื่อเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรม (Enabling)

อย่างไรก็ดี นายสุริยะกล่าวว่า การกำกับการดำเนินงานตามมาตรการต่างๆ และการติดตามผลการปฏิบัติงานเชิงบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะใช้กลไกความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อให้มีการบูรณาการที่สอดคล้องกับแนวนโยบายและยุทธศาสตร์ของประเทศไทย ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคเกษตรและสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจฐานราก ยกระดับผลิตภัณฑ์อาหารสู่อาหารอนาคต เกิดการสร้างงานและการสร้างรายได้สู่ท้องถิ่น ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารแห่งอาเซียนควบคู่กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก และในสถานการณ์ที่ ทั้งภายในประเทศไทยและประเทศต่างๆ ทั่วโลก ประสบปัญหากับโรคระบาดโควิด-19 ส่งผลให้เกิดความต้องการอาหารทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น กระทรวงอุตสาหกรรมเล็งเห็นโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารที่สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคและทิศทางของโลกเพื่อนำไปสู่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยต่อไป

 

นายประกอบ วิวิธจินดา
อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) 

2. ยกเว้นค่าธรรมเนียม อุ้มโรงงาน 56,598 แห่ง (ที่มา: เว็บไซต์แนวหน้า , ประจำวันที่ 5 พฤษภาคม 2563) 

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอโดยให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีที่เรียกเก็บตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2และจำพวกที่ 3 ทุกขนาด เป็นเวลา 1 ปี โดยให้มีผลใช้บังคับในวันที่พ้นกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือคาดว่ากฎกระทรวงฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้เร็วที่สุดประมาณต้นเดือนมิถุนายน 2563 เบื้องต้นมีโรงงานที่เข้าข่าย 56,598 ราย และคาดว่าภาครัฐจะเสียรายได้ประมาณ 231 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี การยกเลิกค่าธรรมเนียมให้แก่เจ้าของกิจการโรงงานถือเป็น 1 ในมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยาให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานที่นายสุริยะจึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ต้องการลดภาระและบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประกอบกิจการโรงงานจากสถานการณ์ ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งมั่นใจว่ามาตรการดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งในการพยุงสถานะของโรงงานให้มีการประกอบกิจการอย่างต่อเนื่อง และจะเกิดผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมมากกว่ารายได้ที่รัฐฯ จะต้องสูญเสียไป สำหรับในส่วนของโรงงานที่ยังไม่จ่ายค่าธรรมเนียมในปีนี้ ก็คงไม่ต้องจ่ายตามมาตรการเยียวยา แต่หากโรงงานใดที่ได้มีการจ่ายค่าธรรมเนียมไปแล้วก่อนที่กฎกระทรวง จะมีผลบังคับใช้ กรอ. ก็จะยกเว้นโดยไม่ต้องจ่ายในปี 2564 แทน ซึ่งค่าธรรมเนียมประกอบกิจการรายปีที่โรงงานจำพวก 2 และ 3 หรือโรงงานที่มีเครื่องจักรกำลังรวมตั้งแต่ 50-6,000 แรงม้ามีอัตราการจ่ายแตกต่างกันตั้งแต่ 900-18,000 บาท

 

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก
ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

3. ชะลอลงทุนหนีโควิด กนอ. หั่นเป้านิคมฯ เหลือ 2,000-2,500 ไร่ (ที่มา: เว็บไซต์แนวหน้า , ประจำวันที่ 5 พฤษภาคม 2563)

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจอย่างรุนแรง โดยเฉพาะครึ่งหลังของปี 2563 ที่นักลงทุนยังกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้กนอ.ปรับเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมภายใต้การกำกับดูแลของกนอ.ลงเหลือ 2,000-2,500 ไร่ ต่อปี จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ 3,000-3,500 ไร่ต่อปี รวมทั้งเตรียมเสนอมาตรการช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอี และผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม ต่อคณะกรรมการ กนอ. ให้ความเห็นชอบ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม ทั้งนี้ จากการประชุมหารือเรื่อง “วิกฤติสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก” ร่วมกับกรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่าจากตัวเลขน้ำสำรองในปัจจุบันมั่นใจว่าสามารถมีใช้ไปจนถึงเดือนมิถุนายนนี้ และจะผ่านภาวะวิกฤตินี้ได้ แต่ยังเป็นห่วงปัญหาในช่วงหลังเดือนมิถุนายนนี้ และในระยะยาว จึงเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันเร่งการผลักดันโครงการวางท่อสูบน้ำจากคลองสะพาน จ.ระยอง เพื่อวางท่อส่งน้ำขนาดใหญ่ 1,800 มิลลิเมตร ซึ่งจะดึงน้ำเข้ามาเก็บที่อ่างเก็บน้ำประแสร์เพิ่มถึง 5 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน จากปัจจุบันที่ได้วางท่อสูบน้ำชั่วคราว ขนาด 900 มิลลิเมตร สูบน้ำได้ประมาณ 1.5 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาก นอ. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก เพื่อให้เพียงพอในช่วงฤดูแล้งมาโดยตลอด ทั้งการเพิ่มนํ้าต้นทุนให้กับ 4 อ่างเก็บน้ำหลัก ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ และอ่างเก็บน้ำประแสร์ ได้แก่ การสูบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแกด ลุ่มน้ำวังโตนด จังหวัดจันทบุรี ประมาณ 10 ล้านลูกบาศก์เมตรไปเพิ่มน้ำต้นทุนยังอ่างเก็บน้ำประแสร์ จังหวัดระยอง สร้างระบบสูบกลับชั่วคราวจากคลองสะพาน ปรับปรุงระบบสูบกลับวัดละหารไร่จากแม่นํ้าระยองไปยังอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล รวมทั้งการเพิ่มน้ำต้นทุนในนิคมอุตสาหกรรมโดยการนำน้ำจากคลองชากหมาก มาผ่านการบำบัด และนำกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงการขอความร่วมมือผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดคอมเพล็กซ์ ปรับลดปริมาณการใช้น้ำลง 10% ขณะเดียวกันปีนี้น้ำในภาคตะวันออกมีฝนตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ย น้ำไหลลงอ่างลดลงจึงต้องมีมาตรการแก้ไขที่ชัดเจน คาดว่าในปี 2563-2565 จะมีการตั้งโรงงานเพิ่ม 2 เท่าตัว หากมีน้ำไม่เพียงพอก็อาจกระทบต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนใน EEC ได้

 

ข่าวต่างประเทศ

4. สหรัฐฯ เตรียมกู้เงินสูงเป็นประวัติการณ์เกือบ 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ที่มา: thestandard.co , ประจำวันที่ 5 พฤษภาคม2563)

รัฐบาลสหรัฐฯ เผยว่า ต้องการกู้เงินจำนวน 2.99 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 2 ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพื่อนำไปใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจและบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ขณะที่แพ็กเกจเยียวยาก่อนหน้านี้ใช้งบประมาณไปอย่างมหาศาล จำนวนเงินกู้ดังกล่าวสูงกว่าสถิติรายไตรมาสที่เคยทำไว้ในช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินในปี 2008 ถึงกว่า 5 เท่า ขณะที่ตลอดทั้งปี 2019 รัฐบาลสหรัฐฯ กู้เงินเพียง 1.28 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับช่องทางการกู้นั้น รัฐบาลสหรัฐฯ จะใช้วิธีการขายพันธบัตร โดยที่ผ่านมามีอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างต่ำ เนื่องจากหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ ถูกจัดอยู่ในขั้นความเสี่ยงต่ำในสายตานักลงทุนทั่วโลก ก่อนหน้านี้รัฐสภาสหรัฐฯ ได้อนุมัติงบประมาณฉุกเฉินเพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตไวรัสระบาดวงเงินราว 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยส่วนหนึ่งนำไปสนับสนุนระบบสาธารณสุขและจ่ายให้ประชาชนโดยตรงเพื่ออัดฉีดเศรษฐกิจ ขณะที่หนี้รัฐบาลสหรัฐฯ ใกล้แตะ 25 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปัจจุบัน  

อย่างไรก็ตาม มีการประมาณการว่า แพ็กเกจเยียวยาของสหรัฐฯ มีมูลค่าประมาณ 14% ของขนาดเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขณะที่รัฐบาลได้ขยายเส้นตายการชำระภาษีรายปีจากวันที่ 15 เมษายน 2563 ซึ่งทำให้รัฐบาลประสบปัญหาทางการเงินมากขึ้นมีสมาชิกพรรครีพับลิกันบางส่วนแสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการใช้จ่ายจนหนี้สาธารณะพอกพูนมากขึ้น แม้แต่ช่วงก่อนเกิดโรคระบาด หนี้ของสหรัฐฯ ก็สูงขึ้นจนถึงระดับที่นักเศรษฐศาสตร์เตือนว่า เป็นความเสี่ยงต่อการเติบโตในระยะยาว ขณะที่สำนักงบประมาณประจำสภาคองเกรสเคยคาดการณ์ไว้ในเดือนที่แล้วว่า สหรัฐฯ อาจขาดดุลงบประมาณสูงถึง 3.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีนี้ ในขณะที่หนี้สาธารณะพุ่งทะลุ100% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)