ข่าวประจำวันที่ 14 พ.ค. 2563

ข่าวในประเทศ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ 
รองนายกรัฐมนตรี

1. สมคิด ถกทบทวนเศรษฐกิจ (ที่มา: เดลินิวส์ , ประจำวันที่ 14 พฤษภาคม 2563)

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะประชุมร่วมกับหน่วยงานสำคัญด้านเศรษฐกิจของประเทศ เช่น กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สภาคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ เพื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจ และกำหนดแผนประคองเศรษฐกิจช่วงที่เหลือของปี 2563 หลังต้องเผชิญกับผล กระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้นายสมคิด ได้แสดงความเป็นห่วงว่าเศรษฐกิจไทยใน 2-3 เดือนข้างหน้าจะมีปัญหาหนัก และคนบางส่วนจะไม่มีงาน ไม่มีเงินพอเลี้ยงชีพ จึงต้องมีการทำแผนรับมือไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะแรงงานในเมืองและภาคการผลิตที่ถูกเลิกจ้างช่วงโควิด และต้องย้ายถิ่นฐานกลับต่างจังหวัด จะต้องเร่งหางานสร้างอาชีพดูแลให้ เน้นการสร้างงาน สร้างอาชีพภายในชุมชน เพื่อนำสินค้าและการท่องเที่ยวมาเชื่อมโยงจำหน่ายให้กับคนในเมือง เพราะกำลังซื้อจะเหลือกระจุกตัวแค่ในเมืองใหญ่เท่านั้น จะต้องมีการทำการตลาด และโลจิสติกส์เชื่อมโยงถึงกันให้ได้ นอกจากนี้ ในการประชุมการทบทวนภาวะเศรษฐกิจ
นายสมคิด ประธานฯ การประชุมจะมีการติดตามความคืบหน้าของการทำแผนใช้งบประมาณจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ในการดูแลผล กระทบจากโควิด โดยเฉพาะในส่วนของเงินกู้ส่วนที่สอง 4 แสนล้านบาท ที่เคยให้การบ้านไปก่อนหน้านี้ ทั้งเรื่องการตั้งกองทุนดูแลเศรษฐกิจฐานรากเพื่อเร่งการสร้างงาน และภาคแรงงานในชนบท การเกษตร การท่องเที่ยว และการสร้างความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงการตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย ที่ไม่สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ให้เข้ามาขอเงินทุนจากกองทุนนี้ เพื่อประคองธุรกิจให้อยู่รอดได้ไม่ต้องปิดกิจการ ซึ่งน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น

อย่างไรก็ตามด้าน นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า ในสัปดาห์นี้ สศค. จะประกาศปรับประมาณการเศรษฐกิจในปี 2563 ใหม่ ยอมรับเศรษฐกิจไทยในปีนี้ปรับตัวลดลงจากที่ประมาณการไว้เดิมที่คาดการณ์จะขยายตัวได้ 2.8% ซึ่งเป็นการประเมินก่อนเกิดโควิด-19 แต่จะติดลบมากน้อยเพียงใด หรือเท่ากับหลายหน่วยงานที่ประมาณการไว้หรือไม่นั้น ต้องขอดูตัวเลขอย่างเป็นทางการอีกครั้ง เชื่อว่าในปีหน้า สศค. เศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวเป็นบวกได้ มองว่าน่าจะขยายตัวได้เกิน  3% หากสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง รายงานข่าวแจ้งว่า ช่วงที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้มีการเลื่อนการประกาศการประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจปี 2563 ปกติจะประกาศช่วงปลายเดือน เม.ย. 2563 ที่ผ่านมา แต่ขอเลื่อนออกไปโดยไม่มีกำหนด

 

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

2. กระทรวงอุตสาหกรรมประชุมหารือ เพื่อติดตามการดำเนินงาน (ที่มา: industry.go.th , ประจำวันที่ 14 พฤษภาคม 2563)

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายไฟฟ้าแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมหารือเพื่อติดตามการดำเนินงานตามมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ครั้งที่ 1-1/2563 ของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อเร่งขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมการใช้และการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล
ผู้อำนวนการสถาบันยานยนต์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมหารือ ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งที่ประชุมได้รับรายงานเกี่ยวกับความก้าวหน้าการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ โครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งการก่อสร้างอาคารห้องปฏิบัติการทดสอบและการจัดหาเครื่องมือทดสอบ คาดก่อสร้างอาคารและติดตั้งเครื่องมือทดสอบในเดือนสิงหาคม 2563

อย่างไรก็ดี การดำเนินการพัฒนาบุคลากรรองรับการปรับเปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ได้ส่งเสริมและสร้างความตระหนักด้านยานยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง และจัดทำคู่มือยานยนต์สมัยใหม่เพื่อเผยแพร่ความรู้พื้นฐาน นโยบาย และมาตรการการสนับสนุนที่เกี่ยวข้อง พร้อมจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนายานยนต์ขนส่งอัตโนมัติ ในอุตสาหกรรม ความก้าวหน้าการบริหารจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้ว โดยได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อบริหารจัดการซากแบตเตอรี่ที่เกิดจากการใช้งานภายในประเทศอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและยั่งยืนต่อเศรษฐกิจหมุนเวียนและต่อยอดการศึกษาการจัดตั้งโรงงานบริหารจัดการซากแบตเตอรี่ และความคืบหน้าการบริหารจัดการซากรถยนต์ และความก้าวหน้าของการก่อสร้างศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ ณ สนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา คาดจะแล้วเสร็จสามารถใช้งานได้ในช่วงปลายปี 2563 หรือต้นปี 2564

 

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา
กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) 

3. EXIM ช่วยลูกค้าฝ่าวิกฤติ รักษาการจ้างงานกว่า 340,000 คน (ที่มา: เว็บไซต์แนวหน้า , ประจำวันที่ 14 พฤษภาคม 2563)

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 (มกราคม-มีนาคม) ของปี 2563 ว่า ถึงแม้เศรษฐกิจไทย หดตัวแต่ธนาคารยังคงสนับสนุนสินเชื่อและบริการประกันให้กับผู้ประกอบการต่อเนื่อง ทำให้มีสินเชื่อคงค้าง 126,137 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19,794 ล้านบาท หรือ 18.61% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นสินเชื่อเพื่อการค้า 37,028 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อการลงทุน 89,109 ล้านบาท ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจ 46,759 ล้านบาท ซึ่งจากจำนวน 126,137 ล้านบาท เป็นเงินสินเชื่อคงค้างแก่ SMEs เท่ากับ 28,567 ล้านบาทเป็นปริมาณธุรกิจของ SMEs เท่ากับ 26,669ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 57.04% อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs Ratio) ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 อยู่ที่4.86% โดยมีสินเชื่อด้อยคุณภาพ 6,132 ล้านบาทและมีเงินสำรองหนี้สงสัยจะสูญ 11,512 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 1,881 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นสำรองหนี้พึงกันตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) 8,103 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินสำรองที่กันไว้แล้วต่อสำรองพึงกัน 142.06% ทำให้ยังคงดำรงฐานะการเงินที่มั่นคง

อย่างไรก็ดี EXIM BANK เป็นสถาบันการเงินไทยรายเดียวในประเทศที่มีบริการประกันการส่งออกและประกันความเสี่ยงการลงทุน ซึ่งภายใต้สถานการณ์ที่การค้าการลงทุนชะงักงันทั่วโลก ยิ่งมีบทบาทสำคัญในการช่วยเพิ่มความมั่นใจและความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกในตลาดการค้าเดิมและตลาดใหม่ รวมทั้งนักลงทุนไทยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2563 มีปริมาณธุรกิจด้านการรับประกันการส่งออกและการลงทุน 36,690 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,965 ล้านบาท หรือ 42.62% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นปริมาณธุรกิจของ SMEs จำนวน 1,356 ล้านบาท หรือ 3.70% ของปริมาณธุรกิจสะสมรวม จากผลการดำเนินงานด้านสินเชื่อและประกันข้างต้น แม้ว่า ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 มีกำไรสุทธิ 107 ล้านบาท ลดลง 67.98% เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิ 334 ล้านบาทในไตรมาสที่ 1ปี 2562 เนื่องจากการปรับลดดอกเบี้ยขั้นต่ำสำหรับเงินกู้สกุลบาทเพื่อช่วยผู้ประกอบการแต่เรามีส่วนสำคัญในการประคับประคองเศรษฐกิจไทยและช่วยเหลือประชาชนภายใต้วิกฤตการณ์ในปัจจุบันด้วยการสนับสนุนการจ้างงานของสถานประกอบการทุกขนาดรวมกว่า 340,000 คน

 

ข่าวต่างประเทศ

4. ผู้นำอียูเตือนประชาชนในยุโรป ไม่อาจกลับไปใช้ชีวิตตามปกติในเร็ว ๆ นี้ (ที่มา: js100.com , ประจำวันที่ 14 พฤษภาคม 2563)

นางอัวร์ซูลา ฟ็อนแดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ชี้แจงต่อที่ประชุมรัฐสภายุโรปในกรุงบรัสเซลส์ เบลเยียมเมื่อวานว่ากลุ่มอียูจัดทำแผนช่วยเหลือทางการเงินแก่รัฐสมาชิกอียูในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังได้รับความเสียหายจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมเตือนว่า ประชาชนในยุโรปไม่อาจกลับไปใช้ชีวิตตามปกติในเร็ว ๆ นี้ ที่ผ่านมากลุ่มอียูเคยประสบภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจมาหลายครั้งแล้ว แต่ไม่มีครั้งไหนที่รุนแรงมากถึงขนาดที่ต้องปิดห้างร้าน โรงงานและระบบคมนาคมเหมือนกับวิกฤตโรคโควิด-19 ตลอด 3 เดือนมานี้ สำหรับแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจในกลุ่มอียู คณะกรรมาธิการยุโรปจะเน้นให้ความช่วยเหลือแก่รัฐสมาชิกที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดและขอรับความช่วยเหลือทางการเงินโดยเร่งด่วนจากกลุ่มอียู 

อย่างไรก็ตาม งบฟื้นฟูเศรษฐกิจในครั้งนี้เพิ่มเติมจากงบประมาณเดิมของอียูสำหรับปี 2563 จึงจำเป็นต้องเปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภายุโรป ในฐานะองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ ตรวจสอบวิธีการใช้จ่ายงบประมาณของคณะกรรมาธิการยุโรป องค์กรฝ่ายบริหารของอียู นางฟ็อนแดร์ ไลเอิน ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าอียูจะใช้งบฯ ฟื้นฟูเศรษฐกิจในวงเงินเท่าไหร่ แต่ได้กำหนดหลักเกณฑ์กว้าง ๆ
 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)