ข่าวในประเทศ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
1. กระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมพร้อมดันเขตเศรษฐกิจพิเศษ (ที่มา: ข่าวประชาสัมพันธ์ในประเทศ , ประจำวันที่ 29 มิถุนายน 2563)
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมได้ผลักดันการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น การดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อน ด้านการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษผ่านการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยกระทรวงอุตสาหกรรมมีความพร้อมอย่างยิ่งที่จะร่วมสานต่อภารกิจในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การพัฒนาเชิงพื้นที่ตามนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทยประสบผลสำเร็จ พร้อมตั้งเป้าหมายให้เกิดการลงทุนจากทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น นักลงทุนต่างประเทศ/ในประเทศใช้ไทยเป็น Hub ของอาเซียน (Connectivity) ตลอดจนมีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำและก่อให้เกิดการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม (Inclusive Growth) ต่อไป โดยร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับนี้จะเป็นกลไกในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ในการบริหารจัดการ กำกับติดตาม และสนับสนุนการดำเนินงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และบูรณาการอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนทั้ง 10 แห่ง และพื้นที่ที่มีศักยภาพเพิ่มเติม ได้แก่ พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor: NEC - Creative LANNA) พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Corridor: NeEC - Bioeconomy) และพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง - ตะวันตก (Western - Central Economic Corridor: WCEC) เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ในก้าวต่อไปของกระทรวงอุตสาหกรรม คือ จะเร่งส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและพร้อมรองรับนักลงทุนที่สนใจเข้าไปลงทุน เช่น นิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว นิคมอุตสาหกรรมสงขลา (สะเดา) จังหวัดสงขลา และนิคมอุตสาหกรรมยางพารา จังหวัดสงขลา โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมยางพารา จังหวัดสงขลา นับเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพและตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการรองรับผลผลิตยางพาราในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมยางพาราทั้งระบบ โดยคาดว่าเมื่อมีการใช้พื้นที่เต็มประสิทธิภาพแล้วจะทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 7,000 อัตรา และก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนกว่า 8,000 ล้านบาท
นายดอน นาครทรรพ
ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
2. ลุ้นส่งออก ผงาดได้ไตรมาส 4 (ที่มา: เดลินิวส์ , ประจำวันที่ 29 มิถุนายน 2563)
นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การส่งออกในเดือน พ.ค. ติดลบ 22.5% ตามที่กระทรวงพาณิชย์รายงาน ถือว่าเป็นไปตามคาดที่ การส่งออกถูกกระทบจากโควิด-19 และเชื่อว่ายังคงติดลบต่อไปอีกในปีนี้ คาดจะทำให้ไตรมาส 2 และไตรมาส 3 การส่งออกไทยติดลบต่อเนื่อง ก่อนเริ่มฟื้นตัวในไตรมาส 4 ซึ่งมีแนวโน้มติดลบน้อยลง จากการคลี่คลายของโควิด-19 และผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่าง ๆ เพื่อฟื้นฟูการส่งออกและเศรษฐกิจ โดยธปท.คาดว่าทั้งปีนี้การส่งออกไทยจะติดลบถึง 10.3% นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เข้มงวด และเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าทั่วโลกหดตัวในหลายประเทศ กระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าที่หดตัวสูง โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะติดลบ 80% ในปีนี้ ซึ่งกระทบต่อรายได้ การจ้างงาน ความเชื่อมั่น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนและภาคธุรกิจในวงกว้าง ทำให้เศรษฐกิจไทย จะหดตัวมากที่สุดในไตรมาส 2
อย่างไรก็ตาม นายกำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) กล่าวว่า อีไอซีคาดส่งออกไทยปีนี้ติดลบ 10.4% โดยต้องติดตามเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด หลังเห็นว่าเศรษฐกิจโลกกำลังผ่านจุดต่ำสุดแลเศรษฐกิจโลกอาจฟื้นตัวเร็วกว่าคาด ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยโดยตรง รวมทั้งติดตาม และประเมินแนวโน้มภาคส่งออกของไทยอย่างใกล้ชิดต่อไปรายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า จากความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกที่สูงขึ้น เป็นปัจจัยกระทบการส่งออกของไทย โดยคาดส่งออกไทยปีนี้ติดลบ 6.1% ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดรอบ 2 อาจทำให้การส่งออกหดตัวกว่าที่ประเมินไว้ โดยเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่แน่นอนสูง และหากโควิด-19 ต่างประเทศยืดเยื้อ ยิ่งเป็นความเสี่ยงให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยที่รุนแรงขึ้น ซึ่งทำให้การส่งออกสินค้าในครึ่งหลัง หดตัวลึกกว่าที่ประเมิน
นางสาวโชนรังสี เฉลิมชัยกิจ
ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย
3. เอสเอ็มอี ชงตั้งกองทุนสินเชื่อ แนะรัฐผ่อนเกณฑ์ เอ็นพีแอล (ที่มา: thairath.co.th , ประจำวันที่ 29 มิถุนายน 2563)
นางสาวโชนรังสี เฉลิมชัยกิจ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยว่า จากวิกฤติ โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเอสเอ็มอีมาก ทั้งจากมาตรการล็อกดาวน์ นักท่องเที่ยว ต่างระงับการเงินทาง และเศรษฐกิจตกต่ำ ทั่วโลก ซึ่งแม้ว่ารัฐบาล จะผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เกือบหมด แต่กำลังซื้อลดลงมาก จากรายได้ที่ลดลงและระวังการใช้จ่าย มากขึ้น เพราะไม่มั่นใจรายได้ในอนาคต และประชาชนหันไปซื้อสินค้าออนไลน์ มากขึ้น ทำให้เอสเอ็มอีบางรายมี รายได้ที่ลดลงจากช่วงก่อนโควิด-19 ภาวะซบเซานี้อาจต่อเนื่องอีก 2 ปี กว่าจะกลับสู่ภาวะปกติ ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งช่วยเหลือไม่ให้เอ็นพีแอลสูงขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สรุปข้อมูลปี 2562 ธนาคารพาณิชย์มีหนี้เอ็นพีแอล 3.2% เกือบ 5 แสนล้านบาท และหนี้ที่ใกล้จะเป็นเอ็นพีแอล 8% จำนวน 1.2 ล้านล้านบาท ส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอีทั้งหมด 5 ล้านล้านบาท เป็นเอ็นพีแอล 4.8% จำนวน 2.4 แสนล้านบาท และใกล้เป็นเอ็นพีแอล 11.1% จำนวน 5.6 แสนล้านบาท ซึ่งวิกฤติโควิด-19 ทำให้เอ็นพีแอลปี 2563 จะสูงขึ้นมาก
อย่างไรก็ตาม ขณะที่ไมโครเอสเอ็มอีส่วนใหญ่อยู่ได้ไม่ถึง 1 เดือน เพราะรูปแบบค้าขายเป็นวันต่อวัน ซึ่งหากโควิด-19 ยืดเยื้อจะมีเอสเอ็มอีและไมโครเอสเอ็ม 30-50% ต้องเป็นเอ็นพีแอล จากจำนวนเอสเอ็มอีรวมไมโครเอสเอ็มอี 3 ล้านราย ซึ่งอาจมีเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นอีกเกือบ 1 ล้านราย โดยเฉพาะหลังเดือน ก.ย.นี้ ที่มาตรการหยุดหนี้ของรัฐบาลสิ้นสุด ส่วนของมาตรการช่วยเหลือนั้น สิ่งเร่งด่วนที่สุด คือ ขอให้ ธปท.ผ่อนคลาย หลักเกณฑ์ข้อกำหนดการเป็นเอ็นพีแอล เช่น ในปัจจุบันหากขาดส่งชำระหนี้เกิน 3 เดือน ควรขยายเวลาออกไปอีกได้หรือไม่ รวมทั้งช่วยฟื้นฟูโครงสร้างหนี้ และผ่อนคลาย กฎระเบียบอื่นเพราะวิกฤติโควิด-19 เป็นสถานการณ์พิเศษที่กระทบธุรกิจรุนแรง รวมทั้งไม่ได้เกิดจากการบริหารงานผิดพลาด จะช่วยลดการเพิ่มขึ้นของจำนวนเอ็นพีแอล ได้มาก ซึ่งหากปล่อยให้เป็นเอ็นพีแอล ผู้ประกอบการจะต่อไม่ได้ ทำให้ขาดนักรบธุรกิจที่มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ข่าวต่างประเทศ
4. เฟด ห้ามธนาคารซื้อหุ้นคืน-จำกัดปันผล (ที่มา: ข่าวหุ้น, ประจำวันที่ 29 มิถุนายน 2563)
นายแรนดัล ควอร์เลส รองประธานธนาคารกลางสหรัฐแถลงว่า ในขณะที่คาดว่าธนาคารจะบริหารเงินทุนและความเสี่ยงสภาพคล่องอย่างรอบคอบ และสนับสนุนเศรษฐกิจที่แท้จริง มีความไม่แน่นอนมากเกี่ยวกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ดังนั้นคณะกรรมการบริหารของธนาคารกลางสหรัฐจึงต้องประเมินภาวะของธนาคารอย่างเข้มข้นมากขึ้นและกำหนดให้ธนาคารใหญ่สุดต้องดำเนินมาตรการอย่างรอบคอบเพื่อรักษาเงินทุนในเดือนที่จะมาถึงนอกจากให้ธนาคารใหญ่ ๆ ระงับการซื้อหุ้นคืนและจำกัดการจ่ายปันผลไว้ที่ระดับปัจจุบันสำหรับไตรมาสสามของปีนี้ และอนุญาตให้จ่ายปันผลได้ตามหลักเกณฑ์ที่ผูกกับกำไรเมื่อเร็ว ๆ นี้เท่านั้น เฟดยังให้ธนาคารยื่นแผนการจ่ายเงินอีกครั้งในปลายปีนี้
อย่างไรก็ดี ธนาคารยังคงจ่ายปันผล โดยนักวิเคราะห์ธนาคารสันนิษฐานว่าการจ่ายเงินปันผลจะยังคงอยู่ในระดับปัจจุบัน ยกเว้นเพียง เวลส์ ฟาร์โก้ ที่กำลังพยายามฟื้นฟูกำไรหลังจากที่เกิดเรื่องฉาวบัญชีปลอม เทรดเดอร์ ในตลาดออปชั่นคาดว่าธนาคารจะถูกบีบให้ลดเงินปันผล แม้แต่เจพีมอร์แกน ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่ที่สามารถทำกำไรได้มากสุด มีการคาดการณ์ว่า ธนาคารจะเปิดเผยแผนเงินทุนในวันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน และจะแถลงว่ายังคงจ่ายปันผลที่ระดับปัจจุบันหรือไม่ นอกเหนือจากพิจารณาการทดสอบโดยทั่วไปของเฟดแล้ว เฟดยังได้พิจาณาถึงสามสถานการณ์ที่เกี่ยวกับการระบาดในปัจจุบัน ซึ่งได้แก่ การฟื้นตัวและถดถอยแบบรูปตัววี แนวโน้มฟื้นตัวและถดถอยรูปตัวยูซึ่งช้ากว่า และแนวโน้มฟื้นตัวและถดถอยรูปตัวดับเบิลยู ซึ่งจะรวมถึงการเกิดภาวะถดถอยซ้ำซ้อน
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)