ข่าวประจำวันที่ 20 ส.ค. 2563

ข่าวในประเทศ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 1. ดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม กรกฎาคมปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 (ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์ ,ประจำวันที่ 20 สิงหาคม 2563)
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2563 อยู่ที่ระดับ 82.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 80.0 ในเดือนมิถุนายน 2563 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ทั้งนี้ พบว่าการฟื้นตัวของภาคการผลิตมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยมีปัจจัยบวกจากการที่รัฐบาลมีการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ทำให้กิจการต่างๆ กลับมาดำเนินการได้มากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการใช้สินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องนุ่งห่ม สินค้าวัสดุก่อสร้าง ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ เช่น งาน Motor Show และโปรโมชัน Mid Year Sale เป็นต้น

อย่างไรก็ดี นายสุพันธุ์ กล่าวว่า แม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม จะเพิ่มขึ้น แต่ยังต่ำกว่าระดับ 100 และยังต่ำกว่าก่อนการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อสภาพคล่องและการเข้าถึงสินเชื่อ รวมทั้งการฟื้นตัวของภาคการส่งออก ตลอดจนความเสี่ยงของการกลับมาระบาดรอบสองของไวรัสโควิด-19 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการภาคอุตสาหกรรม จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,211 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศในเดือนกรกฎาคม 2563 พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ร้อยละ 51.8, ราคาน้ำมัน ร้อยละ 38.0 และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 22.0 ตามลำดับ ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง คือ สภาวะเศรษฐกิจโลก ร้อยละ 67.9 และอัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐร้อยละ 44.3 สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 93.0 โดยเพิ่มขึ้นจาก 90.1 ในเดือนมิถุนายน 2563 ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นปรับตัวดีขึ้นทุกองค์ประกอบ ซึ่งผู้ประกอบการมองว่าภาคการผลิตเริ่มมีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้น หากไม่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบสอง จะทำให้ผู้ประกอบการดำเนินกิจการต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีฯ ยังต่ำกว่าระดับ 100 สะท้อนว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในอนาคตยังต่ำกว่าระดับปกติ เนื่องจากยังมีปัจจัยกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งปัญหาความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีน
 

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์
รองประธาน และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

2. ส.อ.ท. เผยยอดส่งออกรถยนต์ กรกฎาคม 63 ลดลง 39.67% (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์ , ประจำวันที่ 20 สิงหาคม 2563)
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ยอดการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือนกรกฎาคม 63 อยู่ที่ 49,564 คัน ลดลง 39.67% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่งออกลดลงทุกตลาด เนื่องจากยอดขายรถยนต์ในประเทศคู่ค้าลดลงจากการระบาดของโควิด-19 เช่น ยุโรป, สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น และบราซิล เป็นต้น อย่างไรก็ดี อัตราการลดลงของเดือนกรกฎาคม 63 น้อยกว่าเดือนมิถุนายน 63 ตามการค่อยๆ ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ ทั้งนี้ ส่งผลให้ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.63) มียอดการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปทั้งสิ้น 400,114 คัน ลดลง 37.68% จากช่วงเดียวกันของปี 62 คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 216,828 ล้านบาท ลดลด 33.39% จากช่วงเดียวกันของปี 62 ขณะที่ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศเดือนกรกฎาคม 63 มีจำนวนทั้งสิ้น 59,335 คัน ลดลงจากช่วยเดียวกันของปีก่อน 24.8% แต่เพิ่มขึ้น 2.28% จากเดือนมิถุนายน 63 เพราะรัฐบาลผ่อนคลายล็อกดาวน์มากขึ้น รวมทั้งการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และจากการจัดงานบางกอกอินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ กลางเดือนกรกฎาคม ทั้งนี้ ทำให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 379,123 คัน ลดลง 35.6% จากช่วงเดียวกันของปี 62

อย่างไรก็ตาม นายสุรพงษ์ ยังกล่าวด้วยว่า ยอดการผลิตรถยนต์ในเดือนกรกฎาคม 63 อยู่ที่ 89,336 คัน ลดลง 47.71% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการผลิตเพื่อส่งออกลดลง 47.42% และการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลดลง 47.98% แต่ทั้งนี้ ยอดการผลิตเพิ่มขึ้น 24.59% จากเดือนมิถุนายน 63 เนื่องจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ส่วนใหญ่กลับมาเปิดทำการ และโรงงานเริ่มเปิดสายการผลิตเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ส่งผลให้รถยนต์ที่ผลิตได้ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 695,468 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 43.77%
 

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร
กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บริษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

3. บสย. กันเงิน 5 หมื่นล้าน ค้ำหนี้ SME ตกชั้น (ที่มา: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ , ประจำวันที่ 20 สิงหาคม 2563)
นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บริษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า บสย. เตรียมโครงการค้ำประกันสินเชื่อตามนโยบายรัฐระยะที่ 9 (PGS9) วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท เพื่อค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ SME โดยวงเงินดังกล่าวจะทำให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อได้ประมาณ 1 แสนราย เป็นยอดสินเชื่อกว่า 1 แสนล้านบาท โดย บสย. ตั้งเป้าหมายว่า โครงการค้ำประกัน SME ไทยชนะดังกล่าว จะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในช่วงเดือนตุลาคมนี้ โดย บสย. จะกันวงเงินค้ำประกันส่วนหนึ่งหรือประมาณ 5 หมื่นล้านบาทไว้สำหรับช่วยเหลือลูกหนี้ที่ตกชั้นและกำลังจะตกชั้น ส่วนใหญ่จะอยู่ในโครงการพักชำระหนี้ของรัฐบาล ซึ่งจะสิ้นสุดระยะเวลาของมาตรการในช่วงเวลาดังกล่าว ดังนั้น โครงการนี้ ก็จะมารับช่วงต่อ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มดังกล่าว สำหรับ 7 เดือนแรกของปีนี้ บสย. ค้ำสินเชื่อให้ SME ไปแล้ว 1.15 แสนล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 167% สวนทางกับเศรษฐกิจที่ถดถอย ส่วนจำนวนการอนุมัติหนังสือค้ำประกันสินเชื่อ(LG)นั้น มีจำนวน 1.32 แสนฉบับ เพิ่มขึ้น 223% และช่วยลูกค้าใหม่ได้รับสินเชื่อจำนวน 9.8 หมื่นราย เพิ่มขึ้น 222% คาดว่า จนถึงสิ้นปีนี้จะสามารถอนุมัติยอดค้ำประกันสินเชื่อได้มากกว่า 1.5 แสน ล้านบาท และช่วยผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อได้มากกว่า 1.2 แสนราย นอกจากนี้ ในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม ถึง 17 สิงหาคมนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการ SME ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 บสย. ยังช่วยผู้ประกอบการ SME ค้ำประกันสินเชื่อได้จำนวน 1.17 แสนราย คิดเป็นวงเงินค้ำประกันสินเชื่อรวม 9.47หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ดี สำหรับการประชุมคณะรัฐมนตรีวานนี้ (18 สิงหาคม) มีมติเห็นชอบการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีและเสนอมาตรการช่วยเหลือ SME เพิ่มเติม ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อแก้ไขปัญหาข้อติดขัดในการดำเนินโครงการเพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีสภาพคล่อง สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ทั่วถึงและเพียงพอ 3 โครงการ แบ่งเป็น 1.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS Soft Loan พลัส วงเงิน 5.7 หมื่นล้านบาท 2.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS ระยะที่ 8 หรือ "บสย.SMEs ชีวิตใหม่" วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท 3.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro Entrepreneur ระยะที่ 3 วงเงิน 15,000 ล้านบาท

ข่าวต่างประเทศ

4. โควิด พ่นพิษ เกาหลีใต้งดแจกคูปอง กระตุ้นท่องเที่ยว (ที่มา: เว็บไซต์สยามรัฐ , ประจำวันที่ 20 สิงหาคม 2563)
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า กระทรวงวัฒนธรรมเกาหลีใต้ ได้ระงับการแจกคูปองส่วนลดในโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศแล้ว ภายหลังจากสถานการณ์เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดระลอกใหม่อย่างรุนแรงตลอดช่วงสัปดาห์ที่มา โดย รายงานข่าวแจ้งว่า การระงับการแจกคูปองส่วนลดเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศข้างต้น มีขึ้นภายหลังจากทางกระทรวงวัฒนธรรมของเกาหลีใต้ ได้ประชุมฉุกเฉินร่วมกับองค์การการท่องเที่ยวเกาหลีใต้ รวมถึงตัวแทนบรรดาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา โดยคูปองส่วนลดข้างต้น มีมูลค่ารวมแล้ว 90,400 ล้านวอน (คิดเป็นเงินไทยราว 2,395 ล้านบาท) เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายในธุรกิจและสันทนาการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวของประชาชน ฟื้นฟูจากความซบเซาในช่วงที่ไวรัสโควิด -19 แพร่ระบาดอย่างหนักในเกาหลีใต้ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมีรายงานว่าเกาหลีใต้ สูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวด้วยมูลค่าสูงถึง 7 ล้านล้านวอน (คิดเป็นเงินไทยราว 185,490 ล้านบาท)

อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 ในเกาหลีใต้ ล่าสุด ยังคงแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง โดยพบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่เมื่อวันพฤหัสบดีนี้ จำนวน 288 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยติดเชื้อจากภายในประเทศ หรือการแพร่ระบาดในชุมชนจำนวนถึง 276 ราย ส่งผลให้เกาหลีใต้มีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อสะสมจำนวนทั้งสิ้น 16,346 ราย มากเป็นอันดับที่ 76 ของโลก ผู้ป่วยที่เสียชีวิตจำนวน 307 ราย และผู้ป่วยที่รักษาหายมีจำนวนสะสม 14,063 ราย

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)