ข่าวประจำวันที่ 14 ก.ย. 2563

ข่าวในประเทศ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

1. สุริยะ สั่งข้าราชการเร่งอุตสาหกรรม 4.0 รับความต้องการผู้บริโภคยุคใหม่ (ที่มา: มติชนออนไลน์ , ประจำวันที่ 14 กันยายน 2563)

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้เตรียมแผนการดำเนินงานเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ให้เร็วขึ้นจากเดิม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมาย (เอส-เคิร์ฟ) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ตอบสนองต่อความต้องการยุคใหม่ที่เกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยภาคอุตสาหกรรมจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยหลังสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารและการแพทย์เป็นที่ต้องการของทั่วโลก ขณะที่อุตสาหกรรมหลักอื่นจะทยอยฟื้นตัวตามการผ่อนคลายมาตรการและการใช้จ่ายภายในประเทศที่ดีขึ้น อาทิ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ “โควิด-19 เป็นตัวเร่งให้การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลถูกนำมาใช้ประกอบการทำงานและชีวิตประจำวัน ผู้บริโภคจำเป็นต้องปรับตัวสู่ชีวิตวิถีใหม่ ส่งผลให้พฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าที่คาด ภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องยกระดับให้สามารถตอบสนองต่อพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงนี้ให้ทัน และต้องเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตต่อไป” นายสุริยะกล่าว

อย่างไรก็ดี นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า กระทรวงฯได้มอบหมายให้ สศอ. เร่งจัดทำมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและอุตสาหกรรมอุปกรณ์ทางการแพทย์ เนื่องจากสถานการณ์สงครามการค้าส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน ภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกต้องชะงักลง อุตสาหกรรมบางประเภทขาดชิ้นส่วนการผลิต เกิดปัญหาทางด้านการขนส่งสินค้าและวัตถุดิบ ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายเริ่มทบทวนแผนการผลิตใหม่และมีความต้องการย้ายฐานการผลิตออกเพื่อกระจายความเสี่ยง จึงเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะดึงดูดผู้ให้ประกอบการเข้ามาลงทุน โดยประเทศไทยมีจุดแข็งทางด้านของแรงงานที่มีฝีมือและมีการควบคุมโควิด-19 ได้ดี รวมถึงการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

 

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม
อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

2. กรมเจรจาฯ ดันชาไทยใช้ FTA เจาะตลาดพรีเมี่ยม (ที่มา: dtn.go.th , ประจำวันที่ 14 กันยายน 2563)

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังลงพื้นที่สำรวจศักยภาพเกษตรกรและผู้ประกอบการชาเชียงราย การดำเนินงานของศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน และการสัมมนา “โอกาสของชาไทยในยุคการค้าเสรี” ระหว่างวันที่ 12 - 14 กันยายน ที่ผ่านมา ว่า อุตสาหกรรมชาไทยกำลังเผชิญกับโอกาสและความท้าทาย เนื่องจากชาเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของโลก แต่สำหรับประเทศไทย มีอัตราการบริโภคชาไม่สูงมากนัก เฉลี่ย 0.93 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ขณะที่ชาวอังกฤษบริโภคเฉลี่ย 2.74 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ชาวฮ่องกงบริโภคเฉลี่ย 1.42 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ไทยจึงควรส่งเสริมให้ผู้บริโภคหันมาดื่มชาเพิ่มขึ้น ใช้จุดขายเรื่องสินค้าอินทรีย์และสรรพคุณเพื่อสุขภาพ ควบคู่กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ตามรสนิยมผู้บริโภคในลักษณะ DIY รวมถึงเพิ่มช่องทางการขาย เพื่อให้ตลาดชาในไทยมีโอกาสการเติบโตมากขึ้น ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2558 - 2562) ไทยส่งออกชาเขียว เฉลี่ย 979.6 ตันต่อปี มูลค่าเฉลี่ย 6.34 ล้านเหรียญสหรัฐ ชาดำ เฉลี่ย 1,401.7 ตันต่อปี มูลค่าเฉลี่ย 6.2 ล้านเหรียญสหรัฐ และชาสำเร็จรูป เฉลี่ย 9.1 ตันต่อปี มูลค่าเฉลี่ย 22.5 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยตลาดส่งออกสำคัญ คือ กัมพูชา (31%) เมียนมา (20%) และสหรัฐฯ (18%) 

อย่างไรก็ดี สำหรับในปี 2562 ไทยส่งออกชาเขียว 1,057.7 ตัน มูลค่า 9.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดหลักคือ อินโดนีเซีย (38%) เนเธอร์แลนด์ (12%) และมาเลเซีย (9%) ส่งออกชาดำ 2,256 ตัน คิดเป็นมูลค่า 9.6 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีตลาดหลักคือ อินโดนีเซีย (40%) สหรัฐอเมริกา (18%) และกัมพูชา (14%) และส่งออกชาสำเร็จรูป 7,032.3 ตัน มูลค่า 24.5 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีตลาดหลักคือ กัมพูชา (31%) เมียนมา (20%) และสหรัฐอเมริกา (18%) และในช่วง 7 เดือนแรกปี 2563 (ม.ค. – ก.ค.) ไทยส่งออกชาเขียว 492.9 ตัน มูลค่า 4.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (มูลค่าลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 17.92%) ส่งออกชาดำ 601.8 ตัน มูลค่า 2.8 ล้านเหรียญสหรัฐ (มูลค่าลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 45.54%) และส่งออกชาสำเร็จรูป 4,971.1 ตัน  มูลค่า 19.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (มูลค่าเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว 47.77%)

 

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก
ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

3. นิคมอุสาหกรรม แรกแห่งแดนอีสาน คืบหน้าเกินครึ่ง คาดเปิด 100% ปี 64 (ที่มา: MGR Online , ประจำวันที่ 14 กันยายน 2563)

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) นำคณะผู้บริหาร กนอ.และสื่อมวลชน ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เป็นความร่วมมือระหว่าง กนอ. กับ บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด ที่ได้ลงนามในสัญญาร่วมดำเนินงานเมื่อปี 2557 ภายใต้แนวคิดการเป็นนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวแห่งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยใช้กลยุทธ์บริหารจัดการความยั่งยืน เน้นหลักการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างความเจริญเติบโตให้คนไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในบริบทพื้นฐานความสมดุลของเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความสอดคล้องกับกฎหมาย และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี รวมทั้งรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ ในการมีช่องทางประกอบอาชีพในถิ่นเกิด โดยไม่ต้องอพยพไปทำงานที่อื่น และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัด

อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า “นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เป็นนิคมฯแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นนิคมอุตสาหกรรมลำดับที่ 56 ของประเทศ และเป็นจังหวัดที่ 16 ที่มีนิคมอุตสาหกรรมตั้งอยู่ โดยนิคมฯแห่งนี้ ถือได้ว่ามีความได้เปรียบในแง่ของการขนส่งสินค้าได้อย่างดี เนื่องจากมีพื้นที่ห่างจากท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี เพียง 14กิโลเมตร อยู่ห่างจากถนนทางหลวงหมายเลข 2 ถนนมิตรภาพประมาณ 2 กิโลเมตร ขณะที่ทางทิศใต้อยู่ติดกับทางรถไฟสายกรุงเทพ-หนองคาย มีการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center) ที่อยู่ห่างชายแดนจากด่านหนองคาย 53 กิโลเมตร โดยสามารถเชื่อมต่อเศรษฐกิจการค้า ขนส่งสินค้า และกระจายสินค้าผ่านไปทางกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) ได้อย่างสะดวก” ทั้งนี้ เพื่อให้การพัฒนานิคมฯเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ประกอบการ ทางนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี มีแผนการพัฒนาระบบ Logistics ของนิคมฯ แบ่งเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 (2563-2565) จะทำเป็นอาคารคลังสินค้าให้เช่า การบริการรับและจ่ายตู้คอนเทนเนอร์ ให้บริการเปิดตู้และบรรจุตู้คอนเทนเนอร์สำหรับสินค้านำเข้า-ส่งออกผ่านแดน มีการขออนุญาตจัดตั้งเขตปลอดอากรและพร้อมให้ใช้บริการ การให้บริการ Tuck Terminal และการให้บริการขนส่งสินค้าด้วยระบบขนส่งทางรางโดยเชื่อมกับสถานีหนองตะไก้ ส่วนระยที่ 2 (2565-2568) จะพัฒนาระบบรางภายในนิคมอุตสาหกรรมเพื่อเชื่อมต่อกับสถานีหนองอุตสาหกรรมตะไก้ และเป็นผู้ให้บริการขนส่งแบบ Freight Forwarder อย่างเต็มรูปแบบ นอกจากนี้ ยังมีการสร้างรถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ ซึ่งจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงภาคขนส่งระหว่างนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี กับ ประเทศลาว กัมพูชา และจีนมากขึ้น

 

ข่าวต่างประเทศ

4. จีนเดินหน้าลดลงทุนในออสเตรเลีย ตอกย้ำสัมพันธ์ถดถอย (ที่มา: เดลินิวส์ , ประจำวันที่ 14 กันยายน 2563)

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 14 กันยายน ว่ารายงานวิจัยโดยมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) ระบุว่า มูลค่าการลงทุนจากจีนในออสเตรเลียเมื่อปี 2562 อยู่ที่เพียง 2,500 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 56,898.05 ล้านบาท) ลดลงเกือบครึ่งเมื่อเทียบกับมูลค่าการลงทุน 4,800 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย เมื่อปี 2561 (ราว 109,244.25 ล้านบาท) ทั้งนี้ ถือเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันแล้ว ซึ่งมูลค่าการลงทุนจากจีนในออสเตรเลียลดลงอย่างต่อนเอง หลังเคยสูงถึง 15,800 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย เมื่อปี 2559 (ราว 359,595.65 ล้านบาท) โดยรายงานของเอเอ็นยูวิเคราะห์ว่า นักลงทุนชาวจีน "มีความกังวล" ต่อบรรยากาศการลงทุนในออสเตรเลีย "ที่ไม่แน่นอนมากขึ้น" ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจ

อย่างไรก็ตาม มูลค่ากาารลงทุนจากจีนในออสเตรเลียตลอดปีนี้มีแนวโน้มลดลงอีก จากการที่นายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสัน เสนอร่างกฎหมาย "ยกระดับความมั่นคงด้านการลงทุน" เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งหากได้รับความเห็นชอบ จะเป็นการมอบอำนาจให้แก่รัฐบาลกลางในการ "แก้ไข" หรือถึงขั้น "ยกเลิก" ข้อตกลงทางการค้าระหว่างรัฐบาลท้องถิ่นระดับรัฐ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสามารถลงนามร่วมกับรัฐบาลต่างชาติได้เอง โดยทุกฝ่ายเชื่อว่าเป็นความพยายามของมอร์ริสันในการสกัดอิทธิพลของจีน อนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียกับจีนตึงเครียดขึ้นอีกระดับตั้งแต่ปี 2561เมื่อรัฐบาลแคนเบอร์ราแบนการให้บริษัทหัวเว่ยเข้าร่วมโครงการวางระบบและพัฒนาเครือข่าย 5 จี นอกจากนี้ อออสเตรเลียเป็นหนึ่งในประเทศกลุ่มแรกที่เรียกร้องร่วมกับสหรัฐ ให้มีการตรวจสอบ "แหล่งกำเนิดแท้จริง" ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ส่งผลให้รัฐบาลปักกิ่งระงับการนำเข้าสินค้าส่งออกสำคัญหลายชนิดจากออสเตรเลีย

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)