ข่าวประจำวันที่ 15 ก.ย. 2563

ข่าวในประเทศ

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

1. กระทรวงอุตสาหกรรม ปลื้มตลาดนัด SME ยอดขายทะลุเป้า (ที่มา: nationtv.tv , ประจำวันที่ 15 กันยายน 2563)

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ เปิดเผยว่า "งานตลาดนัด SME เราช่วยไทย ไทยช่วยกัน ซึ่งจัดโดยกระทรวงอุตสาหกรรมในช่วงวันที่ 4 - 6 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา ได้ผลตอบรับเกินความคาดหมาย โดยมีประชาชนเข้าร่วมงานกว่า 4 หมื่นคน และจากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้น พบว่า ผู้ประกอบการกว่า 600 ราย ที่นำสินค้าและบริการมาจำหน่าย สามารถทำยอดขายโดยรวมมากกว่า 30 ล้านบาท โดยเฉพาะในหมวด ของอาหาร เกษตรแปรรูป สินค้าแฟชั่นจำพวกสิ่งทอ เสื้อผ้า รวมถึงบริการท่องเที่ยว คิดเป็นสัดส่วนกว่า ร้อยละ 70 ของยอดขายทั้งหมดในงาน นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมงานมีความพึงพอใจโดยรวมอยู่ในระดับสูงมากถึงร้อยละ 86 โดยเฉพาะในด้านคุณภาพของสินค้าและบริการ รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ที่นำเสนอในงาน ซึ่งตลอดทั้ง 3 วัน ได้มีกิจกรรมที่เน้นเพิ่มความรู้ด้านการตลาดในยุค New Normal การปรับตัวของธุรกิจและกรณีศึกษาเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างไรให้ประสบความสำเร็จในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก"

อย่างไรก็ตาม "แม้ว่าตลาดนัด SME จะเป็นงานในระดับเล็ก แต่สิ่งสำคัญคือการที่ประชาชนได้ออกมาจับจ่ายใช้สอย อุดหนุนสินค้าและบริการของไทย ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ และการเพิ่มโอกาสในการต่อยอดธุรกิจของผู้ประกอบการที่นำสินค้าและบริการมาเสนอในงาน โดย SME และวิสาหกิจชุมชนต้องเรียนรู้ความต้องการผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย และทำการปรับปรุงคุณภาพ มาตรฐาน รวมถึงรูปแบบสินค้าใหม่ ๆ ให้เป็นที่ต้องการของตลาด ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ยังคงเร่งให้ความช่วยเหลือสนับสนุน SME และวิสาหกิจชุมชนในการพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถปรับตัวเข้าถึงแหล่งทุน และตลาดทั้งในรูปแบบ Offline และ Online ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป" ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว

 

ดร.ณัฐพล รังสิตพล
อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม

2.พาณิชย์ ยกขบวนกูรูล่องใต้ ใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์ ประจำวันที่ 15 กันยายน 2563)

ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภายใต้การดำเนินงานกิจกรรมการพัฒนาแนวคิดปั้นนักธุรกิจอุตสาหกรรม ผ่านการเปิดคอร์ส e-Learning ภายใต้ชื่อโครงการ “Agro Beyond Academy” โดยจับมือพันธมิตรระหว่างธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และบริษัท วู้ดดี้เวิลด์ จำกัด เพื่อร่วมสนับสนุน ส่งเสริมผู้เข้าร่วมในโครงการฯ ที่นักธุรกิจด้านเกษตรกรรมและเกษตรอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ให้พร้อมก้าวสู่การเป็นสุดยอดนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมไทยแบบอย่างยั่งยืน ตลอดจนสามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจในท้องถิ่นและชุมชนได้

อย่างไรก็ดี โครงการ Agro Beyond Academy ได้ดำเนินการมาในเฟสสุดท้ายของกิจกรรม คือการสรุปและประมวลผลการดำเนินงานของโครงการที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าด้านผู้ประกอบการ และนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการฯ ต่างให้การยอมรับถึงศักยภาพและหลักสูตรการเรียนที่ทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ที่ได้จัดขึ้นมาในครั้งนี้ โดยมีความเห็นว่า โครงการ Agro Beyond Academy เป็นเวทีแห่งโอกาสในการเสริมสร้างความรู้ และสร้างประสบการณ์พิเศษในมิติใหม่ ผ่านการนำแพลตฟอร์มออนไลน์มาประยุกต์ใช้เพื่อเข้าถึงนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมไทยได้อย่างครอบคลุม พร้อมกับความรู้ที่ได้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้จริงในธุรกิจ และสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์และธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรได้จริง ทั้งนี้จากการสอบถามผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด สามารถที่จะนำไปปรับแผนธุรกิจ การขยายธุรกิจและการตั้งธุรกิจเกษตรใหม่ ส่งผลให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10% จำนวนมากกว่า 2,100 คน

 

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม
อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

3. พาณิชย์ ยกขบวนกูรูล่องใต้ ใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์ ประจำวันที่ 15 กันยายน 2563)

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯ เตรียมจัดงานสัมมนาประชาพิจารณ์ "ก้าวต่อไปของไทย หลังปิดดีลอาร์เซ็ป" ในวันที่ 17 กันยายน 2563 ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสาระสำคัญของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) รวมถึงการเตรียมตัวใช้ประโยชน์จากความตกลง และการปรับตัวจากผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ตลอดจนเปิดโอกาสให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น เพื่อรองรับการลงนามความตกลงอาร์เซ็ปที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้

อย่างไรก็ตาม สำหรับความตกลง RCEP ประกอบด้วยสมาชิก 16 ประเทศ (สมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และคู่เจรจาอีก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย) ซึ่งเป็นการรวมฐานการผลิตที่สำคัญของโลก ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตร อาหารแปรรูป อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รวมทั้งขั้นตอนการวิจัยพัฒนาออกแบบ การผลิตอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตลอดจนการกระจายสินค้าสู่มือผู้บริโภค ทั้งนี้ ความตกลง RCEP จะช่วยให้การผลิตสินค้าและการบริการของผู้ประกอบการไทย ทั้งเกษตรกร SMEs ไปจนถึงผู้ประกอบการขนาดใหญ่สามารถเชื่อมโยงเข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าของโลก โดยความตกลง RCEP เป็นความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีประชากรรวมกันเกือบ 3,600 ล้านคน คิดเป็น 48.1% ของประชากรโลก โดยในปี 2562 ประเทศสมาชิกอาร์เซ็ป 16 ประเทศ มีมูลค่า GDP กว่า 28.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 32.7% ของ GDP โลก และมีมูลค่าการค้ารวมกว่า 11.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 29.5% ของมูลค่าการค้าโลก การค้าและการลงทุนของไทยกว่าครึ่ง พึ่งพาตลาดของสมาชิก RCEP โดยไทยกับประเทศสมาชิก RCEP มีมูลค่าการค้ารวม 2.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 59.5% ของการค้ารวมทั้งหมดของไทย และไทยมีมูลค่าการส่งออกกว่า 1.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 57% ของการส่งออกของไทยไปโลก

 

ข่าวต่างประเทศ

4. จีนเผยการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนสิงหาคมขยายตัว 5.6% (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์ , ประจำวันที่ 15 กันยายน 2563)

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานใวันนี้ว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นดัชนีวัดภาวะเศรษฐกิจที่สำคัญ ปรับตัวขึ้น 5.6% ในเดือนสิงหาคม เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการขยายตัวที่รวดเร็วหลังจากที่ปรับตัวขึ้น 4.8% ในเดือนก.ค. และแข็งแกร่งกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนสิงหาคมจะเพิ่มขึ้น 5.1%

อย่างไรก็ตาม รายงานของ NBS ระบุว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยได้แรงหนุนจากการที่โรงงานต่างๆเริ่มกลับมาดำเนินการผลิตอีกครั้ง หลังจากจีนสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้แล้ว เมื่อเทียบเป็นรายเดือน การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนส.ค.ของจีนปรับตัวขึ้น 1.02% ซึ่งฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากที่ขยับขึ้นเพียง 0.98% ในเดือนกรกฎาคม สำนักข่าวซินหัวรายงานโดยอ้างข้อมูลของ NBS ว่า ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนขยายตัว 0.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี หลังจากที่ปรับตัวลง 0.4% ในช่วงเดือนมกราคม-กรกฎาคม

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)