ข่าวประจำวันที่ 16 ก.ย. 2563

ข่าวในประเทศ

นายสันติ พร้อมพัฒน์
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

1. กระทรวงการคลัง จับมือ 18 แบงก์ ค้ำประกัน SoftLoan พลัส (ที่มา: เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ , ประจำวันที่ 16 กันยายน 2563)

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Soft Loan พลัส (Portfolio Guarantee Scheme ระยะพิเศษ Soft Loan พลัส) วงเงินค้ำประกัน 5.7 หมื่นล้านบาท ระหว่างบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และ 18 ธนาคารพันธมิตร ว่า โครงการดังกล่าวจะนำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจ และส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี นำไปสู่การหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาล นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปดูในรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้เงินจาก พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท จำนวน 6 หมื่นล้านบาท เพื่อให้ บสย. ใช้ค้ำประกันให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อขอกู้เงินจากโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วงเงิน 5 แสนล้านบาท ที่ปัจจุบันปล่อยกู้ไปได้เพียง 1 แสนล้านบาท ยังมีวงเงินเหลืออีก 4 แสนล้านบาท โดยมองว่า การค้ำประกันอีก 6 หมื่นล้านบาท จะช่วยทำให้เกิดสินเชื่อในระบบอีก 3.6 แสนล้านบาท ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน ส่วนข้อเสนอของภาคเอกชนที่ต้องการให้ บสย. ขยายการค้ำประกันเพิ่มเป็น 50% จากปัจจุบันที่ 30% นั้น คงต้องมาดูว่าหากมีการขยายจะช่วยส่งเสริมธุรกิจใดที่จำเป็นได้หรือไม่ แต่คงเป็นเรื่องอนาคตที่ค่อยมาพิจารณา เพราะกรอบการค้ำประกันในปัจจุบันที่ 30% นั้น ก็ช่วยทำให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว

อย่างไรก็ดี นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. กล่าวว่า โครงการ Sofe Loan พลัส ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดย บสย. สามารถรับคำขอค้ำประกันสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยคาดว่าจะช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจ สามารถเข้าถึงสินเชื่อ 3.4 หมื่นราย และก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 5.7 หมื่นล้านบาท และยังช่วยลดปัญหาการว่างงาน ซึ่ง บสย. จะค้ำประกันสินเชื่อต่อเนื่องจากโครงการ Soft Loan ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไปอีกเป็นระยะเวลา 8 ปี เริ่มค้ำประกันตั้งแต่ปีที่ 3 จนถึงปีที่ 10 นอกจากนี้ บสย. ยังเตรียมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสถาบันการเงินในโครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. เอสเอ็มอี ไทยชนะ เพื่อช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยมีวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินค้ำประกันสินเชื่อเพื่อธุรกิจทุกประเภท ค้ำประกันสูงสุด 100 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลาค้ำประกันสูงสุด 10 ปี สามารถปรับค่าความเสี่ยงและลักษณะเฉพาะของแต่ละกลุ่มเอสเอ็มอีได้ ซึ่ง บสย. คาดว่าจะก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบได้ 4.5 หมื่นล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ 1.2 หมื่นราย และอุ้มการจ้างงานเพิ่มอีก 4.2 แสนตำแหน่ง

 

นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี
รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

2. กระทรวงการคลัง จับมือ 18 แบงก์ ค้ำประกัน SoftLoan พลัส (ที่มา: เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ , ประจำวันที่ 16 กันยายน 2563)

นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า หลังการกลับมาของธุรกิจจากการปิด ล็อกดาวน์ ประเทศไทยถือว่าสามารถควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ได้ดีจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่นและสนใจที่จะย้ายฐานการผลิตมาในไทยมากขึ้นในหลากหลายธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจการผลิตที่มีศักยภาพ เช่น สินค้าอุตสาหกรรมที่ตอบโจทย์ชีวิตวิถีใหม่ อย่างอุตสาหกรรมเวชภัณฑ์และเคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค อาทิ หน้ากากอนามัย ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด อุปกรณ์ป้องกันต่าง ๆ ที่ความต้องการสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้ "อุตสาหกรรมไทยนับจากนี้จะต้องปรับตัวให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตามแบบชีวิตวิถีใหม่ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาด โดยหันมาใช้แพลตฟอร์ม หรือหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ นวัตกรรมใหม่ ๆ มากขึ้น จากเดิมคาดกันว่าระบบอัตโนมัติจะเข้ามามีบทบาทอีก2-3 ปีข้างหน้า แต่เมื่อมีโควิด-19 เป็นตัวเร่งทำให้ระบบอัตโนมัติเข้ามามีบทบาทเร็วขึ้น หากผู้ประกอบการใดมีการปรับตัวก่อนก็จะได้รับประโยชน์ก่อนคู่แข่งในตลาด” นายภานุวัฒน์กล่าว

อย่างไรก็ดี โดยภายในงาน Intermach 2020 ประกอบไปด้วยงานแสดงเทคโนโลยีเครื่องจักรกลและนวัตกรรมขั้นสูง งานแสดงเครื่องจักรอุตสาหกรรมที่รวมโซลูชันอัจฉริยะ ตอบสนองความต้องการในยุคแห่งการผลิตด้วยเครื่องจักรที่ทรงประสิทธิภาพ ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-26 กันยายนนี้ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ถือเป็นงานแรกของปีนี้ที่ผู้ประกอบการในทุกภาคอุตสาหกรรมควรได้ไปเรียนรู้ อัพเดทนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม เปิดโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนความรู้ รวมถึงจับคู่ธุรกิจเพื่อต่อยอดในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในอนาคตที่พร้อมเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

 

นายวีระพงศ์ มาลัย
ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

3. สสว. หนุน SME ยกระดับมาตรฐานสินค้า (ที่มา: เว็บไซต์แนวหน้า , ประจำวันที่ 16 กันยายน 2563)

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า ตลาดจีนถือเป็นเป้าหมายในการขยายตลาดของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมาอย่างต่อเนื่อง สสว. เล็งเห็นว่าการมุ่งเน้นพัฒนาเพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้า และการปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ ให้สอดคล้องกับกฎระเบียบและความต้องการของตลาดเป้าหมาย โดยเฉพาะสินค้าข้าว ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่มีมูลค่าตลาดขนาดใหญ่ จะช่วยเพิ่มมูลค่าและศักยภาพกลุ่มผู้ประกอบการระดับฐานรากและผู้ประกอบการในพื้นที่ ระดับชุมชน ระดับการค้า ให้แข่งขันได้ในระดับสากล และสร้างเศรษฐกิจไทยให้เกิดการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ได้บูรณาการกับสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) ซึ่งมีสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ กว่า 13 ล้านคนทั่วประเทศ ให้มีการผลิตและขายสินค้ากันระหว่างสมาชิก รวมทั้งได้บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด (เซ็นทรัลแล็บ) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ สสว. ถือหุ้นร่วมกับกระทรวงการคลัง มาช่วยตรวจรับรองมาตรฐาน ส่วนบริษัท ซีซีไอซี (ประเทศไทย) จำกัด จะร่วมตรวจสอบและรมยาสินค้ามาตรฐาน เช่น มันเส้นและข้าวหอมเพื่อการส่งออก กิจกรรมในครั้งนี้ ดำเนินการภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพและช่องทางการตลาดเชิงลึกสำหรับผู้ประกอบการ SME โดยมุ่งหวังว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก พัฒนาสร้างเสริมการยกระดับผู้ประกอบการ สร้างองค์ความรู้ ความเข้าใจเพื่อให้ผู้ประกอบการพัฒนาศักยภาพด้านมาตรฐานสินค้าและขยายตลาดสู่ชุมชนตลาดสากลต่อไป

อย่างไรก็ดี สำหรับกิจกรรมการเจรจาจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการ SME กับผู้ประกอบการจีน แบบคู่ขนาน ที่จัดขึ้นครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมต่อยอดสำคัญ ซึ่ง B2B จะมีผู้ค้ารายใหญ่ไม่น้อยกว่า 3 ราย พิจารณาและมีการสั่งซื้อสินค้าจากไทยไปยังจีน ส่วน B2C จะมีนำเสนอการขายสินค้าให้กับผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ในจีน จำนวนไม่น้อยกว่า 2 ล้านราย ให้เลือกซื้อ

 

ข่าวต่างประเทศ

4. หวังเฟดฯ หนุน เศรษฐกิจดันหุ้นสหรัฐปิดบวก (ที่มา: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ , ประจำวันที่ 16 กันยายน 2563)

ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.27 จุด หรือ 0.01% ปิดที่ 27,995.60 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 เพิ่มขึ้น 17.66 จุด หรือ 0.52% ปิดที่ 3,401.20 จุด และดัชนีแนสแด็ก เพิ่มขึ้น 133.67 จุด หรือ 1.21% ปิดที่ 11,190.32 จุด ทั้งนี้ นักลงทุนมีความหวังว่าเฟดจะเดินหน้าในนโยบายที่สนับสนุนเศรษฐกิจ ขณะที่เฟดเริ่มการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดได้แถลงจุยืนผ่อนคลายมากขึ้นในด้านเงินเฟ้อ โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ที่ประชุมเฟดจะให้รายละเอียดมากขึ้นเกี่ยวกับ "เป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ย" ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการเงินที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ได้กล่าวถึงในการประชุมประจำปีที่เมืองแจ็กสัน โฮล เมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งถือเป็นการประกาศปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินครั้งสำคัญ

อย่างไรก็ตาม นายพาวเวล ระบุว่า เฟดจะเปลี่ยนแปลงแนวทางในการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ โดยจะเปิดทางให้เงินเฟ้อดีดตัวขึ้นมากกว่าเดิมเพื่อสนับสนุนตลาดแรงงานและเศรษฐกิจสหรัฐ และ นายพาวเวล กล่าวว่า เฟดจะใช้เครื่องมือใหม่ที่เรียกว่า "เป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ย" ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อมีความยืดหยุ่น และสามารถดีดตัวขึ้นเหนือ 2% แทนที่จะกำหนดเป้าหมายตายตัวที่ 2% การประกาศปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินดังกล่าว ส่งผลให้เฟดมีแนวโน้มน้อยลงที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่ออัตราว่างงานลดลง ตราบใดที่อัตราเงินเฟ้อไม่ได้ดีดตัวขึ้น ขณะที่ก่อนหน้านี้ เฟดมีความเชื่อว่าอัตราว่างงานต่ำจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นจนถึงขีดอันตราย ทำให้เฟดดำเนินการล่วงหน้าด้วยการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่อาจก่อตัวขึ้น

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)