ข่าวประจำวันที่ 21 ก.ย. 2563

ข่าวในประเทศ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

1. กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งดันร่างพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลเต็มสูบ (ที่มา: มติชนออนไลน์ , ประจำวันที่ 21 กันยายน 2563)

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ศึกษาแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลที่ชัดเจนและสอดรับกับแนวทางการพัฒนาประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยขณะนี้ สศอ. อยู่ระหว่างการจัดทำร่างมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลไทย เพื่อสนับสนุนการพัฒนาภาคการผลิตของไทยทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมตามเป้าหมายของนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และเพื่อลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ สำหรับ การจัดทำมาตรการการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล ในระยะแรกเป็นมาตรการระยะ 5 ปี โดยมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรและเกษตรแปรรูป โดยเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลตามแผน คือ 1) การกระตุ้นอุปสงค์ 2) สนับสนุนอุปทาน สร้างเครือข่ายอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมถึงอุตสาหกรรมสนับสนุนประเภทชิ้นส่วน 3) เสริมสร้างปัจจัยแวดล้อม เช่น เพิ่มมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เครื่องจักรกลและชิ้นส่วน ที่เป็นเป้าหมายตามมาตรฐานสากล จัดตั้งศูนย์ทดสอบเครื่องจักรกลการเกษตรแห่งชาติ หรือสร้างเครือข่ายศูนย์ทดสอบเครื่องจักรกลการเกษตรที่เป็นมาตรฐานสากล 4) สร้างฐานข้อมูล (แพลตฟอร์ม) กลางที่รวบรวมและเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล

อย่างไรก็ตามในปี 2562 ประเทศไทยมีการนำเข้าอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลคิดเป็นมูลค่ากว่า 415,776.9 ล้านบาท สะท้อนไทยยังมีความต้องการเครื่องจักรกลอยู่มาก และขาดดุลการค้าคิดเป็นมูลค่ากว่า 223,381 ล้านบาท “หากภาครัฐไม่ได้ให้ความสำคัญครอบคลุมถึงอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนแล้วนั้น ผลที่ตามมาคือ ประเทศไทยต้องสูญเสียรายได้จากการส่งออกจำนวนมากในแต่ละปีเพื่อนำเข้าสินค้าในกลุ่มนี้ และเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลไทยเพื่อสนับสนุนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่องจักรกลในภูมิภาคอาเซียน” นายสุริยะ กล่าว

 

นายณัฐพล รังสิตพล
อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
กระทรวงอุตสาหกรรม

2. กสอ. ประกาศผลสุดยอดผู้ประกอบการ Challenge Project by DIProm (ที่มา: มติชนออนไลน์ , ประจำวันที่ 21 กันยายน 2563)

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้จัด “กิจกรรมเปิดทาง-สู่ธุรกิจหลัง COVID 19” ค้นหาสุดยอดผู้ประกอบการ (Challenge Project by DIProm) เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเร่งด่วน “ดีพร้อมทันที 90 วัน” ที่ช่วยขับเคลื่อนมาตรการฟื้นฟูเร่งด่วน สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรับผลกระทบโควิด-19 กิจกรรมดังกล่าว ทางกรมฯได้ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบโควิดในหลายกลุ่ม อาทิ นักศึกษา สตาร์ทอัพ ผู้ว่างงาน และผู้ประกอบการ ฯลฯ ผ่านการจัดกิจกรรมการอบรมออนไลน์การเขียนแบบจำลองธุรกิจ กิจกรรมการติวเข้มสู่ความเป็นสุดยอด New Normal กิจกรรมแคมป์ออนไลน์ กิจกรรมการแข่งขันสู่ความเป็นสุดยอด BMC เพื่อสร้างให้ผู้ที่สนใจเป็นผู้ประกอบการ หรือ เป็นผู้ประกอบการอยู่แล้วแต่ต้องเผชิญกับสภาวะวิกฤต COVID-19 สามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้อย่างประสบความสำเร็จ โดยสามารถนำเอาองค์ความรู้ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการไปต่อยอดธุรกิจ และปรับปรุงโมเดลธุรกิจ (Business Model Canvas) ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้ช่วยเพิ่มยอดขาย ทำให้ธุรกิจมีโอกาสประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น และพลิกฟื้นกิจการหลังได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 ตลอดจนทักษะและแนวทางต่างๆ ที่จำเป็น และสำคัญต่อการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จในยุคชีวิตวิถีใหม่ (New Normal)

อย่างไรก็ดี โครงการนี้ไม่เพียงถ่ายทอดองค์ความรู้แต่ยังรวมไปถึงการเชื่อมโยงโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนให้กับผู้ประกอบการใหม่ โดยได้รับความร่วมมือจาก True digital Park ที่เป็นผู้สนับสนุนเงินรางวัล เพื่อเป็นทุนตั้งต้นธุรกิจให้กับผู้ประกอบการที่มีไอเดียและแผนการทำธุรกิจที่โดดเด่น พร้อมด้วยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME-D Bank) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และธนาคารกสิกรไทย (K-BANK) ที่จะมาช่วยชี้แนะแนวทางในการเข้าถึงแหล่งทุน รวมถึงแนวทางในการดำเนินธุรกิจ ในยุควิกฤต COVID-19 อีกด้วย

 

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ
ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.)
รองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES)

3. กสอ. ประกาศผลสุดยอดผู้ประกอบการ Challenge Project by DIProm (ที่มา: MGR Online , ประจำวันที่ 21 กันยายน 2563)

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ในฐานนะรองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ให้สัมภาษณ์ถึงอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในอนาคตว่า อุตสาหกรรมโทรคมนาคมเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมอันดับต้นๆ ที่กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผัน และมีบริษัทจำนวนมากที่ได้ลงทุนหลายพันล้านในโครงสร้างพื้นฐานเครือข่าย 5G เพื่อให้เครือข่ายมีความเร็วในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นและมีความหน่วงเวลาที่ต่ำอย่างมากในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยผู้คนที่ไม่มีพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลมาก่อนจะสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้ง่ายมากขึ้น ปัจจุบันมีผู้ให้บริการโทรคมนาคมจำนวนมากที่มีการเสนอแผนงาน และช่องทางที่หลายหลายเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณจราจรข้อมูลในเครือข่ายเพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกันลูกค้าบางรายอาจต้องการความเรียบง่ายและการเป็นส่วนตัวที่คุ้นเคยจากแบรนด์ดิจิทัลชั้นนำ ทำให้ผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมดั้งเดิมและคู่แข่งมีความจำเป็นที่จะต้องปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของผู้ใช้บริการ และอาจต้องเสี่ยงต่อการแข่งขันจากผู้เล่นหน้าใหม่

อย่างไรก็ดี พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวอีกว่า เมื่อ 5G มีการขยายตัวรวดเร็วมากขึ้น ถือเป็นหนึ่งในตัวเร่งสำคัญที่สุด ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เพราะ 5G ทำให้เครือข่ายมีแบนด์วิดท์ที่สูงขึ้นอย่างมาก มีความหน่วงเวลาต่ำลง และทำให้การเชื่อมต่อเครือข่ายที่ดีขึ้น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มุ่งเน้นการปรับปรุงและพัฒนาบรอดแบนด์เคลื่อนที่ และการเข้าถึงเครือข่ายไร้สายยังสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ รวมถึงเครื่องมือ AI จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ผู้ประกอบการเครือข่ายสามารถใช้ประโยชน์สูงสุดจาก 5G โดยผู้ให้บริการเครือข่ายจำเป็นจะต้องขับเคลื่อนธุรกิจด้วยความชาญฉลาดและมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่ง AI จะมีบทบาทในการพัฒนาด้านการตลาดและการให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้การดำเนินงานมีต้นทุนที่ลดต่ำลง และค่าบริการที่ถูกลง และสุดท้ายคือกลุ่มคนที่เติบโตมากับเทคโนโลยีดิจิทัล จะเป็นผู้เปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมใหม่

 

ข่าวต่างประเทศ

4. ศาลสหรัฐฯ บล็อกคำสั่งรัฐบาลแบนวีแชท (ที่มา: เดลินิวส์ , ประจำวันที่ 21 กันยายน 2563)

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 20 กันยายน ว่าศาลแขวงรัฐบาลกลางที่เมืองซานฟรานซิสโกของสหรัฐ มีคำพิพากษาฉุกเฉินเมื่อวันอาทิตย์ เป็นคำสั่งห้ามมาตรการของรัฐบาลในกรุงวอชิงตัน ซึ่งต้องการปิดกั้นผู้ใช้งานภายในประเทศจากการดาวน์โหลดและอัปเดตแอปพลิเคชันวีแชท เนื่องจากศาลมีความวิตกกังวัลต่อการดำเนินการของภาครัฐ ว่าเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของพลเมือง

อย่างไรก็ตาม คำพิพากษาดังกล่าวของศาลเป็นไปตามคำร้องของพันธมิตรผู้ใช้งานวีแชท ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรไม่แสวงผลกำไรของสหรัฐ และบุคคลอีกจำนวนหนึ่ง ที่ร่วมกันยื่นเรื่องเมื่อปลายเดือนที่แล้ว ขณะเดียวกัน คำสั่งนี้ของศาลซึ่งครอบคลุมการใช้งานวีแชททั้งสหรัฐเกิดขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมง ก่อนมาตรการของกระทรวงพาณิชย์จะมีผลในวันที่ 20 กันยายน นี้ โดยแท้ผู้ที่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันไว้ในอุปกรณ์ของตัวเองยังสามารถใช้งานระบบได้ต่อไป แต่การทำงานจะช้าลง และไม่สามารทำธุรกรรมออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มของวีแชทได้อีก ด้านเจ้าของวีแชทคือบริษัทเทนเซ็นต์ในจีนปฏิเสธให้ความเป็นอย่างเป็นทางการต่อคำพิพากษาของศาล ส่วนผู้สันทัดกรณีมองว่า "เป็นเพียงการซื้อเวลาและความสบายใจระยะสั้น" เนื่องจากรัฐบาลกลางยังมีสิทธิ์อุทธรณ์ และหากเป็นฝ่ายชนะก่อนถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหม่ในวันที่ 3 พฤศจิกายน นี้ วีแชทต้องออกจากตลาดในสหรัฐอยู่ดี "แต่สถานการณ์อาจดีขึ้น" หากการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นส่งผลให้สหรัฐได้ "บุคคลอื่น" เป็นผู้นำประเทศ ขณะที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐแสดงความไม่พอใจ แต่ยังไม่ได้มีท่าทีชัดเจนว่าจะอุทธรณ์หรือไม่ โดยกล่าวว่ายังมีแอปพลเคชันอื่นอีกมากมายซึ่งสร้างสรรค์โดยนักพัฒนาชาวอเมริกัน และสามารถใช้งานทดแทนวีแชท "ซึ่งยังไม่สามารถตอบโจทย์ด้านความมั่นคงได้"

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)