ข่าวประจำวันที่ 22 ก.ย. 2563

ข่าวในประเทศ

นายศุภกิจ บุญศิริ
รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม
กระทรวงอุตสาหกรรม

1. กรมโรงงานฯ เผยมาตรการเยียวยาโรงงานอุตสาหกรรม (ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์ , ประจำวันที่ 22 กันยายน 2563)

นายศุภกิจ บุญศิริ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เผยมาตรการเยียวยาโรงงานอุตสาหกรรมจากวิกฤติโควิด 19 “ตามมติคณะรัฐมนตรี ให้มีการยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปี ให้กับโรงงานจำนวน 56,598 แห่งทั่วประเทศ เป็นระยะเวลาหนึ่งปี พร้อมการจัดทำของบประมาณตามแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม จากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 และโครงการจำนวนทั้งหมด 5 โครงการ โดยครอบคลุมถึงการบำรุงรักษาเครื่องจักร การยกระดับด้านความปลอดภัย มาตรฐาน ผลิตภาพ พลังงานและสิ่งแวดล้อม การฟื้นฟูโรงงานอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปด้วยเทคนิควิศวกรรมอาหาร และการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และ SMEs ในซัพพลายเชน เป็นเงินประมาณ 231 ล้านบาทจากวิกฤติดังกล่าว ผู้ประกอบการโรงงานหลายราย อาจจะกำลังฟื้นตัวจากผลกระทบที่เผชิญในหลายเดือนที่ผ่าน ทางรอดจากช่วงเวลาเช่นนี้ นอกจากมาตรการเยียวยาและนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐแล้ว แนะผู้ประกอบการต้องอาศัยปรับตัวในธุรกิจให้ทันการเปลี่ยนแปลง รวมถึงการปรับเปลี่ยนระบบโรงงานและการผลิต เพื่อให้เติบโตได้ในโลกธุรกิจอุตสาหกรรมยุคใหม่นี้

อย่างไรก็ดี สำหรับการปรับตัวของโรงงาน รองอธิบดีฯ ได้กล่าวถึงความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่สามารถช่วยให้การดำเนินอุตสาหกรรมเดินหน้าไปได้ โดยภาคธุรกิจไม่ว่าจะขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ จะเคลื่อนตัวสู่ด้านดิจิทัล และภาคการผลิตจะเป็นในลักษณะ On-demand Manufacturing มากขึ้น โควิด-19 จึงเป็น Game Changer ที่ทำให้เราก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้อย่างเต็มตัว ทั้งนี้ การปรับปรุงคุณภาพโรงงาน นอกจากเรื่องสายการผลิตแล้ว ระบบโรงงานที่ได้มาตรฐานยังเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้และต้องพัฒนาให้ได้อย่างครอบคลุม กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จึงพร้อมให้การสนับสนุนการจัด “งานแฟ็กเทค 2021” ในวันที่ 23-26 มิถุนายน 2564 ณ ไบเทค บางนา งานเดียวในอาเซียนที่จะรวบรวมโซลูชั่นและบริการเพื่อพัฒนาการระบบโรงงานรอบด้าน ระบบไฟและไฟฟ้า ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมในโรงงาน ระบบรักษาความปลอดภัยและไอที รวมไปถึงโซลูชั่นเพื่อการก่อสร้างและบำรุงรักษา อีกทั้งการเสริมองค์ความรู้ในงานสัมมนา ที่จะเจาะลึกด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย พลังงานและความรับผิดชอบต่อสังคม จะเข้ามาช่วยสร้างปรับเปลี่ยนโรงงานสู่มาตรฐานและอุตสาหกรรม 4.0 ไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

นายกีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์
ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (MEA)

2. MEA จับมือ ขสมก. ลงนาม MOU พัฒนาพลังงานทดแทน (ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์ , ประจำวันที่ 22 กันยายน 2563)

นายกีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA และนายสันติ นำสินวิเชษฐชัย รองผู้ว่าการ MEA พร้อมด้วย นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และนางพริ้มเพรา วงศ์สุทธิรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการเดินรถ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การพัฒนาโครงการด้านพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน โดยร่วมกันพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน การวิจัยและพัฒนาต้นแบบ EV Charging Station สำหรับรถเมล์ไฟฟ้าสาธารณะ ตลอดจนร่วมกันศึกษาวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าและปรับลดปริมาณการใช้ไฟฟ้า ณ อาคารวัฒนวิภาส การไฟฟ้านครหลวง สำนักงานใหญ่ คลองเตย เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าการ MEA เปิดเผยว่า MEA ในฐานะรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่ในการจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ โดยมุ่งมั่นพัฒนาระบบไฟฟ้าที่มั่นคงและมีประสิทธิภาพ วิจัยนำนวัตกรรมด้านพลังงานมาใช้ไปพร้อม ๆ กับการใส่ใจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมตามวิสัยทัศน์พลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้พลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน โดยที่ผ่านมา MEA มีการสร้างความร่วมมือกับหลากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาการใช้พลังงานทดแทนให้เกิดประโยชน์กับองค์กร หน่วยงาน และประเทศชาติอย่างต่อเนื่อง โดยในครั้งนี้ MEA ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การพัฒนาโครงการด้านพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน กับ ขสมก. โดย MEA ได้สนับสนุนนวัตกรรมและให้ความร่วมมือในด้านต่าง ๆ เพื่อผลักดัน ขสมก. ให้เป็นต้นแบบองค์กรด้านพลังงานที่ยั่งยืน ได้แก่ 1. การให้ความร่วมมือในการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ด้วยการนำเทคโนโลยีระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Rooftop) มาใช้เพื่อการประหยัดพลังงาน 2. การให้ความร่วมมือในการศึกษาวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้า และปรับลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าในด้านต่าง ๆ

 

นายอัครวัฒน์ อัศวเหม
ส.ส. สมุทรปราการ เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ
ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม
สภาผู้แทนราษฎร

3.อัครวัฒน์ นำนวัตกรรมบำบัดน้ำเสียชุมชนสมุทรปราการ (ที่มา: มติชนออนไลน์ , ประจำวันที่ 22 กันยายน 2563)

นายอัครวัฒน์ อัศวเหม ส.ส. สมุทรปราการ เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานเปิดงานสัมมนา “การบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนในจังหวัดสมุทรปราการด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม” ณ ศูนย์เยาวชนเทศบาลนครสมุทรปราการ

อย่างไรก็ตาม นายอัครวัฒน์ กล่าวว่า ปัญหาน้ำเสียชุมชนในจังหวัดสมุทรปราการ เป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ในจังหวัดสมุทรปราการเป็นอย่างมาก ผลจากการใช้ทรัพยากรอย่างไม่รู้คุณค่า ไม่ตระหนัก และขาดจิตสำนึก ในการรักษาสิ่งแวดล้อมทั้งจากภาคอุตสาหกรรมและชุมชนบ้านเรือนทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง กระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน และระบบนิ เวศน์ที่เคยอุดมสมบูรณ์ของจังหวัดสมุทรปราการ “ผมถือว่าปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาระดับประเทศที่ต้องร่วมกันแก้ไข โดยภาคส่วนต่างๆ ร่วมกัน หาใช่ปัญหาที่จะแก้ไขโดยจังหวัดสมุทรปราการแต่เพียงลำพัง เพราะต้องพิจารณาให้รอบคอบ รอบด้าน รวมทั้งต้องนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม มาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมเพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชาชน” นายอัครวัฒน์ กล่าว

 

ข่าวต่างประเทศ

4. UN ประชุมใหญ่ครั้งที่ 75 ท่ามกลางวิกฤติ (ที่มา: เดลินิวส์ , ประจำวันที่ 22 กันยายน 2563)

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากนครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 21 กันยายน ว่านายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) กล่าวถ้อยแถลงเปิดการประชุมสมัชชาใหญ่ UN เมื่อวันจันทร์ ซึ่งปีนี้ตรงกับวาระสำคัญคือครบรอบ 75 ปีแห่งการสถาปนาสหประชาชาติ มีสาระคือท่ามกลางบรรยากาศของการแบ่งฝ่ายที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ผู้นำโลกยิ่งต้องเพิ่มความเป็นเอกภาพเพื่อขับเคลื่อนกลไกพื้นฐานให้เดินหน้าไปอย่างราบรื่น ทั้งนี้ เลขาธิการ UN เน้นการเรียกร้องความร่วมมือฟื้นฟูกลไกพหุภาคี ซึ่งเป็นสิ่งที่บรรดาประเทศขนาดเล็กร่วมกันผลักดันมาตลอด และกล่าวถึง "บทสำคัญซึ่งประสบความสำเร็จมากที่สุด" ขององค์กรตลอดระยะเวลา 75 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการป้องกันการเกิดสงครามระหว่างชาติมหาอำนาจ แม้ความขัดแย้งด้านอาวุธยังคงอยู่ในหลายพื้นที่ของตะวันออกกลางและแอฟริกา และการขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันต่อสู้กับวิกฤติความยากจน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ "SDG" ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ 15 ปี จนถึงปี 2573

อย่างไรก็ตาม แม้เป็นวาระสำคัญของ UN แต่ด้วยวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ส่งผลให้การประชุมครั้งนี้จัดผ่านระบบวีดีโอเป็นหลัก ผู้นำโลกส่วนใหญ่บันทึกถ้อยแถลงของตัวเองไว้ล่วงหน้า โดยตามรายชื่อของ UN มีทั้งหมด 182 คนในปีนี้ และเปิดตามลำดับ รวมถึงประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งอยู่ในลำดับที่หนึ่ง แต่ผู้นำสหรัฐไม่ได้ส่งคลิปมา ด้านประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน ส่งถ้อยแถลงทั้งแบบคลิปและเป็นลายลักษณ์อักษร มีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า รัฐบาลปักกิ่งพร้อมให้ความร่วมมือกับประชาคมโลกต่อการปฏิรูปทุกด้าน "บนพื้นฐานของความเท่าเทียม" ทั้งนี้ กิจการบนโลกไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมและสั่งการโดยประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนโดยใช้วิธีไม่เป็นธรรม

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)