ข่าวประจำวันที่ 28 ก.ย. 2563

ข่าวในประเทศ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

1. สุริยะดันแผนขับเคลื่อนอุตฯ เครื่องมือแพทย์เต็มสูบ (ที่มา: ข่าวประชาสัมพันธ์ในประเทศ , ประจำวันที่ 28 กันยายน 2563)

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้เร่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ 1 ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ให้ทันภายในปี 2564 หลังอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2558-2562) โดยมีการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ร้อยละ 4.09 จากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุที่ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในปีหน้า อีกทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมาได้ส่งผลให้สินค้าและเครื่องมือทางการแพทย์บางประเภทขาดแคลน จึงเป็นโอกาสที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์เป็นอุตสาหกรรมหลักในการขับเคลื่อนประเทศในอนาคต โดยมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จัดทำร่างแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ระยะที่ 1 (พ.ศ.2564-2570) พร้อมตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่องมือแพทย์ในอาเซียนภายในปี 2570

อย่างไรก็ดี นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ร่างแผนปฏิบัติการจะมุ่งแก้ปัญหาอุปสรรค และยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของไทยตลอดห่วงโซ่มูลค่าให้มีการพัฒนาขยายตัวอย่างรวดเร็วเนื่องจากเป็นแผนปฏิบัติการที่เริ่มปฏิบัติได้ทันที โดยแบ่งออกเป็น 3 มาตรการหลัก ได้แก่ 1. การส่งเสริมการผลิตและการลงทุนในเครื่องมือแพทย์ ให้สิทธิประโยชน์กระตุ้นให้มีการผลิตและการลงทุนเครื่องมือแพทย์ ยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ไทยให้มีการผลิตเครื่องมือแพทย์ในระดับที่สูงขึ้น กำนหนดมาตรฐานอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ให้มีความเชื่อมั่นในสินค้าเครื่องมือแพทย์ รวมถึงการสร้างตราสินค้าเครื่องมือแพทย์ของไทย 2. การส่งเสริมช่องทางการเข้าสู่ตลาด ให้มีการใช้เครื่องมือแพทย์ที่ผลิตในประเทศให้มากขึ้น โดยกำหนดสิทธิประโยชน์หรือแรงจูงใจเพิ่มเติมในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างสำหรับโรงพยาบาลของรัฐ ส่งเสริมให้โรงเรียนแพทย์มีการใช้เครื่องมือแพทย์ของไทยเพื่อให้แพทย์มีความเชื่อมั่นในการใช้เครื่องมือแพทย์ที่ผลิตในประเทศไทย การส่งเสริมตลาดต่างประเทศโดยการจัดงานหรือการเข้าร่วมการประชุมวิชาการทางการแพทย์นานาชาติและงานแสดงสินค้าเครื่องมือแพทย์ ซึ่งจะเพิ่มประโยชน์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์ในระดับสากลและส่งเสริมเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ของไทยกับนานาชาติ 3. การส่งเสริม/เตรียมความพร้อมด้านปัจจัยสนับสนุน มีการสร้างปัจจัยสนับสนุนในการยกระดับการผลิตเครื่องมือแพทย์ โดยส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา (R&D) และการต่อยอดงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ พัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ สร้างผู้เชี่ยวชาญด้านกลไกควบคุมกำกับดูแลเครื่องมือแพทย์ (Regulatory expert) และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเชิงเทคนิค (Technical expert) เพื่อให้คำปรึกษานักวิจัยและผู้ประกอบการในการประเมินเอกสารการขึ้นทะเบียนเครื่องมือแพทย์ การสนับสนุนข้อมูลสารสนเทศ ระบบฐานข้อมูลกลางเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อาทิ ข้อมูลบัญชีผู้เชี่ยวชาญ ข้อมูลห้องปฏิบัติการทดสอบ ข้อมูลหน่วยงานทดสอบหรือวิจัยทางคลินิก ข้อมูลเอกสารและผลการทดสอบประกอบการขึ้นทะเบียนเครื่องมือแพทย์ เพื่อให้มีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันสามารถเข้าถึงข้อมูลผู้เชี่ยวชาญ งานวิจัย และผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

 

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก
ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

2. นิคมยางพาราเนื้อหอม บริษัทผลิตถุงมือยางรายใหญ่ทุ่มทุนเช่าที่ดินมูลค่า 6 พันล้าน (ที่มา: ไทยโพสต์ , ประจำวันที่ 28 กันยายน 2563)

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ. ได้ลงนามในสัญญาเช่าที่ดิน กับบริษัท สิงหเสนี กรุ๊ป จำกัด ซึ่งร่วมทุนกับบริษัท แอทยีนส์ โกลบอล ลิงค์ จำกัด ในพื้นที่โครงการนิคมอุตสาหกรรมยางพารา ในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เนื้อที่ประมาณ 83 ไร่ เพื่อประกอบกิจการโรงงานผลิตถุงมือยางจากน้ำยางธรรมชาติซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยจะใช้น้ำยางธรรมชาติเป็นวัตถุดิบหลักประมาณ 3,600 ตันต่อเดือน หรือประมาณ 43,200 ตันต่อปี ในพื้นที่จังหวัดสงขลา และจังหวัดใกล้เคียง เป็นการตอบสนองนโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ และช่วยยกระดับผลผลิตยางพาราในพื้นที่ภาคใต้ให้เป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้น โดยคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดดำเนินการได้ในช่วงเดือนเมษายน 2564

อย่างไรก็ดี สำหรับการลงนามในสัญญาเช่าครั้งนี้ นอกจากจะผลิตถุงมือยางแล้ว บริษัทฯยังมีการจัดตั้งศูนย์การทดสอบและรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ถุงมือยาง ซึ่งเป็นความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในการวิจัยยางธรรมชาติโปรตีนต่ำ เพื่อนำไปผลิตถุงมือยางธรรมชาติที่มีคุณสมบัติพิเศษในการเป็นถุงมือยางที่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการวิจัยโครงการนี้เป็นเวลา 1 ปี จากนั้นศูนย์ฯจะนำผลการวิจัยและนวัตกรรมที่ได้ไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพาราเพื่อใช้ในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูงและเพิ่มมูลค่าของสินค้าและสามารถเป็นสินค้าส่งออกที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในตลาดสากล

 

ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ
รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

3. สสว. ปิ๊งไอเดียช่วย SME สู้โควิค-19 ชูกลไกผ่านช่องทางให้ BDS ขับเคลื่อน (ที่มา: สำนักข่าวบ้านเมือง , ประจำวันที่ 28 กันยายน 2563)

ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยในงานปาฐกถาพิเศษ “การส่งเสริมSME ผ่านที่ปรึกษาเอกชน” ว่า สสว. ได้มียุทธศาสตร์ด้านการส่งเสริมวิสาหกิจกลางและขนาดย่อม ผ่านทางกลไกของหน่วยให้บริการเพื่อการพัฒนาธุรกิจหรือBusiness Development Services (BDS) เรียกว่าโมเดลทดลอง เพื่อจะช่วยเหลือผู้ประกอบการ ซึ่งสสว.มีแนวทางการพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาSME ผ่านกลไกของที่ปรึกษาเอกชน ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยการอุดหนุนและส่งเสริมการใช้บริการที่มีปรึกษาเอกชน พร้อมทั้งการทำระบบมาตรฐานการบริการและเพิ่มขีดความสามารถในด้านการให้บริการของที่ปรึกษาเอกชนไปพร้อมๆกัน เพื่อให้การส่งเสริม SME เป็นไปได้อย่างทั่วถึง ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนให้เกิดกลไกการพัฒนาSME อย่างยั่งยืนต่อไป

อย่างไรก็ดี BDS ถือได้ว่าเป็นโมเดลทดลอง นำร่องที่จะเป็นการช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการสามารถขับเคลื่อนธุรกิจ ในช่วงสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 เตรียมพร้อมการปรับตัวเพื่อที่ดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดต่อไป ในเบื้องต้นจะทดลองโมเดลดังกล่าว ต้นปี2564 น่าจะใช้ระยะเวลา6 เดือน-1 ปี คาดว่าจะใช้งบประมาณ 80 ล้านบาท การให้คำปรึกษาทางด้านธุรกิจ  อาทิเช่น ในการเข้ามาดูแล ช่วยเหลือ แนวทาง การตลาด อีกทั้งขึ้นอยู่ในแต่ละกลุ่มผู้ประกอบการให้ทีมที่ปรึกษาเอกชน ช่วยในด้านในรูปแบบใด หรือมีปัญหา อุปสรรคในการดำเนินธุรกิจอย่างไรตั้งเป้าหมายผู้ประกอบเข้าร่วมโมเดลประมาณ 10 ราย นำร่องในการพัฒนาพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาSME ผ่านกลไกของที่ปรึกษาเอกชน หากประสบผลสำเร็จ เชื่อว่าจะสามารถขยายผลระยะต่อไปอนาคต สำหรับ แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2563 – 2564 นั้น แม้ว่าประเทศไทยจะควบคุมโรคโควิด-19 ได้ดีอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ ระบบเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญปัญหาอย่างหนัก ซึ่งโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบ อย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจไทย และยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนสูงจากปัจจัยอื่นๆ อีก เช่น การแข็งค่าของเงินบาท รวมถึงประเด็นทางการเมือง เป็นต้น “ถึงแม้ สสว. คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลัง 2563 เศรษฐกิจมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการบริโภคในภาคเอกชนเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเข้ามาได้บางส่วนในเดือนตุลาคม 2563 แต่ สสว. ประเมินว่าเศรษฐกิจ MSME ไทยในปีนี้มีแนวโน้มหดตัวกว่าประมาณการเดิม เนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 รุนแรงกว่าที่คาดไว้”
 

ข่าวต่างประเทศ

4. ศาลสหรัฐฯ บล็อกคำสั่งรัฐบาลแบนวีแชท (ที่มา: เดลินิวส์ , ประจำวันที่ 21 กันยายน 2563)

สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่ารัฐบาลสหรัฐได้กำหนดข้อจำกัดการส่งออกกับบริษัท Semiconductor Manufacturing International Corp. หรือ SMIC ซึ่งเป็นรัฐวิสหกิจเทคโนโลยีที่มีชื่อเสียงอีกแห่งของจีน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีของจีน และทำให้เพิ่มความตึงเครียดระหว่างสองประเทศมากขึ้นไปอีก กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯกล่าวในจดหมายลงวันที่ 25 กันยายนว่าขณะนี้บริษัทในสหรัฐต้องยื่นขอใบอนุญาตในการส่งออกผลิตภัณฑ์บางอย่างไปยังผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของจีน คือ SMIC เนื่องจาก SMIC และบริษัทในเครือส่อให้เห็นว่ามีความเสี่ยงที่ชิปที่นำเข้ามาจากสหรัฐมายังจีนนั้นจะถูกนำไปใช้ทางทหารในท้ายที่สุด

อย่างไรก็ตาม SMIC ไม่ได้ถูกจัดให้อยู่ในรายชื่อนิติบุคคลต้องห้ามของรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งหมายความว่าข้อจำกัดดังกล่าวยังไม่รุนแรงเท่ากับข้อจำกัดที่กำหนดไว้สำหรับ Huawei Technologies Co. ของจีน โดยมีรายงานว่าสหรัฐอาจจะทำบัญชีดำที่มีมาตรการรุนแรงมากขึ้นซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของกลุ่มบริษัทที่กว้างขึ้น สำนักข่าว Bloomberg การตัดสินใจใช้มาตรการนี้กับ SMIC เป็นการประนีประนอมระหว่างกระทรวงกลาโหมและการพาณิชย์ของสหรัฐและกลั่นกรองโดยคณะรัฐบาลทรัมป์อีกขั้นตอนหนึ่ง SMIC ไม่ได้รับการแจ้งเตือนอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับมาตรการดังกล่าว โดยบริษัทกล่าวในแถลงการณ์ทางอีเมลว่าไม่มีความสัมพันธ์กับกองทัพจีนและไม่ได้ผลิตสินค้าสำหรับผู้ใช้ในกองทัพหรือการใช้งานทางทหารใด ๆ ทั้งนี้ อุปกรณ์ของ SMIC มากถึง 50% มาจากสหรัฐ และบริษัทมีมูลค่าตลาดมากกว่า 29,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยลูกค้าของ SMIC ได้แก่ ผู้ผลิตชิปในสหรัฐ เช่น Qualcomm Inc. และ Broadcom Inc. Edison Lee นักวิเคราะห์ของบริษัท Jefferies กล่าวว่า หากการห้ามส่งออกของสหรัฐต่อ SMIC เกิดขึ้นจริง ถือเป็นการส่งสัญญาณว่าสหรัฐจะโจมตีอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของจีนเพิ่มมากขึ้นและมีแนวโน้มที่บริษัทอื่นๆ ของจีนจะถูกเล่นงานด้วย

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)