ข่าวประจำวันที่ 16 ธ.ค. 2563

ข่าวในประเทศ

นายสุชาติ ชมกลิ่น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ปลื้มศูนย์บริหารแรงงาน EEC (ที่มา: matichon.co.th , ประจำวันที่ 16 ธันวาคม 2563)

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การจัดตั้งศูนย์บริหารแรงงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก สอดคล้องตามยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างรายได้และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน มีเป้าประสงค์เพื่อยกระดับการพัฒนาให้กลายเป็นประเทศที่มีรายได้สูง โดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับด้านแรงงาน ศูนย์ฯ ทำหน้าที่ในนามกระทรวงแรงงาน มีการบูรณาการทำงานร่วมกับหลายภาคส่วนในพื้นที่ ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา ได้ดำเนินงานด้านการให้บริการจัดหางาน จำนวน 3 กิจกรรม ได้แก่ จัดหางานให้กลุ่มอุตสาหกรรมปัจจุบัน ประกอบด้วย อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-curve) อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-curve) และอุตสาหกรรมดั้งเดิม โดยมีเป้าหมาย 28,000 คน ผลการดำเนินงาน 40,464 คน คิดเป็นร้อยละ 144.51 แนะแนวอาชีพให้นักเรียน นักศึกษา เป้าหมาย 48,838 คน ผลการดำเนินงาน 70,401 คน คิดเป็นร้อยละ 144.15 และ ตรวจลงตราและออกใบอนุญาตทำงาน เป้าหมาย 13,000 คน ผลการดำเนินงาน 10,372 คน คิดเป็นร้อยละ 79.78

อย่างไรก็ตาม นายสุชาติ กล่าวว่า ในส่วนผลการดำเนินงานด้านการพัฒนาฝีมือแรงงาน จำนวน 2 กิจกรรม ได้แก่ ฝึกอบรมและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน 10 อุตสาหกรรม เป้าหมาย 10,095 คน ผลการดำเนินงาน 11,357 คน คิดเป็นร้อยละ 112.50 และส่งเสริมสถานประกอบการยกระดับทักษะแรงงาน 739,305 คน ด้านสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จำนวน 3 กิจกรรม ได้แก่ ตรวจแรงงานในระบบ เป้าหมาย 1,305 แห่ง แรงงาน 55,800 คน ผลการดำเนินงาน 1,353 แห่ง แรงงาน 107,506 คน คิดเป็นร้อยละ 103.68 และ 199.66 ตรวจและกำกับสถานประกอบการ เป้าหมาย 870 แห่ง แรงงาน 61,700 คน ผลการดำเนินงาน 871 แห่ง แรงงาน 174,820 คน คิดเป็นร้อยละ 100.11 และ 283.34 สำรวจความต้องการแรงงานของสถานประกอบการ เป้าหมาย 10,224 แห่งผลการดำเนินงาน 11,872 แห่ง และด้านประกันสังคม มี 4 กิจกรรม ได้แก่ ให้คำปรึกษาแนะนำด้านสิทธิประโยชน์ประกันสังคมฯ เป้าหมาย 2,280,300 คน ผลการดำเนินงาน 2,728,602 คน คิดเป็นร้อยละ 119.66 ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 เป้าหมาย 55,577 คน ผลการดำเนินงาน 100,922 คน คิดเป็นร้อยละ 181.59 ส่งเสริม e-service และ e-Payment เป้าหมาย 21,664 คน ผลการดำเนินงาน 28,879 คน คิดเป็นร้อยละ 133.30 และตรวจสุขภาพประจำปีแก่ผู้ประกันตน เป้าหมาย 143,032 คน ผลการดำเนินงาน 161,139 คน คิดเป็นร้อยละ 112.66

 

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร
ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 

2. เปิดแผนลงทุน กฟผ.1 ล้านล้านบาท (ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์ , ประจำวันที่ 16 ธันวาคม 2563)

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยหลังเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ. คนใหม่ (คนที่ 15) พร้อมทีมผู้บริหาร ว่า กฟผ. ได้ตั้งงบลงทุน 10 ปี (ปี 2564-2574) ไว้รวม 1 ล้านล้านบาท สำหรับลงทุนทั้งในธุรกิจเดิม และธุรกิจใหม่ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (ปี 63-80) ที่ต้องเน้นการปรับตัวให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมไฟฟ้าในยุคชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) แบ่งเป็นเงินลงทุนปีละประมาณ 56,000 ล้านบาท ในสัดส่วนการสร้างโรงไฟฟ้าและพัฒนาธุรกิจใหม่ๆเฉลี่ย 60% และอีก 40% จะเป็นการสร้างสายส่งไฟฟ้า สำหรับแผนนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) 5.5 ล้านตัน ระหว่างปี 2563-2565 เพื่อใช้กับโรงไฟฟ้าของ กฟผ.ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา โรงไฟฟ้าพระนครใต้ จ.สมุทรปราการ หรือโรงไฟฟ้าวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยาในปีหน้าจะดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนเข้าไปถือหุ้นในแหล่งผลิตแอลเอ็นจี ภายใน 4 ปีข้างหน้า เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานที่เข้าสู่กระบวนการต้นน้ำมากขึ้น ขณะเดียวกัน กฟผ. ก็จะเดินหน้าก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับก๊าซธรรมชาติ โดยทำคลังเก็บก๊าซลอยน้ำ (FSRU) ในอ่าวไทยตอนบน เพื่อรองรับการใช้งานของโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ชุดที่ 1 และ 2 กำลังผลิต 1,660 เมกะวัตต์ ที่คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี70 อีก โดยล่าสุดกำลังจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) อยู่ คาดว่าไตรมาส 1 ปีหน้าจะเสนอต่อ ครม. เพื่ออนุมัติการดำเนินงาน และหลังจากนั้นจะประกาศหาผู้รับเหมาได้ทันทีขณะเดียวกันในปีหน้า กฟผ.จะเร่งก่อสร้างสายส่งไฟฟ้า 230 กิโลโวลต์ เชื่อมโยงบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา รองรับการซื้อขายไฟฟ้าปริมาณ 300 เมกะวัตต์ 

อย่างไรก็ดี กฟผ. ยังจะเดินหน้าหาพันธมิตรร่วมเป็นคู่ค้าในการดำเนินธุรกิจซื้อขายไฟฟ้าไปต่างประเทศให้มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น ซื้อไฟฟ้าจากประเทศลาวขายผ่านระบบสายส่งไปประเทศมาเลเซีย 300 เมกะวัตต์ สิงคโปร์ 100 เมกะวัตต์ อีกทั้งล่าสุดยังอยู่ระหว่างเจรจาขายไฟไปยังประเทศกัมพูชา 300 เมกะวัตต์ ช่วยเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในธุรกิจเดิม เพื่อขีดความสามารถในการแข่งขันให้ธุรกิจ นายบุญญนิตย์ กล่าวว่า ในปีหน้า กฟผ.ยังมีแผนเปิดตัวโครงการผลิตไฟฟ้าจากทุ่นโซลาร์เซลล์ลอยน้ำในเขื่อนต่าง ๆ ของ กฟผ. ตั้งเป้หมาย 2,725 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นปี 64 นำร่องที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี 45 เมกะวัตต์ ซึ่งสามารถทำได้ทันที ช่วยลดปัญหาการต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ๆ ในอนาคต ทั้งยังจะขยายธุรกิจให้บริการดูแลบำรุงรักษาของเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เบื้องต้นมีโรงไฟฟ้าในลาวเป็นลูกค้าหลัก

 

นางสมจิณณ์ พิลึก
ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) 

3. กนอ. ลุยพัฒนา 5 จี นำร่องนิคมฯ อีอีซี (ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ , ประจำวันที่ 16 ธันวาคม 2563) 

นางสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ. ได้ลงนามความร่วมมือกับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในการวาง เครือข่ายระบบ 5จี ในนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ. ดำเนินการเองทั้ง 14 แห่งทั่วประเทศ ภายใน  3 ปี โดยในเฟสแรกจะเริ่มในนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)  2 แห่ง คือ 1.นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด  2.นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ทั้งนี้ กนอ.และทีโอที จะร่วมกันศึกษา รายละเอียดวงเงินการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมแต่ละแห่ง ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีที่จะใช้ เช่น การวางท่อเคเบิล ใยแก้วนำแสง การวางระบบตั้งเสาส่งสัญญาณ  หรือจะทำควบคู่ทั้ง 2 รูปแบบผสมผสานกัน ที่แต่ละเทคโนโลยีก็ใช้เงินลงทุนต่างกัน รวมทั้งศึกษารูปแบบการลงทุนที่เบื้องต้น มี 2 แนวทาง คือ 1.การร่วมกันตั้งบริษัทลูก 2.การให้สัมปทานทีโอทีลงทุนและ จ่ายค่าตอบแทนให้ กนอ. โดยอาจต้องดึงภาคเอกชนรายอื่นที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยี 5จี เข้ามาร่วมลงทุน เพราะเทคโนโลยี 5จี เป็นเรื่องใหม่จึงต้องให้เอกชนเจ้าของเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อความมั่นคงของระบบ  "ความร่วมมือในครั้งนี้จะดำเนินการได้ง่าย เพราะเป็นการร่วมลงทุนระหว่างหน่วยงานของรัฐบาลด้วยกันเอง ต่างจาก การร่วมกับภาคเอกชนที่มีขั้นตอนการพิจารณาที่ยุ่งยากกว่า โดยคาดว่าจะได้ ข้อสรุปรูปแบบการร่วมลงทุนภายในปี 2564

อย่างไรก็ดี สำหรับเทคโนโลยี 5จี จะเป็นแพลตฟอร์มพื้นฐานของภาคอุตสาหกรรมและโทรคมนาคมในอนาคต ซึ่ง แพลตฟอร์ม 5จี จะเป็นหนึ่งในธุรกิจใหม่ที่ กนอ.นำมาให้บริการกับผู้ประกอบการ ในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับ ภาคการผลิต โดยใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) การติดตั้งระบบไอโอที และการใช้ บิ๊กดาต้า รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพด้านโทรคมนาคม ซึ่งต่อยอดไปสู่ธุรกิจอื่นได้หลากหลาย รวมทั้งการเปิดให้บริษัทโทรคมนาคมอื่น เช่น ดีแทค เอไอเอส เข้ามา ใช้ระบบ 5จี ของ กนอ. ในการให้บริการกับลูกค้า ในนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น และระบบ 5จี ยังเป็นเทคโนโลยีสำคัญในการยกระดับนิคมอุตสาหกรรมของ กนอ.ไปสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้ สำหรับความคืบหน้าโครงการลงทุนที่สำคัญของ กนอ. 3 โครงการ โดยการก่อสร้างโครงการระยะที่ 1 ดำเนินการ แล้วเสร็จเดือน ม.ค.2561 ระยะที่ 2 ประกอบด้วย การพัฒนาโครงการในส่วน ที่เหลือทั้งหมดและระบบสาธารณูปโภค เช่น ถนน ระบบป้องกันน้ำท่วม ระบบประปา ระบบบำบัดน้ำเสีย บ่อหน่วงน้ำ และไฟฟ้า เป็นต้น ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ 100% ในเดือนก.ย. 2562 ส่วนนิคมอุตสาหกรรมสงขลา ระยะที่ 1  ล่าสุดวันที่ 7 ธ.ค.2563 การพัฒนาพื้นที่คืบหน้า 95% และจะแล้วเสร็จภายวันที่ 15 ม.ค.2564 ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 2 แห่ง  จะรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมและ การสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่

 

ข่าวต่างประเทศ

Description: C:\Users\Sony\Desktop\4.jpg

4. สหรัฐฯ บีบ 9 บริษัทยักษ์ออนไลน์ แจงวิธีจัดการข้อมูลยูสเซอร์ (ที่มา: มติชน , ประจำวันที่ 16 ธันวาคม 2563)

สำนักงานคณะกรรมการการค้าแห่งสหรัฐอเมริกา (USFTC) ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลด้านการค้าและพฤติกรรมการค้าในประเทศ ส่งคำสั่งถึง อเมซอน ในฐานะผู้ให้บริการ ไพรม์ไทม์สตรีมมิง, เฟซบุ๊ก, วอทส์แอพพ์, ทวิตเตอร์, ยูทูบ, ไบท์แดนซ์ เจ้าของแอพพ์ ติ๊กต็อก, ดิสคอร์ด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มแชตระหว่างแข่งขันเกม, เรดดิท ผู้ให้บริการเว็บบอร์ดออนไลน์, และบริษัท สแนป เจ้าของ สแนปแชท โดยกำหนดให้เวลาแต่ละบริษัท 45 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับคำสั่ง ให้ส่งมอบรายละเอียดของข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล, ใช้ และนำเสนอข้อมูลที่เก็บรวบรวมไว้ของแต่ละบริษัท, วิธีการให้บริการโฆษณา ไปจนถึงวิธีที่แต่ละบริษัททำความตกลงกับยูสเซอร์ หรือผู้สมัครเข้าใช้งานกิจการของบริษัท รวมไปถึงรายละเอียดในแง่ที่ว่า พฤติกรรมต่างๆ ของแต่ละบริษัทมีผลกระทบต่อเด็กๆ และยูสเซอร์วัยรุ่นอย่างไรบ้าง โดยให้ส่งมอบข้อมูลเหล่านี้ต่อเอฟทีซีตามกำหนดเวลาต่อไป

อย่างไรก็ดี เอฟทีซีแถลงควบคู่กับการออกคำสั่งดังกล่าวว่า เป็นเพราะทางเอฟทีซีต้องการทำความเข้าใจว่ารูปแบบการดำเนินธุรกิจของแต่ละบริษัทมีอิทธิพลต่อคนอเมริกันอย่างไรบ้าง และบริษัทเหล่านั้นเจรจากับใคร นำข้อมูลใดไปแบ่งปันให้ การศึกษาครั้งนี้จะช่วยสร้างความกระจ่างต่อบรรดาบริษัทโซเชียลมีเดียและวิดีโอสตรีมมิงทั้งหลาย ด้วยการศึกษารายละเอียดลึกลงไปในกลไกของบริษัทเหล่านี้ การออกคำสั่งดังกล่าวมีขึ้นหลังจาก คณะกรรมการเอฟทีซีลงมติด้วยคะแนนเสียง 4-1 เสียง ให้ดำเนินการ โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายระดับประเทศซึ่งให้อำนาจเอฟทีซี ดำเนินการศึกษาวิธีการและกลไกของบริษัทเอกชนได้ เพื่อประโยชน์ในการนำเสนอต่อฝ่ายนิติบัญญัติในการบัญญัติกฎหมายข้อบังคับใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนั้นๆ ต่อไป (AFP)

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)