ข่าวประจำวันที่ 16 ก.พ. 2564

ข่าวในประเทศ

นายดนุชา พิชยนันท์
เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

1. GDP ปี 63 ติดลบหนัก 6.1% ถดถอยมากสุดรอบ 22 ปีหลังวิกฤติต้มยำกุ้ง (ที่มา: ไทยรัฐ , ประจำวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564)

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ไตรมาส 4/63 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ลดลง 4.2% ดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลง 6.4% ในไตรมาส 3/63 และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว ขยายตัว 1.3% จากไตรมาส 3/63 ส่วนทั้งปี 63 ลดลง 6.1% มากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะลดลง 6.0% ซึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ ปี 63 GDP ไทยมีมูลค่า 15.7 ล้านล้านบาท หรือ 502,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ, GDP ต่อหัวเฉลี่ยของคนไทย 225,913.8 บาทต่อคนต่อปี หรือ 7,219.2 เหรียญฯต่อคนต่อปี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบ 0.8% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 3.3% ของ GDP ทั้งนี้ ด้านการใช้จ่ายในปี 63 มูลค่าส่งออก ลดลง 6.6% บริโภคเอกชน ลดลง 1% และลงทุนรวมลดลง 4.8% ส่วนการใช้จ่ายรัฐบาลเพิ่ม 0.8% และลงทุนภาครัฐ เพิ่ม 5.7% ขณะที่การผลิตนั้นสาขาเกษตรกรรม ป่าไม้ และประมง ลด 3.4% อุตสาหกรรม ลด 5.7% ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ลด 36.6 % และขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าลด 21.0%

อย่าไงรก็ตาม สำหรับปี 64 ที่คาดเศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.5-3.5% นั้นคาดว่า มูลค่าส่งออกขยายตัว 5.8% การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 2.0% และการลงทุนรวมขยายตัว 5.7% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 1.0-2.0% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.3% ของ GDP ขณะที่คาดจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียง 3.2 ล้านคนที่จะเข้ามาได้ในไตรมาส 4 ต่ำกว่าเดิมที่คาดว่าจะมี 5 ล้านคน “ขอให้รัฐบาลเอาปัจจัยเศรษฐกิจมาใช้กระจายวัคซีนด้วย โดยเฉพาะการกระจายให้ภาคท่องเที่ยวในฝั่งอันดามันและอ่าวไทย และภาคการผลิตในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพราะการนำนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา จะช่วยลดความเสี่ยงและช่วยให้ภาคท่องเที่ยวฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่คาด” นอกจากนี้ในปี 64 ต้องอาศัยเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก จึงต้องกระตุ้นการใช้จ่ายดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามามากขึ้น รักษาบรรยากาศทางการเมืองให้เกิดความเชื่อมั่น ดูแลภาคเศรษฐกิจที่ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว และบริการ ขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า เป็นต้น ด้านนางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า GDP ปี 63 หดตัว 6.1% สูงสุดในรอบ 2 ทศวรรษ แต่ยังดีกว่าที่ ธปท.ประเมินไว้ หลังการสะสมสินค้าคงคลังเร่งขึ้นมาก และรองรับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัว เพราะแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ และการส่งออกที่ดีขึ้นตามเศรษฐกิจคู่ค้าที่ฟื้นตัว ส่วนปี 64 คาดเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวได้ แต่ยังต่ำกว่าระดับศักยภาพ เพราะยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่เมื่อช่วงต้นปี

 

นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา
ผู้ช่วยผู้ว่าการ
สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

2. ธนาคารแห่งประเทศไทยสั่งเพิ่มเกณฑ์ป้องภัยไซเบอร์ (ที่มา: ไทยรัฐ , ประจำวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564)

นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินนำเทคโนโลยีมาใช้ให้บริการลูกค้ามากขึ้น และมีความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์สูงขึ้น อีกทั้งปี 63 มีผู้มีบัญชีพร้อมเพย์ถึง 56 ล้านบัญชี เพิ่ม 12.5% จากปี 62 และคนไทยชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ 194 ครั้งต่อคนต่อปี จากปี 61 ที่ 89 ครั้ง ธปท. จึงกำหนดเกณฑ์กำกับดูแลความเสี่ยงด้านเทคโนโลยี สารสนเทศ (IT) สำหรับผู้ประกอบธุรกิจด้านชำระเงิน ที่ไม่ใช่สถาบันการเงินเพิ่มจากหลักเกณฑ์ที่ใช้อยู่ เพื่อยกระดับความมั่นคงปลอดภัยของระบบไอที และสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ใช้บริการ โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวมี 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ขั้นต้นที่จำเป็น ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจทุกรายต้องดำเนินการ ครอบคลุมการตั้งค่าระบบให้ปลอดภัย ป้องกันระบบจากมัลแวร์ บริหารจัดการช่องโหว่ จัดการสิทธิของระบบพิสูจน์ตัวตนอย่างปลอดภัย และทดสอบหาช่องโหว่ โดยจะบังคับใช้วันที่ 29 เมษายนนี้ และส่วนที่ 2 การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มีนัยสำคัญใน 3 ด้าน คือ ธุรกิจที่เชื่อมต่อกับไวไฟ หรืออินเตอร์เน็ต, มีลูกค้า 5 ล้านบัญชี หรือทำรายการ 10 ล้านรายการขึ้นไป ต้องรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านไอทีตามหลักการ Confidentiality Integrity Availability มีผลวันที่ 29 มกราคม 65 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม “เกณฑ์เหล่านี้จะช่วยลดภัยจากไซเบอร์ลงจากเดิมได้กว่าครึ่ง แต่ผู้ใช้บริการดูแลความปลอดภัยเบื้องต้นในการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้เอง เช่น ตั้งรหัสผ่านให้แข็งแรง เดาได้ยาก รักษาความลับของชื่อผู้ใช้งานและรหัสผ่าน หลีกเลี่ยงการให้ข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลทางการเงินกับเว็บไซต์ที่มีความเสี่ยงสูง” ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกเอกสารเตือนให้ “ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล” ผู้รับบริหารจัดการลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี หรือโทเคนดิจิทัลให้บุคคลอื่น และ “ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล” ผู้ให้คำแนะนำมูลค่าคริปโตเคอร์เรนซี ให้ประชาชนโดยได้รับค่าตอบแทนที่ทำธุรกิจก่อนวันที่ 27 พฤศจิกายน 63 และต้องการทำธุรกิจต่อไป ต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตกับ ก.ล.ต. ภายในวันที่ 24 กุมพันธ์นี้ ส่วนผู้ที่เริ่มหลังวันที่ 27 พฤศจิกายน 64 ต้องได้รับใบอนุญาตก่อน

 

นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์
ประธานสภาอุตสาหกรรม จังหวัดสมุทรสาคร

3. สภาอุตฯ สมุทรสาครได้ฤกษ์ก่อสร้าง รพ.สนาม-แบบถาวร "ที่เชิงสะพานท่าจีน" (ที่มา: เว็บไซต์สยามรัฐ , ประจำวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564)

นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรม จังหวัดสมุทรสาคร และคณะ พร้อมด้วยนายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ในฐานะเจ้าของที่ดินจำนวน 49 ไร่ ได้จัดทำการวงสรวงขออนุญาตเจ้าที่เจ้าทาง และพระแม่ธรณี เพื่อเริ่มก่อสร้างโรงพยาบาลสนาม-ศูนย์ห่วงใยสาคร โดยมี นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เดินทางมาเป็นประธานในพิธีให้ก่อนดำเนินงานก่อสร้าง ทั้งนี้โดยเปิดเผยว่า การจัดสร้างโรงพยาบาลสนามเฟสแรก แห่งนี้ มีขนาด 200 เตียง โดยมีบรรดานักธุรกิจมาร่วมบริจาคเงินได้เป็นมูลค่ากว่า 11 ล้านบาท ภายใต้ชื่อโครงการ “สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยร่วมใจสู้ COVID-19” เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อ COVID-19 บนพื้นที่ 49 ไร่ ในสมุทรสาคร ซึ่งสามารถเปิดใช้งานในเดือน มีนาคมนี้

อย่างไรก็ดี นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีการตรวจหาผู้ติดเชื้อ COVID-19 เชิงรุกในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งล่าสุดยังคงพบว่ามีผู้ติดเชื้ออยู่เป็นระยะ ๆ จากข้อมูลของศูนย์ห่วงใยคนสาครทั้งหมด 9 ศูนย์ ดังนั้นทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัดฯ จึงเล็งเห็นว่าจังหวัดสมุทรสาครยังขาดแคลนสถานที่รองรับผู้ป่วย COVID-19 อีกมากพอสมควร ด้านนายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรม จังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า สำหรับรายนามผู้ที่ร่วมกันบริจาคเลินร่วมจัดทำโรงพยาบาลสนาม มีดังนี้ 1.) มูลนิธิเอสซีจี บริจาคห้องน้ำ 5 ยูนิต มูลค่า 400,000 บาทมอบโดย คุณเชาวลิต เอกบุตร กรรมการบริหารมูลนิธิเอสซีจีคุณสุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี, 2.) สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย บริจาคเงิน 1,000,000 บาทมอบโดย คุณชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย / ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์  คุณนภดล รมยะรูป อุปนายก / รองประธาน คุณระพี สุขยางค์ อุปนายก และเลขาธิการ / รองประธาน แลธะเลขาธิการ คุณศิวะ มหาสันทนะ อุปนายก / รองประธาน คุณปัญญา โสภาศรีพันธ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ / ผู้ช่วยเลขาธิการคุณภัทราวรรณ สุขคันธรักษ์ ผู้อำนวยการบริหาร, คุณกานดา บุพพัณชาตินานนท์ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมอุตสาหกรรม, 3.) บริษัท ยูไนเต็ดฟูดส์ จำกัด บริจาคเงิน 100,000 บาท มอบโดย คุณธีร์รัถต์ สุทธิสัมพัทน์ รองประธานกรรมการ  คุณกิตติภัต สุทธิสัมพัทน์, 4.) บริษัท สตาร์ (ประเทศไทย) จำกัด บริจาคเงิน 100,000 บาทมอบโดย คุณไพรัตน์ เอื้อชูยศ ประธานกรรมการบริหาร / รองประธาน ส.อ.ท., 5.) บริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (CPAC) CPAC BIM สนับสนุนการออกแบบและให้คำปรึกษาการก่อสร้าง มูลค่า 600,000 บาท มอบโดย คุณชูโชค ศิวะคุณากร กรรมการผู้จัดการ 6.) บริษัท สหวิริยาสตีล อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) บริจาคค่าออกแบบ มูลค่า 200,000 บาท มอบโดย คุณนาวา จันทนสุรคน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส 7.) กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ส.อ.ท. บริจาคเงิน 300,000 บาท มอบโดย คุณนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก

 

ข่าวต่างประเทศ

4. ซาอุฯ กดดันบริษัทข้ามชาติให้ตั้งฐานธุรกิจในประเทศ (ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ , ประจำวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564)

นายโมฮัมเหม็ด อัล-จาดาน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังซาอุดีอาระเบีย เปิดเผยว่า บริษัทข้ามชาติที่ต้องการร่วมลงทุนกับรัฐบาลซาอุดีอาระเบียจะต้องตั้งสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาคในประเทศซาอุดิอาระเบียภายในปี 2567 มิเช่นนั้นอาจไม่สามารถเข้าร่วมโครงการของภาครัฐได้ ทั้งนี้ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของภูมิภาคตะวันออกกลาง และเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก ได้วางแผนที่จะยกเลิกสัญญากับบริษัทและสถาบันการเงินที่ไม่ได้ตั้งสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาคในซาอุดีอาระเบีย โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้บริษัทข้ามชาติสร้างฐานธุรกิจในซาอุดีอาระเบียอย่างถาวร ซึ่งจะช่วยสร้างตำแหน่งงานในประเทศเพิ่มขึ้น "หากบริษัทใดตัดสินใจว่าจะไม่ย้ายสำนักงานใหญ่มายังซาอุดีอาระเบียก็ถือว่าเป็นสิทธิ์ของบริษัทนั้น โดยจะยังสามารถร่วมทำกิจการกับภาคเอกชนในประเทศเราได้เหมือนเดิม" นายอัล-จาดานเปิดเผยกับผู้สื่อข่าว "แต่หากทางบริษัทต้องการมีส่วนร่วมในโครงการของภาครัฐ ก็จำเป็นต้องมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นี่"

อย่างไรก็ดี นายอัล-จาดานได้กล่าวเสริมว่าจะมีอุตสาหกรรมบางภาคส่วนที่ได้รับการยกเว้นจากข้อบังคับนี้ และจะมีการประกาศเรื่องระเบียบอื่นๆ อย่างละเอียดภายในปีนี้อีกครั้งหนึ่ง ก่อนหน้านี้ เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบียได้ทรงประกาศว่าจะเปิดประเทศ และเสริมสร้างเศรษฐกิจโดยใช้กลยุทธ์ปฏิรูปขนานใหญ่เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้กับเศรษฐกิจของซาอุดีอาระเบียที่ยังต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมน้ำมันอย่างมาก รวมไปถึงการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติและสร้างตำแหน่งงานใหม่อีกหลายล้านตำแหน่งให้กับประชาชนซาอุดีอาระเบียวัยหนุ่มสาว

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)