ข่าวประจำวันที่ 30 มี.ค. 2564

ข่าวในประเทศ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์
รองนายกรัฐมนตรี
และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

1. สินค้า 4 หมื่นรายการ จ่อคิวรับประโยชน์จาก RCEP (ที่มา: แนวหน้า , ประจำวันที่ 30 มีนาคม 2564)

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดตัว “ศูนย์อาร์เซ็ป (RCEP Center)” ณ RCEP Center ชั้น 3 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศว่ากระทรวงพาณิชย์จะประสานงานกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐเอกชน ภาคการเกษตร เร่งรัดในการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งผู้ประกอบธุรกิจ ผู้ส่งออก เอสเอ็มอี ภาคการเกษตร รับทราบข้อมูลและเนื้อหาสำคัญในข้อตกลง ให้สามารถใช้ประโยชน์จากข้อตกลงได้อย่างเต็มที่ เพราะหากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) บังคับใช้ จะเกิดประโยชน์กับไทยเป็นอย่างมากทั้งด้านการค้า การลงทุน ทั้งนี้ ในด้านการค้า หัวใจสำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยได้ประโยชน์ในภาพของสินค้าโดยมีสินค้า 40,000 รายการ โดยประมาณที่ต้องลดภาษีให้กับประเทศไทย และใน 40,000 รายการนั้นมี 29,000 รายการ ที่จะลดภาษีทันทีเหลือ 0% ในวันที่ 1 มกราคม 2565 ที่เหลือประมาณ 9,000 รายการ จะลดภายใน 10-20 ปี ให้อัตราภาษีเป็น 0% ตามเงื่อนไขของแต่ละประเทศ สำหรับภาคบริการ ไทยจะได้รับสิทธิพิเศษสามารถเข้าไปถือหุ้นได้ถึง 70-80% ในสาขาบริการ การก่อสร้าง เป็นต้น ซึ่งเป็นการขยายโอกาสให้กับนักลงทุนไทย

อย่างไรก็ตาม สำหรับความคืบหน้าการให้สัตยาบันความตกลง RCEP มีขั้นตอนการดำเนินการ 2 เรื่อง คือ 1.) ต้องผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งได้นำเสนอเข้าที่ประชุมร่วมและได้รับความเห็นชอบแล้ว และ 2.) ดำเนินกระบวนการภายในของหน่วยงานราชการต่างๆ อย่างน้อย 3 หน่วยงาน คือ 1.) กรมการค้าต่างประเทศ ออกแบบใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (C/O) ให้จบ และประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน 2.) กรมศุลกากรต้องประกาศอัตราภาษีให้สอดคล้องกับข้อตกลง และ 3.) กระทรวงอุตสาหกรรมต้องออกประกาศเรื่องการนำเข้ายานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ตามข้อตกลง RCEP ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้เปิด RCEP Center หรือศูนย์ให้บริการข้อมูล RCEP มีการให้บริการ 6 เรื่อง ได้แก่ 1.) รายละเอียดความตกลง 2.) สถิติการค้าระหว่างประเทศ 3.) อัตราภาษี 4.) ถิ่นกำเนิดสินค้า 5.) มาตรการการค้าของไทย และ 6.) ระบบติดตามเฝ้าระวัง เพื่อให้ผู้ประกอบการของไทย ได้เตรียมความพร้อมในการใช้ประโยชน์จาก RCEP ซึ่งจะให้บริการทั้งแบบออฟไลน์ที่จะเข้ามาขอรับบริการได้ที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และแบบออนไลน์ เข้าดูได้ที่เว็บไซต์ www.moc.go.th

 

นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล
ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์

2. สถาบันยานยนต์ เซ็ตระบบ ตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาเซียน (ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ , ประจำวันที่ 30 มีนาคม 2564)

นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ เปิดเผยว่า จากที่ไทยได้บรรลุข้อตกลงยอมรับร่วมผลการตรวจสอบรับรองผลิตภัณฑ์ยานยนต์ของอาเซียน ( APMRA) นั้นสถาบันยานยนต์ได้สมัครเข้าร่วมการ Trai run หรือการจำลองสถานการณ์เพื่อเตรียมความพร้อมให้การดำเนินการเมื่อข้อตกลงมีผลใช้บังคับเป็นไปอย่างราบรื่น หลังคณะกรรมการยานยนต์อาเซียนร่วมกับภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ของอาเซียน (ASEAN Automotive Federation - AAF) จัดให้มีการจำลองสถานการณ์ (Trial run) ด้วยการใช้ผลการทดสอบของผลิตภัณฑ์ยานยนต์ที่ดำเนินการทดสอบโดย Technical Service ของประเทศสมาชิกที่ส่งให้หน่วยควบคุมกฎระเบียบของประเทศสมาชิกแต่ละประเทศพิจารณาว่าเหมาะสมที่จะใช้ในการจดทะเบียนหรืออนุญาตให้วางจำหน่ายในท้องตลาดได้หรือไม่ หากยังไม่เหมาะสมภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะได้มีระยะเวลาเพียงพอที่จะปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องให้ทันการใช้บังคับในต้นปี 2565 ต่อไป "การTrial runเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของสถานที่ทดสอบ เครื่องมือและศักยภาพของบุคลากรว่าพร้อมที่จะรองรับปริมาณงานตรวจและทดสอบที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคตทั้งที่ศูนย์ทดสอบยานยนต์ สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมบางปู และศูนย์ทดสอบและยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) ภายใต้การกำกับดูแลโดย สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ณ สนามชัยเขต จังหวัด ฉะเชิงเทรา"

อย่างไรก็ดี สำหรับข้อตกลงยอมรับร่วม APMRA เป็นข้อตกลงที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกยอมรับผลการตรวจสอบรับรองจาก Technical service ที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการยานยนต์อาเซียน (ASEAN Automotive Committee - AAC) ที่อยู่ภายใต้คณะทำงานด้านผลิตภัณฑ์ยานยนต์และชิ้นส่วน (Automotive Products Working Group - APWG) และนำผลการตรวจสอบรับรองไปใช้ในการจดทะเบียนหรือขออนุญาตจำหน่ายผลิตภัณฑ์ได้

 

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์
รองประธาน และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

3. ยอดผลิตส่งออกรถใหม่ กุมภาพันธ์ 64 โต 5.91% (ที่มา: ดอกเบี้ยธุรกิจ , ประจำวันที่ 30 มีนาคม 2564)

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยจำนวนการผลิตรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ว่ามีทั้งสิ้น 155,200 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ร้อยละ 3.05 และเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2564 ร้อยละ 4.78 ผลิตเพิ่มขึ้นจากการผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.91 และมีสัดส่วนถึงร้อยละ 56.90 ของยอดการผลิตทั้งหมด ขณะที่จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 303,318 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2563 ร้อยละ 1.16 แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ จำนวน 66,885 คัน เท่ากับร้อยละ 43.10 ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ร้อยละ 0.50 และเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2564 ผลิตได้ 129,206 คัน เท่ากับร้อยละ 42.60 ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2563 ร้อยละ 6.60 ส่วนที่เหลืออีกว่า 88,315 คัน เป็นยอดการผลิตเพื่อส่งออก เท่ากับร้อยละ 56.90 ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ร้อยละ 5.91 ส่วนเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2564 ผลิตเพื่อส่งออกได้ 174,112 คัน เท่ากับร้อยละ 57.40 ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ระยะเวลาเดียวกัน ร้อยละ 3.31

อย่างไรก็ตาม สำหรับยอดการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปของเดือนกุมภาพันธ์ 2564 นั้นมีทั้งสิ้น 79,470 คัน ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ร้อยละ 16.52 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2564 ร้อยละ 7.20 ลดลงจากตลาดออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ตะวันออกกลาง ยุโรป และแอฟริกา แต่ส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดเอเชีย อเมริกาเหนือ อเมริกากลาง และอเมริกาใต้ มีมูลค่าการส่งออก 43,081.65 ล้านบาท ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ร้อยละ 9.23 ขณะที่เดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2564 ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 153,602 คัน โดยส่งออกลดลงจากปี 2563 ในระยะเวลาเดียวกัน ร้อยละ 4.29 มีมูลค่าการส่งออก 84,516.86 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2563 ร้อยละ 6

 

ข่าวต่างประเทศ

4. อียิปต์เริ่มกลับมาเปิดการจราจรทางน้ำ ในคลองสุเอซแล้ว (ที่มา: เดลินิวส์ , ประจำวันที่ 30 มีนาคม 2564)

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ว่า พล.ท.โอซามา ราบี ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารคลองสุเอซ (SCA) แถลงเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ว่าเรือบรรทุกสินค้าเอเวอร์ กิฟเวน ซึ่งมีความกว้างประมาณ 59 เมตร ยาวประมาณ 400 เมตร และมีระวางขับน้ำประมาณ 200,000 ตัน เดินทางไปยังทะเลสาบเกรต บิตเทอร์ ซึ่งเป็นเส้นทางผ่านที่กว้างขึ้นของคลองสุเอซ โดยมีเรือลากจูงขนาดใหญ่ 13 ลำคอยให้การสนับสนุน หลังประสบอุบัติเหตุเกยตื้นชายฝั่งคลองสุเอซ ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ทีมงานของ SCA ซึ่งได้รับความสนับสนุนจากเนเธอร์แลนด์เป็นหลัก สามารถขุดลอกทรายและดินโคลน เพื่อดึงเรือให้กลับมาตั้งลำอยู่ในแนวขนานกับคลองสุเอซ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น โดยรถขุดเจาะต้องลอกทรายรอบตัวเรือออกไปเป็นปริมาณมากถึง 30,000 ลูกบาศก์เมตร ร่วมด้วยการฉีดน้ำแรงดันสูงบริเวณหัวเรือ ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดผ่านการคำนวณมาเป็นอย่างดี บวกกับการอาศัยปรากฏการณ์ธรรมชาติ คือภาวะน้ำทะเลหนุน ที่การพยากรณ์อากาศระบุว่า "ช่วงเวลาเหมาะสมที่สุด" คือระหว่างวันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม ถึงวันจันทร์ที่ 29 มีนาคม ทุกภาคส่วนจึงเร่งทำงานแข่งกับเวลา เพื่ออาศัยปัจจัยสนับสนุนจากช่วงเวลาดังกล่าวให้ได้มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ทีมงานของ บริษัท เอเวอร์กรีน มารีน จากไต้หวัน ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบเดินเรือเอเวอร์ กิฟเวน จะลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพเรือ ควบคู่ไปกับการให้ความร่วมมือกับรัฐบาลอียิปต์ ในการสอบสวน "สาเหตุที่แท้จริง" ของอุบัติเหตุครั้งนี้ ที่ พล.ท.ราบี กล่าวว่า "ไม่น่ามาจากกระแสลมเพียงอย่างเดียว" อนึ่ง ทุกฝ่ายมีความโล่งใจ ที่ไม่ต้องขนย้ายตู้คอนเทนเนอร์ลงจากเรือ และไม่มีตู้สินค้าใดได้รับความเสียหาย แต่จะต้องมีการเจรจาเรื่องค่าใช้จ่ายทั้งหมดจากภารกิจครั้งนี้ และการเรียกค่าเสียหายจากหลายฝ่ายซึ่งแน่นอนว่าจะต้องเกิดขึ้น ขณะที่ภารกิจของ SCA นับจากนี้ คือการระบายเรือที่ทอดสมอรออยู่อย่างน้อย 422 ลำ ซึ่ง พล.ท.ราบี กล่าวว่า เรืออย่างน้อย 113 ลำ จะสามารถผ่านคลองสุเอซได้ ในช่วงเช้าของวันอังคารตามเวลาท้องถิ่น และน่าจะใช้เวลา 3-4 วัน ในการจัดการกับเรือที่ตกค้างอยู่ทั้งหมด อย่างไรก็ดี เรือบรรทุกสินค้าหลายสิบลำตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางไปยังแหลมกู๊ดโฮป ในทวีปแอฟริกาแทนแล้ว

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)