ข่าวประจำวันที่ 25 พ.ค. 2564

ข่าวในประเทศ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

 

1. ครม. เล็งขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อีก 2 เดือน คลังชงมาตรการภาษี 4 ฉบับ (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์ , ประจำวันที่ 25 พฤษภาคม 2564)

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ผ่านระบบวิดีโอ คอนเฟอร์เรนซ์  โดยมีวาระที่น่าสนใจ คือ การพิจารณาขยายระยะเวลาการใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร คราวที่ 12 ตามข้อเสนอของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ออกไปอีก 60 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน - 31 กรกฎาคม 2564 เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต และร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร รวม 4 ฉบับ โดยฉบับแรก เป็นการขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 ส่วนอีก 3 ฉบับ เป็นมาตรการภาษีเพื่อรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ (Thailand Plus Package) กระทรวงยุติธรรม นำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายในการจัดระบบบริการและระบบประกันสุขภาพ สำหรับผู้ต้องขังที่มีปัญหาสถานะบุคคลและต่างด้าวในเรือนจำ กระทรวงพาณิชย์ เสนอร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้รถจักรยานยนต์ใช้แล้วเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ..... กระทรวงกลาโหม เสนอการขอยกเลิกโครงการก่อสร้างอาคารที่พักข้าราชการ กองบัญชาการกองทัพไทย พื้นที่ประชาชื่น และโอนงบประมาณที่ตั้งไว้สำหรับรายการดังกล่าวในปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ไปสมทบเป็นค่างานก่อสร้างบ้านพักข้าราชการ กองบัญชาการกองทัพไทย ระยะที่ 2 และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เสนอรายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง การจัดตั้งเทศบาลนครแม่สอด เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ "นครแม่สอด" ของคณะกรรมาธิการ การปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา

อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ ครม. จะพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การปฏิบัติตามกฎหมายของโครงการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับ และถนนยกระดับในเขตกรุงเทพมหานคร และการใช้ประโยชน์ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (โฮปเวลล์) ของคณะกรรมาธิการการกฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร

 

นายรณดล นุ่มนนท์
รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน

 

2. แบงก์สุดอืด ปล่อยสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องให้กับ SMEs (ที่มา: ไทยรัฐ , ประจำวันที่ 25 พฤษภาคม 2564)

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับสมาคมธนาคารไทย เพื่อเร่งรัดปล่อยสินเชื่อฟื้นฟู และโครงการพักทรัพย์พักหนี้ว่า การปล่อยสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SME) ยังน้อยกว่าที่ ธปท. คาดการณ์ไว้ โดย ณ วันที่ 24 พฤษภาคม 2564 มีลูกหนี้ SMEs ที่ได้รับความช่วยเหลือจากโครงการสินเชื่อฟื้นฟูแล้ว 6,647 ราย วงเงินสินเชื่อ 16,050 ล้านบาท หรือเฉลี่ยรายละ 2.11 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 5 ล้านบาท ขณะที่โครงการพักทรัพย์ ลูกหนี้เจรจาเพื่อขอตีโอนสินทรัพย์เพียง 4 ราย เพราะการตกลงเงื่อนไขระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้ในการตีโอนทรัพย์ต้องใช้ระยะเวลา แต่เท่าที่สอบถามสมาคมโรงแรม และผู้ที่เกี่ยวข้อง พบว่าลูกหนี้จำนวนมากสนใจ และเจรจากับสถาบันการเงินแล้ว คาดว่าลูกหนี้จะทยอยยื่นความประสงค์ในโครงการมากขึ้น นอกจากนี้ ธปท. ยังขอให้สถาบันการเงินเร่งดำเนินการเพื่อสร้างความเข้าใจกับลูกหนี้ และพนักงานถึงความเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ ทั้งการเยียวยาฉุกเฉินในขณะนี้จนถึงการฟื้นฟูกิจการในช่วงต่อไปเพื่อให้ลูกหนี้ผ่านโควิด-19 ไปได้ พร้อมกันนั้นได้ให้สถาบันการเงินแต่ละแห่ง ตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ของตนเอง และให้รายงานการปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูมาให้ทราบทุกสัปดาห์ หากไม่ได้ตามเป้าหมายที่ให้ไว้กับ ธปท. จะต้องชี้แจงเหตุผลด้วย เพื่อให้การปล่อยสินเชื่อต่อเนื่อง และไม่มีอุปสรรค

อย่างไรก็ดี นายรณดล กล่าวต่อถึงกรณีที่เรียกร้องให้ลดเวลาการติดแบล็กลิสต์ตัวแดงในเครดิตบูโร เพราะส่งผลให้ลูกหนี้ไม่ได้รับสินเชื่อว่า ธปท. ได้ย้ำกับสถาบันการเงินไปแล้วว่า หากเร่งรัดให้ลูกหนี้ปรับโครงสร้างหนี้ จะไม่มีประวัติติดอยู่ในเครดิตบูโร หรือมีผลต่อประวัติทางการเงินในอนาคต ส่วนกรณีโครงการพักหนี้ให้กับลูกหนี้ของสถาบันการเงินที่จะครบกำหนดสิ้นเดือนมิถุนายนนี้นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา คาดจะได้ข้อสรุปในต้นเดือนมิถุนายนนี้

 

นางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์
รักษาการผู้จัดการทั่วไป
บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม ( บสย.)

 

3. บสย. ฟุ้งค้ำสินเชื่อฟื้นฟูแล้ว 2.8 พันล้าน มั่นใจดอกเบี้ยต่ำดูดผู้ประกอบการทะลัก (ที่มา: ไทยโพสต์ , ประจำวันที่ 25 พฤษภาคม 2564)

นางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ รักษาการผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม ( บสย.) เปิดเผยผลดำเนินงานโครงการค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟู ตาม พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู-พักทรัพย์-พักหนี้ ตั้งแต่ 26 เมษายน - 18 พฤษภาคม 2564 ว่า มีการอนุมัติวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ จำนวน 2,840 ล้านบาท อนุมัติหนังสือค้ำประกันสินเชื่อ (LG) จำนวน 2,260 ฉบับ ผ่าน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน), ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน), ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์ และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) วงเงินค้ำประกันเฉลี่ยต่อราย 1.25 ล้านบาท โดยประเภทธุรกิจที่มีการค้ำประกันจำนวนมากราย ได้แก่ 1.) การบริการ 2.) การผลิตสินค้าและการค้าอื่น ๆ 3.) การเกษตรกรรม ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้ประกอบการ ให้ความสนใจใช้บริการมากขึ้น ด้วยจุดเด่นของโครงการสินเชื่อฟื้นฟู อัตราดอกเบี้ยต่ำ สามารถใช้ บสย. ค้ำประกันสินเชื่อได้ทุกกรณี และยังเปิดกว้างขยายขอบเขตการค้ำประกันสินเชื่อมากกว่าปกติ จากกลุ่ม SMEs เป็นผู้ประกอบการทุกกลุ่มทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และครอบคลุมขนาดใหญ่ที่ขอสินเชื่อจากธนาคาร และผ่านการพิจารณาอนุมัติวงเงินสินเชื่อจากธนาคารแห่งประเทศไทย โดยทุกเคสที่มีเอกสารครบถ้วนที่ส่งมายัง บสย. จะได้รับการค้ำประกันสินเชื่อทั้งหมด ทั้งนี้ นางวสุกานต์ กล่าวอีกว่า บสย. ได้เพิ่มประสิทธิภาพการบริการจัดการภายใน เตรียมความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและระบบปฎิบัติการอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อรองรับปริมาณคำขอค้ำประกันสินเชื่อที่มีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยประสานการทำงานอย่างใกล้ชิดกับธนาคารพันธมิตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการอนุมัติค้ำประกันที่รวดเร็ว รวมทั้งได้เร่งประชาสัมพันธ์ “บสย.ค้ำทุกเคส” เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางปฎิบัติและขั้นตอนการเข้าถึงสินเชื่อฟื้นฟู และการค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟูจาก บสย. ให้เข้าถึงผู้ประกอบการทุกกลุ่ม

อย่างไรก็ดี โครงการค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟู เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2564 เป็นโครงการตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ความช่วยเหลือค้ำประกันเงินกู้ แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้มีสภาพคล่อง หรือมีเงินทุนหมุนเวียนที่เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ โดยใช้ บสย. เป็นหลักประกันในการขอกู้เงินจากธนาคาร มีวงเงินค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟู เฟสแรกจำนวน 100,000 ล้านบาท

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. GDP สิงคโปร์ไตรมาส 1 โต 1.3% รับอานิสงส์การผลิตแกร่ง (ที่มา: ข่าวหุ้น , ประจำวันที่ 25 พฤษภาคม 2564)

กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม (MTI) ของสิงคโปร์รายงานในวันนี้ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2564 ขยายตัว 1.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งสูงกว่าตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่ขยายตัวเพียง 0.2% นอกจากนี้ GDP ไตรมาส 1 ของสิงคโปร์ยังขยายตัวได้ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าอาจจะขยายตัว 0.9% โดยปัจจัยที่ช่วยหนุน GDP ของสิงคโปร์นั้น มาจากการผลิตที่มีการขยายตัวแข็งแกร่งเกินคาด

อย่างไรก็ตาม ขณะเดียวกัน MTI ยังคงคาดการณ์การขยายตัวของ GDP ในปี 2564 อยู่ในกรอบ 4%-6% โดยพิจารณาจากความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดทั่วโลกของโรคโควิด-19 และพิจารณาจากสถานการณ์ภายในประเทศ โดย MTI จะดำเนินการทบทวนตัวเลขคาดการณ์ GDP อีกครั้งในเดือนสิงหาคม 2564

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)