ข่าวในประเทศ
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
1. ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ถกศูนย์แก้โควิด-19 พรุ่งนี้ (ที่มา: innnews , ประจำวันที่ 7 กันยายน 2564)
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้อนุมัติงบประมาณ 8 แสนบาท เพื่อให้เจ้าหน้าที่กระทรวงฯ ส่วนภูมิภาคจัดซื้อชุดตรวจโควิด (Antigen Test Kit) และชุด PPE สำหรับใช้ปฏิบัติงานเมื่อลงพื้นที่ตรวจประเมินสถานประกอบการ และจากคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 14/2564 สั่งการ ณ วันที่ 28 สิงหาคม 2564 ได้มอบหมายให้ตนเป็น“หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการด้านการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในส่วนที่เกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (Covid-19) ในสถานประกอบกิจการและโรงงานอุตสาหกรรม ขณะนี้ กระทรวงฯ ได้ยกร่างคำสั่งฯ แล้วเสร็จ และมีแผนที่จะประชุมคณะกรรมการศูนย์ฯ ในวันที่ 8 กันยายน 2564 ขณะเดียวกันวันนี้ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมได้เป็นประธาน ในกิจกรรมรับมอบวัสดุอุปกรณ์ป้องกันและรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จากบริษัท ฮิโรเสะ โปรดักส์ (ไทยแลนด์) จำกัด พร้อมกล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศ ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากและอุปกรณ์ทางการแพทย์ไม่เพียงพอ ทางบริษัท ฮิโรเสะฯ ได้ห่วงใยคนไทยจึงให้การสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ในการป้องกันและรักษาโรคฯ จำนวน 5 รายการ ประกอบด้วย เครื่องผลิตออกซิเจน ขนาด 5 ลิตร จำนวน 18 เครื่อง หน้ากากอนามัย N95 จำนวน 8,634 ชิ้น ชุดป้องกันส่วนบุคคล หรือ PPE สำหรับบุคลากร ทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน จำนวน 2,050 ชุด ถุงหุ้มรองเท้า จำนวน 1,800 คู่ หมวกคลุมผม จำนวน 3,600 ชิ้น รวมมูลค่ากว่า 1 ล้านบาท มอบให้กระทรวงอุตสาหกรรมนำไปส่งต่อให้แก่โรงพยาบาลสนามในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 7 จังหวัด
อย่างไรก็ตาม ด้าน นายมานาบุ เทะสึโมโตะ (Mr. Manabu Tetsumoto) ประธานบริษัท ฮิโรเสะ โปรดักส์ สำนักงานใหญ่ จังหวัดชิมาเนะ ประเทศญี่ปุ่น จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ตระหนักถึงผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ต่อคนไทยจึง ให้การสนับสนุนและคาดหวังที่จะช่วยเหลือผู้คนได้เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ก่อนที่โรคโควิด-19 จะระบาด ตลาดสินค้าที่ทำจากไม้ในไทย มีการขยายตัวสร้างผลประกอบการที่ดี เพราะนอกจากเมืองไทยมีร้านอาหารมากมายแล้ว สินค้าของบริษัทฯ ยังตอบสนองนโยบายลดการใช้พลาสติกของรัฐบาลไทย และกระแสผู้บริโภคที่รักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังนั้น หลังจากสถานการณ์โรคโควิด-19 คลี่คลายลง บริษัทฯ มีแผนที่จะลงทุนตั้งโรงงานผลิตในไทยในอีก 1- 2 ปีข้างหน้า
นางสาวปัทมาวดี บุญโญภาส
รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
กระทรวงพาณิชย์
2. ยกระดับผู้ประกอบการ OTOP กรมพัฒน์ติวเข้มบุกตลาดออนไลน์ (ที่มา: แนวหน้า , ประจำวันที่ 7 กันยายน 2564)
นางสาวปัทมาวดี บุญโญภาส รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่ากรมให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ และส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการสินค้าชุมชนให้มีความเข้มแข็งมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ OTOP ที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นของไทย แต่ระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้ประกอบการทุกระดับ ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเกิดการเปลี่ยนแปลงจากเดิมไปอย่างมาก โลกออนไลน์เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนโดยนิยมเลือกซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น
อย่างไรก็ดี กรมจึงได้ปรับรูปแบบการส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการ OTOP ให้หันมาดำเนินธุรกิจผ่านการตลาดออนไลน์มากขึ้น พร้อมสร้างเครือข่ายแหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่ กิจกรรมที่ 1.) พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านการตลาดออนไลน์สู่การเป็น Smart Digital OTOP เน้นส่งเสริมพัฒนาให้ผู้ประกอบการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ กิจกรรมที่ 2.) สร้างต้นแบบผู้ประกอบการ OTOP ออนไลน์ชุมชนเข้มแข็ง (OTOP SellerSuccess Story) โดยให้คำปรึกษาเชิงลึกด้านการตลาดออนไลน์ ตั้งแต่ต้นทาง ถึง ปลายทาง กิจกรรมที่ 3.) จัดหาและพัฒนาแหล่งจำหน่าย OTOP ต้นแบบ โดยดำเนินการสำรวจแหล่งจำหน่ายที่มีศักยภาพทั้ง 77 จังหวัด กว่า 300 แห่งทั่วประเทศ มาพัฒนาต่อยอดให้คำปรึกษาโดยทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดและการนำเสนอผลิตภัณฑ์ กิจกรรมที่ 4.) เชื่อมโยงช่องทางการตลาดผลิตภัณฑ์ OTOP เข้าสู่ช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ โดยจัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจออนไลน์ (Online Business Matching) ระหว่างผู้ประกอบการ OTOP ที่มีศักยภาพและความพร้อมด้านการตลาด จัดกิจกรรมเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์ OTOP เข้าสู่ตลาดออนไลน์ โดยประสานความร่วมมือกับ e-Marketplace แพลตฟอร์มออนไลน์ ผู้ประกอบกิจการขนส่ง และสถาบันการเงิน
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
3. ส.อ.ท. ต่อลมหายใจ SME ดันสินค้า Made in Thailand เจาะตลาดรัฐ (ที่มา: MGR Online , ประจำวันที่ 7 กันยายน 2564)
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากการผลักดันโครงการ Made in Thailand :MiT เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศหันมาใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศผ่านระเบียบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่มีเม็ดเงินกว่า 1.3 ล้านล้านบาทต่อปีล่าสุด 6 เดือนที่ผ่านมา ส.อ.ท. ได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนสินค้า MiT ให้กับผู้ประกอบการแล้วกว่า 2,000 ราย โดยล่าสุดข้อมูลจากกรมบัญชีกลางพบว่ามีผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกว่า 52% สามารถยื่นเสนองานต่อภาครัฐได้แล้วคิดเป็นมูลค่ากว่า 68,000 ล้านบาท ซึ่งครอบคลุมสินค้าหลากหลายทั้งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่รวมไปถึงผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (SME) คาดว่าสิ้นปี 2564 จะมีผู้ประกอบการเข้ามาลงทะเบียนกว่า 5,000 ราย มีจำนวนสินค้ากว่า 50,000 รายการ สำหรับสินค้าที่พบการขึ้นทะเบียนมากสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1.) อุปกรณ์งานก่อสร้าง อันดับ 2.) ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อันดับ 3.) เครื่องปรับอากาศ อันดับ 4.) สินค้าและอุปกรณ์ทางการแพทย์ และอันดับ 5.) สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งนับว่าโครงการ MiT ได้รับการตอบรับที่ดีมากจากหน่วยราชการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมที่ได้ผลักดันนโยบายร่วมกันกับกระทรวงการคลัง หรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ท่าอากาศยาน, กรมทางหลวง, สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ , การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล, กรมที่ดิน, กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น, โรงพยาบาล และหน่วยงานอื่น ๆ
อย่างไรก็ดี นางพิมพ์ใจ ลี้อิสระนุกูล รองประธาน ส.อ.ท. และประธานสายงานมาตรฐานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบงาน MiT ของ ส.อ.ท. กล่าวว่า นอกจากโอกาสจากหน่วยรัฐ ส.อ.ท. ได้หารือร่วมกับหน่วยงานเอกชนในส่วนของการขายปลีกและขายส่งเพื่อขยายตลาด ซึ่งในปัจจุบันได้มีพันธมิตรภาคเอกชนรายใหญ่ให้การสนับสนุน อาทิ กลุ่มเซ็นทรัลกรุ๊ป ที่กำลังผลักดันผู้ค้าในเครือข่ายมาขึ้นทะเบียน MiT เช่น ไทวัสดุ บีทูเอส และ ออฟฟิศเมท และหลังจากนี้ ส.อ.ท. จะหารือกับภาคเอกชนรายอื่น ๆ ให้ช่วยสนับสนุนเพิ่มเติม เช่น สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย, สมาคมค้าปลีกไทย คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีไทยในภาวะที่ยากลำบาก นอกจากตลาดในประเทศแล้ว ส.อ.ท. ยังร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สร้างโอกาสทางการค้าในต่างประเทศ โดยนำร่องกลุ่ม SME เจรจาธุรกิจที่ตลาดบาห์เรน, ตลาดอินเดียและตลาดจีน ที่นิยมสินค้าไทยอยู่ระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งหากสินค้าได้รับการรับรอง MiT ก็ยังจะสร้างความน่าเชื่อถือและมั่นใจให้กับคู่ค้าเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ขอเชิญชวนภาคอุตสาหกรรม ภาคการค้า ภาคบริการ และ SME ทั้งสมาชิก ส.อ.ท. และเครือข่ายพันธมิตร เข้าร่วมการรับรองสินค้า MiT ได้ที่ www.mit,or,th สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายงานมาตรฐานอุตสาหกรรม ส.อ.ท. โทร. 02-345-1109 และ 02-345-1100 หรือ Line : @mitofficial
ข่าวต่างประเทศ
4. จีนส่งออกพุ่งขึ้น 25.6%,นำเข้าทะยาน 33.1% สูงกว่าคาดการณ์ (ที่มา: อินโฟเควสท์ , ประจำวันที่ 7 กันยายน 2564)
สำนักงานศุลกากรจีน (GAC) เปิดเผยในวันนี้ว่า ยอดส่งออกเดือนสิงหาคมของจีนพุ่งขึ้น 25.6% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 17.1% และแข็งแกร่งกว่าในเดือนกรกฎาคมที่ปรับตัวขึ้น 19.3% โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ทั่วโลก ซึ่งช่วยชดเชยผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดรอบใหม่ของไวรัสโควิด-19 ในจีน รวมทั้งปัญหาติดขัดด้านอุปทาน ส่วนยอดนำเข้าเดือนสิงหาคมของจีนพุ่งขึ้นแข็งแกร่งถึง 33.1% ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 26.8% และสูงกว่าในเดือนกรกฎาคมที่ปรับตัวขึ้น 28.1% ทั้งนี้ จีนมียอดเกินดุลการค้าในเดือนสิงหาคมทั้งสิ้น 5.834 หมื่นล้านดอลลาร์ สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 5.105 หมื่นล้านดอลลาร์ และมากกว่าในเดือนกรกฎาคมที่มียอดเกินดุล 5.658 หมื่นล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม รายงานระบุว่า จีนมียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐพุ่งขึ้นแตะระดับ 3.768 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนสิงหาคม จากระดับ 3.54 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนกรกฎาคม ทั้งนี้ เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นหลังจากที่ถูกกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่การขยายตัวของเศรษฐกิจยังคงอ่อนแอเนื่องจากการระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลา, ราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น และจากการที่รัฐบาลใช้มาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อสกัดความร้อนแรงของราคาอสังหาริมทรัพย์
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)