ข่าวประจำวันที่ 11 ต.ค. 2564

ข่าวในประเทศ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม
อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

 

1. พาณิชย์เตรียมยื่นความเห็นกฎหมายคาร์บอนของ EU ชี้สุ่มเสี่ยงเลือกปฏิบัติ (ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ , ประจำวันที่ 11 ตุลาคม 2564)

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้ สหภาพยุโรป (EU) ได้เปิดรับฟังความเห็นต่อร่างกฎหมายมาตรการปรับคาร์บอนข้ามพรมแดน (CBAM) โดยกำหนดให้ผู้ที่สนใจ หรือมีข้อกังวลต่อมาตรการ สามารถส่งความเห็นได้จนถึงเที่ยงคืนของวันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 (เวลาบรัสเซลส์) ซึ่งกรมฯ เองก็อยู่ระหว่างจัดทำความเห็นต่อร่างกฎหมายดังกล่าว โดยเฉพาะข้อกังวลในเรื่องความสอดคล้องกับกติกาขององค์การการค้าโลก (WTO) ความสุ่มเสี่ยงว่าจะเป็นการเลือกปฏิบัติระหว่างผู้นำเข้ากับผู้ผลิตใน EU และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับการค้าระหว่างสองฝ่าย เป็นต้น และขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการแจ้งความเห็นหรือข้อกังวลต่อมาตรการ CBAM ไปที่ EU ภายในเวลาที่กำหนดด้วย ทั้งนี้ กรมฯ ขอให้ผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าไทยไป EU ควรเตรียมความพร้อมในการปรับตัวรับมาตรการ CBAM ที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 ซึ่งรัฐและเอกชนจะต้องร่วมกันทำงานอย่างใกล้ชิด เพื่อปรับกระบวนการผลิตไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และใช้พลังงานทางเลือกที่ปกป้องสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา  กรมฯ ได้ประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นต้น เพื่อเตรียมรับมือในเบื้องต้นแล้ว

อย่างไรก็ตาม สำหรับร่างกฎหมายดังกล่าว EU กำหนดใช้กับสินค้านำเข้า 5 ชนิด ได้แก่ ซีเมนต์ ไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า และอะลูมิเนียม ต้องซื้อใบรับรอง CBAM ตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อกระตุ้นให้ประเทศผู้ส่งออกเร่งผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมตามที่ EU กำหนด โดยมาตรการ CBAM จะมีผลบังคับใช้ในปี 2566 เริ่มจากในช่วง 3 ปีแรก (2566-2568) ถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน ผู้นำเข้าจะต้องแจ้งข้อมูลปริมาณการนำเข้าและปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้านำเข้าต่อ EU และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 จะเริ่มบังคับใช้มาตรการ CBAM อย่างเต็มรูปแบบ ส่งผลให้ผู้นำเข้าต้องซื้อและส่งมอบใบรับรอง CBAM ให้หน่วยงานผู้มีอำนาจของประเทศสมาชิก EU และมีความเป็นไปได้มากที่หลังจากนั้น EU จะขยายมาตรการให้ครอบคลุมไปถึงสินค้าประเภทอื่น ๆ อีกทั้ง ในปี 2563 ไทยส่งออกสินค้าตามรายการที่ครอบคลุมในมาตรการ CBAM ไปยัง EU เป็นมูลค่า 145.08 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 4.25% ของการส่งออกสินค้าดังกล่าวของไทยไปสู่โลก ประกอบด้วยเหล็กและเหล็กกล้า 104.46 ล้านดอลลาร์หรือ 5.03 % และของการส่งออกของไทยไปสู่โลก  อะลูมิเนียม 40.62 ล้านดอลลาร์หรือ 4.58 % ของการส่งออกของไทยไปสู่โลก  ส่วนซีเมนต์ ปุ๋ย และไฟฟ้า ไทยส่งออกไปอียูในปริมาณที่น้อยมาก หรือไม่มีการส่งออก

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบาย
และยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

 

2. ดัชนีเชื่อมั่นทะยาน 2 เดือนติด รับอานิสงส์ลดเคอร์ฟิวราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น (ที่มา: ไทยรัฐ , ประจำวันที่ 11 ตุลาคม 2564)

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมในเดือนกันยายน 2564 ซึ่งจัดทำโดย สนค. พบว่า ปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดีขึ้นตามลำดับ ประกอบกับภาครัฐได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุม ทั้งการปรับลดเวลาเคอร์ฟิว คลายล็อกดาวน์ให้ผู้ประกอบการเปิดดำเนินการได้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น และยังมาจากปัจจัยจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญๆปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เช่น ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนกันยายน 2564 อยู่ที่ 42.1 เพิ่มขึ้นจาก 37.2 ในเดือนสิงหาคม 2564 เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน อยู่ที่ 34.2 เพิ่มขึ้นจาก 29 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต อยู่ที่ 47.4 เพิ่มจาก 42.1 ส่วนเมื่อพิจารณารายภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกภูมิภาค โดยเฉพาะภาคกลางมีสัดส่วนการเพิ่มขึ้นมากที่สุดจากระดับ 36.8 มาอยู่ที่ระดับ 44.1 รองลงมาคือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล จาก 34.6 มาอยู่ที่ 39.6, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 38.1 มาอยู่ที่ 42.6, ภาคใต้ จาก 38.9 มาอยู่ที่ 42.9 และภาคเหนือ จาก 35.9 มาอยู่ที่ 39.7

อย่างไรก็ตาม หากจำแนกรายอาชีพ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าในทุกกลุ่มอาชีพ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ ที่เพิ่มขึ้นมากสุด จาก 36.9 มาอยู่ที่ 43.6 รองลงมา คือ กลุ่มพนักงานเอกชนจาก 35.4 มาอยู่ที่ 40.8, กลุ่มเกษตรกร จาก 37.9 มาอยู่ที่ 42.5, กลุ่มพนักงานของรัฐ จาก 44.2 มาอยู่ที่ 48.0, กลุ่มไม่ได้ทำงาน/บำนาญ จาก 32.3 มาอยู่ที่ 36.1, กลุ่มรับจ้างอิสระ จาก 35.5 มาอยู่ที่ 39.3 และกลุ่มนักศึกษา จาก 35.5 มาอยู่ที่ 37.4 “หากโควิด-19 ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ เช่น โครงการคนละครึ่ง ที่ได้โอนเงินรอบ 2 ไปแล้ว น่าจะช่วยให้เศรษฐกิจกลับเข้าสู่ทิศทางที่ดีขึ้น ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นได้”   

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล
รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

3. ส.อ.ท. เผยกลุ่มแบงก์-พลังงาน-ยานยนต์ รุกปรับตัวรับเทคโนโลยีดิจิทัล (ที่มา: มติชน , ประจำวันที่ 11 ตุลาคม 2564)

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่มีบทบาทต่อธุรกิจไทย ว่า เรื่องนี้ในแวดวงธุรกิจมีการพูดถึงมาระยะหนึ่งแล้ว เพื่อให้ผู้ประกอบการเตรียมตัวรับมือ ก่อนเกิดโควิด-19 หลายธนาคารเริ่มปรับตัวลดสาขา ลดพนักงาน และมุ่งสู่การทำธุรกรรมผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ล่าสุดกรณีของ ธนาคารไทยพาณิชย์ คือตัวอย่างสำคัญของธนาคารที่ปรับตัวมุ่งธุรกิจฟินเทค มีการทรานฟอร์มตัวเองทั้งที่ปัจจุบันมีกำไรสูงแต่ขยับเร็ว ปรับโมเดลธุรกิจ มีการจับมือกับยักษ์ใหญ่ในธุรกิจต่าง ๆ เพื่อแสวงหาโอกาสลงทุนใหม่ ๆ เชื่อว่าหลังจากนี้ธนาคารอื่นจะปรับตัวเช่นกัน อีกทั้ง นายเกรียงไกรกล่าวว่า อีกกลุ่มที่มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน คือ กลุ่มยานยนต์ที่มุ่งยานยนต์อัจฉริยะ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ประเด็นนี้ประเทศยักษ์ใหญ่ ทั้งจีน และสหรัฐ ต่างประกาศตัวมุ่งอีวีทั้งสิ้น ขณะที่ประเทศไทยหากต้องการเป็นฐานผลิตรถยนต์ของภูมิภาคต่อไปก็ต้องปรับตัว ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลก็ให้ความสำคัญ มีคณะทำงานในการขับเคลื่อน คือ บอร์ดอีวี แต่ก็ต้องดูว่ามีนโยบายที่ชัดเจนและแนวทางดำเนินการที่เป็นรูปธรรมอย่างไร

อย่างไรก็ตาม นายเกรียงไกรกล่าวว่า นอกจากนี้อีกอุตสาหกรรมที่เห็นการปรับตัวชัดเจนคือ พลังงาน อาทิ กลุ่มบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่ปรับจากธุรกิจน้ำมันเชื้อเพลิง ปิโตรเลียม สู้อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ทั้งอีวี ยาและเวชภัณฑ์ ล่าสุดก็เข้าสนับสนุนสตาร์ตอัพอย่างเต็มรูปแบบ อีกบริษัทที่น่าสนใจคือ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ที่นอกจากพลังงานยังหันลงทุนในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งถนน ท่าเรือ และล่าสุดคือธุรกิจโทรคมนาคม ผ่านการถือหุ้นใน บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) “นอกจากการปรับตัวของธุรกิจใหญ่ที่เป็นข่าวดัง ในส่วนของภาคเกษตร ก็มีการปรับตัวเช่นกัน ปัจจุบันนอกจากการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยดูแลผลิต อาทิ โดรนในภาคเกษตร แต่กรรมวิธีการผลิตก็มีความน่าสนใจ อาทิ โมเดลการเลี้ยงปลากระชังในทะเล อดีตประเทศนอร์เวย์เป็นผู้ริเริ่ม ต่อมาได้จ้างจีนดำเนินการเพราะต้นทุนถูกกว่า และทำออกมาได้ดี ทำให้จีนเริ่มพัฒนาและมีการเลี้ยงสัตว์น้ำในทะเลเอง ทำให้เชื่อว่าอนาคตจากเดิมจีนที่นำเข้าอาหารทะเลมหาศาลอาจผลิตบริโภคและเป็นส่งออก ซึ่งไทยในฐานะผู้ผลิตอาหารของโลกต้องปรับตัว ชาวประมงไทยจะปรับตัวอย่างไร ทราบว่าโมเดลเลี้ยงปลาในกระชังทางทะเลในไทยเริ่มมีเอกชนขออนุญาตแล้วแต่ยังอยู่ในขั้นตอน เพราะติดเรื่องข้อกฎหมายและกรรมวิธีที่ค่อนข้างยากเพื่อความปลอดภัย” นายเกรียงไกรกล่าว

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. "คิชิดะ" เตรียมตอบกระทู้ถามสดในสภาญี่ปุ่นวันนี้ คาดถูกซักประเด็นรับมือโควิด (ที่มา: อินโฟเควสท์ , ประจำวันที่ 11 ตุลาคม 2564)

นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่น เตรียมตอบกระทู้ถามสดต่อรัฐสภาในวันนี้ โดยจะเป็นครั้งแรกที่ฝ่ายค้านจะได้มีโอกาสสอบถามถึงคำสัญญาและแผนของนายคิชิดะตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ด้วยเหตุที่การเลือกตั้งทั่วไปมีกำหนดจัดขึ้นในอีก 3 สัปดาห์ข้างหน้า การแก้ปัญหาโควิด-19 ระลอกใหม่ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่อ่อนแอจึงเป็นประเด็นสำคัญของการอภิปรายในครั้งนี้ โดยขณะนี้ประเทศญี่ปุ่นกำลังอยู่ในช่วงสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า มีแนวโน้มที่ผู้ป่วยอาจเพิ่มขึ้นก่อนฤดูหนาว ซึ่งพรรคฝ่ายค้านหลักต้องการผลักดันนโยบายการขยายการตรวจเชื้อ และเคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า ญี่ปุ่นควรหยุดใช้มาตรการซอฟต์ล็อกดาวน์ อีกทั้ง ก่อนหน้านี้นายคิชิดะได้ให้คำมั่นว่าจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่วงเงินหลายสิบล้านล้านเยน เพื่อเยียวยาผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ขณะเดียวกัน นายคิชิดะยังได้กล่าวถึง "ระบบทุนนิยมรูปแบบใหม่" ที่มุ่งลดช่องว่างความมั่งคั่ง เพื่อนำทางเศรษฐกิจให้พ้นจากความซบเซา

อย่างไรก็ตาม นายคิชิดะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก หลังจากที่เขากล่าวว่าจะจะเลื่อนแผนการปรับขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคลไปก่อน นอกจากนี้ พรรคฝ่ายค้านอาจตั้งคำถามถึงแถลงการณ์ของพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ก่อนที่การเลือกตั้งทั่วไปจะเปิดฉากขึ้นในช่วงสิ้นเดือนนี้ ซึ่งพรรค LDP ประกาศที่จะเพิ่มงบประมาณด้านการป้องกันประเทศขึ้นเป็น 2 เท่าหากเป็นไปได้

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)