ข่าวประจำวันที่ 12 ต.ค. 2564

ข่าวในประเทศ

นายธนกร วังบุญคงชนะ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

 

1. โฆษกรัฐบาล แนะประชาชนช่วยรับผิดชอบร่วมกัน เดินหน้าเปิดประเทศ 1 พฤศจิกายน (ที่มา: มติชน , ประจำวันที่ 12 ตุลาคม 2564)

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สืบเนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม วางเป้าหมายรับการเดินทางเข้าประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป โดยไม่ต้องกักตัว ว่าการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นไปตามข้อกำหนดเงื่อนไขที่คำนึงถึงความปลอดภัยสาธารณสุขคนไทยและชาวต่างชาติ อาทิ ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว และเดินทางเข้าประเทศไทยโดยทางอากาศจากประเทศที่กำหนดว่าเป็นประเทศความเสี่ยงต่ำ เป็นต้น โดยนายธนกรกล่าวว่า การเปิดประเทศที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้เป็นการสร้างบรรยากาศและส่งสัญญาณให้นานาชาติตลอดจนนักท่องเที่ยวทั่วโลกได้เห็นถึงความพร้อม และศักยภาพของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ขอเน้นย้ำกับประชาชนคนไทยทุกคนว่าขอให้ยังคงระมัดระวัง และป้องกันตนเองการ์ดอย่าตก ยังต้องยึดหลักอนามัยส่วนบุคคล ดูแลตัวเองแบบครอบจักรวาล รวมทั้งผู้ประกอบการ ชุมชน ตลาด ต้องปฏิบัติตามมาตรการ COVID-Free Setting อย่างเคร่งครัด

อย่างไรก็ดี นายธนกรกล่าวต่อว่า รัฐบาลกำลังเร่งทำงานโดยเร่งการฉีดวัคซีนให้ประชาชน การจัดหาวัคซีน ตลอดจนการรับส่งมอบวัคซีนของไทยที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งในสิ้นปีนี้ไทยจะได้รับมอบวัคซีนถึง 178.2 ล้านโดส อีกทั้งยอดการฉีดวัคซีนสะสมของไทยวันนี้ยังมากกว่า 61 ล้านโดส มั่นใจว่าไทยบรรลุเป้าหมายการฉีดวัคซีนครอบคลุมร้อยละ 70 ของกลุ่มเป้าหมาย  “นายกฯฝากเน้นย้ำให้คนไทยทุกภาคส่วนเป็นส่วนหนึ่งในการเตรียมความพร้อม รับผิดชอบร่วมกัน ช่วยกันสร้างความมั่นใจในการเปิดประเทศในฐานะเจ้าของบ้าน ด้วยการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันส่วนบุคคล อาทิ Universal Prevention ผู้ประกอบการ โรงงานภาคอุตสาหกรรม ดำเนินการตามมาตรการ COVID-Free Setting อย่างเคร่งครัด เพื่อร่วมกันผลักดันเศรษฐกิจสู่การเปิดประเทศที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน รวมทั้งยังสอดคล้องกับมาตรการผ่อนคลายกิจการ/กิจกรรมในปลายปีนี้ด้วย” นายธนกรกล่าว

นายธัชชญาน์พล อภิมนต์เตชบุตร
รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ

 

2. เมียนมาห้ามนำเข้ารถยนต์ไทย อ้างซมพิษโควิด ลดขาดดุลค้า (ที่มา: ไทยรัฐ , ประจำวันที่ 12 ตุลาคม 2564)

นายธัชชญาน์พล อภิมนต์เตชบุตร รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ เมียนมา ระงับการอนุญาตเปิดศูนย์ขายรถยนต์ใหม่ รวมทั้งระงับการออกใบอนุญาตนำเข้าและการอนุญาตนำเข้ารถยนต์นั่งส่วนบุคคลชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เพราะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้การส่งออก และเศรษฐกิจชะลอตัว จึงต้องลดการใช้เงินตราต่างประเทศจากการนำเข้าชั่วคราว โดยรถยนต์ที่อยู่ในข่ายระงับนำเข้า ได้แก่ 1.) รถยนต์ใช้แล้วและรถยนต์ส่วนบุคคล 2.) รถยนต์จากศูนย์ขายรถยนต์และโชว์รูมรถยนต์ และ 3.) กรณีการนำเข้ารายบุคคลที่ออกใบอนุญาตนำเข้าไว้กับข้าราชการหน่วยงานต่างๆ ที่ได้รับรางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่น ทหาร และตำรวจที่ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การระงับนำเข้าครั้งนี้กระทบการส่งออกรถยนต์ไทยไปเมียนมาที่แต่ละปีมีมูลค่าหลายพันล้านบาท ซึ่งเดือนมกราคม – สิงหาคม 2564 ส่งออกแล้ว 1,991 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังเป็นความพยายามลดนำเข้าสินค้าไทย จากก่อนหน้านี้ ห้ามนำเข้าเครื่องดื่มทุกประเภทผ่านด่านทางบก ตามด้วยสบู่ ยาสีฟัน และผงซักฟอก เป็นต้น   

 

นายวีริศ อัมระปาล
ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

 

3. กนอ. เล็งสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มในนิคมฯ ภาคใต้ ลดไฟดับ ผุดโรงพยาบาลสุขภาพตำบลดูแลชุมชน (ที่มา: สยามรัฐ , ประจำวันที่ 12 ตุลาคม 2564)

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสงขลา (ระยะที่ 1) อ.สะเดา จ.สงขลา และนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลาว่า ได้มอบนโยบายในการบริหารจัดการนิคมฯ รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมทุนสร้างโรงไฟฟ้า การพัฒนาระบบน้ำดิบ แผนการขายและเช่าพื้นที่ นอกจากนี้ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมระบบสาธารณูปโภคในนิคมฯ รวมทั้งร่วมประชุมกับนายรัตน์นริศ สุวรรณรัตน์ สาธารณสุขอำเภอหาดใหญ่ นางสุดา นิยมเดชา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) ฉลุง และผู้นำชุมชน เพื่อหารือความเป็นไปได้ในการก่อสร้างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่นิคมฯภาคใต้ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพควบคู่กับความมั่นคงด้านอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ดี สำหรับแนวทางในการก่อสร้างโรงพยาบาลนั้นได้มอบหมายให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำแบบประเมินด้านงบประมาณและสถานที่ เพื่อนำรายละเอียดเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ กนอ. เพื่อให้ได้ข้อสรุป ก่อนนำไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านสาธารณสุขต่อไป โดยตั้งเป้าภายในระยะเวลา 1 ปีจะสร้างโรงพยาบาลในพื้นที่นิคมฯภาคใต้ เพื่อให้สอดคล้องกับความประสงค์ของประชาชนโดยรอบนิคมฯ และผู้ประกอบการในนิคมฯ ที่ต้องการยกระดับสุขภาพและสร้างความยั่งยืนในพื้นที่ ขณะเดียวกันได้หารือถึงแนวทางสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่เพิ่มเติมอีก เพื่อลดปัญหาไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับ ซึ่งมักเกิดขึ้นประจำในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งปัญหาดังกล่าวผู้ประกอบการได้เคยสะท้อนมาแล้ว กนอ.จึงจะหาแนวทางร่วมทุนกับเอกชนผู้มีความเชี่ยวชาญด้านพลังงาน หรืออาจลงทุนเองในรูปแบบบริษัทลูก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหารือภายในคาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆนี้ พร้อมกันนี้ยังหารือถึงประเด็นความมั่นคงด้านพลังงานน้ำ โดยผู้ประกอบการต้องการให้ กนอ.สนับสนุนการเข้าถึงการใช้น้ำดิบมากขึ้น เพื่อลดภาระด้านต้นทุนในการประกอบการ เนื่องจากต้นทุนน้ำประปาค่อนข้างสูง และหากจะดึงดูดผู้ประกอบการให้เข้ามาลงทุนในนิคมฯนั้นต้องสร้างแรงจูงใจเพิ่มเติม “กนอ. มีจุดประสงค์ให้ผู้ประกอบการและชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน ทั้ง Stake Holder เรื่องน้ำ ไฟฟ้า ค่าเช่า ทุกอย่างที่ผู้ประกอบการสะท้อนเข้ามาเรารับฟังและต้องเร่งนำไปปฏิบัติเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้ เกิดประโยชน์ทั้งในแง่สังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนรายใหม่ๆเข้ามาลงทุนในนิคมฯ ภาคใต้ ซึ่งยังมีศักยภาพอยู่มาก โดยเรามีความพร้อมมากตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ”

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจออสซี่ฟื้นตัว หลังรัฐบาลผ่อนคลายล็อกดาวน์คุมโควิด (ที่มา: อินโฟเควสท์ , ประจำวันที่ 12 ตุลาคม 2564)

ผลสำรวจซึ่งจัดทำโดยเนชันแนล ออสเตรเลีย แบงก์ (NAB) ระบุว่า ดัชนีภาวะธุรกิจปรับตัวลงในเดือนกันยายน เนื่องจากการใช้มาตรการล็อกดาวน์เป็นเวลานานเพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 นั้น ได้ส่งผลให้ยอดขายและกำไรของภาคธุรกิจปรับตัวลง ทั้งนี้ ดัชนีภาวะธุรกิจเดือนกันยายนของออสเตรเลีย ปรับตัวลง 9 จุด แตะระดับ +5 จุด ซึ่งเป็นระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว

อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ ดีดตัวขึ้น 19 จุด สู่ระดับ +13 จุด โดยได้แรงหนุนจากการที่รัฐนิวเซาท์เวลส์เริ่มผ่อนคลายมาตรการคุมโควิด-19 ในสัปดาห์นี้ ขณะที่รัฐวิกตอเรียและกรุงแคนเบอร์ราจะเริ่มเปิดเศรษฐกิจในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้ ทั้งนี้ อลัน ออสเตอร์ หัวหน้านักวิเคราะห์ของ NAB กล่าวว่า ภาคธุรกิจต่างก็รอคอยการเปิดเศรษฐกิจ ขณะที่ความเชื่อมั่นปรับตัวขึ้นหลังจากรัฐนิวเซาท์เวลส์และวิกตอเรียประกาศแผนการเปิดเศรษฐกิจ อีกทั้ง ธุรกิจต่าง ๆ ในนครซิดนีย์ของออสเตรเลียกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งแก่ลูกค้าที่ฉีดวัคซีนครบทั้งสองโดสเมื่อวานนี้ (11 ตุลาคม) ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 100 วัน หลังบรรลุเป้าหมายการฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้ตามเกณฑ์ โดยทางการซิดนีย์ได้อนุญาตให้ร้านตัดผม โรงยิม คาเฟ่ และผับบาร์เปิดรับลูกค้าที่ฉีดวัคซีนครบสองโดส โดยความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังจากรัฐนิวเซาท์เวลส์ฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมประชาชนที่อายุ 16 ปีขึ้นไปแล้ว 70%  ซึ่งเมื่อนับจนถึงวันนี้ ประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้รับวัคซีนครบสองโดสแล้ว 73.5% และได้รับวัคซีนโดสแรกแล้วกว่า 90% ทั้งนี้ รัฐนิวเซาท์เวลส์จะยกเลิกมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 เพิ่มเติมในภายหลังเมื่อประชาชน 80% ได้รับวัคซีน โดยประชาชนในรัฐจะได้รับอนุญาตให้เดินทางไปต่างประเทศได้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมปีที่แล้ว

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)