ข่าวประจำวันที่ 14 ต.ค. 2564

ข่าวในประเทศ

นายธนกร วังบุญคงชนะ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

 

1. นายกฯ ยินดี Fitch Ratings ประเมินเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้เร็วขึ้นในปี 65 (ที่มา: สยามรัฐ , ประจำวันที่ 14 ตุลาคม 2564)

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าต่อผลการวิเคราะห์ของบริษัท Fitch Ratings (ประเทศไทย) จำกัด (Fitch Rating Thailand) ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำ ได้ระบุว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้เร็วขึ้นภายในปี 2565 โดยมีปัจจัยหนุนจากอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ การกลับมาเปิดธุรกิจอีกครั้ง และสภาพแวดล้อมจากทั่วโลกที่มีการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตลอดจนอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทไทยรายใหญ่ต่าง ๆ มีเสถียรภาพเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีกับผลการประเมินดังกล่าว ซึ่งสะท้อนถึงมุมมองของภาคเอกชนในต่างประเทศที่เชื่อมั่นต่อรัฐบาล และการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจของไทย โดยนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่ารัฐบาลพร้อมจะต่อยอดนโยบายที่เป็นประโยชน์กับการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจในประเทศให้แข็งแกร่ง สอดรับกับการเจรจากับต่างประเทศ และในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อเพิ่มปฏิสัมพันธ์ในเวทีโลก ควบคู่กับการพัฒนาด้านสาธารณสุขอย่างครอบคลุมให้ทันต่อสถานการณ์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

อย่างไรก็ดี โฆษกรัฐบาล กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลคำนึงถึงมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจควบคู่สาธารณสุขทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะการประกาศเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 แก่ประชาชนให้ครอบคลุมมากที่สุดจนเห็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการเปิดโครงการ Phuket Sandbox นำร่องการท่องเที่ยวอีกครั้ง ซึ่งประสบความสำเร็จและได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากนักท่องเที่ยว จนขยายเป็นโครงการอื่น ๆ และนายกรัฐมนตรีได้ประกาศจะเริ่มเปิดรับการเดินทางเข้าประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 นี้ อีกทั้งการวางนโยบายด้านเศรษฐกิจเพื่อรองรับการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์โควิด-19 อย่างมีศักยภาพ เช่น โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และความเชื่อมโยงภายในภูมิภาค โครงการรถไฟความเร็วสูง และการส่งเสริมการลงทุนที่สอดคล้องกับโมเดล เศรษฐกิจ BCG Economy เป็นต้น ซึ่งนโยบายเหล่านี้เป็นการดำเนินการภายใต้วิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรี และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

2. สุริยะ ลุยแก้ปมขยะติดโควิด สถานที่รับกำจัดไม่เพียงพอ (ที่มา: ไทยรัฐ , ประจำวันที่ 14 ตุลาคม 2564)

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตนได้ลงนามในประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง “นโยบายการนำมูลฝอยติดเชื้อมาเป็นเชื้อเพลิงในเตาเผาของโรงงานเป็นการชั่วคราว ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยติดเชื้อจากการรักษาผู้ป่วย ทั้งในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม การกักตัวที่บ้าน ฯลฯ จนทำให้สถานที่รับกำจัดขยะมูลฝอยติดเชื้อ ไม่สามารถรองรับได้เพียงพอ หากไม่เร่งจัดการให้ดีพออาจกลายเป็นแหล่งแพร่โรคติดเชื้อดังกล่าวได้ ขณะที่ นายสหวัฒน์ โสภา รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า กรอ. พร้อมสนับสนุนให้โรงงานอุตสาหกรรม บางประเภทใช้ศักยภาพเตาเผาที่เป็นส่วนหนึ่งของกิจการโรงงานมาช่วยกำจัดขยะติดเชื้อที่สะสมอยู่เป็นการชั่วคราวจนกว่าโควิด-19 จะคลี่คลาย

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประกาศดังกล่าวได้กำหนดประเภทและชนิดโรงงานที่มี 3 ประเภทได้แก่ 1.) โรงงานลำดับที่ 88 (2) เฉพาะโรงงานผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน หรือขยะอุตสาหกรรม หรือแบบผสมผสานทั้งแบบเผาตรง หรือใช้เชื้อเพลิง RDF (Refuse Derived Fuel) 2.) โรงงานลำดับที่ 101 เฉพาะโรงปูนซีเมนต์ หรือโรงงานกำจัดของเสียเฉพาะที่กำจัดโดยกระบวนการเผา และ 3.) ลำดับที่ 102 เฉพาะโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการผลิตและจำหน่ายไอน้ำ (Steam Generating) ที่ใช้เชื้อเพลิงขยะชุมชน หรือขยะอุตสาหกรรม หรือแบบผสมผสานทั้งแบบเผาตรงและใช้เชื้อเพลิง RDF (ขยะที่เผาไหม้ได้) สามารถขอความเห็นชอบตามกฎหมาย เพื่อนำมูลฝอยติดเชื้อมาเป็นเชื้อเพลิงในเตาเผาของโรงงานเป็นการชั่วคราวทั้งในนิคมอุตสาหกรรม และนอกนิคมอุตสาหกรรม   

 

นายลวรณ แสงสนิท
อธิบดีกรมสรรพาสามิต

 

3. กรมสรรพสามิตย้ำชัดยังไม่ลดภาษีน้ำมัน ติดตามราคาตลาดโลกใกล้ชิด (ที่มา: ไทยรัฐ , ประจำวันที่ 14 ตุลาคม 2564)

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพาสามิต เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมสรรพสามิตยังไม่ได้ศึกษาการปรับโครงสร้างภาษีน้ำมันแต่อย่างใด เนื่องจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสามารถแก้ไขปัญหาและบริหารราคาน้ำมันแพงได้ ดังนั้น การลดภาษีน้ำมันจึงไม่มีความจำเป็นในช่วงนี้ แต่ยังคงต้องเกาะติดสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกอย่างใกล้ชิดว่าจะเป็นไปในทิศทางใด อย่างไรก็ตามการปรับโครงสร้างภาษีน้ำมันนั้น เป็นเรื่องของนโยบายรัฐบาลด้วย ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้รับนโยบายใดๆเกี่ยวกับโครงสร้างภาษีน้ำมัน ดังนั้น กรมสรรพสามิตยังคงจัดเก็บภาษีน้ำมันตามปกติ โดยปัจจุบันกรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 8-10 บาทต่อลิตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทของผลิตภัณฑ์น้ำมัน ทั้งนี้ ในแต่ละปีกรมสรรพสามิตจะจัดเก็บภาษีน้ำมันได้ปีละ 200,000 ล้านบาท คิดเป็น 40% ของการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิต ซึ่งถือเป็นรายได้หลักของการจัดเก็บทั้งหมด ซึ่งรายได้ดังกล่าวนั้นก็นำมาพัฒนาประเทศ เพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้มีการขยายตัวมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม “สาเหตุราคาน้ำมันแพงในขณะนี้ มาจากปัจจัยจากราคาน้ำมันในตลาดโลกแพงขึ้น ไม่เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตแต่อย่างใด ไม่ว่าน้ำมันจะถูกหรือจะแพงกรมสรรพสามิตก็เก็บภาษีต่อลิตรเท่าเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาหลายปีแล้ว เพราะเงินที่จัดเก็บได้ก็นำมาพัฒนาประเทศ ดังนั้นน้ำมันจะถูกจะแพงไม่เกี่ยวกับภาษีแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะความต้องการน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้น” อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าว

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. ยอดส่งออกสินค้า ICT เกาหลีใต้พุ่งทำนิวไฮในเดือนกันยายน (ที่มา: อินโฟเควสท์ , ประจำวันที่ 14 ตุลาคม 2564)

กระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงานของเกาหลีใต้รายงานว่า ยอดการส่งออกสินค้าประเภทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนกันยายน เนื่องจากความต้องการทั่วโลกที่ฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 โดยรายงานระบุว่า ยอดการส่งออกสินค้า ICT ของเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น 21.1% เมื่อเทียบรายปี แตะ 2.134 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนกันยายน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่มีการบันทึกข้อมูลดังกล่าวในปี 2539 และอยู่ในระดับเกิน 2 หมื่นล้านดอลลาร์เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ทั้งนี้ ความต้องการสินค้า ICT ที่ผลิตในเกาหลีใต้ยังคงขยายตัวแข็งแกร่ง ท่ามกลางความคืบหน้าในการระดมฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก นอกจากนี้ ยอดส่งออกชิปเซมิคอนดักเตอร์ยังพุ่งขึ้น 27.4% เมื่อเทียบรายปี แตะระดับ 1.223 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนกันยายน ขณะเดียวกัน ยอดส่งออกของสินค้าประเภทจอแสดงผล, โทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์ต่างก็เพิ่มขึ้นด้วยอัตราเลขสองหลักเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ยอดส่งออกสินค้า ICT ไปยังจีน ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้น 24% สู่ระดับ 1.012 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่ยอดส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐ, ยุโรป และเวียดนามเพิ่มขึ้นแตะระดับ 2.58 พันล้านดอลลาร์, 1.09 พันล้านดอลลาร์ และ 3.59 พันล้านดอลลาร์ตามลำดับ

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)