ข่าวในประเทศ
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบาย
และแผนพลังงาน (สนพ.)
1. ราคาน้ำมันโลกเริ่มนิ่ง (ที่มา: ไทยรัฐ , ประจำวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564)
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่าราคาน้ำมันดิบตลาดโลกมีแนวโน้มทรงตัว หลังจากที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร (โอเปกพลัส) มีมติเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันอีก 400,000 บาร์เรล/วัน จากปกติในเดือน ธ.ค.นี้ แม้ว่าสหรัฐฯได้กดดันให้โอเปกพลัสเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อชะลอการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันโลก อีกทั้งตลาดน้ำมันโลกยังได้แรงหนุนกรณีที่ บริษัทซาอุดี อารามโค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันของรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย ประกาศขึ้นราคาน้ำมันดิบประเภท Arab Light Crude สำหรับลูกค้าในเอเชียสู่ระดับ 2.70 ดอลลาร์สหรัฐฯในเดือนธันวาคมนี้ โดยปรับเพิ่มขึ้น 1.40 ดอลลาร์ฯ จากระดับของเดือนพฤศจิกายนนี้ นอกจากนี้ สัญญาซื้อขายน้ำมันดิบในหลายๆแหล่งผลิตทั่วโลกได้ทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังจากสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อนุมัติร่างกฎหมายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน วงเงิน 1 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งคาดว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันในประเทศสหรัฐฯเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมสถานการณ์ราคาน้ำมันโลก เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่าราคาน้ำมันดิบดูไบและเวสต์เท็กซัส เฉลี่ยอยู่ที่ 81.65 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ 81.78 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตามลำดับ ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 1.57 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ 1.85 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตามลำดับ และกำลังการผลิตน้ำมันดิบของซาอุดีอาระเบียจะขยับเป็น 10 ล้านบาร์เรล/วัน ในเดือนธันวาคมนี้ อีกทั้งอิหร่านพร้อมตกลงเข้าร่วมการเจรจาเพื่อรื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์กับ 6 ชาติมหาอำนาจที่ประเทศออสเตรีย วันที่ 29 พฤศจิกายนนี้ โดยอิหร่านได้เรียกร้องให้สหรัฐฯยกเลิกการคว่ำบาตรที่จำกัดการส่งออกน้ำมัน ซึ่งหากสามารถบรรลุข้อตกลงได้จะทำให้มีน้ำมันดิบจากอิหร่านเข้ามาสู่ตลาดโลกเพิ่มขึ้น ขณะที่สหรัฐฯอาจมีแนวโน้มระบายน้ำมันจากคลังสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์
อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
2. วาง 5 ยุทธศาสตร์ดันส่งออกปีหน้า (ที่มา: ไทยรัฐ , ประจำวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564)
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ปี 2565 การส่งออกของไทยจะยังคงขยายตัวแน่นอน แต่คงเป็นการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับปี 2564 ที่มูลค่าส่งออกในแต่ละเดือนขยายตัวสูงมาก บางเดือนขยายตัวเป็นตัวเลข 2 หลักเมื่อเทียบกับปี 2563 สาเหตุที่ปี 2565 อาจขยายตัวแบบชะลอลง เพราะกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดว่าเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป จีน จะมีอัตราการเติบโตแบบชะลอตัวเมื่อเทียบกับปี 2564 ที่ฟื้นตัวหลังการระบาดของโควิด-19 และการเปิดประเทศ นอกจากนี้ ฐานมูลค่าส่งออกไทยแต่ละเดือนของปี 2564 สูงมาก จึงอาจทำให้มูลค่าแต่ละเดือนของปี 2565 ได้น้อยกว่า ทั้งนี้ ปีหน้ายังคงต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงที่อาจกระทบต่อการส่งออกของไทยคือค่าเงินบาท ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ยังคงต้องระมัดระวัง
อย่างไรก็ดี สำหรับยุทธศาสตร์การส่งออกไทยปีหน้านั้น กรมได้จัดทำไว้ 5 แนวทาง ได้แก่ 1.) การพัฒนาและสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับสินค้าและธุรกิจบริการไทยที่ตอบสนองความต้องการเมกะเทรนด์ และนิวนอร์มอล, 2.) รักษาตลาดเดิม เปิดตลาดใหม่ ฟื้นฟูตลาดเก่าที่สูญเสียและเพิ่มส่วนแบ่งตลาดด้วยการเจาะตลาดเมืองรอง, 3.) ส่งเสริมเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม โดยส่งเสริม ผู้ประกอบการไทยใช้ช่องทางค้าขายออนไลน์ในการเข้าถึงผู้บริโภคทั่วโลก, 4.) พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ในทุกระดับความพร้อม และ 5.) ยกระดับการให้บริการด้านการค้าระหว่างประเทศของกรมโดยการนำดิจิทัลมาประยุกต์ใช้งานอย่างต่อเนื่อง โดยการขับเคลื่อนการค้าในระยะยาว สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) อยู่ระหว่างการจัดทำยุทธศาสตร์การค้าไทย 5 ปี ซึ่งจะเป็นยุทธศาสตร์การค้าของไทยฉบับแรก ที่จะใช้ส่งเสริม ผลักดัน และในการเพิ่มมูลค่าการค้า ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล
รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
3. ส.อ.ท. เกาะติด 3 ปัจจัยดันต้นทุนพุ่ง วัตถุดิบแพง แรงงานขาด บาทอ่อน (ที่มา: MGR Online , ประจำวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564)
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท. กำลังติดตาม 3 ปัจจัยเสี่ยงต่อภาคการผลิตและเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิดเนื่องจากจะกระทบต่อต้นทุนการผลิตในภาพรวมที่ต้องปรับตัวสูงขึ้นและสะท้อนไปยังราคาสินค้าที่อาจบั่นทอนแรงซื้อประชาชนที่ลดลงได้ ประกอบด้วย 1.) ต้นทุนวัตถุดิบทั้งสินค้าโภคภัณฑ์ การเกษตรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นส่งผลให้ราคาสินค้ากลางน้ำและปลายน้ำทยอยปรับราคา 2.) แรงงานต่างด้าวขาดแคลนจากผลกระทบของโควิด-19 และ 3.) อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่ยังมีแนวโน้มอ่อนค่าและผันผวนที่กระทบต่อการนำเข้าเครื่องจักร วัตถุดิบและพลังงาน ทั้งนี้ ปัจจุบันจากระดับราคาพลังงานทั้งน้ำมัน ถ่านหิน ฯลฯ ตลาดโลกที่เพิ่มสูงทำให้วัตถุดิบที่ใช้พลังงานปริมาณมากปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น เหล็ก อะลูมิเนียม ปิโตรเคมี ฯลฯ เช่นเดียวกับภาคขนส่งที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตและเกษตรได้รับผลกระทบจากระดับราคาน้ำมันที่สูงเช่นกัน และล่าสุดต้องติดตามกรณีที่สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยได้ดีเดย์หยุดวิ่งรถขนส่งสินค้าทั่วประเทศแล้ว 20% และวันที่ 16 พฤศจิกายนนี้จัดกิจกรรม truck power 2 ปิดล้อมเมือง เพื่อยกระดับกดดันรัฐบาลให้กำหนดราคาดีเซลเหลือลิตรละ 25 บาทเป็นเวลา 1 ปีว่าจะกระทบมากน้อยเพียงใด
อย่างไรก็ตาม สำหรับปัญหาแรงงานต่างด้าวที่ไทยขาดแคลนเนื่องจากผลกระทบโควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้แรงงานส่วนหนึ่งได้เดินทางกลับประเทศตนเองแล้วบางส่วนยังไม่ได้กลับมาขณะที่ภาคการส่งออกที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น อาหาร ขยายตัวต่อเนื่องจากยอดส่งออกที่เติบโต ทำให้แรงงานส่วนนี้ต้องการเพิ่มขึ้น และเมื่อไทยเปิดประเทศทำให้แรงงานในภาคการผลิตและท่องเที่ยว บริการต้องการเพิ่มเข้ามาอีก ซึ่งประเมินว่าแรงงานต่างด้าวที่ขาดแคลนรวมจะอยู่ราว 8 แสนคน (ภาคผลิต 3-5 แสนคน และบริการท่องเที่ยวอีก 3 แสนคน) ดังนั้นหากแรงงานเข้ามาไม่ทันความต้องการก็จะกระทบต่อการดำเนินธุรกิจได้ กระทรวงแรงงานจำเป็นต้องเร่งรัดการนำเข้าแบบถูกกฎหมายให้ทันต่อสถานการณ์ที่ไม่เพียงตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจแต่ยังสกัดกั้นไม่ให้เกิดการนำเข้าแรงงานเถื่อนอีกด้วย ส่วนภาวะอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทของไทยล่าสุดอยู่ในกรอบ 32.70-32.90 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยมีแนวโน้มอ่อนค่าลงจากทิศทางเงินเหรียญสหรัฐที่แข็งค่าสุดในรอบปี ซึ่งค่าเงินบาทยังมีทิศทางผันผวนจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เผชิญภาวะเงินเฟ้อและต้องติดตามโควิด-19 ช่วงฤดูหนาวที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจโลกปลายปีนี้ อย่างไรก็ตาม บาทอ่อนค่านั้นมีทั้งผลดีและผลเสีย กล่าวคือ ผลดีต่อภาคการส่งออกที่จะเป็นแต้มต่อให้ไทยมากขึ้น แต่ต้องไม่ลืมว่าภาคส่งออกของไทยนั้นส่วนใหญ่ล้วนเป็นบริษัทข้ามชาติ ขณะที่ผลเสียคือการนำเข้าเครื่องจักร วัตถุดิบ และรวมถึงพลังงานจะสูงขึ้นอีกเพราะไทยยังต้องพึ่งพาการนำเข้าเป็นหลักโดยเฉพาะพลังงาน
ข่าวต่างประเทศ
4. สหรัฐออกโรงเตือนยุโรป ระวังรัสเซียวางแผนบุกยูเครนหลังความตึงเครียดปะทุ (ที่มา: อินโฟเควสท์ , ประจำวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564)
สหรัฐเตือนบรรดาพันธมิตรในสหภาพยุโรป (EU) ว่า รัสเซียอาจกำลังพิจารณาที่จะบุกรุกยูเครน หลังความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและ EU ปะทุขึ้นจากประเด็นผู้อพยพและอุปทานพลังงาน โดย สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวระบุว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐได้แจ้งให้พันธมิตรใน EU รับทราบถึงความวิตกของพวกเขาเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่รัสเซียจะปฏิบัติการทางทหาร ขณะที่สหรัฐกำลังจับตาอย่างใกล้ชิดกับการที่รัสเซียเสริมกองกำลังทหารใกล้พรมแดนของยูเครน อีกทั้ง แหล่งข่าวระบุว่า การประเมินสถานการณ์ดังกล่าวอิงตามข้อมูลที่สหรัฐยังไม่ได้แบ่งปันให้กับรัฐบาลต่าง ๆ ในยุโรป ซึ่งการแบ่งปันข้อมูลระหว่างกันนั้นจะต้องเกิดขึ้นก่อนการตัดสินใจใด ๆ เพื่อดำเนินการตอบโต้ร่วมกัน และจะต้องได้รับการสนับสนุนจากหลักฐานที่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวระบุเมื่อวันพฤหัสบดี (11 พฤศจิกายน) ว่า สหรัฐกำลังหารือกับบรรดาพันธมิตรเกี่ยวกับการเสริมกำลังทหารของรัสเซียดังกล่าว โดยพิจารณาว่ายูเครนเป็นหุ้นส่วน และประณามการกระทำที่ก้าวร้าวทั้งหมดของรัสเซีย ขณะที่ด้านรัสเซียระบุว่า การระดมกำลังทหารบนผืนแผ่นดินของรัสเซียนั้นถือเป็นกิจการภายในประเทศ และปฏิเสธว่า รัสเซียไม่ได้มีเจตนาที่ก้าวร้าวแต่อย่างใด ขณะที่กล่าวหาว่า สหรัฐกระทำยั่วยุด้วยการส่งเรือรบเข้าไปยังทะเลดำซึ่งอยู่ติดกับเขตแดนของรัสเซียในสัปดาห์นี้ ซึ่งข่าวดังกล่าวส่งผลให้สกุลเงินรูเบิลของรัสเซียอ่อนค่าลง โดยร่วง 0.5% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 6 วัน
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)