ข่าวประจำวันที่ 15 ธ.ค. 2564

ข่าวในประเทศ

นายบรรจง สุกรีฑา
เลขาธิการสำนักงานมาตรฐาน
ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)

 

1. สมอ. คุมเข้มหน้ากากอนามัยปี 65 จะกลายเป็นสินค้าควบคุมมาตรฐานต้องมีเครื่องหมาย “มอก.” (ที่มา: เว็บไซต์ไทยโพสต์, ประจำวันที่ 15 ธันวาคม 2564)

นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า ตามที่มีหน่วยงานแถลงข่าวผลการทดสอบหน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียว เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 โดยทดสอบหน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียว จำนวน 41 ยี่ห้อ พบว่าไม่ผ่านตามเกณฑ์มาตรฐาน มอก. 2424-2562 จำนวน 35 ยี่ห้อ และทดสอบหน้ากาก N95 จำนวน 19 ยี่ห้อ พบว่าไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มอก.2480-2562 จำนวน 6 ยี่ห้อ และเรียกร้องให้ สมอ. กำหนดให้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุมหรือเป็นมาตรฐานบังคับ เพื่อควบคุมคุณภาพสินค้าและคุ้มครองผู้บริโภคให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้า นั้น สมอ. อยู่ในขั้นตอนการประกาศให้หน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียว มอก.2424-2562 เป็นสินค้าควบคุม โดยเสนอร่างกฎกระทรวงต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในกลางปี 2565 ปัจจุบัน สมอ. กำหนดมาตรฐานหน้ากากอนามัยและที่เกี่ยวข้อง เป็นมาตรฐานทั่วไป หรือมาตรฐานภาคสมัครใจ จำนวน 7 มาตรฐาน ดังนี้ 1) มอก. 2424-2562 หน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียว 2) มอก.2480-2562 หน้ากาก N 95 3) มอก. 3189-2564 หน้ากากใช้ครั้งเดียวชนิด N99 ลดความเสี่ยงการติดเชื้อทางการแพทย์ 4) มอก. 3190-2564 หน้ากากใช้ครั้งเดียวชนิด N100 ลดความเสี่ยงการติดเชื้อทางการแพทย์ 5) มอก. 3199-2564 หน้ากากผ้า 6) มอก. 2199-2547 อุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจ : ชนิดกรองอนุภาค และ7) มอก. 2382-2551 อุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจ : ชนิดกรองอนุภาคดูดซับก๊าซและไอในขณะเดียวกัน

อย่างไรก็ดี มีผู้ประกอบการสมัครใจยื่นขอรับใบอนุญาตแสดงเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. 2424-2562 หน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียว และได้รับใบอนุญาตแล้ว จำนวน 9 ราย และมีผู้ได้รับใบอนุญาตแสดงเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. 2480-2562 หน้ากาก N 95 แล้ว จำนวน 1 ราย ทั้งนี้ สมอ. ได้ตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ในจำนวน 41 ยี่ห้อนั้น มีผู้ประกอบการ 4 ราย ที่ได้รับอนุญาตจาก สมอ. ได้แก่ บริษัท ทีพีซีเอส จำกัด (มหาชน) บริษัท เคเอส โกลเด้น จำกัด บริษัท เอ็น.เอ็น.สกายเทรด จำกัด และบริษัท เฮลท์เวย์ ซัพพลาย จำกัด มีผลการทดสอบผลิตภัณฑ์ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน สมอ. จึงได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เนื่องจากหน้ากากอนามัยมาตรฐาน มอก. นั้น มี 3 ระดับการป้องกัน ดังนี้ ระดับ 1 ใช้งานทั่วไป ระดับ 2 ใช้งานด้านการแพทย์ทั่วไป และระดับ 3 ใช้งานทางการแพทย์ในทางศัลยกรรม ซึ่งแต่ละระดับมีความเข้มข้นในการทดสอบต่างกัน และต้องตรวจสอบวันเดือนปีที่ผลิตหน้ากากอนามัยล็อตที่ถูกสุ่มตรวจด้วย ซึ่งอาจจะมีความเป็นไปได้ที่ผลิตขึ้นก่อนได้รับใบอนุญาตตามมาตรฐาน มอก.

นายวีระพงศ์ มาลัย
ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจ
ขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

 

2. ‘สสว.’ จับมือ ธนาคารออมสิน และภาคีเครือข่าย เปิดแผนส่งเสริมเอสเอ็มอี เข้าถึงแหล่งเงินทุน (ที่มา: มติชนออนไลน์, ประจำวันที่ 15 ธันวาคม 2564)

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยว่า ที่ผ่านมา สสว. ได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือกับภาครัฐ และภาคเอกชนหลายแห่ง โดยเป็นไปตามกรอบการดำเนินงานของ สสว. คือ เพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน ขยายช่องทางการตลาดและเชื่อมโยงแหล่งทุนสำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการลงนามความร่วมมือระหว่าง สสว. ธนาคารออมสิน หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการดำเนินธุรกิจ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ด้านนางลภาวรรณ จันทร์กระจ่าง ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสิน สายงานลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และภาครัฐ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างมาก ธนาคารจึงออกมาตรการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และเพื่อสอดรับกับนโยบายเปิดประเทศ

อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือระหว่าง สสว. ธนาคารออมสิน และ 5 ภาคีเครือข่ายสำคัญของไทยครั้งนี้ ช่วยให้เอสเอ็มอีเดินหน้าธุรกิจได้เต็มที่ ด้วยสินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรนเป็นพิเศษ คือ “สินเชื่อ SMEs ที่มีเงิน” สำหรับเอสเอ็มอีขนาดเล็ก ช่วยเสริมสภาพคล่อง เพื่อการลงทุน หรือนำไปไถ่ถอนสัญญาขายฝากตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 โดยพิจารณาจากที่ดินซึ่งเป็นหลักประกัน วงเงินกู้สูงสุด 70% ของราคาประเมินราชการไม่รวมสิ่งปลูกสร้าง อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5.99% ตลอดสัญญา ระยะเวลาผ่อนชำระไม่เกิน 7 ปี โดยปลอดชำระเงินต้น 2 ปี ยื่นกู้ได้ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2565 นอกจากนี้ยังเปิด ‘สินเชื่อ GSB Smooth BIZ’ เงินกู้เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนหรือลงทุนในสินทรัพย์ถาวร หรือไถ่ถอนจำนองจากสถาบันการเงินอื่น อัตราดอกเบี้ยคงที่ 2 ปีแรก 2.99% ต่อปี ระยะเวลากู้ไม่เกิน 10 ปี วงเงินกู้สูงสุด 20 ล้านบาท รวมถึงสินเชื่ออื่นตามมาตรการช่วยเหลือต่างๆ อาทิ สินเชื่อ Soft Loan สำหรับเอสเอ็มอีท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง สินเชื่อ Soft Loan ธปท. เพื่อฟื้นฟูกิจการ เป็นต้น                 

 

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์
โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

3. ส.อ.ท. ชี้เชื่อมั่นฟื้นลุ้นยอดผลิตรถยนต์ปี 65 แตะ 1.7-1.8 ล้านคัน EV แรงต่อเนื่อง (ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, ประจำวันที่ 15 ธันวาคม 2564)

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มการผลิตรถยนต์ของไทยในปี 2565 ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 1,700,000-1,800,000 คันโดยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่คาดว่าการผลิตจะได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 1,600,000 คันเนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่รัฐบาลได้มีการเปิดประเทศตั้งแต่ 1 พ.ย.64 และปลดล็อคมาตรการควบคุมต่างๆ เพิ่มขึ้นทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยกลับมาฟื้นตัวโดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว ประกอบกับมาตรการของภาครัฐได้กระตุ้นกำลังซื้อให้กับประชาชนต่อเนื่อง เช่น โครงการคนละครึ่ง การดูแลราคาสินค้าเกษตร ฯลฯ ทั้งนี้ การผลิตรถยนต์เพื่อจำหน่ายในประเทศปี 2564 คาดว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ระดับ 750,000 คันหากเทียบกับปี 2563 ที่อยู่ระดับ 790,000 คันก็ยังคงลดลงเนื่องจากผลกระทบโควิด-19 แล้วปีนี้ยังเผชิญกับการขาดแคลนชิป และ ชิ้นส่วนทำให้การผลิตรถยนต์บางรุ่นต้องส่งมอบล่าช้า ดังนั้นปัจจัยเสี่ยงในปี 2565 ที่ยังคงต้องติดตามยังคงเป็นปัญหาเดิมๆคือ การแพร่ระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์ใหม่ๆ ว่าจะมีมากน้อยเพียงใดทั้งไทยและต่างประเทศ สงครามการค้า รวมถึงปัญหาการขาดแคลนชิปที่ขณะนี้ทั่วโลกยังคงเผชิญกับภาวะขาดแคลนต่อเนื่องเพราะการใช้ค่อนข้างสูงเนื่องจากหลายอุตสาหกรรมต่างหันมาใช้ระบบอัตโนมัติมากขึ้นที่ล้วนต้องพึ่งพิงชิป เช่นเดียวกับยานยนต์ไฟฟ้า(EV)ที่กำลังเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับตลาดรถ EV ของไทยปี 2565 คาดว่าจะมีจำหน่ายอยู่ในระดับ 4,000-5,000 คันจากปีนี้ที่ยอดการขายประมาณ 1,000 กว่าคัน เนื่องจากภาครัฐบาลเตรียมออกแพ็กเกจมาตรการกระตุ้นการใช้รถ EV โดยคาดว่าจะมีการนำเข้ามาจำหน่ายในระดับราคาต่ำเช่น 600,000-700,000 บาทต่อคันโดยคงจะต้องติดตามมาตรการจากภาครัฐใกล้ชิดว่าจะจูงใจมากน้อยเพียงใดเพราะราคารถยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจจากผู้ซื้อพร้อมๆ ไปกับความสะดวกสบายในการหาสถานีชาร์จไฟที่ต้องมีเพียงพอ

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจีนเดือนพฤศจิกายน ขยายตัวเกินคาด รับอานิสงส์ผลิตพลังงานแกร่ง (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 15 ธันวาคม 2564)

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานวันนี้ว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวได้ดีเกินคาดในเดือนพฤศจิกายน 2564 โดยได้ปัจจัยหนุนจากการผลิตพลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง รวมทั้งราคาวัตถุดิบที่อยู่ในระดับปานกลาง ทั้งนี้ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพฤศจิกายน ของจีน ปรับตัวขึ้น 3.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งดีกว่าในเดือนตุลาคม ที่ปรับตัวขึ้น 3.5% และแข็งแกร่งกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ไว้ว่าอาจจะเพิ่มขึ้น 3.6% ในการประชุมกำหนดวาระเศรษฐกิจแห่งชาติของจีนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น บรรดาผู้นำจีนได้ให้คำมั่นว่าจะมุ่งเน้นการสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจ และรักษาการขยายตัวของเศรษฐกิจไว้ในกรอบที่เหมาะสมในปี 2565

อย่างไรก็ดี ทางด้านธนาคารกลางจีนประกาศปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ในอัตรา 0.50% สำหรับสถาบันการเงินทุกแห่ง โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้ (15 ธันวาคม 2564) ยกเว้นสถาบันการเงินที่มีการกันสำรองที่ระดับ 5% อยู่แล้ว นอกจากนี้ ธนาคารกลางจีนคาดการณ์ว่า การปรับลด RRR จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่แท้จริง และช่วยลดต้นทุนทางการเงินอย่างครอบคลุม

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)