ข่าวประจำวันที่ 12 ม.ค. 2565

ข่าวในประเทศ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

1. กกร.จี้รัฐเสริมกำลังซื้อคนไทย (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 12 มกราคม 2565)

 

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ในวันที่ 12 มกราคม 2565 นี้ จะหารือภาพรวมผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจปี 2565 การส่งออก และอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งมีโอกาสเปลี่ยนแปลงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งคงจะต้องมาดูแต่ละส่วนว่ามีผลกระทบมากน้อยเพียงใด โดยยอมรับว่าก่อนหน้านี้ไม่ได้คาดคิดว่าโอมิครอนจะระบาดรวดเร็วเช่นนี้ ดังนั้นตัวเลขต่างๆ ทางเศรษฐกิจที่เคยประมาณการไว้คงจะต้องปรับให้สอดรับกับข้อเท็จจริงส่วนจะลดลงหรือไม่อย่างไร คงต้องรอการประเมินในที่ประชุมอีกครั้ง ซึ่งก่อนหน้านี้ทาง กกร. เมื่อเดือนธันวาคม 2564 ได้คาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพีปี 2565 จะโต 3-4.5% ส่งออก 3-5% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดขยายตัวอยู่ในกรอบ 1.2-2% ทั้งนี้ ยอมรับว่าภาคเอกชนมีความกังวลโอมิครอนที่ระบาดค่อนข้างเร็วแม้จะไม่ทำให้เสียชีวิตจำนวนมากก็ตาม เพราะ   จะส่งผลต่อการท่องเที่ยวไทยให้ชะลอตัวอย่างชัดเจนที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทย ขณะเดียวกันการจัดงานต่างๆ อาจต้องเลื่อน เช่น งานเอฟทีไอ เอ็กซ์โป ที่ ส.อ.ท. จะจัดขึ้น 2-6 กุมภาพันธ์ 2565 นี้ ก็คงต้องเลื่อนออกไปก่อนเพราะคนกังวลในการเดินทางไปร่วม ดังนั้นผลกระทบเห็นชัดเจนในไตรมาสแรกแต่จะยาวไปถึงไหนคงต้องรอการประเมินการแพร่ระบาดที่ชัดเจนอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม สำหรับค่าครองชีพของประชาชนที่สูงขึ้นจากราคาสินค้าที่แพง โดยเฉพาะราคาน้ำมัน ที่สะท้อนไปยังค่าขนส่ง และวัตถุดิบ ที่จะมีผลกระทบต่อเงินเฟ้อ และการเติบโตเศรษฐกิจ รัฐบาลจำเป็นต้องหามาตรการมาเสริมในการช่วยเหลือประชาชนในด้านกำลังซื้อ ประกอบกับหนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นรัฐจึงยังจำเป็นต้องอัดมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้กับประชาชนและการช่วยเหลือค่าครองชีพและการดูแลปัญหาเอสเอ็มอีมากขึ้น ส่วนผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนธันวาคม 2564 อยู่ในระดับ 86.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 85.4 จากเดือนพฤศจิกายน 2564 และปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน สะท้อนความเชื่อมั่นที่รัฐได้เดินหน้าเปิดประเทศ และผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 แต่ดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงจากการเริ่มเข้ามาของโอมิครอน ผู้ประกอบการจึงได้เสนอแนะการยกระดับป้องกันโอมิครอน

 

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก

รองโฆษกประจำสำนัก นายกรัฐมนตรี

 

2. เคาะเอ็มโอยู 'ไทย-ญี่ปุ่น' ดันหุ้นส่วนด้านพลังงาน (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 12 มกราคม 2565)

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนัก นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนด้านพลังงานระหว่างกระทรวงพลังงานของไทย และกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะมีการลงนามในวันที่ 13 มกราคม 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นสักขีพยาน โดยวัตถุประสงค์ของร่างบันทึกความร่วมมือฯ เพื่อเป็นการกำหนดทิศทางและกรอบการดำเนินความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างสองประเทศในมิติต่างๆ ให้ชัดเจนและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมให้มากยิ่งขึ้น สำหรับขอบเขตความร่วมมือตามร่างบันทึกความร่วมมือ ประกอบด้วย น้ำมันและก๊าซ ไฟฟ้า พลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน พลังงานนิวเคลียร์ นวัตกรรม เทคโนโลยี และพลังงานอัจฉริยะ รวมทั้งเทคโนโลยีการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และความร่วมมือด้านพลังงานอื่นๆ ตามที่ทั้งสองประเทศจะกำหนดร่วมกัน ซึ่งจะมีการดำเนินการในหลายรูปแบบ

อย่างไรก็ตาม ในการประชุม ครม. ครั้งนี้ กระทรวงพลังงานยังเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงพลังงาน ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง โดยให้นายสมบูรณ์ วัชระชัยสุรพล รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง และให้ นายโกมล บัวเกตุ รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป

 

ดร.อาภา อรรถบูรณ์วงศ์

นายกสมาคมอาคารชุดไทย

 

3. นายก ส.อาคารชุดไทย มั่นใจดีมานด์คอนโดฯ พลิกฟื้น คาดปี 65 โตได้10-15% (ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, ประจำวันที่ 12 มกราคม 2565)

 

ดร.อาภา อรรถบูรณ์วงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย เปิดเผยถึงภาพรวมตลาดคอนโดมิเนียมในปี 2565 ว่า เรามองมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ที่เชื่อตลาดคอนโดมิเนียมในปีนี้จะเติบโตต่อไป เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว และหลังจากคลายล็อกดาวน์ ทุกคนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติ กลับเข้าไปทำงานในอาคารสำนักงาน ร้านอาหารหลายแห่งมีลูกค้าเข้าไปใช้บริการ ขณะที่มองว่าดีมานด์ของคอนโดมิเนียมต้องกลับมาอีก ประกอบกับช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ไม่ได้เพิ่มขึ้นเหมือนก่อนช่วงเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 การดูดซัปสินค้าห้องชุดออกไปพอสมควร และจากการขายได้โอนได้ แม้จะไม่มากเหมือนก่อนโควิด-19 ระบาด ซึ่งก็เชื่อมั่น คนที่มีความจำเป็น โดยเฉพาะในกลุ่มวัยทำงาน ก็ต้องมองหาที่อยู่อาศัย ส่งผลให้ดีมานด์คอนโดมิเนียมกลับมา สำหรับกลุ่มราคาคอนโดมิเนียมที่จะมีการฟื้นตัวนั้น มองว่าคอนโดมิเนียมขึ้นทุกกลุ่ม เพราะอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ คนมีฐานะ (มีเงินสด) ตั้งแต่กลุ่มกลางและบน มีเงินเก็บ เป็นกลุ่มที่เห็นสัญญาเงินเฟ้อ การฝากเงินไว้กับธนาคาร อัตราผลตอบแทนจะไม่ทันกับการเพิ่มของอัตราเงินเฟ้อ คนกลุ่มกลางและบนคำนวณเก่งอยู่แล้ว ก็เลยซื้ออสังหาฯ ดีกว่า ในช่วงโควิด-19 กลุ่มคอนโดฯ ระดับล่าง อาจจะชะลอบ้าง แต่ระดับบนมีเงินสดในมือเยอะ เพียงแต่รอดูวิกฤตโควิด-19 จะยาวนานแค่ไหน

อย่างไรก็ตาม ถ้าโควิด-19 มีสัญญาณดีขึ้น ตัวเลขไม่เพิ่มขึ้น ก็ทำให้เชื่อมั่น เราควบคุมได้ เนื่องจากประเทศไทยมีความพร้อมในด้านบุคลากรทางการแพทย์ วัคซีน ยารักษาโรค พร้อม คิดว่าความรุนแรงล้มตายเป็นใบไม้ร่วงคงไม่รุนแรง การพลิกฟื้นจะดีขึ้น และคิดว่าไตรมาสแรกอาจสะดุดบ้าง แต่โดยรวมแล้วจีดีพีทั้งปี 2565 น่าจะใกล้เคียงกับที่กระทรวงการคลังประเมินไว้ บวกกับการส่งออกดีขึ้น และการลงทุนจากต่างชาติผ่านการขอรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอดีขึ้น ไม่ได้หนีไปไหน ภาพรวมดีขึ้น เมื่อทุกคนมีรายได้ มีงานทำ ความต้องการที่อยู่อาศัยจะตามมา ซึ่งคาดว่า ตลาดคอนโดมิเนียมในปีนี้จะเติบโตได้ร้อยละ 10-15 หลังจากในปีที่ผ่านมาติดลบถึงร้อยละ 30

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. ธนาคารโลก เตือนเศรษฐกิจโลกชะลอตัว มีความไม่เท่าเทียมกันเพิ่มมากขึ้น (ที่มา: ศูนย์ข่าวแปซิฟิค, ประจำวันที่ 12 มกราคม 2565)

ธนาคารโลก เปิดเผยว่า โควิดโอไมครอนกำลังส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีการชะลอตัวอย่างเด่นชัด และอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกเพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ย 3 เท่า รัฐบาลหลายประเทศมีหนี้อยู่ในระดับสูง และความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยคุกคามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเกิดใหม่และกำลังพัฒนา และยังมีปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่ยืดเยื้อ โดยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกล่าสุด (Global Economic Prospects) ระบุว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกลดลงจากร้อยละ 5.5 ในปี 2564 เป็นร้อยละ 4.1 ในปี 2565 ซึ่งเป็นมุมมอง 'ในแง่ร้าย' มากกว่ารายงานที่มีการเผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 ที่คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตร้อยละ 4.3 ในปี 2565 นี้

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนาย เดวิด มัลพาส ประธานธนาคารโลก เตือนว่าเศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของโควิดกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ภาวะเงินเฟ้อ ความไม่แน่นอนด้านนโยบายการเงินการคลังในสภาวการณ์ที่ไม่คุ้นเคย ซึ่งยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ตลอดช่วงการระบาดใหญ่ ธนาคารได้ส่งสัญญาณเตือนเกี่ยวกับระดับความไม่เท่าเทียมกันที่เพิ่มขึ้นทั้งภายในและระหว่างประเทศ โดยในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา รัฐบาลหลายแห่งขาดอำนาจการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นการเติบโต ในขณะเดียวกันราคาสินทรัพย์อย่างหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้คนรวยยิ่งร่ำรวยมากขึ้น แต่ปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ โดยความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นปัญหาที่น่ากังวล เพราะจะนำไปสู่ความไม่พึงพอใจในสังคมในประเทศกำลังพัฒนา

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)