ข่าวประจำวันที่ 13 ม.ค. 2565

ข่าวในประเทศ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

1. 'สุริยะ' หนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำอุ้ม 'เอสเอ็มอี' วงเงิน 2 พันล้านบาท (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 13 มกราคม 2565)

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ยังคงส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการดำเนินธุรกิจของเอสเอ็มอี อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ และบรรเทาผลกระทบจากภาระการชำระหนี้ของลูกหนี้ให้มีสภาพคล่องและสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในช่วงภาวะวิกฤต ขณะที่ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ เล็งเห็นถึงสถานการณ์ดังกล่าว จึงได้ออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 3 โครงการ (วงเงินกู้รวม 2,000 ล้านบาท) เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีและลูกหนี้สินเชื่อของกองทุนฯ โดยจะสามารถเปิดรับคำขอได้วันที่ 17 มกราคมนี้  คาดว่าจะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้มากกว่า 500 ราย รักษาการจ้างงานได้กว่า 3,000 ราย ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 10,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ กล่าวเสริมว่า มาตรการช่วยเหลือ SME ที่เป็นนิติบุคคลและเป็นลูกหนี้ของกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ประกอบด้วย 1. สินเชื่อเพิ่มศักยภาพ SME สำหรับผู้ผลิตให้บริการค้าปลีกหรือค้าส่งในกลุ่มอุตสาหกรรม BCG (Bio Circular Green) 2. สินเชื่อ สร้างโอกาส เสริมสภาพคล่อง SME สำหรับผู้ผลิตให้บริการค้าปลีกหรือค้าส่ง และ 3. สินเชื่อเพื่อฟื้นฟู SME เพื่อเป็นเงินทุนช่วยเหลือให้กับลูกค้ากลุ่มเดิมที่เป็นลูกหนี้สินเชื่อของกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ

 

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการ

นโยบายเขตพัฒนาเพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.)

 

2. 'กพอ.' ดันโปรเจคเฟส 2 โครงสร้างพื้นฐาน 3.4 แสนล้าน (ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, ประจำวันที่ 13 มกราคม 2565)

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยว่า แผนโครงสร้างพื้นฐานระยะที่ 2 พ.ศ.2565-2570 จะรองรับการพัฒนาอีอีซีและพื้นที่ข้างเคียง ให้มีความเชื่อมโยงกันอย่างไร้รอยต่อทุกระบบ ทั้งทางบก น้ำ อากาศ เชื่อมต่อขนส่งสาธารณะระบบรางจากสถานีรถไฟความเร็วสูง สนามบินอู่ตะเภา เชื่อมกับเมืองใหม่ และแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งจะช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้ประชาชนในการเดินทาง พร้อมสู่การเป็น "World-Class Economic Zone" รองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้ภาคอุตสาหกรรมมีความเข้มแข็ง เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอีกไม่ถึง 20 ปีข้างหน้า สำหรับงบประมาณอยู่ที่ 340,000 ล้านบาท ซึ่งลงทุนน้อยลงจากแผนระยะที่ 1 ที่ดำเนินการ ไปแล้วกว่า 60% โดยเงินลงทุนส่วนนี้จะใช้รูปแบบร่วมลงทุนเอกชน หรือ PPP เอกชนจะเป็นผู้ลงทุน 50% ซึ่งมีกรอบการพัฒนา ดังนี้ 1. เน้นการใช้ระบบรางและทางน้ำเป็นระบบหลัก ลดการใช้รถขนส่ง เชื่อมโยงระบบรางให้เข้าถึงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือ 2. การส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ อาทิ รถไฟความเร็วสูงเชื่อมเมือง รถเมล์ รถรางเบา 3. การเชื่อมต่อโครงข่ายถนน เพื่อลดปัญหาการจราจร แก้ปัญหาคอขวด 4. การพัฒนาโครงข่ายคมนาคม เชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจใหม่เตรียมรองรับการเติบโตในอนาคต เช่น ท่าเรือ นิคมอุตสาหกรรม แหล่งท่องเที่ยว พื้นที่เกษตรกรรม และ5. การใช้เทคโนโลยีและระบบอัจฉริยะ เข้ามาจัดการการจราจรและการขนส่งทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม สำหรับแผนโครงสร้างพื้นฐานในระยะที่ 2 จะเป็นการส่งเสริมแผนแรก โดยมุ่งพัฒนาระบบขนส่งที่ทันสมัย ทำให้สามารถเดินทางจากกรุงเทพฯ ถึงระยองภายใน 1 ชั่วโมง ลดมลภาวะในสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาการจราจร เพิ่มประสิทธิภาพถนนในพื้นที่ จากความเร็ว 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็น 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีเส้นทางรถไฟทางคู่เพิ่มขึ้น 275 กิโลเมตร ปรับปรุงการก่อสร้างถนนและขยายช่องทางมากถึง 25 เส้นทางภายในปี 2570 นอกจากนี้ เมื่อดำเนินการตามแผนดังกล่าว คาดว่าจะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งในและนอกอีอีซีให้สะดวกสบาย และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมถึงเพิ่มสัดส่วนการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะแบบไร้รอยต่อ และเพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางราง และเรือชายฝั่งในพื้นที่ภาคตะวันออก พร้อมกันนี้ ก็เป็นการยกระดับให้ไทยที่จะก้าวสู่การเป็นประตูการค้าและศูนย์กลางลงทุนแห่งภูมิภาค มีความจุเพียงพอกับความต้องการในการใช้งาน สามารถเชื่อมต่อกับโครงสร้างพื้นฐานระบบราง รวมทั้งดึงดูดความสนใจในการขนส่งสินค้าของผู้ประกอบการไปยังระบบราง ทำให้มีสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางรางเพิ่มขึ้นตามเป้าหมายที่วางไว้

 

นายวินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ

รองอธิบดีกรมสรรพากร

3. เร่งตั้งคณะทำงานร่วมผ่าทางตันภาษีคริปโต (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 13 มกราคม 2565)

นายวินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ รองอธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า สรรพากรได้มีการประชุมหารือร่วมกับสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ เมื่อวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา ถึงเรื่องของการจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเห็นชอบให้มีการตั้งคณะทำงานร่วม 3 ฝ่าย ระหว่างกรมสรรพากร สมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อร่วมหาข้อสรุปจัดเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลที่ครอบคลุมทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นนักซื้อขาย นักขุดเงินดิจิทัล ผู้ประกอบธุรกิจทั้งที่มีใบอนุญาตและไม่มี รวมถึงนักวิชาการด้านภาษีอากร ทั้งนี้ ในเรื่องของการรับฟังความเห็นจะมีการเผยแพร่แบบสอบถามในรูปแบบตัวเลือกคำตอบ เพื่อให้สมาคมฯ จัดส่งให้ทุกฝ่ายที่อยู่ในชุมชนของสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ช่วยกันเสนอแนวทางก่อนที่จะมีการประชุมใหญ่อีกครั้งภายในเดือนมกราคมนี้ ซึ่งจะมีทุกฝ่ายมาประชุมร่วมกันเพื่อหาข้อสรุปถึงแนวทางปฏิบัติ โดยจะแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่ การสร้างแนวทางการจัดเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลให้ชัดเจน และเป็นความเห็นของทุกฝ่าย รวมถึงการผ่อนปรนกฎระเบียบบางข้อที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลไทยในอนาคต โดยทั้งหมดจะไม่กระทบต่อการยื่นภาษีปี 2564

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การเก็บภาษีคริปโตฯ และภาษีซื้อขายหุ้น เพื่อต้องการสร้างความเป็นธรรม คนที่มีรายได้ก็มีหน้าที่ในการเสียภาษี และยังเป็นเรื่องการขยายฐานภาษี เพื่อนำเงินมาใช้พัฒนาประเทศ ที่สำคัญเรื่องภาษีคริปโตฯ กฎหมายกำหนดไว้ชัดแล้วตั้งแต่ปี 2561 และปีที่ผ่านมาก็จัดเก็บไปแล้ว แต่เพิ่งมาระบุรายละเอียดชัดเจนในปีนี้ ซึ่งประเด็นจากนี้ ต้องไปดูการคำนวณภาษีให้ชัดเจนว่าจะเลือกคำนวณแบบกำไรขาเดียว หรือแบบหักลบกลบ ส่วนภาษีกำไรจากการซื้อขายหุ้น ไทยยกเว้นภาษีมา 30 ปีแล้ว แต่ขณะนี้หลายประเทศก็จัดเก็บกันแล้ว

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. มะกันครวญ เงินเฟ้อพุ่งพรวด 7% จากปีก่อน สูงสุดรอบ 40 ปี(ที่มา: มติชนออนไลน์, ประจำวันที่ 13 มกราคม 2565)

กระทรวงแรงงานของสหรัฐอเมริกา เปิดเผยรายงานว่า อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกาพุ่งพรวดรวดเร็วที่สุดในรอบ 40 ปีในปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 1982 หรือเพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตของชาวอเมริกันเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปีที่ผ่านมามีตั้งแต่ราคารถยนต์ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าอาหาร ไปจนถึงค่าเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังประสบภาวะถดถอยเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงต้น ขณะที่การอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อให้ความช่วยเหลือของรัฐบาลรวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ กลับยิ่งกระตุ้นให้มีความต้องการสินค้าและข้าวของต่างๆ มากขึ้น และการฉีดวัคซีนยังช่วยให้ผู้คนมีความมั่นใจที่จะออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านและเดินทางท่องเที่ยวอีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนักเศรษฐศาสตร์เห็นว่าปัจจัยใหญ่ที่สุดที่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ คือ ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างอุปสงค์และอุปทาน บวกกับซัพพลายเชนที่ประสบปัญหาอย่างหนัก ทั้งนี้ มองว่าสภาวะเงินเฟ้อน่าจะผ่อนคลายลงหลังจากการแพร่ระบาดของโอมิครอนลดลง ซึ่งจะทำให้ชาวอเมริกันกลับไปจับจ่ายใช้สอยในภาคบริการมากขึ้น และจะลดความต้องการสินค้า รวมถึงช่วยแก้ไขปัญหาติดขัดในซัพพลายเชนไปพร้อมๆ กัน

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)