ข่าวประจำวันที่ 14 ม.ค. 2565

ข่าวในประเทศ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

1. อุตฯ ดึงความร่วมมือเมติพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 14 มกราคม 2565)

 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ยังคงส่ง   ผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมในหลายๆ ประเทศ จำเป็นต้องมีแนวทางในการฟื้นฟู รวมถึงการสร้างความแข็งแกร่งภายใต้บริบทที่เปลี่ยนแปลงโดยกระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้หารือแนวทางเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม กับ นายฮากิอูดะ โคอิจิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (เมติ) ประเทศญี่ปุ่น ในโอกาสมาเยือนประเทศไทย เพื่อหารือแนวทางการรองรับกับความเปลี่ยนแปลงและผันผวนที่เกิดขึ้น โดยการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) ร่วมกับนโยบายการลงทุนเอเชีย-ญี่ปุ่นเพื่ออนาคต (ASIA-Japan Investing for the Future Initiative : AJIF) ทั้งนี้ ได้กำหนดเป็นกรอบความร่วมมือภายใต้ชื่อ Framework Document on Co-Creation for Innovative and Sustainable Growth ที่มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี การสร้างขีดความสามารถในทุนมนุษย์ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการกระตุ้นการเติบโตให้กับ SME และการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็ง เพื่อผลักดันการลงทุนจากภาคอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่น ใช้ไทยเป็นฐานการลงทุน สร้างความเชื่อมโยง และพัฒนาอุตสาหกรรมในระดับภูมิภาค รวมถึงแลกเปลี่ยนศักยภาพที่โดดเด่นของทั้งไทยและญี่ปุ่นเพื่อสร้างโอกาสการเติบโตในมิติต่างๆ ร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวทางการดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือดังกล่าวจะมี 3 ด้าน ดังนี้ 1. ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนและการสร้างขีดความสามารถในทุนมนุษย์ เป็นการร่วมมือกันเพื่อพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย 2. ด้านการเร่งพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นการร่วมมือกับศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคตสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศไทย และ 3. ด้านการร่วมกันสร้างห่วงโซ่อุปทาน เป็นการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่มีความยืดหยุ่นและมีความสามารถในการแข่งขันในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงด้วยการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงการสร้างห่วงโซ่อุปทานหมุนเวียนและสีเขียว ทั้งนี้ในปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมมีโครงการความร่วมมือกับเมติ ประเทศญี่ปุ่น อาทิ โครงการจัดตั้งศูนย์ต้นแบบการจัดการซากยานยนต์แบบครบวงจรในประเทศไทย โครงการ Lean Automation System Integrator LASI (ลาซี่), โครงการ Lean IoT Plant Management and Execution LIPE (หลีเป๊ะ) และโครงการ Smart Mono sukuri (สมาร์ท โมโนซูกุริ) ที่เข้ามาพัฒนาศักยภาพบุคลากรยกระดับภาคอุตสาหกรรมให้เป็น SI (System Integrator) เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่โรงงานอัจฉริยะที่ทันสมัย เป็นต้น

 

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์

รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

 

2. ชงครม.มาตรการอุ้มรถอีวี (ที่มา: ข่าวสด, ประจำวันที่ 14 มกราคม 2565)

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ช่วงต้นปี 2565 จะเสนอมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ล่าสุดได้หารือกับ นายฮากิอูดะ โคอิจิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (เมติ) โดยญี่ปุ่นให้ความมั่นใจว่าไทยยังเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่สำคัญและพร้อมสนับสนุนด้านการลงทุนต่อเนื่องหลังจากการระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง ทั้งอุตสาหกรรมเดิมที่ญี่ปุ่นมีฐานการผลิตในไทยอยู่แล้ว อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ ที่เตรียมขับเคลื่อนไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจัง รวมไปถึงอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ที่ใช้เทคโนโลยี พลังงานสะอาด และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับบีซีจีด้วย

อย่างไรก็ตาม สำหรับการลงทุนจริงของกลุ่มนักลงทุนญี่ปุ่นจะทยอยเกิดขึ้นแน่นอนในช่วงต่อจากนี้ไป พร้อมร่วมมือทำในเรื่องใหม่ๆ เน้นอุตสาหกรรมเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะทุกคนเข้าใจถึงในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน ซึ่งอุตสาหกรรมจะต้องหันมาให้ความสำคัญ

 

นายธนวรรธน์ พลวิชัย

อธิการบดี และประธาน

ที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

 

3. หวั่นหมูแพง-โอมิครอนทุบความเชื่อมั่นวูบ (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 14 มกราคม 2565)

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธันวาคม 2564 ว่า ดัชนีปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ โดยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือนนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมา โดยดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม, ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 40.1, 42.7 และ 55.7 ตามลำดับ เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่อยู่ที่ 38.8, 41.4 และ 54.5 ตามลำดับ ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธันวาคม 2564, ดัชนีเชื่อมั่นในปัจจุบันและในอนาคต อยู่ที่ 46.2, 30.0 และ 53.8 ตามลำดับ ดีขึ้นจาก 44.9, 28.5 และ 52.7 ตามลำดับ สำหรับสาเหตุที่ทำให้ความเชื่อมั่นดีขึ้น มาจากผู้บริโภคเริ่มคลายความวิตกกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 ในไทย ที่แม้จำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน อาจมีแนวโน้มสูงขึ้นจากการแพร่ระบาดของโอมิครอน แต่จำนวนผู้เสียชีวิตรายวันเริ่มมีแนวโน้มลดลง การฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ประกอบกับการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 โดยไม่ต้องกักตัว รวมถึงการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ส่งผลทางจิตวิทยาในเชิงบวกต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม ยังมีประชาชนที่กังวลกับโอมิครอน เพราะดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวขึ้นน้อยกว่าความเชื่อมั่นในปัจจุบัน และยังมีราคาหมูแพงที่เข้ามาเพิ่ม อาจทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงไปได้ในเดือนมกราคม 2565 หรืออาจลากยาวไปถึงเดือนมีนาคม 2565 ทั้งนี้ ต้องดูสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ว่าจะมากน้อยแค่ไหน โดยจะเริ่มเห็นชัดเจนหลัง 14 วันที่รัฐบาลประกาศให้ทำงานจากบ้าน และยังต้องจับตาการยกเลิกมาตรการ Test&Go อาจทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น โดยมองว่า การยกเลิก Test&Go หากสามารถเปิดให้นักท่องเที่ยวกลับเข้ามาได้ในไตรมาส 2 อาจทำให้ไทยสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจราว 50,000 ล้านบาท ไม่กระทบเศรษฐกิจปีนี้มากนัก ยังทำให้เติบโตได้มากกว่า 3.5% แต่หากยกเลิกไปตลอดทั้งปี ก็มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตได้ต่ำกว่า 3%

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. 'อมตะ' ทุ่มพันล้านเหรียญสร้างเมืองอุตสาหกรรมในลาว (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 14 มกราคม 2565)

นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า อมตะได้รับการอนุมัติสัมปทานการพัฒนาที่ดินจำนวน 410 เฮกตาร์ (2,562.5 ไร่) จากรัฐบาล สปป.ลาว ซึ่งได้เซ็นสัญญาร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย โดยการลงทุนในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของอมตะกับการเปิดโครงการพัฒนาพื้นที่ครั้งแรกในสปป.ลาว เพื่อพัฒนาโครงการอมตะ สมาร์ท แอนด์ อีโค ซิตี้ ที่นาเตย ในระยะแรกบนพื้นที่ตามเป้าหมายการลงทุนทั้งหมดใน สปป.ลาว 200 ตารางกิโลเมตร วางงบประมาณสำหรับการพัฒนาไว้จำนวน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารงานของ บริษัท อมตะซิตี้ ลาว จำกัด (Amata City Lao Sole Company Limited) ซึ่งอมตะถือหุ้น 100% โดยจะเริ่มดำเนินการพัฒนาภายในปี 2565 เน้นพัฒนาการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยนโยบายการปล่อยของเสียเป็นศูนย์ (Zero Waste Discharge) ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับ สปป.ลาว และคาดว่าจะสามารถเปิดรับนักลงทุนได้ภายในปี 2565

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเมืองสมาร์ทซิตี้ (Smart City) จะนำไปสู่การเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ (Low Carbon) ในระยะยาวที่เป็นเทรนด์ของโลก โดยโครงการนี้จะช่วยสร้างดัน GDP ของสปป.ลาวได้เพิ่มขึ้นคิดเป็นมูลค่า 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ เพื่อให้โครงการดังกล่าวเป็นที่รู้จัก และเกิดการขยายลงทุนในอนาคตทางบริษัทจึงได้วางแผนเชิญชวนบริษัทระดับโลกต่างๆ รวมถึงภาครัฐจากประเทศญี่ปุ่น ไทย และจีน เพื่อการเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาโครงการอมตะ สมาร์ท แอนด์ อีโค ซิตี้ (AMATA SMART & ECO CITY)  โดยผ่านความร่วมมือกับเมืองอุตสาหกรรมโยโกฮาม่า และเจโทร เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการและเชิญชวนนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น ให้เข้ามาใน สปป. ลาว และโครงการอมตะ ใน สปป. ลาว อีกด้วย

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)