ข่าวประจำวันที่ 12 พ.ค. 2565

ข่าวในประเทศ

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์

อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP)

1. พาณิชย์ชี้ช่องนักธุรกิจไทยเข้าลงทุนโลจิสติกส์ในเวียดนาม (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 12 พฤษภาคม 2565)

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มอบหมายให้กรมสำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยในประเทศต่างๆ ล่าสุดได้รับรายงานจากนางสุภาพร สุขมาก ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์ เวียดนาม ถึงโอกาสการลงทุนธุรกิจโลจิสติกส์ในเวียดนามของนักลงทุนไทย เพื่อรองรับการขยายตัวของความต้องการคลังสินค้าและการขนส่งที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทโลจิสติกส์รายใหญ่ ได้เดินหน้าขยายการลงทุนในเวียดนาม รองรับการค้าและการขนส่งที่เพิ่มขึ้น เช่น บริษัท SEKO Logistics ของสหรัฐ บริษัท DHL Express และเครือ Imex Pan Pacific Group ซึ่งเป็นเครือนำแบรนด์ระดับโลก เช่น Burger King และ Calvin Klein มีความต้องการพัฒนาศูนย์โลจิสติกส์ในเมืองทู๋ดึ๊ก พร้อมกับการเปิดตัวสายการบิน IPP Air Cargo ส่วนบริษัท MSC Vietnam ต้องการสร้างท่าเรือแบบถ่ายลำในอำเภอเกิ่นเส่อ ที่เป็นอำเภอชายฝั่งทะเลของนครโฮจิมินห์

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษา พบว่า อุตสาหกรรมโลจิสติกส์มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนาม โดยการเติบโต 14-16% ต่อปี และมีมูลค่า 4-4.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ แม้จะมีข้อบังคับทางกฎหมาย ขณะที่บริษัท โลจิสติกส์ภายในประเทศ ส่วนใหญ่มีขนาดเล็กด้วยคลังสินค้าแบบดั้งเดิม ขาดโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี และเงินทุน และยังพบว่า พฤติกรรมของลูกค้าเปลี่ยนไปใช้ อี-คอมเมิร์ซโลจิสติกส์ ทำให้จำนวนธุรกิจอี-คอมเมิร์ซเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ความต้องการบริการคลังสินค้าและบริการจัดส่งเพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสสำหรับ ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ของไทยในการขยายตลาด และร่วมมือระหว่างประเทศ

 

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์

ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

2. ความเชื่อมั่นจ.ชายแดนใต้ยังดิ่ง (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 12 พฤษภาคม 2565)

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นจังหวัดชายแดนใต้ไตรมาส 1 ปี 2565 ที่จัดทำร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งมีการสำรวจความคิดเห็นในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง จากกลุ่มตัวอย่าง 32,739 คน ใน 5 จังหวัด คือ สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส พบว่า ความเชื่อมั่นลดลงทุกรายการ โดยดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมอยู่ที่ 52.32 ลดจาก 53.49 ในไตรมาส 4 ปี 2564 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นในปัจจุบันอยู่ที่ 47.58 ลดจาก 49.82 และดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตอยู่ที่ 56.94 ลดจาก 57.46 ทั้งนี้ สาเหตุที่ดัชนีลดลงมาจากความกังวลต่อปัญหาค่าครองชีพ และราคาน้ำมันที่สูงขึ้น แต่รายได้ลดลง อากาศแปรปรวนทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง โดยเฉพาะยางพารา อีกทั้งการระบาดของโควิดยังมีอยู่  ทำให้ประชาชนไม่สามารถดำเนินกลับมาใช้ชีวิต ทำมาหากินได้ตามปกติ จนมีผลต่อรายได้ลดลง

อย่างไรก็ตาม สำหรับปัญหาที่ประชาชนกังวลมากที่สุด ยังคงเป็นค่าครองชีพ หรือสินค้าและบริการมีราคาสูง ตามด้วยรายได้ตกต่ำ, การระบาดของโควิด, ยากจนเรื้อรัง, ยาเสพติด, ราคาสินค้าเกษตร, การค้ามนุษย์ ฯลฯ ส่วนสิ่งที่ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐอย่างเร่งด่วน คือ แก้ปัญหาค่าครองชีพ ราคาสินค้าแพง ตามด้วยการมีงานทำ มีรายได้ ฯลฯ โดยการสำรวจครั้งนี้ สิ่งที่ประชาชนต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือนั้น ในด้านการเกษตร ต้องการเครื่องมือ อุปกรณ์การเกษตร ปุ๋ย พันธุ์พืช การตลาด เทคโนโลยี แรงงาน และแหล่งน้ำ ส่วนความสนใจด้านอาชีพ ส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐส่งเสริมอาชีพทำอาหาร เบเกอรี่ ตัดเย็บเสื้อผ้า ฯลฯ

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

3. กกร. ขอรัฐช่วยด่วน! ตรึงดีเซล-ลดภาษีประคองธุรกิจ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 12 พฤษภาคม 2565)

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ประจำเดือนพฤษภาคมว่า ด้วยเศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยงรอบด้านโดยเฉพาะเงินเฟ้อและต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้น แม้แนวโน้มการท่องเที่ยวจะดีขึ้น ที่ประชุม กกร.จึงปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 2565 มาอยู่ที่กรอบ 2.5% ถึง 4.0% จากกรอบเดิม 2.5-4.5% โดยยังคงคาดการณ์ส่งออกขยายตัว 3-5% แต่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะสินค้าในหมวดอาหารและพลังงานจึงปรับเพิ่มประมาณการเงินเฟ้อมาอยู่ที่ 3.5-5.5% จากเดิม 2-3% ทั้งนี้ หากราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลและค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นมากจะยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นเริ่มบั่นทอนความเชื่อมั่นผู้บริโภคและนักลงทุน นอกจากนี้ผู้ประกอบการในธุรกิจที่ยังเปราะบาง อาทิ โรงแรม ค้าปลีกก็สะท้อนว่าการเพิ่มขึ้นของต้นทุนมีผลกระทบมาก อาจจำเป็นต้องปรับราคาสินค้า ที่สำคัญการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลและค่าแรงขั้นต่ำในระยะข้างหน้าจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อขึ้นไปสู่ระดับ 5% จึงต้องทำด้วยความระมัดระวังและอยู่ในระดับที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงมีความเสี่ยงจากสถานการณ์ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเงินเฟ้อ และสถานการณ์ความขัดแย้งจากยูเครน-รัสเซีย กกร.จึงขอเสนอให้ภาครัฐเข้ามาดูแลเศรษฐกิจอย่างจริงจัง เพื่อช่วยประคับประคองภาคธุรกิจ รักษาความสามารถในการแข่งขันโดยเฉพาะ SMEs และบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนในช่วงไตรมาส 2-3 นี้ก่อนที่เศรษฐกิจฟื้นตัวได้มากขึ้นในช่วงปลายปี โดย กกร. เสนอให้ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือเป็น 2 ส่วนดังนี้ 1. มาตรการดูแลต้นทุนการผลิตและสภาพคล่อง โดยตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 35 บาท/ลิตร เป็นเวลา 3 เดือน ขยายเวลาการลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 3 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 3 เดือน ลดต้นทุนวัตถุดิบนำเข้า เช่น ลดภาษีนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ, เพิ่มโควตานำเข้า เสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ เช่น เร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม มาตรการเงินกู้ ดอกเบี้ยต่ำ และ 2. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น โครงการคนละครึ่งเฟส 5 ขยายจำนวนสิทธิ์โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจเต็มรูปแบบ รวมถึงธุรกิจสถานบันเทิง การลดภาระให้กับผู้ประกอบการ เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่ควรคิดเบี้ย ปรับเงินเพิ่มสำหรับคนที่ชำระภาษีล่าช้า รวมทั้งขอให้เปิดประเทศโดยสมบูรณ์ ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว ต่างชาติ จัดกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยว และการดูแลค่าเงินบาทให้เหมาะสม เป็นต้น

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. จีนเตือนผู้อำนวยการ 'WHO' หลังวิจารณ์นโยบาย 'โควิดเป็นศูนย์' (ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, ประจำวันที่ 12 พฤษภาคม 2565)

นายจ้าว ลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน เปิดเผยว่า จีนเป็นประเทศหนึ่งที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลกในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยการใช้นโยบาย "โควิดเป็นศูนย์" ซึ่งรวมทั้งการใช้มาตรการล็อกดาวน์เมืองที่มีการแพร่ระบาด ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศจีนออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) หลีกเลี่ยงการแสดงความเห็นที่ไม่รับผิดชอบ หลังจากที่เขาได้วิพากษ์วิจารณ์นโยบายควบคุมโควิด-19 ของจีน

อย่างไรก็ตาม นายแพทย์ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ของดับเบิลยูเอชโอ เรียกร้องให้จีนทบทวนนโยบายดังกล่าว โดยระบุว่าการดำเนินการดังกล่าวจะไม่มีความยั่งยืน ขณะที่ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง และเศรษฐกิจของจีนกำลังได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ จีนได้ประกาศล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้และบางส่วนของกรุงปักกิ่งเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่การดำเนินการดังกล่าวได้กระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค และการลงทุนของภาคธุรกิจ รวมทั้งมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)