ข่าวประจำวันที่ 24 พ.ค. 2565

ข่าวในประเทศ

นายวีริศ อัมระปาล

ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

1. กนอ.ผนึกกำลังรัฐ-เอกชน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 24 พฤษภาคม 2565)

 

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงเจตจํานงต่อรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26 ในการลดก๊าซเรือนกระจกของภาคอุตสาหกรรม ให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593 กนอ. จึงกำหนดนโยบายเพื่อเป็นผู้นำในการลดก๊าซเรือนกระจก สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม/ท่าเรืออุตสาหกรรม ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังให้บริการระบบสาธารณูปโภคของนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินการเองโดยตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกในระยะยาวของประเทศรวมถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม สำหรับปีงบประมาณ 2565 กนอ. ดำเนินโครงการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHGs) โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ขณะที่สถาบันการเงิน ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ อธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์พลังงาน การใช้พลังงานทดแทน การลดก๊าซเรือนกระจกของโรงงาน ทั้งนี้ การแก้ปัญหาโลกร้อนเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายของภาคอุตสาหกรรมไทย กนอ. จึงตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมให้ได้ 2.5 ล้านกิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายใน 5 ปี (2564-2568) รวมถึงขยายเครือข่ายความร่วมมือการลดก๊าซเรือนกระจกไปสู่โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมด้วย

 

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์

รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

2. ยอดผลิตรถยนต์เพิ่ม 4 เดือนแรก กว่า 5.97 แสนคัน (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 24 พฤษภาคม 2565)

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงจำนวนการผลิต ยอดขายภายในประเทศ และการส่งออกรถยนต์ ในเดือนเมษายน 2565 ว่า จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนเมษายน 2565 มีทั้งสิ้น 117,786 คัน เพิ่มขึ้น 12.87% จากเดือนเมษายนปีก่อน เนื่องจากมีการผลิตรถยนต์นั่งและรถกระบะขายในประเทศเพิ่มขึ้น 43.12% และ 26.39% ตามลำดับ ทั้งนี้ ยอดในเดือนเมษายนลดลง 31.79% เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2565 เพราะเดือนเมษายน วันทำงานน้อยกว่า ดังนั้นทำให้ 4 เดือนแรก ของปีนี้ (มกราคม - เมษายน 2565) ผลิตได้ทั้งสิ้น 597,864 คัน เพิ่มขึ้น 4.85% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ จากยอดผลิต 4 เดือนแรกปีนี้มีโอกาสที่จะเป็นไปตามเป้าการผลิตปีนี้ที่วางไว้ 1.8 ล้านคัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 8 แสนคัน ผลิตเพื่อส่งออก 1 ล้านคัน โดยขณะนี้ ยังคงเป้าดังกล่าวเนื่องจากยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามโดยเฉพาะการขาดแคลนชิ้นส่วนและเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) ที่อาจกระทบต่อการส่งออก สำหรับยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนเมษายน 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 63,427 คัน ลดลง 27.30% จากเดือนมีนาคม 2565 แต่เพิ่มขึ้น 9.11% จากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว เนื่องจากการผ่อนคลายการล็อกดาวน์และการอนุญาตให้จัดงานสงกรานต์ในวงจำกัด รวมทั้งการส่งมอบรถยนต์ให้ผู้จองรถยนต์ในงาน บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ที่สิ้นสุดวันที่ 3 เมษายน 2565 เพื่อเดินทางกลับภูมิลำเนา การผ่อนคลายข้อจำกัดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศให้มีความสะดวกมากขึ้น ทำให้มีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ดังนั้นทำให้ตั้งแต่เดือนมกราคม - เมษายน 2565 มียอดขาย 294,616 คัน เพิ่มขึ้น 16.79% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

อย่างไรก็ตาม สำหรับยอดการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในเดือนเมษายน 2565 อยู่ที่ 55,696 คัน เพิ่มขึ้น 5.33% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งออกเพิ่มขึ้นเป็นเดือนแรกในปีนี้จากรถกระบะเป็นหลัก จึงทำให้ส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดเอเชีย ตะวันออกกลาง อเมริกาเหนือ อเมริกากลางและอเมริกาใต้ ส่งผล 4 เดือนแรกปีนี้ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 298,720 คัน ลดลง 3.94% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนและชิปส่งผลกระทบต่อการผลิตรถยนต์บางรุ่น รวมมูลค่าส่งออกรถยนต์ 4 เดือนแรกปีนี้ ทั้ง เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และอะไหล่ มีมูลค่า 273,380.49 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.74% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

สมาคมการค้าผู้ผลิตหลังคาเหล็กไทย

 

3. เอกชนขอทบทวนเอดีเหล็ก (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 24 พฤษภาคม 2565)

นายพันธนวุฒิ ถิ่นคำแบ่ง นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตหลังคาเหล็กไทย เปิดเผยว่า ได้เป็นตัวแทนกลุ่มผู้ผลิตหลังคาเหล็ก เข้ายื่นหนังสือต่อรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอให้ทบทวนการใช้มาตรการปกป้องการทุ่มตลาดหรือเอดี กับเหล็กผลิตหลังคาที่นำเข้าจากบางประเทศ โดยมีนายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นตัวแทนรับหนังสือของกลุ่มตัวแทนผู้ผลิตหลังคาเหล็กไทย ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้เรียกเก็บภาษีเอดีเหล็ก เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมผู้ผลิตภายในประเทศไปแล้ว โดยมีการเก็บเหล็กแผ่นรีดเย็นชุบหรือเคลือบด้วยโลหะเจือของอะลูมิเนียม และสังกะสีแบบจุ่มร้อนแล้วทาสี หรือพีพีจีแอล และเหล็กแผ่นรีดเย็นชุบ หรือเคลือบด้วยโลหะเจือของอะลูมิเนียม และสังกะสีแบบจุ่มร้อน หรือจีแอล โดยเฉพาะสินค้าที่มีแหล่งกำเนิดจากจีนถูกเก็บภาษีถึง 40.77% ถึงแม้ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์จะมีการขยายมาตรการเก็บเอดีเหล็ก 0% ออกไป 2 ครั้ง รวม 1 ปี จนถึงเดือนเมษายน 2565 แต่ขณะนี้ได้หมดมาตรการและเริ่มเก็บ เอดีไปแล้ว ทำให้ผู้นำเข้าไม่สามารถสู้ราคาได้ และผู้ผลิตโรงรีดหลังคาก็ไม่มีสินค้ามาผลิต และต่อไปอาจจะไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน อุตสาหกรรมการผลิตเหล็กในประเทศ ผลิตได้เพียง 28,000-30,000 ตันต่อเดือนเท่านั้น จึงเรียกร้องให้คณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุนทบทวนการขยายระยะเวลา หรือยกเลิกการบังคับใช้มาตรการเอดีและในระหว่างการทบทวนนั้นขอให้เรียกเก็บภาษี 0% ไปก่อน เพราะขณะนี้ช่องทางตลาดในประเทศอื่นนอกจากจีนก็ถูกเก็บภาษีเอดีเช่นเดียวกัน

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. IMF ชี้รัฐบาลควรอุดหนุนราคาอาหาร-พลังงานให้คนจน (ที่มา:  แนวหน้า, ประจำวันที่ 24 พฤษภาคม 2565)

คริสตาลินา กอร์เกียวา กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟ เปิดเผยว่า รัฐบาลประเทศต่างๆ ควรช่วยเหลือประชาชนในลักษณะที่เจาะจง ด้วยการอุดหนุนด้านราคาให้แก่ประชาชนโดยตรง และจัดลำดับความสำคัญในการแก้ไขวิกฤตค่าครองชีพสูงในขณะนี้ออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่ง คือ คนยากจนข้นแค้นที่เดือดร้อนเพราะราคาอาหารและพลังงานแพงมาก อีกกลุ่มหนึ่ง คือ ธุรกิจที่เดือดร้อนหนักที่สุดเพราะผลกระทบจากสงครามยูเครน หากรัฐบาลไม่ให้การสนับสนุนอย่างถูกต้อง การประท้วงที่เห็นในศรีลังกาอาจจะเกิดขึ้นซ้ำรอยในประเทศอื่น ทั้งนี้ อาหารมีมากมาย แต่ไม่ถูกแจกจ่ายอย่างเท่าเทียม วิธีแก้ไข คือ ปลูกให้มากขึ้นเท่าที่สามารถทำได้ และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต    ให้มากขึ้น เพราะนอกจากสงครามแล้ว การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็มีผล นอกจากนี้ยังต้องเปิดกว้างทางการค้า ไม่ควรมีประเทศใดมีอาหารเกินความต้องการแล้วสร้างอุปสรรคทุกวิถีทางเพื่อขัดขวางการส่งออกเพื่อแจกจ่ายไปยังประเทศอื่น

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเรื่องที่ธนาคารกลางหลายประเทศพากันขึ้นอัตราดอกเบี้ยหวังชะลอการขึ้นราคาสินค้านั้น กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟติงว่า ดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะทำให้รัฐบาลที่กู้ยืมเงินในช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาด ต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงขึ้น รัฐบาลประเทศต่างๆ จะต้องรอบคอบอย่างยิ่งว่าจะใช้งบประมาณจำนวนใด และใช้ในเรื่องใด

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)