ข่าวในประเทศ
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา
ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อท.)
1. ส่งออกอาหารไทยได้อานิสงส์ (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 27 พฤษภาคม 2565)
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อท.) เปิดเผยถึงกรณีกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประกาศเตือนเศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในช่วงความวุ่นวาย หลังจาก 30 ประเทศทั่วโลกจำกัดการส่งออกอาหาร หลังจากได้รับผลกระทบความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน มองว่า เป็นโอกาสที่ดีในการขยายตลาดการส่งออกกลุ่มสินค้าอาหารของไทย โดยเฉพาะข้าว ที่นำมาทดแทนข้าวสาลี ที่อินเดียระงับการส่งออก, สินค้าไก่ หลังจากมาเลเซีย งดการส่งออก ทำให้ไทยขยายตลาดไปยังประเทศต่างๆ ได้มากขึ้น จากที่ผ่านมาไม่สามารถทำตลาดได้ง่ายๆ เช่น ยุโรป ตะวันออกกลาง เอเชีย นอกจากนี้ยังมีสินค้ากลุ่มน้ำตาล ที่รัสเซียระงับการส่งออก หลังจาก 2 ปีที่ผ่านมา ไทยส่งออกน้ำตาลลดลง ต่อไปเชื่อว่าจะส่งออกได้มากขึ้น เนื่องจากน้ำตาลสามารถไปผลิตได้ทั้งกลุ่มอาหาร และนำไปผลิตแอลกอฮอล์ได้ เป็นผลจากที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับสูงขึ้น รวมถึงมันสำปะหลัง สามารถนำไปผสมอาหารสัตว์ และอาหารมนุษย์ได้ ขณะเดียวกันต้องการให้รัฐปลดล็อกกำแพงภาษีชั่วคราว ในการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบที่จำเป็น เพื่อนำมาแปรรูปในประเทศ ก่อนที่จะส่งออกไปอีกครั้ง เช่น ถั่วเหลือง อาหารทะเล เมล็ดกาแฟ ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้ เป็นสินค้าที่ไทยผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ ฉะนั้นจึงไม่กระทบต่อสินค้าในประเทศ แต่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าอาหารของไทย และต้องการให้จัดหาปุ๋ยราคาถูกให้กับเกษตรกร รวมถึงจัดหาพื้นที่เพาะปลูก และเมล็ดพันธุ์เพาะปลูก เพื่อให้ต้นทุนการเพาะปลูกปรับลดลง
อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวโน้มการส่งออกสินค้าอาหารไทยปี 2565 คาดว่าจะมีมูลค่า 1.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.4% หากเป็นไปตามคาดจะเป็นสถิติส่งออกสูงสุดครั้งใหม่ของการส่งออกอาหาร เนื่องจากความต้องการสินค้าในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจหลังจากประชากรโลกได้รับวัคซีนโควิด-19 ครอบคลุมมากขึ้น ความอันตรายของโรคลดต่ำลง โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเพิ่มขึ้น 4% ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้องทั้งร้านอาหารและโรงแรมค่อยๆ ฟื้นตัวหลังความกังวลโควิด-19 เริ่มลดลง ประเทศต่างๆ มีมาตรการผ่อนคลายมากขึ้น รวมทั้งปัจจัยจากเงินบาทอ่อนค่า คาดการณ์ที่ 33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลดีความสามารถการแข่งขันด้านราคา โดยเฉพาะอาหารเป็นสินค้าที่พึ่งพิงปัจจัยการผลิตในประเทศเป็นหลักจะได้รับประโยชน์จากสถานการณ์ดังกล่าว คาดว่า ราคาอาหารโลกจะอยู่ที่ 3.5% แต่ถ้าไทยปลดล็อกการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ นำมาแปรรูป เพื่อส่งออกได้ อาจทำให้ส่งออกอาหารไทยขยายตัวได้มากกว่า 10%
นายสนั่น อังอุบลกุล
ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
2. ประธานหอการค้าฯ เผยไทยมีโอกาสสูงแนะรัฐสนับสนุนข้อมูลการค้ากับซาอุฯ (ที่มา: บางกอกทูเดย์, ประจำวันที่ 27 พฤษภาคม 2565)
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ภายหลังจากการนำคณะนักธุรกิจร่วมคณะเดินทางเยือนซาอุดิอาระเบียกับรัฐบาล เมื่อวันที่ 15-18 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ว่า สภาหอการค้าฯ ได้จัดการประชุม โดยเชิญผู้ประกอบการทั้ง 38 บริษัท ที่ร่วมคณะเดินทาง หารือถึงความคืบหน้าในการเจรจาธุรกิจกับภาคเอกชนซาอุดิอาระเบีย รวมถึงโอกาสที่แต่ละบริษัทเห็นจากการจากการเข้ารวมคณะศึกษาดูงาน และการทำ Business Matching กับนักธุรกิจซาอุดิอาระเบีย โดยกลุ่มธุรกิจด้านการท่องเที่ยว และ Wellness ได้รับการตอบรับและมีการเจรจาธุรกิจมากกว่าธุรกิจอื่นๆ ซึ่งความต้องการจากซาอุดิอาระเบีย มีทั้งการเชิญชวนไปร่วมลงทุน ทั้งในธุรกิจโรงแรมและโรงพยาบาล การจัด Course training ให้กับบุคลากรในธุรกิจ Wellness รวมทั้งการตอบรับที่ดีในการมารักษาพยาบาลในไทย ทั้งนี้ โอกาสในการทำเรื่อง Medical hub และสินค้าสุขภาพ ก็ยังเปิดกว้าง โดยทางซาอุฯ ต้องการเรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการจากไทยอีกด้วย นอกจากนั้น กลุ่มวัสดุก่อสร้าง เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากฝ่ายซาอุฯ เป็นอย่างมาก อันเป็นผลมาจากการพัฒนาเมืองอย่างต่อเนื่องของซาอุฯ จึงมีโอกาสทั้งการส่งออกและการร่วมทุนทำธุรกิจระหว่างกัน สำหรับกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร โดยปกติจะเป็นสินค้าที่ไทยส่งออกไปที่ซาอุดิอาระเบียอยู่แล้ว แต่การเดินทางไปครั้งนี้ เป็นการประชาสัมพันธ์ให้ภาคเอกชนซาอุฯ รู้จักประเทศไทยมากขึ้น ทั้งอาหารฮาลาล อาหารแช่แข็ง อาหารกระป๋อง และผลไม้ไทย ทำให้มีบริษัท Trading มาติดต่อเพิ่มขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่ดี โดยสินค้าที่เป็นที่ต้องการจากซาอุฯ อาทิ ไก่ ปลา กุ้ง อาหารสัตว์ น้ำมะพร้าว รวมถึงอาหารไทย และข้าวไทย ซึ่งควรมีการทำการตลาดมากขึ้น แต่ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์บางอย่างยังถูกห้ามนำเข้าอยู่ จึงเป็นความพยายามที่ภาครัฐต้องหาทางเจรจาผ่อนคลายสินค้าต่อไป รวมไปถึงการทำ FDA และการขอ อย. ด้วย
อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นประเมินว่า โอกาสในการทำการค้าระหว่างกันภายในปีนี้ จะมีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยเป็นอย่างมาก ที่จะมีเม็ดเงินจำนวนมากเข้ามายังประเทศไทย สำหรับสิ่งที่ภาคเอกชนไทยต้องการเพิ่มเติม คือ ข้อมูล ทั้งข้อมูลกฎระเบียบที่เกี่ยวกับการนำเข้าส่งออก กฎระเบียบที่เกี่ยวกับการลงทุน และการรับรองมาตรฐานสินค้า ข้อมูลการซื้อสินค้าในเชิงลึกที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นั้นๆ ดังนั้น จึงขอให้ภาครัฐของไทยเตรียมความพร้อมในเรื่องดังกล่าวให้กับภาคเอกชนด้วย เพื่อให้ภาคเอกชนมีข้อมูลก่อนการเดินทางไปเจรจาธุรกิจ นอกจากนั้น ยังขอให้ตั้ง focal point ฝ่ายไทยประจำที่ซาอุดิอาระเบีย เพื่อทำหน้าที่ประสานงานระหว่างภาคเอกชนไทยกับภาคเอกชนซาอุฯ อีกด้วย
นายปรัชญา สมะลาภา
รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก
3. ชาวสวนผลไม้เฮ ส่งออกได้แล้วกว่า 60% หลังรัฐเจรจาจีน (ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, ประจำวันที่ 27 พฤษภาคม 2565)
นายปรัชญา สมะลาภา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก หอการค้าไทย เปิดเผยว่า หลังจากประสบปัญหามาตรการ Zero-Covid ของจีน ทำให้ไทยไม่สามารถส่งออกผลไม้ไปจีนได้ ในช่วงแรกนั้น กระทรวงการต่างประเทศและหอการค้าไทย นำโดย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าไปเจรจากับนายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของจีน เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งท่านได้ช่วยอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมทั้งยังมีการดูแลติดตามผลเรื่องการเปิดด่านจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ทำให้การส่งออกผลไม้ของไทยมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น โดยขณะนี้สามารถระบายผลไม้ได้มากกว่า 60% ดังนั้น ในฐานะตัวแทนของชาวสวนผลไม้ภาคตะวันออก ต้องขอขอบคุณภาครัฐและภาคเอกชนทุกภาคส่วน ที่มีส่วนร่วมในการผลักดันการส่งออกผลไม้ของไทย ทำให้ชาวสวนผ่านวิกฤตในครั้งนี้ไปได้ นอกจากนี้ยังได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กระทรวงพาณิชย์ช่วยทำแผน promote กระทรวงมหาดไทยช่วยกำกับมาตรการ Zero-Covid กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ช่วยควบคุมมาตรฐาน รวมถึงกระทรวงคมนาคม ทั้งภาครัฐและเอกชน ทำให้การขนส่งทั้งทางรถ ทางเรือ ทางบก ทางอากาศ ที่ส่งออกไปยังประเทศจีนมีความคืบหน้าเป็นอย่างดี ซึ่งในระยะถัดไป ก็จะส่งผลดีต่อการส่งออกผลไม้ตามฤดูกาลถัดไป ซึ่งเป็นช่วงฤดูของภาคใต้
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายจอมศักดิ์ ภูติรัตน์ กรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์การส่งออกผลไม้ขณะนี้ดีขึ้นมากแล้ว โดยมีมูลค่าการส่งออกเกินกว่า 2 แสนล้านบาท ถือว่าเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพลิกฟื้นสถานการณ์ได้ดีมาก เป็นการสร้างความสุขให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนผลไม้เป็นอย่างมาก ส่วนเศรษฐกิจในด้านอื่นของภาคตะวันออก ทั้งเรื่องการขายอัญมณี และเรื่องการท่องเที่ยว กำลังฟื้นตัวกลับมา ซึ่งต้องขอขอบคุณทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ที่ช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ โดยภาคการท่องเที่ยวได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการเราเที่ยวด้วยกัน ทำให้มีคนมาท่องเที่ยวในภาคตะวันออกเป็นจำนวนมาก
ข่าวต่างประเทศ
4. อินโดนีเซียเล็งเก็บภาษีส่งออกนิกเกิล (ที่มา: ข่าวหุ้น, ประจำวันที่ 27 พฤษภาคม 2565)
บาห์ลิล ลาฮาดาเลีย รัฐมนตรีกระทรวงการลงทุนของอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า อินโดนีเซียกำลังพิจารณาเก็บภาษีส่งออกผลิตภัณฑ์นิกเกิลที่มีปริมาณต่ำเพื่อกระตุ้นการลงทุนธุรกิจปลายน้ำ โดยกล่าวว่า หากอินโดนีเซียถูกบีบให้ส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีนิกเกิลต่ำกว่า 50-60% จะพิจารณาเพิ่มภาษีส่งออก ทั้งนี้ อินโดนีเซียเป็นผู้ส่งออกแร่นิกเกิลรายใหญ่ แต่ได้หยุดส่งออกนิกเกิลที่ยังไม่แปรรูปมาตั้งแต่ปี 2563 แม้ประสบความสำเร็จในการดึงดูดการลงทุนจากบริษัทโลหะจีน แต่อุตสาหกรรมแปรรูปยังคงเต็มไปด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีนิกเกิลต่ำ เช่น nickel pig iron หรือ ferronickel
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอินโดนีเซียยังไม่ได้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเกี่ยวกับนโยบายอัตราภาษี อินโดนีเซียสนใจที่จะใช้ประโยชน์จากแหล่งนิกเกิลที่มีอยู่มากเพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานแบบครบวงจรสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า บริษัทเกาหลีใต้กำลังลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่และรถยนต์ไฟฟ้าในอินโดนีเซีย และรัฐบาลกำลังพยายามดึงดูดเทสลาให้ไปลงทุนสร้างโรงงานในอินโดนีเซีย นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังวางแผนที่จะห้ามส่งออกแร่บอกไซต์และดีบุกที่ยังไม่แปรรูปด้วย เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนการลงทุน
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)