ข่าวประจำวันที่ 16 มิ.ย. 2565

ข่าวในประเทศ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

 

1. ครม. ไฟเขียว 6,000 ล้านบาท เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อย (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 16 มิถุนายน 2565)

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติ เห็นชอบโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยสำหรับบริหารจัดการแหล่งน้ำและซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรในไร่อ้อยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ   การผลิตอ้อยและลดอ้อยไฟไหม้เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ปี 2565 – 2567 โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ผลักดันโครงการดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องผ่านคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยสามารถกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อจัดซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรใช้ในไร่อ้อย แก้ไขปัญหาภัยแล้ง ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการเผาอ้อยก่อนตัด ถือเป็นการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่ต้นเหตุ ทั้งยังเพิ่มผลผลิตอ้อยตันต่อไร่สูงขึ้นอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะประธานกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้ ธ.ก.ส. ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำในอัตรา 2% ต่อปีให้กับเกษตรกร ชาวไร่อ้อย วงเงินปีละ 2,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2565 – 2567 รวมเป็นเงิน 6,000 ล้านบาท ซึ่ง ครม. อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. เป็นเงิน 789.75 ล้านบาท มีรายละเอียดโครงการ ดังนี้ 1. กู้เงินเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ การบริหารจัดการน้ำในไร่อ้อย และปรับพื้นที่ปลูกอ้อย รายละไม่เกิน 500,000 บาท 2. กู้เงินเพื่อจัดซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร เช่น รถตัดอ้อย รายละไม่เกิน 15 ล้านบาท และ 3. กู้เงินเพื่อซื้อรถบรรทุกและพ่วงบรรทุก ชำระคืนเสร็จสิ้นไม่เกิน 8 ปี ผู้กู้จ่ายดอกเบี้ยในอัตราคงที่ 4% ต่อปี

 

นายสินิตย์ เลิศไกร

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

 

 

2. ใช้ 'เอฟทีเอ' เพิ่มยอดกาแฟ (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 16 มิถุนายน 2565)

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า หลังจากนำผู้ประกอบการกาแฟที่เข้าร่วมโครงการการเพิ่มศักยภาพกาแฟไทยในยุคการค้าเสรี เข้าร่วมสินค้าอาหารและเครื่องดื่มระดับนานาชาติ หรือไทยเฟ็กซ์ ปรากฏว่าได้รับ  ผลตอบรับเป็นอย่างดีมีคู่ค้าทั้งจากไทยและต่างประเทศขอจับคู่ธุรกิจเป็นจำนวนมาก เช่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชนโขงเข้มนครหงส์มีนักธุรกิจจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอินเดียให้ความสนใจเมล็ดกาแฟคั่ว โดยเฉพาะเมล็ดโรบัสต้า ส่วนฮิลล์คอฟฟ์ มีคู่ค้าจากอินเดีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ต้องการนำเข้าเช่นกัน ขณะที่กาแฟจินตนามณีพฤกษ์  มีนักธุรกิจไทยต้องการติดต่อขอซื้อแฟรนไชส์ เป็นต้น ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญกับการยกระดับสินค้ากาแฟอย่างต่อเนื่องให้เกิดการพัฒนาความพร้อมตลอดห่วงโซ่การผลิต ในอุตสาหกรรมจึงมอบหมายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศลงพื้นที่พบปะกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟเพื่อติวเข้มการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอกลยุทธ์การเจาะตลาดต่างประเทศผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งกรมฯ เชื่อมั่นว่าการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์กาแฟรูปแบบใหม่และพัฒนาคุณภาพให้มีมาตรฐานจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันในตลาดพรีเมียมของต่างประเทศได้ ขณะที่เอฟทีเอจะช่วยสร้างแต้มต่อให้สามารถเข้าถึงตลาดได้โดยมีต้นทุนที่ต่ำลง

อย่างไรก็ตาม กาแฟไทยนับว่ามีการผลิตที่ทันสมัยรสชาติเป็นเอกลักษณ์โดยในช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม 2565 ไทยส่งออกกาแฟสำเร็จรูป 27.07 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.85% จากปีก่อนหน้า ขณะที่การส่งออก เมล็ดกาแฟดิบมีมูลค่า 0.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 36.36% และส่งออกเมล็ดกาแฟคั่วมูลค่า 0.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 25%

 

น.ส.ดารณี แซ่จู

ผู้อํานวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

 

 

3. ธปท.พร้อมดูแลเงินบาทอ่อนสุดรอบ 6 ปี (ที่มา: ข่าวสด, ประจำวันที่ 16 มิถุนายน 2565)

น.ส.ดารณี แซ่จู ผู้อํานวยการอาวุโสฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงค่าเงินบาทที่เคลื่อนไหวผันผวน และอ่อนค่าแตะ 35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าสูงสุดในรอบเกือบ 6 ปี ว่าเป็นผลจากการคาดการณ์ของตลาดว่าการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งดําเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นกว่าเดิม และความกังวลต่อโอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลง ทําให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าทําสถิติสูงสุดในรอบเกือบ 20 ปี ขณะที่สกุลเงินภูมิภาครวมทั้งเงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ต้นปีเงินบาทปรับอ่อนค่าลง 4.5% ส่วนเงินสกุลอื่นในภูมิภาค อ่อนค่าระหว่าง 3-7% ทั้งนี้ ธปท. ได้ติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด และพร้อมเข้าดูแลเมื่อผันผวนมากผิดปกติ ทั้งนี้ ทางด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ กล่าวว่า มองค่าเงินบาทที่อ่อนทะลุ 35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ระยะสั้นจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการนําเข้าวัตถุดิบและน้ำมันเชื้อเพลิง อาจเร่งให้เงินเฟ้อสูงขึ้นอีก ขณะที่ผู้ประกอบการอาจมีปัญหาขาดสภาพคล่องจากต้นทุนนําเข้าที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยซึมมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในช่วงปีที่ผ่านมาค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าสุดในภูมิภาค ทางผู้ส่งออกก็อยากได้ค่าเงินบาทอยู่ที่ 32-32.50 บาท/เหรียญสหรัฐ แต่ขณะนี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ 34-35 บาท/ คอลลาร์สหรัฐ ทําให้ผู้ส่งออกสามารถแข่งขันได้มากขึ้น แต่ผู้นําเข้า ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะผู้นําเข้าสินค้าวัตถุดิบและน้ำมันที่เป็นต้นทุนหลักของภาคการผลิต ขนส่ง ค่าไฟ และส่งผ่านไปยังค่าครองชีพของประชาชนในที่สุด ดังนั้นค่าเงินบาทที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ 32-33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ไม่ทําให้ผู้นําเข้าต้องแบกภาระหนักมากเกินไป ทั้งผู้ส่งออกและผู้นําเข้าอยู่ได้

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. คนขับรถบรรทุกเกาหลีใต้ยุติผละงานแล้ว (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 16 มิถุนายน 2565)

สำนักข่าวยอนฮัพของเกาหลีใต้ เปิดเผยรายงานว่า สหภาพแรงงาน คนขับรถบรรทุกขนส่งสินค้าที่มีสมาชิก 22,000 คน และอยู่ภายใต้สมาพันธ์สหภาพแรงงานเกาหลี บรรลุข้อตกลงกับกระทรวงคมนาคมเมื่อช่วงค่ำวันอังคารตามเวลาท้องถิ่น และตกลงยุติการผละงานที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2565 โดยจะกลับไปขับรถขนส่งตามเดิมในวันนี้ โดยสหภาพฯ เรียกร้องให้ขยายระบบอัตราค่าระวางการบรรทุกสินค้าอย่างปลอดภัยที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2565 นี้ หลังจากประกาศใช้เป็นเวลา 3 ปีมาตั้งแต่ปี 2563 ระบบนี้ออกแบบมาป้องกันการขับรถขนส่งสินค้าที่เป็นอันตราย และรับประกันค่าจ้างขั้นต่ำให้แก่คนขับรถบรรทุกเพื่อรับมือกับราคาน้ำมันแพง กระทรวงฯ รับปากว่า จะรายงานผลการใช้ระบบนี้ต่อสมัชชาแห่งชาติที่จะเปิดการอภิปรายเรื่องต่ออายุระบบต่อไป และจะหารือแผนการขยายระบบนี้ให้ครอบคลุมถึงการขนส่งสินค้าอื่นๆ จากปัจจุบันที่มีผลเฉพาะการขนส่งตู้สินค้าและซีเมนต์เท่านั้น รวมทั้งจะพิจารณาข้อเสนอเพิ่มการอุดหนุนราคาน้ำมันให้แก่คนขับรถบรรทุกสินค้าด้วย

อย่างไรก็ตาม ทางด้านกระทรวงอุตสาหกรรมเกาหลีใต้ กล่าวว่า การผละงานดังกล่าวทำให้การขนส่งและ การผลิตสินค้าในเกาหลีใต้ได้รับผลกระทบหนัก เนื่องจากการขนส่งสินค้าทั้งที่เป็นวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ที่ผลิตเสร็จแล้ว ซึ่งไม่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอด 8 วันที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เหล็กกล้า เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ปิโตรเคมี และแบตเตอรี่ ซึ่งเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในผู้ผลิตรายใหญ่ลำดับต้นของโลก คาดมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 1.6 ล้านล้านวอน (ราว 43,400 ล้านบาท) นักวิเคราะห์คาดก่อนหน้านี้ว่าผู้ผลิตชิพในเกาหลีใต้จะได้รับผลกระทบอย่างจำกัด เพราะทั้งซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ และเอสเค ไฮนิกซ์ ผู้ผลิตชิพที่มีรายได้ในปี 2563 มากอันดับ 2 และ 4 ของโลกเตรียมวัสดุในการผลิตไว้ไม่น้อยกว่า 3 เดือน

 

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)